eSports กลายเป็นเรื่องที่จับต้องได้สำหรับประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยได้รับการยอมรับจากการกีฬาแห่งประเทศไทย บรรจุให้ eSports เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง กระนั้นแล้วเราก็มักจะคุ้นตากับภาพนักกีฬา eSports ที่เล่นเกมแนวทำงานกันเป็นทีมอย่าง Counter-Strike, Overwatch, DotA, LOL หรือ RoV ที่มีการแข่งบ่อยๆ และก็มีจำนวนผู้เล่นค่อนข้างมาก
แต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีงานฉายภาพยนตร์นิพนธ์ของนิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่หนึ่งในนั้นมีภาพยนตร์เรื่อง Game On Life ที่บอกเล่าเรื่องราวของ บุ๊ค-นพรุจ เหมกร นักกีฬา eSports ที่เลือกเดินบนเส้นทางของการเป็นนักกีฬาเกมแนวต่อสู้ Tekken 7
บุ๊คแข่งขันเกมนี้จนสามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์จากงาน 9th eSports World Championship BUSAN 2017 นั่นหมายความว่าฝีมือของเขาต้องไม่ใช่ระดับธรรมดา แม้ดูเหมือนว่ายุคนี้น่าจะไม่ใช่ยุคของการเล่นเกมคนเดียว หรืออาจถึงขั้นมองว่าเกมสำหรับเล่นคนเดียวไม่ใช่ eSports แล้ว แต่เชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะต้องคุยกันยาวๆ สักหน่อย และติดตามเรื่องราวของ eSports ที่สารคดีบอกเล่าให้เราฟัง
eSports ไม่มีที่ให้เกมสำหรับผู้เล่นคนเดียว?
คำตอบของคำถามนี้ ถ้าตอบเร็วๆ ก็คือ ไม่ใช่ เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปนับตั้งแต่วิดีโอเกมยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ ก็มีเกมที่สามารถแข่งขันกันระหว่างผู้เล่นสองคนเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น Tennis for Two ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1958 เกมที่เปิดให้ผู้เล่นสองคนตีโต้บอลบนหน้าจออนาล็อกรุ่นโบราณ นั่นหมายความว่า เกมสำหรับให้ผู้เล่นคนเดียวทำการแข่งขันกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามนั้นมีมาตั้งแต่วิดีโอเกมยุคแรกเลยทีเดียว
และวิดีโอเกมก็ใช้เวลาไม่นานในการพัฒนาให้มีเกมสำหรับแข่งขันหลายคนขึ้นมา ซึ่งนั่นก็คือเกม Spacewar! ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1962 สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่น PDP-1 เกมดังกล่าวได้มีการจัดงานแข่งขันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์วิดีโอเกมในปี 1972 ที่มหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการแข่งกันทั้งแบบดวลกันตัวต่อตัว แข่งแบบพบกันหมด (free-for-all) และการแข่งแบบทีม 2 ต่อ 2
ถึงจะมีวิดีโอเกมและงานแข่งขันขึ้นมาแล้ว แต่วิดีโอเกมก็ยังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่คนที่นิยมเทคโนโลยีเท่านั้น กว่าที่วิดีโอเกมจะกลายเป็นกระแสหลักมากๆ ก็คือเป็นช่วงปี 1970-1980 ที่เกมอย่าง Space Invaders ได้รับความนิยม ทั้งแบบเกมตู้ที่หลายๆ คนต้องไปเล่นกันตามร้าน ก่อนที่เกมนี้จะไปลงบนเครื่องเกมคอนโซล Atari 2600 และมีการจัดงานแข่งขันกันแบบแมสขึ้นมาในปี 1980 แล้วการดวลเกมกันตามห้างหรือร้านเช่าเครื่องเกมก็กลายเป็นภาพจำอันแสนปกติของบ้านเราในนับตั้งแต่ช่วงนี้
กว่าที่เกมสำหรับการแข่งขันและเล่นหลายคนผ่านระบบเครือข่ายต่างๆ จะได้รับความนิยมในกลุ่มนักเล่นเกมจำนวนมากก็ต้องข้ามผ่านมาช่วงยุค 1990 ที่วิดีโอเกมบนคอมพิวเตอร์เริ่มมีสไตล์เกมที่หลากหลายขึ้น แต่ในตอนนั้นการเล่นให้ราบรื่นก็ยังเป็นการเล่นผ่านระบบ LAN เสียมากกว่า ทำให้การเล่นแบบ LAN party หรือการจัดงานที่ให้แต่ละคนขนคอมไปเล่นรวมกันในสถานที่จัดงานได้รับความนิยมในต่างประเทศ หรือไม่ก็ไปเล่นกันตามร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ (แบบในฝั่งบ้านเรา) แล้วก็เป็นยุคนี้เช่นกันที่การแข่งขัน eSports เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อย่างในปี 1997 นักธุรกิจชื่อ Angel Munoz ได้ก่อตั้ง Cyberathlete Professional League ที่ทำให้การแข่งขันวิดีโอเกมกลายเป็นกีฬามากขึ้น และทำให้มีบริษัทต่างๆ เริ่มมาลงทุนและเงินรางวัลมากขึ้น
อีกเกมหนึ่งที่ถือว่าส่งผลอย่างมากต่อการกำเนิดของ eSports ก็คือเกม StarCraft (วางจำหน่ายในปี 1997) ที่ได้รับความนิยมในประเทศเกาหลีใต้อย่างมากจนถึงขั้นที่มีการก่อตั้งลีกการแข่งขันแบบจริงจัง จัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อถ่ายทอดสด รวมถึงเป็นตัวจุดประกายให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต้องกระจายเข้าถึงบ้านอย่างทั่วถึง แต่ในตอนนั้น StarCraft ก็ยังแข่งขันกับแบบตัวต่อตัวอยู่ ส่วนเกมที่แข่งขันกันเป็นทีมต้องยกให้ฝั่ง Counter-Strike ที่ในช่วงต้นของยุค 2000 มีเวทีการแข่งขันเกมมากมาย
ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการ eSports ปัจจุบัน อย่าง Sean Plott หรือ Day[9] ได้กล่าวไว้ในคลิป (เชิงโฆษณา)ไว้ว่า การที่ eSports ได้รับความนิยมแบบแทบทุกย่อมหญ้าจริงๆ เป็นผลพวงมากจากการที่ระบบรับชมรายการออนไลน์ที่ง่ายขึ้นในช่วงปี 2010 และเมื่อผู้คนทั่วโลกสามารถแข่งขันและรับชมการแข่งได้อย่างทันท่วงที ก็ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกมีส่วนร่วมกับกีฬาดิจิทัลได้ง่ายขึ้น และจุดนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการบูมของ eSports ในระดับที่ไม่เคยมีีมาก่อน
เล่าเรื่องออกมาไกลจากภาพยนตร์ Game On Life กันพอสมควรแล้ว แต่ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นเกมที่ผู้เล่นเดี่ยวหรือเกมที่ต้องเล่นเป็นทีม เกมทั้งสองประเภทก็มีตัวตนในวงการวิดีโอเกมมายาวนานแล้ว เพียงแค่งานแข่งขันเกมเดี่ยวๆ อย่าง StarCraft หรือ Tekken 7 อาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตาสักเท่าไหร่ หรือในช่วงนี้อาจจะมีโฆษณาไม่เยอะเท่ากับฝั่งเกม MOBA ที่ออกสื่อกันรัวๆ เท่านั้นเอง
ชอบเกมเล่นคนเดียว ใช่ว่าจะไร้การเข้าสังคมหรือทำงานแบบเป็นทีม
กลับไปยังฝั่งสารคดี – Game On Life ได้บอกเล่าชีวิต บุ๊ค จากคนรอบตัวทั้งฝั่งครอบครัวและฝั่งอาจารย์ว่า ตัวของบุ๊คเองค่อนข้างจะเก็บตัวเงียบๆ และเหมือนจะไม่มีเพื่อนสนิทเป็นพิเศษ แต่นั่นหมายความว่าตัวบุ๊ค หรือนักกีฬา eSports ที่นิยมเล่นเกมแบบเดี่ยวๆ จะเข้าสังคมไม่เก่งเท่ากลุ่มนักกีฬาที่เล่นเกมแบบเป็นทีมหรือเปล่า?
เท่าที่ภาพยนตร์พาผู้ชมแบบเราไปรับชมก็เห็นได้ว่า ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว บุ๊คยังเข้าสังคมได้แบบปกติ อาจจะมีเคอะเขินบ้างกับกลุ่มที่ไม่สนิทมากนัก ซึ่งก็ไม่น่าเป็นเรื่องแปลกเท่าไหร่นัก และถ้าจะเหมารวมว่าคนเล่นเกมเข้าสังคมไม่เป็นก็ไม่น่าจะใช่ หรือถ้าจะพูดว่า คนที่เกมแนวเล่นคนเดียวทำงานเป็นทีมไม่ได้ก็ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ ในสารคดีทำให้เราเห็นชัดว่า เกมที่ผู้เล่นคนเดียวเข้าทำการแข่งขันมีกลุ่มสังคม (community) ที่ค่อนข้างเหนียวแน่น อย่างผู้เล่นเกมต่อสู้ก็มีการรวมตัวกันทั้งในกลุ่ม Fightclub.in.th และกลุ่ม Thaigeruppercut หรือ TGU Team
ตัวสารคดีเล่าว่า กลุ่มนักเล่นเกมต่อสู้ไม่ได้อยากแค่มาประมือกันเพื่อให้รู้ว่าใครฝีมือดีที่สุดในประเทศ แล้วส่งนักกีฬาคนนั้นออกไปแข่งขันในเวทีโลก สิ่งที่พวกเขาอยากทำตอนนี้คือการพยายามสร้างนักกีฬาที่มีฝีมือการเล่นเกมให้สูสีกัน เพื่อที่สุดท้ายจะได้เกิดคู่แข่ง และมีการแข่งขันกันเองกับบุ๊คและนักกีฬาคนอื่นๆ ที่สุดท้ายต่างฝ่ายต่างจะดึงฝีมือของกันและกันออกมาให้ถึงที่สุด ซึ่งนั่นก็ยิ่งสะท้อนว่า นักกีฬา eSports ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาของเกมไหนก็ยังมีทักษะในการเข้าสังคมได้นั่นเอง
เมื่อลีกการแข่งขันเป็นเวทีระดับโลกแบบแท้จริง
Game On Life โฟกัสอยู่ที่ตัวบุ๊คกับเกม Tekken 7 เป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่า สังคมของการแข่งขัน eSports กำลังเติบโตขึ้นในทุกภาคส่วน แม้แต่ฝั่งเกมไฟท์ติ้งที่อาจจะดูเงียบเหงาบ้างในบางช่วงเวลาที่ไม่มีเกมน่าสนใจใหม่ๆ ออกมาให้เล่น (ตัวบุ๊คเองยังพูดในสารคดีว่าช่วงหนึ่งเขาเกือบจะเลิกแข่งเกม Tekken ไปแล้ว) และลีกการแข่งขันของทวีปต่างๆ ก็ยังแยกขาดออกจากกันในระดับหนึ่ง ด้วยความที่งานแข่งขันใหญ่ๆ ในสายเกมต่อสู้ อย่างงาน Evolution Championship Series หรือ EVO เป็นงานที่จัดแข่งขันในอเมริกา แม้ว่าจะพอมีนักแข่งจากเอเซียไปอาละวาดออกฝีมือกวาดแชมป์กลับมาบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นเวทีที่นักแข่งที่ไปถึงรอบลึกๆ จะเป็นคนอเมริกาเสียมากกว่า สำหรับนักกีฬาจากชาติอื่นที่อุตสาหกรรมเกมยังไม่เข้มแข็ง ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปถึงรอบคัดเลือกเสียด้วยซ้ำ
การที่งานแข่งใหญ่แบบ EVO เดินทางออกจากบ้านเกิดมาจัดงานแยกเป็น EVO Japan 2018 จึงเป็นสถานที่อันดีที่ทำให้นักกีฬาจากฝั่งเอเซียชาติอื่นๆ มีโอกาสได้แสดงฝีมือ แสดงตัว และเป็นการบอกให้สื่อต่างๆ ได้รู้ว่าประเทศที่อาจจะไม่เคยเห็นชื่อมาก่อนในการแข่งขันระดับโลกก็มีนักกีฬาที่ชำนาญการเล่นเกมต่างๆ อยู่ และถ้านักกีฬาเหล่านี้สามารถเอาชนะนักกีฬามืออาชีพที่ไปแข่งในรายการใหญ่ได้ ย่อมหมายความว่าจะมีคนสนใจเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อดูว่าในประเทศดังกล่าวมีวัฒนธรรมการเล่นเกมแบบไหน อย่างตัวสารคดีเองก็นำเสนอนักแข่งจากฝั่งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน เพิ่มเติมด้วย
พูดถึงการทำให้คนต่างชาติมาสนใจในวัฒนธรรมการเล่นเกมของชาติอื่น อาจจะฟังดูเหนือจริงไปนิด แต่ในไทยก็มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบางแล้ว อย่างการแข่งขันของ Thaiger Uppercut ของบ้านเราเองมีนักกีฬาจากต่างประเทศเคยออกปากว่าบรรยากาศการแข่งขันของบ้านเราออกจะรีแลกซ์และมีความเป็นมิตรมากกว่าการแข่งขันในหลายๆ ประเทศ ซึ่งสุดท้ายบางทีจุดเหล่านี้อาจจะพลิกมาเป็นจุดที่เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวสายเล่นเกมก็เป็นได้
หลังจากชม Game On Life จบ นอกจากที่เราจะเข้าใจว่า วงการกีฬา eSports ในโลกเราเติบโตไปอย่างมาก ทั้งในส่วนของเกมแนวผู้เล่นหลายคนที่มีโฆษณาให้เห็นกันเยอะ และส่วนของเกมที่เล่นคนเดียวแล้ว เรายังเข้าใจแนวคิดของนักกีฬา eSports ต่อการแข่งขันรวมถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย ทั้งยังได้เห็นความสำคัญขอผู้ติดตามการแข่งขันเกมต่อสู้ทั่วโลก
ถ้าบ้านเราจะเร่งกันพัฒนางานในส่วน eSports ให้บูมจนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของเกมใดเกมหนึ่งแล้วล่ะก็ คงสอดคล้องกับบทพูดทิ้งท้ายของบุ๊คที่บอกในทำนองว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้ตั้งใจจริง สุดท้ายแล้วสิ่งที่คุณทำอยู่ก็จะออกผลให้เราเห็นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก