ในขณะที่เราต่างพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหาก Metaverse กลายเป็นจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนจะไปถึงวันนั้นอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร และระหว่างทางก็มีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนปลดล็อกไปสู๋ Metaverse เต็มรูปแบบ
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้แล้ว อาจต้องเริ่มต้นกันที่เรื่องของความคิดคนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บทความหนึ่งชื่อว่า All Technology is Good and Evil ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“…Ready Player One (ที่เป็นภาพจำลองของ Metaverse – ผู้เขียนบทความ) แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและความผิดพลาดของโลกมนุษย์ในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยสะท้อนภาพของโลกเสมือนที่ช่วยทำให้ความฝันของคนเป็นจริง ในขณะที่โลกจริงนั้นแสนเน่าเฟะเต็มทน เรื่องแนวไซไฟทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดสังเกตว่าเราจะสร้างให้สิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งสิ่งนั้นจะกลายเป็นความผิดพลาดได้อย่างไร…”
นี่เองที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีทุกอย่างล้วนอยู่บนสเปกตรัมที่เรียกว่าดีและเลว มีประโยชน์และเป็นโทษทั้งนั้น คำถามต่อมาก็คือแล้ว Metaverse อยู่ตรงจุดไหนของสเปกตรัมที่ว่า ทั้งนี้ หากฟังเสียงสะท้อนของผู้คนเมื่อถามถึง Metaverse แล้วนั้น ก็มีทั้งคนที่รู้สึกเฉยๆ ยังไม่เข้าใจแนวคิดดังกล่าว หรือแม้แต่กังวลต่อผลกระทบด้านต่างๆ ต่อชีวิตคนที่ต้องใช้ชีวิตในโลกเสมือนมากขึ้น
เมื่อมีหลายเสียงที่ยังตั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปได้และผลกระทบต่างๆ ของ Metaverse อย่างมากมาย The MATTER เลยรวบรวมความท้าทายทั้ง 8 อย่าง เกี่ยวกับการสร้าง Metaverse เพื่อมาดูว่าก่อนจะก้าวไปใช้ชีวิตในพื้นที่ปฏิสัมพันธ์แห่งใหม่ ยังมีประเด็นไหนที่เราต้องมาขบคิดตั้งคำถามกันก่อนบ้าง
ความปลอดภัย & ความเป็นส่วนตัว
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึงมากเมื่อต้องใช้หรือให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต องค์กรต่างๆ ล้วนพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านไอทีเสมอ ถึงอย่างนั้น เมื่อมาถึงยุคที่เตรียมตัวก้าวเข้าสู่ Metaverse ก็ต้องยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่จะใช้ในพื้นที่นี้ให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้คนมั่นใจที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวเมื่อถูกขออนุญาตเข้าถึงในกรณีจำเป็นและต้องยืนยันตัวตน
ตัวตนของผู้ใช้งาน
เมื่อพูดถึง Metaverse หลายคนต่างสงสัยว่า จริงๆ แล้วนิยาม ‘ตัวตน’ ของคนใน Metaverse คืออะไร แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่านั่นคือตัวตนที่แท้จริง ไม่ได้กำลังถูกบุคคลอื่นหรือบอตสวมรอยปลอมแปลง นี่เองที่ทำให้คนกลับมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องการพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริง โดยต้องหาวิธีการที่พิสูจน์ตัวตนของบุคคลได้อย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นลายลักษณ์อักษร
สกุลเงินและระบบชำระเงิน
เดิมทีสกุลเงินดิจิทัลมีมาได้ประมาณ 2-3 ทศวรรษแล้ว หลายคนได้เห็นการเข้ามาของเงินคริปโตและแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ในขอบเขตของโลกออนไลน์ เมื่อมาถึง Metaverse นี่อาจเป็นสิ่งใหม่ที่เราจะได้เห็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตเพลสของโลกเสมือนที่เชื่อมต่อทุกการทำธุรกรรม หรือแม้แต่สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ที่ทำให้คนใช้แลกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงระบบตรวจสอบการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการซื้อขายในมาร์เก็ตเพลสด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นที่ยอมรับและใช้ในโลกเสมือน
กฎหมายและระบบศาล
การให้ความสำคัญกับโดเมนที่ถูกต้องตามกฎหมายในโลกเสมือนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ Metaverse จะกลายเป็นพื้นที่กลางที่เปิดให้ผู้คนเข้าถึง เชื่อมต่อ และทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนต่างๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งอาจนำมาสู่การกระทำที่ก่อให้ความสับสนวุ่นวาย หรือเกิดภาวะเปราะบางในการอยู่ร่วมกันได้หากไม่มีข้อกำหนดระบบและระเบียบสังคมกำกับไว้ นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและระบบพิพากษาว่าควรเป็นแบบไหนที่นำไปใช้ร่วมกันได้จริงใน Metaverse ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามว่าหากฆ่าใครสักคนใน Metaverse เป็นความผิดหรือไม่ การขโมยของใน Metaverse จะได้รับโทษในชีวิตจริงหรือเปล่า หรือ sex worker ใน metaverse จะเป็นเรื่องถูกกฎหมายไหม
กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ต่างๆ
การเข้ามาของบล็อกเชน โทเคน และ NFTs ทำให้ประเด็นการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการถือครอง การมอบกรรมสิทธิ์ การพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริง รวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงการนำสินทรัพย์เหล่านั้นมาใช้ได้เทียบเท่ากับสินทรัพย์ในโลกจริง แล้วเราจะมีวิธีดูและป้องกันกรรมสิทธิ์เหล่านั้นยังไงได้บ้าง
การทิ้งโลกจริงไว้ข้างหลัง
หนึ่งในเรื่องที่หลายคนกังวลเมื่อพูดถึงการเข้าไปใช้ชีวิตใน Metaverse นั้น คือเราอาจใช้เวลาทั้งหมดจมไปกับโลกเสมือน โดยไม่รู้เลยว่าได้ใช้เวลาในโลกเสมือนและโลกจริงไปมากน้อยแค่ไหน ยิ่งโลกเสมือนถูกทำให้กลืนกลายเข้ากับโลกจริงมากเท่าไหร่ ทุกคนจะยิ่งใช้เวลาทำกิจกรรมส่วนใหญ่ผ่านตัวกลางที่มีนวัตกรรม VR มากขึ้น นอกจากนี้ Metaverse ยังถูกนิยามให้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด นี่เองที่ทำให้หลายคนต้องทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องกรอบเวลาและพื้นที่ของ Metaverse ก่อนก้าวเข้าไปใช้ชีวิตในโลกใบนี้
ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี
เมื่อกล่าวถึงการสร้าง Metaverse เรากำลังพูดถึงการยกระดับเครือข่ายเวิลด์ไวด์เว็บอีกขั้น หรือพัฒนาจากภาพสองมิติไปสู่สามมิติ โดยต้องยกเครื่องทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างพื้นที่เชื่อมต่อโลกเสมือนและโลกจริงได้อย่างไร้ขอบเขตไม่มีสิ้นสุด รวมทั้งทำให้คนสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันได้เหมือนเจอหน้ากันจริงๆ แน่นอนว่านี่ต้องใช้การลงทุนค่อนข้างสูงทั้งจากองค์กรยักษ์ใหญ่และเทคคอมพานีเก่งๆ อีกมาก
ผลกระทบต่อสุขภาพ
ลองนึกดูว่าหากเราต้องเดินทางเปลี่ยนจากโลกจริงไปโลกเสมือนเรื่อยๆ หลายคนอาจจดจ่ออยู่กับอวตารในโลกเสมือนจนละทิ้งการดูแลร่างกายในโลกจริงหรือเปล่า นอกจากนี้ สุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกนำมาตั้งคำถามว่า “ผู้คนจะละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบในโลกจริงมากกว่าเดิมไหม” นั่นก็เพราะ การมีเซฟโซนในโลกเสมือนอาจทำให้คนพยายามพาตัวเองหลีกหนีปัญหาและความรับผิดชอบในชีวิตจริงที่เกินแบกรับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เราอาจติดกับดักไปกับการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกเสมือนมากเกินไป อย่างจมอยู่กับคำพูดแย่ๆ ของคนที่อาจไม่ได้รู้จักตัวตนในโลกจริงเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก