เวลาเราพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จในวงการเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ชื่อของ CEO คนดังอย่าง Bill Gates ของ Microsoft, Mark Zuckerberg ของ Facebook หรือ Elon Musk ของ Tesla Motors คงปรากฏขึ้นมาในใจเป็นลำดับแรกๆ แต่เราเคยสังเกตไหมว่าทำไมคนที่มีบทบาทในวงการนี้มักมีแต่ผู้ชาย ผู้หญิงหายไปไหน ทำไมสัดส่วนของผู้หญิงในวงการนี้จึงมีน้อยมาก ปัญหาความไม่เท่าเทียมเหล่านี้เกิดจากอะไรกัน ?
วงการเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีตำแหน่งงานในวงการนี้ที่มากกว่าจำนวนนักศึกษาที่จบด้านเอกคอมพิวเตอร์ถึง 3 เท่า และยังคาดการณ์อีกว่าในปี 2020 จะมีการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานวิศวกรซอฟแวร์กว่าอีก 1 ล้านตำแหน่ง
ทั้งๆ ที่ขาดบุคลากรจำนวนมาก แต่จากสถิติปี 2014 จะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ทำงานในวงการคอมพิวเตอร์นั้นมีไม่ถึง 1/3 และสถิติการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ
ในวงการนี้ก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้น อีกทั้งผู้หญิงที่ทำงานใน Silicon Valley ก็มักพบกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และการกดขี่ค่าแรงด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับ Microsoft Thailand และ Girls Who Dev จัดฉายภาพยนตร์ CODE: Debugging the Gender Gap (ถอดรหัสช่องว่างระหว่างเพศ) ภาพยนตร์สารคดีที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมทั้งเชิญผู้กำกับ Robin Hauser Reynolds ร่วมพูดคุยในงานนี้ด้วย
The MATTER รวบรวมประเด็นน่าสนใจในภาพยนตร์สารคดีและการพูดคุยในงานมาแบ่งปันกัน
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง CODE: Debugging the Gender Gap ถ่ายทอดให้เห็นถึงปัญหาช่องว่างระหว่างเพศและการขาดแคลนบุคลากรเพศหญิงในวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี โดยวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยสำคัญทางโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาที่ส่งผลปัญหา ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของผู้หญิงในวงการเทคโนโลยี เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงที่กำลังต่อสู้กับอคติทางเพศและความไม่เท่าเทียมด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจในภาพยนตร์สารคดีนี้ คือการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของความหลากหลายทางเพศของการมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในวงการนี้ จากตัวอย่างเหตุการณ์ความผิดพลาดของการผลิตถุงลมนิรภัยในรถยนต์ช่วงแรกๆ ออกมา ในยุคนั้นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยในยุคนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันและช่วยรักษาชีวิตผู้หญิงและเด็กได้ เนื่องจากคนออกแบบและคิดค้นเป็นผู้ชายทั้งหมด การคาดคะเนส่วนสูงและน้ำหนักสำหรับการป้องกันจึงล้วนแต่เป็นไซส์ของผู้ชาย ดังนั้นการมีผู้หญิงในองค์กรที่จะเป็นการช่วยแย้งและนำเสนอความคิดเห็นในแบบของผู้หญิงที่มีความจำเป็นต่อองค์กรและวงการนี้
หนังยังเผยให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ตั้งแต่อดีตผู้หญิงมีบทบาทในวงการเทคโนโลยีมาโดยตลอด แม้แต่ Ada Loverace (1815-1852) ผู้ที่ถูกเรียกว่าโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์คนแรกของโลก หรือแม้แต่ Grace Hopper (1906-1992) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สังกัดกองทหารเรือ ผู้คิดค้นคำว่า bug และผู้แปลภาษาคอมพิวเตอร์คนแรก ล้วนแต่ก็เป็นผู้หญิง ทั้งในปี 1967 เอง นิตยสาร Cosmopolitan ยังได้ตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า The Computer Girls ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานกับเทคโนโลยีในยุคนั้น นอกจากนี้ในช่วงยุค 80 สถิติของเพศชายและเพศหญิงที่ทำงานในวงการนี้ก็เกือบจะมีจำนวนที่เท่ากัน ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงนั้นไม่ได้หายไปจากวงการคอมพิวเตอร์ แต่ในยุคหลังภาพลักษณ์ของวงการนี้ถูกเปลี่ยน ถูกทำให้มองเห็นภาพและพื้นที่ของความเป็นผู้ชายมากกว่า
ปัญหาสำคัญคือ สังคมมักตัดสินและมีทัศนคติว่าวิชาหมวด STEM (Science/Technology/Engineering/Mathematic) เหมาะแก่เด็กผู้ชายเท่านั้น ขณะที่ผู้หญิงมักถูกมองว่ามีความรู้ด้อยกว่าในวิชาเหล่านี้ มันถือเป็นการเหมารวมที่ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้หญิง ขัดกับการทดลองและงานวิจัยที่ว่า แท้จริงแล้วผู้หญิงสามารถทำได้ดีเทียบเท่ากับผู้ชาย แต่การถูกบั่นทอนและการเปรียบเทียบของสังคมนั้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีความสามารถและกล้าแสดงออกน้อยลงเพราะขาดความมั่นใจ
นอกจากนี้ ระบบ ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ ในสถานที่ทำงานและสถานศึกษาก็มีผลให้ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะกลายเป็นเป้าสายตา มิหนำซ้ำ ในปัจจุบันเองยังมีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นมากมายใน Silicon Valley ซึ่งถึงแม้จะมีผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกล่วงละเมิด แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการแก้ไข
หลังจากการรับชมภาพยนตร์ ผู้กำกับ Robin Hauser Reynolds ที่บินมาร่วมในงานครั้งนี้ ก็ได้พูดคุยกับผู้ร่วมงาน ซึ่ง Reynolds ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จากลูกสาวของเธอ ที่เคยเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และทั้งๆ ที่ถึงแม้จะเรียนได้ดีแต่เนื่องด้วยการสังคมที่ไม่ค่อยมีผู้หญิง การถูกมองและอคติจากสังคมรอบข้างทำให้ลูกสาวของเธอตัดสินใจลาออกจากคณะนี้ Reynolds จึงต้องการทำสารคดีที่เผยแพร่ให้เห็นถึงปัญหาและช่องว่างของผู้หญิงในวงการนี้
The MATTER ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยกับคุณ Reynolds ผู้กำกับเป็นการส่วนตัวด้วย
The MATTER: ในปัจจุบันเหมือนว่าสังคมเราเปิดโอกาสให้ความเท่าเทียมและเพศหญิงมากขึ้นแล้ว คุณคิดว่าปัญหาเรื่องนี้ยังมีอยู่และเกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยีไหม
Robin Hauser Reynolds: ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิงในวงการเทคโนโลยียังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าสารคดีนี้จะถูกฉายตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมากนัก ปัญหาแบบนี้คงต้องใช้เวลาอย่างมากถึงจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น
The MATTER: ผ่านมา 2 ปีแล้วหลังจากสารคดีนี้ออกฉาย ในวงการเทคโนโลยีและบริษัทต่างๆ จำนวนตัวเลขหรือเปอร์เซ็นการเข้าทำงานของผู้หญิงมีมากขึ้น กว่าช่วงก่อนไหม
Robin Hauser Reynold: ไม่เลย มันไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่เลย ถึงแม้จะมีช่วงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จำนวนเหล่านั้นก็ลดลงมา ทั้งไม่ใช่แค่ปัญหาของจำนวนผู้หญิงที่ไม่เพิ่มขึ้นด้วย แต่เรื่องความก้าวหน้าทางการงานของผู้หญิงยังเป็นปัญหาด้วย ผู้หญิงถูกมองว่าต้องแบ่งเวลาให้กับงานและหน้าที่ทางบ้าน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช้แค่ตลาดเทคโนโลยี แต่ในวงการอื่นๆ แรกเริ่มมีผู้หญิงเข้ามาทำงานมาก แต่พอถึงปลายทางหรือในตำแหน่งสูงๆ เรามีผู้หญิงน้อยลง
The MATTER: หลังสารคดีนี้ออกฉาย คุณเห็นสัญญาณที่ดี หรือโอกาสในความเปลี่ยนแปลงปัญหานี้มากขึ้นไหม
Robin Hauser Reynold : ใช่ มันมีสัญญาณที่ดีมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์จะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็มีหน่วยงาน องค์กร และโรงเรียนต่างๆ ที่ก่อตั้งเพื่อสอนการเขียนโค้ดข้อมูลคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีแก่ผู้หญิงมากขึ้น ประเด็นเรื่องช่องว่างระหว่างเพศในวงการนี้ถูกนำไปพูดคุย ถกเกียงในวงกว้างมากขึ้น แม้แต่รัฐบาล หนังสือพิมพ์ บทความต่างๆ เองก็ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ และในระบบการศึกษาของสหรัฐฯก็เริ่มมีการริเริ่มจะให้การเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์บรรจุเป็นส่วนนึงในวิชาเรียน เพื่อให้ทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้าถามถึงจำนวนผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีนั้นก็ยังไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นให้เห็นได้ชัด
The MATTER: ในฐานะที่คุณ Reynold ทำงานเป็นผู้กำกับหญิง คุณเคยมีประสบการณ์การถูกกีดกันหรือมีปัญหาในการทำงานเพราะความเป็นผู้หญิงไหม
Robin Hauser Reynold: ในฐานะที่ฉันเป็นคนทำสารคดีและอาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก จริงๆ แล้วฉันก็ใม่ได้รู้สึกแปลกแยกหรือมีความแตกต่างอะไรในการเป็นผู้กำกับหญิงในวงการนี้ เพราะฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้กำกับชายเขาเป็นอย่างไร ฉันแค่ทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ แต่มันก็มีบ้างในตอนที่ฉันทำงานกับผู้กำกับภาพหรือช่างกล้อง ซึ่งบางทีพวกเขาก็จะคิดว่าไอเดียของพวกเขาดีกว่า และไม่ยอมฟังความคิดของฉัน ซึ่งฉันก็ต้องย้ำเตือนพวกเขาว่า ฉันคือผู้กำกับเพื่อให้พวกเขาฟังฉัน แต่จริงๆ แล้วการทำงานในฐานะผู้กำกับฉันไม่ค่อยมีปัญหาเหล่านี้หรอก
The MATTER: เหมือนว่าในวงการอื่นๆ เช่น วงการทำภาพยนตร์เอง หรือวงการการเมืองเอง เราก็มีโอกาสเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเป็นนายกฯ หรือมีหน้าที่ในสภา หรือแม้แต่ คุณ Reynold คิดว่าอะไรคือปัญหาเฉพาะของวงการเทคโนโลยีนี้ที่แตกต่างจากวงการอื่นๆ
Robin Hauser Reynold: ฉันคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญเลยคือการมองแบบ Stereotype ที่คนมักมีทัศนคติว่าวงการนี้เป็นพื้นที่เฉพาะของผู้ชาย และการที่วงการนี้ขาดบุคคลตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง ทำให้เมื่อมองไม่เห็นแบบอย่างแล้วคงเป็นเรื่องยากที่เด็กผู้หญิงจะคิดว่าพวกเธอก็สามารถทำงานในวงการนี้ได้ นอกจากนี้ปัญหาเรื่องเพศที่มีเพศหญิงเป็นส่วนน้อยในวงการ ยิ่งทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่กล้าจะเข้ามาอยู่ในวงการนี้