สัปดาห์ก่อนหลายคนคงได้ไปเดินเล่นในงาน Japan Expo Thailand 2017 ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป หลายคนไปเพื่อหาข้อมูลวัฒนธรรมญี่ปุ่นรวมถึงข้อมูลศึกษาต่อ หลายคนอยากลองไปดูว่า Pikotaro เจ้าของเพลง PPAP จะเอาเพลงเวอร์ชั่นไหนมาเล่นกันในไทย กลุ่มหนึ่งไปเพื่อคอสเพลย์หลังจากที่ไม่มีงานใหญ่ในโทนนี้มาระยะหนึ่ง
บางคนไปเพื่อดูการเดินทางมาแสดงในประเทศไทยแบบเป็นทางการครั้งแรกของ AKB48 หลังจากที่ก่อนหน้านี้สมาชิกวงไอดอลชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นเทียวไปเทียวมาเพื่อถ่ายงานในบ้านเราหลายรอบแล้ว
อีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ของงานนี้คงไม่พ้นการเปิดตัวสมาชิกอย่างเป็นทางการของวง BNK48 วงน้องสาวของ AKB48 ที่ขยายสาขามาเปิดในประเทศไทย หลังจากที่มีการประกาศเปิดตัวการมาถึงในประเทศไทยไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะมีงาน 1st Event และประกาศรับสมัครไปเมื่อช่วงกลางปี 2016 สมาชิกของ BNK48 ที่มาเปิดตัวนั้นก็มีทั้งหมด 29 คน เป็นสาวไทย 28 คน และเป็นสาวญี่ปุ่น 1 คน แถมหลายคนเคยมีผลงานในวงการบันเทิงมาก่อน
การเปิดตัววง BNK48 ถือว่าค่อนข้างเป็นกระแสในญี่ปุ่นเลยทีเดียว หลายคนอาจสงสัย ทำไมถึงมีแค่ 29 คน แต่ดันมีตัวเลข 48 ในชื่อวง ไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
ก่อนจะรู้จักวงน้องสาว BNK48 แวะทำความรู้จักวงรุ่นพี่ AKB48 แป๊บนึง
AKB48 คือวงไอดอลที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2005 โดย Akimoto Yasushi โปรดิวเซอร์, นักแต่งเพลง, ผู้เขียนบทอนิเมชั่น และละคร ที่มีประสบการณ์อยู่ในวงการบันเทิงมายาวนาน ทำโปรเจ็กต์วงไอดอลที่มีคอนเซ็ปต์ ‘ไอดอลที่คุณมาพบปะได้’ จึงต้องการสร้างไอดอลเน้นทำการแสดงที่เธียเตอร์ (Theater) ในโซนอากิฮาบาระที่กลายเป็นชื่อย่อของวง (Akihabara ย่อเหลือแค่ AKB) ก่อนจะกลายเป็นชื่อทีมย่อยของวงอีกที คือ ทีม A, ทีม K และ ทีม B ส่วนตัวเลข 48 นั้น ว่ากันว่า มาจากนามสกุลของ Shiba Kotaro ที่ตัว Shiba อ่านแผลงเป็นเลข 4 กับ เลข 8 ได้
แม้ว่าตอนแรกๆ AKB48 อาจจะดูไม่มีกระแสมากนัก แต่ก็มีเด็กสาวเดินทางตามฝันมาสมัครเป็นไอดอลจนได้สมาชิกวงมากขึ้นเรื่อยๆ AKB48 ออกซิงเกิลเพลงแผ่นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2006 ในฐานะนักร้องอินดี้ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้เข้าสังกัดค่ายเพลงใหญ่ในเวลาต่อมา และฐานแฟนคลับก็ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น จากการเริ่มต้นเล็กๆ สุดท้าย AKB48 ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่วงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาสมัครและในขณะเดียวกันสมาชิกในวงก็มีระบบหมุนเวียนที่ชัดเจนกว่าไอดอลกลุ่มอื่น รวมกับการบริหารจัดการงานของทีมงาน AKS ที่มีกิจกรรมให้แฟนคลับมีส่วนร่วม อย่างงานเลือกตั้ง หรืองานจับมือ และบริหารงานให้ไอดอลในวงที่มีจำนวนมากกว่า 100 คน มีพื้นที่ได้ออกงานกันบ้าง ไม่ว่าจะผ่านทางรายการของวงเองแบบ AKBingo! หรือ AKB48 Show บางคนที่มีแววเป็นนักแสดงก็อาจจะได้ขยับไปเล่นซีรีส์แอ็คชั่นแบบ Majisuka Gakuen
นอกจากออกเพลง ออกทีวี เล่นละคร เล่นหนัง AKB48 ก็พัฒนาสินค้าไลน์อื่นอีก หนังสือการ์ตูนก็มี อนิเมชั่นก็มี เกมก็ยังมา
ถ้าใครตามข่าวบันเทิงญี่ปุ่นก็คงจะได้ยิน AKB48 มาหลายปีดีดักแล้วล่ะ เพราะข่าวของตัววงเอง, สมาชิกทั้งอดีต ปัจจุบัน ยันอนาคต ก็มีออกมาตลอดๆ ทั้งข่าวแง่ดี หรือแง่ไม่ดีก็ตาม พูดได้ว่าปัจจุบันการเข้าเป็นสมาชิกวง AKB ได้ ก็ถือเป็นใบเบิกทางให้เส้นทางในอนาคตของเด็กสาวที่เข้าร่วมวง
BNK48 เบื้องต้น 101
อย่างที่บอกว่า AKB48 ใช้คอนเซ็ปต์ ‘ไอดอลที่ไปพบได้’ การที่วงจะติดแหงกอยู่แค่อากิฮาบาระมันก็ดูขัดแย้งใช่ไหมล่ะ ทางโปรดิวเซอร์เลยตัดสินใจสร้าง ‘วงน้อง’ ขึ้นในเขตอื่นๆ ของญี่ปุ่นก่อน อย่างเช่น SKE48 ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในย่าน ซากาเอะ (Sakae) จังหวัดนาโงย่า, NMB48 มีฐานที่มั่นอยู่ในย่าน นัมบะ (Namba) จังหวัดโอซาก้า, HKT48 มีฐานที่มั่นอยู่ในย่าน ฮากาตะ (Hakata) จังหวัดฟุกุโอกะ ฯลฯ
นอกจากวงในประเทศแล้ว AKB48 ก็สยายปีกสู่ประเทศอื่น เริ่มจาก JKT48 ไอดอลที่มีฐานที่มั่นอยู่ใน เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย ตามด้วย SNH48 วงไอดอลที่มีฐานที่มั่นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แต่ AKB48 ได้ประกาศตัดความร่วมมือกับวงดังกล่าวรวมถึงเรียกสมาชิกชาวญี่ปุ่นกลับประเทศ ในช่วงกลางปีที่แล้ว ก่อนที่วง SNH48 จะประกาศว่าพวกเขาดำเนินการโดยอิสระมาตั้งแต่ต้น …ดราม่าเนอะ
ส่วน BNK48, MNL48 (Manila 48) และ TPE48 (Taipei 48) เป็นวงน้องสาวต่างแดนของ AKB48 ที่เพิ่งถูกประกาศจัดตั้งวงไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2016 นี่เอง และในบ้านเรา วง BNK48 ก็เพิ่งเปิดตัวสมาชิกแบบเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
บริษัทโรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ (RAM) อธิบายไว้คร่าวๆ ในงานแถลงข่าวถึงแผนงานว่า BNK48 ก็จะตามรอยวงรุ่นพี่ที่ญี่ปุ่น ขั้นต้นมีการเปิดดิจิทัลสตูดิโอที่ศูนย์การค้า EmQuatier เพื่อให้สมาชิกของวงออกมาสื่อสารกับคนไทยที่ติดตามสื่อโซเชียลกันมากขึ้น มีรายการทีวีรออยู่สองรายการเพื่อเป็นการโปรโมทวงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตามด้วยการออกโรดโชว์ตามศูนย์การค้าต่างจังหวัด และสมาชิกวงตอนนี้ก็ถือเป็นสมาชิกทีม B และจะมีการออดิชั่นฟอร์มทีม N ต่อไปในอนาคต ช่วงนี้สมาชิกวงก็เริ่มออกงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงเป็นแขกตามรายการทีวี
ว้าว ว้าว ว้าว แบบนี้ก็มีใครในวง BNK48 ที่น่าเล็งเป็นเมนบ้างเนี่ย
คนไทยอาจจะคุ้นกับการเรียกไอดอลคนที่ชอบว่า ‘เมน’ ตามกระแส K-Pop สำหรับวงไอดอลสไตล์ AKB48, Nogizaka46, Momoiro Clover Z ฯลฯ นั้นมีศัพท์เรียกกันว่า โอชิเมม (推しメン แปลคร่าวๆ ได้ว่าสมาชิกที่อยากผลักดัน)
ซึ่งคำนี้ก็บ่งบอกถึงสถานะของคนที่มาติ่งไอดอลแบบชัดเจน ว่าถ้าเขาชอบใครแล้วก็จะพยายามเปย์เงินให้คนๆ นั้นล่ะ สมมติว่าคุณ A เป็น โอชิเมมสมาชิกสักคนใน AKB48 คุณ A ก็อาจจะตามลุยไปซื้อสินค้าที่สกรีนเป็นรูปสมาชิกคนนั้น แล้วก็ต้องตามซื้อ CD เพลงที่มีตั๋วโหวตคะแนนดันให้น้องคนนั้นไปถึง Senbatsu ได้
การเป็นติ่งไม่ว่าจะเป็นวงของประเทศอะไร เราก็พร้อมเปย์ให้คนที่เรารักเสมอ
จากกระแสเปิดตัวแล้ว คนที่มาแรงมากๆ ก็คงไม่พ้น น้องเฌอปราง-เฌอปราง อารีย์กุล ที่นอกจากชื่อจะสะดุดหู หน้าตาสะดุดใจ เป็นสาวแว่นแถมยังเคยคอสอีก แบบนี้หลายคนก็หลงลงชื่อสมัครเป็นโอชิเมมกันแล้ว
รองมาที่เห็นมิตรสหายหลายท่านกดติดตามกันในทั้งในแฟนเพจ Facebook และ Instagram ก็คือ น้องซัทจัง-สวิชญา ขจรรุ่งศิลป์ สาวน้อยที่มาพร้อมรอยยิ้มสดใสโมเอะตะมุ้งตะมิ้งเป็นที่สุด
น้องจ๋า #BNK48 แสดงเป็นปัทมา(ตอนเด็ก)ในขมิ้นกับปูนเวอร์ชั่นล่าสุด น้องเล่นเก่งมากมีกระทู้ชมในพันทิปด้วย pic.twitter.com/7LLWQaaM8a
— เค้กกี้ (@cakeetvxq) February 12, 2017
ถ้าสายฝีมือต้อง น้องจ๋า-ณปภัช วรพฤทธานนท์ ที่ผ่านงานพิธีกรและงานแสดงมามาก โดยเฉพาะบท ปัทมา จากละครขมิ้นกับปูน ที่กระแสในโลกออนไลน์ชื่นชมกันมากถึงฝีมือของเธอ และคลิปร้องเพลงของเธอก็น่ารักน่าหยิกไม่น้อยเลยล่ะ
อีกคนที่น่าจะพูดถึงเสียหน่อยก็คงไม่พ้น มิโอริ โอคุโบะ สมาชิกสายเลือดญี่ปุ่น แม้จะไม่ใช่สมาชิกจากวงหลักแต่ก็ดูเข้าทีกับวงสไตล์ญี่ปุ่นแบบนี้อย่างมาก
อีกคนที่น่าสนใจมากคือ น้องเปี่ยม-รินรดา อินทร์ไธสง เห็นสไตล์สดใสแบบนี้ อย่าได้ประมาทเธอเด็ดขาด เพราะเธอคือ #เปี่ยมจีกุหลาบไฟ สาวน้อยไฟแรงระดับที่เพจน้องงยังต้องเซฟรูปเธอไปขายของ บอกเลยน้องมีของ #สาธุ
คนไทยจะอินวงที่มีคนเยอะขนาดนี้ ร้องเต้นทีแย่งไลน์กันหมดเหรอ
อิน BNK48 หรือเปล่า ก็ต้องตอบก่อนว่ามีคนไทยส่วนหนึ่งที่อินวง AKB48 มีกลุ่มคนที่สั่งของจากญี่ปุ่นหรือถึงขั้นที่บินตรงไปร่วมงานจับมือที่ญี่ปุ่นปีละครั้งจำนวนไม่น้อยทีเดียว
ส่วนเหตุผลที่ AKB48 ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งก็เพราะการยึดคอนเซ็ปต์ “ไอดอลที่มาพบได้” สามารถติดตามข่าวสารได้ เข้าไปจับมือหรือพูดคุยแบบใกล้ชิดได้ รวมถึงมีการแสดงออกและโต้ตอบแฟนเพลงอย่างชัดเจน หรือพูดอีกแง่คือ แม้ว่าวงจะทำสไตล์ออกมาเป็นตลาดจ๋า (Mass) แต่ความโดดเด่นของวงกลับมาจากการขายตัวตน (Identity) ของสมาชิกแต่ละคนแต่ละรุ่นแต่ละยุค ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามลูกค้าที่ผลัดใบตามยุคเช่นกัน
แฟน AKB ก็ให้เหตุผลแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าชอบเพราะได้ติดตามชีวิตของไอดอลตั้งแต่จุดที่ยังไม่เป็นอะไรเลยจนกระทั่งเป็นมืออาชีพในทางใดทางหนึ่ง บ้างก็ชอบเพราะความไม่สมบูรณ์แบบยังสามารถพัฒนาอะไรได้อีกไกล บ้างก็ชอบความโดดเด่นของไอดอลคนหนึ่งที่สามารถพุ่งทะลุมากกว่าคนอื่นในวงได้ เรียกได้ว่าถ้าถามแฟนแต่ละคนก็ชอบกันคนละอย่าง
ที่เหมือนกันแน่นอนก็คือทุกคนที่ติดตามไอดอล ไม่ว่าจะ AKB48, BNK48หรือวงไหนๆ ก็เพราะพวกเขาเป็น นักร้องที่สามารถมอบความฝัน, ความหวัง และความสดใสให้คนดูทุกคนนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก