ใกล้งานหนังสือทีไร ก็อดถอนหายใจกับกองหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจากงานคราวที่แล้วไม่ได้ทู้กที กองอยู่หัวเตียงยังไงก็กองอยู่เหมือนเดิมที่เพิ่มเติมคือฝุ่นนิดหน่อย หรือถ้าเปรียบเป็นเหล้า ก็คงหมักดองจนได้ที่ ดองจนได้เกรดสี่วิชา กพอ. เอ้า ชน!
จะทำยังไงให้อ่านหนังสือเก่าหมดทันงานใหม่ หรือซื้อเล่มใหม่จากงานรอบนี้ อ่านจบทันทีหลังจากซื้อมา 1 สัปดาห์ – 1 เดือน เวลาก็ยิ่งไม่ค่อยจะมี ตื่นเช้ามาอ่านก็ไม่ไหว จะทำยังไงดีล่ะมายเฟรนด์
มาค่ะ ฟังทางนี้ เรามีทริคสำหรับทุกคนที่อยากให้การอ่านเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ ปัญหาที่ว่าซื้อหนังสือใหม่มาถ่ายรูปแต่สุดท้ายดองไว้ที่หัวเตียงจะหมดไป ทริคเหล่านี้น่าจะพอช่วยได้บ้างแหละน่า ลองดู
How to อ่านหนังสือยังไงให้จบเล่ม เริ่ม!
- วางหนังสือไว้ในที่ที่เราผ่อนคลายเนาะ
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำบางอย่างให้เป็นนิสัยก็คือขจัดแรงเสียดทานออกไป อย่างเวลากลับบ้านหลังจากทำงาน ไม่ต้องเครียดไปว่าจะอ่านอะไรดี เลือกอ่านในสิ่งที่เราอยากอ่านดีสุดค่ะ อ่านขิงอ่านข่าไป อยากอ่านเล่มไหนก็ทดไว้ในใจ แล้ววางนางไว้ใกล้ๆ ตัวเนาะ ยิ่งเป็นที่ที่เราเอนหลังชิลๆ ประจำหลังเลิกงานยิ่งดี เพราะใกล้มือสุด ผ่อนคลายหายเหนื่อยเมื่อไหร่ก็ค่อยหยิบนางมาอ่านเก๋ๆ
- อ่านเล่มที่เราอยากอ่าน ไม่ใช่เล่มที่กดดันเมื่อต้องอ่าน ยูวโน้?
เล่มนี้นางฮิตมาก ไม่อ่านไม่ได้ ว้าย! เชย เล่มนู้นนางได้รางวัล เล่มนั้นนางเบสท์เซลเลอร์ ส่วนเล่มโน้นนางได้เอามาทำเป็นหนังฮิตที่เข้าฉายตอนนี้ โว้ย! เครียดเด้อ เพราะทำไมคะ คนเราชอบไม่เหมือนกันค่ะ ลองคิดดูว่าอ่านเล่มที่ตัวเองสนใจได้ 4 เล่มในหนึ่งเดือน กับอ่านเล่มที่ใครๆ ก็อ่านกันเพราะมันฮิต แต่เราไม่ได้ชอบแถมใช้เวลาตั้ง 1 เดือนกว่าจะจบอะเนาะ ก็ฝากไว้ให้คีส แต่ถ้าใครทำได้ก็ไม่ว่ากัน เราสนับสนุนค่ะซิส
- ทำงานอดิเรกเบื่อๆ ก็ลองหยิบนางมาอ่านดู หนูลูก
หลายคนชอบเล่นเกม หลายคนเอ็นจอยกับการดูหนัง ละคร หรือเรียลลิตี้โชว์ เราก็เป็น ดังนั้น ปล่อยงานอดิเรกของเราไปค่ะ ไม่แตะเนาะ ชอบอะไรก็ทำได้เหมือนเดิม แต่ๆๆๆ ถ้าทำไปแล้วเบื่อเมื่อไหร่อย่าฝืนทำต่อค่ะ โปรดจงรู้ว่ามี หนังสือโบกมือหยอยๆ อยู่ตรงนี้อีกนาง ถูกค่ะ! หยิบนางมาอ่านแก้เบื่อซะ อ่านไปอ่านมา เผลอๆ ปล่อยไหลจ้า อ่านได้เป็นชั่วโมง
- อะไรเซ็ทได้ ให้เซ็ทไว้หมด
จะอ่านหนังสือทีโนติฟิเคชึ่นเยอะแยะไปหมด เอ้อ ถ้าเป็นเรื่องด่วนก็ว่าไปอย่าง แต่บางทีเตือนหมดทั้งเพื่อนเก่ามากดไลก์ แฟนใหม่มาคอมเม้นต์รูปแม่ที่เราอัพไปเมื่อปลายปีที่แล้ว จะเบ้ปากมองบนก็ไม่ได้ นี่แฟนใหม่นะ เอางี้ แชทไปบอกเค้าซะหน่อยว่าอ่านหนังสือแพพ แล้วก็เปิดแอร์เพลนโหมด ปิดทีวี เตรียมสแนคกรุบๆ เลิศๆ พยายามลดสิ่งเร้าให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเป็นประจำ มิชชั่นเราจะพังเอาง่ายๆ นะเออ
- อ่านหลายๆ เล่มพร้อมกันก็ได้นะ
รวมมิตรค่ะงานนี้ อยากให้ลองอ่านหลายๆ อย่างดู อ่านสารคดีอาชญากรรม กับวรรณกรรมใหม่ๆ หรือจะเป็นนิยายภาพสำหรับวัยรุ่น หนังสือก็เหมือนผู้ชายมีหลายประเภทค่ะซิส ไม่ใช่แค่หนังสือขายดีอันดับหนึ่งอย่างเดียว เพราะทันทีที่เรารู้สึกสนุกเมื่อได้อ่านหนังสือ เมื่อนั้นแหละที่ความกดดันหรือความคิดที่ว่าการอ่านคือภาระหน้าที่ก็จะหายวับไปทันที นี่แน่ะ!
- อ่านทุกวันนาจา
ข้อนี้สำคัญ วันละ 3-5 หน้าก็ยังดี เดลี่โดสเข้าไว้มันจะกลายเป็นนิสัยไปเอง แล้วเราก็จะรู้สึกเอ็นจอย อ่านกี่เล่มก็ได้ง่ายจัง หนังสือดองคืออะไร ไม่รู้จักอะค่ะ หืมมมม
ถ้าอยากรู้ว่าวิธีที่ว่าไปมันช่วยได้จริงไหมก็ลองดู จะใช้กับหนังสือค้างปีหรือหนังสือใหม่ก็ได้หมดค่ะ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะใช้วิธีไหนดี The MATTER พาไปดู 7 วิธีหาเวลาอ่านหนังสือของคนหลายๆ อาชีพกันค่ะ ลองเลือกใช้ดูเด้อ
1. ศุภกร ใยมณี
อาชีพ : ครู
“เราต้องตื่นเช้า กลับดึก ก็อาศัยอ่านตอนเข้าห้องน้ำบ้าง ถ้าไม่ได้อ่านจะขี้ไม่ออก บางทีก็อ่านก่อนนอนบ้าง ถ้าวันอาทิตย์ช่วงบ่ายๆ อยู่บ้าน ก็อ่านไหลไปเรื่อย เรื่องไหนหนาหน่อยแต่น่าติดตามอย่างล่าสุด ‘แท็กซี่มีแมว’ ก็สองวีคจบ แต่ถ้าเรื่อยๆ ก็เดือนนึง ตอนนี้ก็อ่าน ‘The Color Master’ ของ Ammie Bender เวลาอ่านเล่มไหนก็จะพกเล่มนั้นติดตัวไปทุกที่ อ่านแก้เก้อ แก้เขิน อ่านรอเพื่อน รออะไรไป”
2. ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
อาชีพ : นักเขียน / คอลัมนิสต์
“หนังสือเรื่องเดียวกัน เรามีไว้ทั้งหนังสือเล่ม คินเดิล อีบุ๊ก ออดิโอบุ๊ก พกไปทุกที่ทุกเวลา ก็อาจจะเป็นวิธีที่ไม่ดีเท่าไหร่เพราะทำไมต้องมาซื้อหลายฟอร์แมต ส่วนอีกวิธีคือเราพกหนังสือไปทุกที่ เวลาขึ้นรถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือเวลาเดินทางเราก็มีเวลาอยู่กับตัวเองนานๆ ได้ ก็จะสามารถอ่านหนังสือได้ อีกอย่างที่พยายามทำตอนนี้ก็คือ อ่านอะไรจะจดเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นสเตตัสเฟซบุ๊กหรือจดเก็บไว้ดูเอง เพราะเรารู้สึกว่าเวลาที่อ่านแล้วไม่ได้จดเก็บไว้เหมือนเราไม่ได้ทำความเข้าใจมันอย่างแท้จริง พออ่านเสร็จปุ๊บเดี๋ยวเราก็ลืม ถ้าอย่างนั้นไม่อ่านก็ได้มั้ง อ่านไปก็ลืม แต่ถ้าจดเก็บไว้จะรู้สึกว่าเนื้อหาที่อ่านในหนังสือมันอยู่กับเรานานขึ้น”
3. วจนา วรรลยางกูร
อาชีพ : นักข่าว
“ส่วนใหญ่อ่านหนังสือเกี่ยวกับงาน แต่ถ้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลางานต้องปิดเน็ตมือถือ โยนโทรศัพท์ไปไว้ไกลๆ แล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ”
4. สิขรินทร์ สนิทชน
อาชีพ : อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย
“คือจะพกติดตัวตลอดไม่ว่าไปไหน คนจะบอกตลอดว่า มึงจะแบกอะไรนักหนา กระเป๋าหนักมาก ดังนั้นพอเราอยากอ่านเล่มนั่นมากๆ แล้วมีเวลาสักสิบนาทียี่สิบนาทีเราก็จะสามารถหยิบขึ้นมาได้ทันที ส่วนระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับภาระงานตอนนั้นๆ ด้วย ถ้างานเยอะ เวลาว่างน้อยก็จะอ่านนาน แต่ด้วยความที่สอนหนังสือเราก็จะข้องแวะกับหนังสืออยู่แล้ว ทำให้อ่านได้เร็วพอสมควร วันสองวันก็จบนะตามปกติ แต่จะเป็นการอ่านแบบไม่ลึก อ่านเอาเรื่อง อ่านเอารส อ่านความรู้สึก ยังไม่เจาะ ถ้าเจาะจริงๆ ต่อให้มีเวลาก็หลายวัน (อย่างอ่านทำวิจัยไรงี้ 55555) เพราะฉะนั้นเลเยอร์ของการอ่านก็มีผล”
5. ทศพล เหลืองศุภภรณ์
อาชีพ : ประสานงานสำนักพิมพ์
“อ่านก่อนนอน คืนนึง 2-3 บท ทำประจำทุกวัน ก็ใช้เวลาประมาณ 7 วันอ่านจบ อ่านจบเล่มนึงก็ไม่ได้อ่านต่อเลยทันที ถ้าไม่อ่านหนังสือก็อ่านคอนเทนต์ออนไลน์อื่นๆ อย่าง wired สลับด้วย เราเลือกอ่านหนังสือที่เป็นกระแส อย่างหนังสือ ‘Work and Travel’ ของพี่เต๋อ-นวพล ‘บันทึกนกไขลาน’ ฉบับที่พิมพ์ใหม่ พรีออเดอร์มาแล้วก็อ่านเลย แล้วก็เลือกจากเล่มที่เราสนใจด้วย อย่างล่าสุดก็อ่าน ความลับของเวลา”
6. จตุรดา พุ่มจันทร์
อาชีพ : เว็บคอลัมนิสต์
“พกไว้อ่านตอนเดินทางก็อ่านได้ค่อนข้างเยอะ หรือถ้านอยด์ๆ ไม่อยากอยู่กับตัวเองก็จะอ่านหนังสือ ถ้าเป็นหนังสือใหม่ นิยายออกใหม่จะทิ้งทุกอย่างแล้วตะลุยอ่านให้จบ ก่อนจะอ่านจะจัดสเปซ พัดลมเป่า แอร์ลง มีน้ำสักแก้ว แล้วก็อ่านได้ยาวเลย ถ้าอินมากก็แทบไม่ได้กินข้าว หรืออีกวิธีที่หลายคนก็น่าจะทำคือ อ่านบนเตียงก่อนนอน สบายสุด แล้วก็จะกลายเป็นไม่ได้นอน”
7. มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ
อาชีพ : ร้องนำTen To Twelve
“สำหรับเราหนังสืออยู่ในโหมดการพักผ่อนครับ ส่วนใหญ่อ่านก่อนนอน หรือไม่ก็ระหว่างรอลูกค้า หรืออ่านตอนที่อยู่ในโรงแรมตอนทัวร์คอนเสิร์ต ก็ตอนว่างจากงานนี่แหละครับ ส่วนระยะเวลามันแล้วแต่เล่มจริงๆ เลยครับ เราอ่านหลายๆ เล่มพร้อมๆ กัน แล้วแต่อารมณ์วันนั้นว่าอยากอ่านเรื่องยากง่ายยังไง เช่น เรื่องสั้น บางเล่มง่ายๆ ก็อาจจะวันเดียว แต่ถ้าจิตวิทยาที่เป็นภาษาอังกฤษก็อาจจะหลายเดือน ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย อ่านมาสองปีก็ยังไม่จบ 55”
อ้างอิงข้อมูลจาก