ใช้ VR ชอปปิ้งและ Sharing Economy คือสิ่งที่ Trend Watching บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านเทรนด์เคยทำนายไว้ว่าจะเป็นเทรนด์ของปี 2017 แล้วมันก็มาแรงจริงๆ ปีนี้คำทำนายออกมาอีกครั้ง และนี่คือเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น (หรือมีอยู่แล้ว แต่กำลังจะออกตัวแรงขึ้น) ในปี 2018 นี้
1) A-commerce : ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเลือกและจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดเวลาให้กับคนที่งานยุ่งๆ หรือต้องการความรวดเร็วในการชอปปิ้ง
ตัวอย่างที่เริ่มเห็นใช้กันแล้ว คือ Taobao ร้านสะดวกซื้อที่ใช้มือถือจ่ายเงินโดยไม่ต้องมีพนักงานคิดเงิน, KFC ในต่างประเทศบางสาขาที่สามารถใช้ใบหน้า ของลูกค้าจ่ายเงินได้, หรือ Finery ก็มีระบบปฏิบัติการของตู้เสื้อผ้าที่จะทำหน้าที่แนะนำลุคให้ลูกค้าได้
2) Assisted Development : สินค้าหรือบริการที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการใช้ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าคนเจนฯ ใหม่นี่ใช้ชีวิตกันไม่เป็นนะ แต่แค่อาจจะไม่สามารถ (หรือไม่อยาก) ทำในแบบที่ผู้ใหญ่ยุคก่อนหน้าบอกให้ทำ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น สาวๆ หนุ่มๆ สมัยนี้ อาจจะไม่ได้มีสกิลการทำอาหารเลี้ยงตัวเลี้ยงผัวได้ แต่อุปกรณ์ทำอาหาร Tasty One Top ก็ทำให้ชีวิตง่ายได้ แค่เลือกคลิปทำอาหารและดาวน์โหลดสูตรอาหารที่อยากทำผ่านแอพฯ มันก็จะตั้งค่าอุณหภูมิต่างๆ ให้ทำตามได้อย่างง่าย หรือลูกสาวหลานสาวในหลายครอบครัว ถูกกดดันให้ต้องแต่งงานก่อนอายุ 30 SK-II ก็เลยออกแรงช่วยสาวๆ กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ด้วยการทำแคมเปญโฆษณาเพื่อลดแรงกดดันนี้ขึ้นมา
3) Virtual Companion : เพื่อนเสมือนสำหรับ คนเหงา 2018 แชตบอตจะสามารถสร้างบทสนทนาที่ลึกซึ้งได้ และไม่ใช่เพียงการคุยเพื่อใช้ให้ทำงานต่างๆ เท่านั้น
ที่มีออกมาเป็นเพื่อนคนเหงาแล้วก็อย่างเช่น Replika ปัญญาประดิษฐ์ที่อัพเลเวลจนเรียนรู้ความชื่นชอบ รสนิยม และค่านิยมของคนที่คุยด้วยได้ แถมยังเติบโตและฉลาดขึ้นจากการทำตัวเลียนแบบเราได้อีก หรือใครไปญี่ปุ่น ก็ลองแวะคาเฟ่ Blue Leaf น ที่ให้ลูกค้าดื่มกาแฟร่วมกับ ‘มิกุ’ Virtual Idol ขวัญใจหนุ่มๆ หลายคนได้
4) Forgiving by Design : ลูกค้าคือพระเจ้า แทบจะเป็นความจริงในทุกสถานการณ์ และปีนี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย แบรนด์ก็จะต้องโอนอ่อนตามลูกค้ามากขึ้น และมีทางออกให้ลูกค้าแม้ในกรณีที่ตัดสินใจผิด เพราะถ้าธุรกิจไหนไม่รู้จักยืดหยุ่น ลูกค้าก็พร้อมจะหันไปหาแบรนด์อื่นได้โดยง่าย
อย่างบัตรเครดิต MasterCard และ Curve ในต่างประเทศ ก็ให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงการจ่ายที่ใช้บัตรรูดได้ภายในสองสัปดาห์ (แต่ก็มีเงื่อนไขต่างๆ แหละ) หรือเสื้อผ้าบางแบรนด์ ก๋ให้ส่วนลดกับลูกค้า หากว่าน้ำหนักลดหรือมีมวลกล้ามเนื้อ (Muscle Mass) เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา จนไม่สามารถใส่เสื้อผ้าของปีที่แล้วได้
5) Glass Box Wrecking Balls : แบรนด์หรือองค์กร (รวมถึงตัวคนด้วยแหละ) จะปกปิดความผิดหรือความไม่โปร่งใสได้ยากขึ้นด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย เพราะคนมองเห็นการกระทำหรือการดำเนินการของแบรนด์ได้ตลอดเวลา (นั่นก็เลยเป็นที่มาของคำว่า Glass Box)
เห็นชัดๆ เลยคือ อย่างปีที่แล้ว #metoo ที่ส่งผลกระทบต่อไวน์สตีน กรณีอื้อฉาวของผู้บริหาร UBER, หรือจดหมายเวียนที่ถูกมองว่าเหยียดเพศภายใน Google นั่นเอง
Illustration by Kodchakorn Thammachart
อ้างอิงข้อมูลจาก trendwatching.com