วีคนี้น่าจะเป็นวีคที่ฟินจ๋าของแฟนๆ เกม Bio Hazard หรือ Resident Evil เป็นแน่แท้ หนัง (ที่เขาว่า) ภาคสุดท้ายก็จะฉายสัปดาห์นี้ แล้วเกมภาคใหม่ก็เพิ่งจะเปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการไปเมื่อคืนวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ถึงเกมนี้จะมียอดมนุษย์ที่น่าจดจำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เราต้องยอมรับว่าตัวละครกลุ่มใหญ่ที่ทำให้ทุกคนจำซีรีส์นี้ได้แม่นๆ ก็คือ เหล่าซอมบี้ ผีดิบกินเนื้อคนที่ทั้งน่ากลัวในฉากบุกเข้าทำร้ายมนุษย์ และเป็นเป้ายิงเล่นในยามที่เราเล่นเกมรอบสอง
คนที่เล่นเกมและดูหนังซีรีส์นี้มาคงจะเห็นว่ายิ่งจำนวนภาคมากขึ้นเท่าไหร่ ซอมบี้ในเรื่องก็ลีลาหวือหวาขึ้นทุกที จากตอนแรกที่ขยับได้แข็งๆ ภาคหลังๆ มานี่ วิ่งแบบสี่คูณร้อยบ้าง ควงปืนมาไล่ยิงบ้าง หนักหน่อยก็มีร่างสองเหมือนพวกฮีโร่แปลงร่างบ้าง ถ้าในหนังนี่กลายเป็นสัตว์ประหลาดอลังการไปด้วยซ้ำ แต่จริงๆ พวกมันก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองในชั่วข้ามคืนหรอกนะ ใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน จะเป็นยังไงบ้างลองมาดูกันด้านล่างเนอะ
ซอมบี้ มีรากศัพท์มาจากคำว่า Zonbi / Zombi (แบบแรกเขียนแบบ ภาษา Haitian Creole ส่วนเขียนแบบ Haitian French) ตามท้องถิ่นไฮติ คำดังกล่าวไม่ได้หมายถึงศพเดินดินกินเนื้อคน แต่เป็นคำที่ใช้เรียกเหมารวมวิญญาณ ภูตผี และสิ่งลี้ลับที่ปรากฏกายมาในเวลากลางคืน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความเชื่อว่า หมอผีวูดู หรือ Bokor ในท้องถิ่นสามารถใช้พลังเวท ยา หรือวิชาสะกดจิตให้คนที่ถูกเล่นของใส่กลายเป็นทาสรับใช้ หมดสิ้นซึ่งสติและสัมปชัญญะของตนเอง กลายเป็นทาสที่ไร้ซึ่งทางต่อต้านจากหมอผีเหล่านั้น อีกแง่หนึ่งของประวัติศาสตร์ก็มีการตีความเอาไว้ว่า เรื่องซอมบี้นั้นอาจจะเป็นความกลัวของคนยุโรปหรือคนอเมริกา ที่ไปพบวัฒนธรรมแปลกของคนแอฟริกา จนทำให้เกิดความกังขาข้องใจ แล้วเหมารวมในเชิงเหยียดหยามทั้งยังแฝงด้วยความกลัว และบัญญัติคำนี้กลายเป็นคำที่น่ากลัวไป
ในปี 1915 ประธานาธิบดีของไฮติถูกลอบสังหาร กองทัพอเมริกาเลยส่งทหารเข้าไปในประเทศดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบสุข ไม่ได้ส่งคนนามสกุล Redfield, S. Kenedy หรือ Valentine ไปสยบเหล่าซอมบี้ในเมืองนะ กองทัพอเมริกาแค่เขาตั้งใจจะคุ้มกันจุดยุทธศาสตร์สำคัญของตนเองที่นั่น แล้วกว่าการเมืองภายในของไฮติจะมันคงก็ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ทำให้คนอเมริกาส่วนหนึ่งต้องไปกลับที่ไฮติ แล้วก็เอาวัฒนธรรมซึ่งแปลกหูแปลกตากลับไปยังฝั่งอเมริกา กระนั้นจุดนี้ซอมบี้ก็ยังไม่ได้นิยมรับประทานเนื้อของมนุษย์คนอื่นแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้
จนกระทั่งปี 1926-1928 H.P. Lovecraft นักเขียนนิยายแนวลึกลับสยองขวัญนามอุโฆษ ได้เขียนถึงศพคืนชีพไว้ในเรื่องสั้นสามเรื่อง คือ In The Vault, Cool Air และ The Outsider ที่บรรยายถึงตัวสัตว์ประหลาดในเรื่องที่มีสภาวะเป็นร่างกายเน่าเปื่อยหลุดร่อนจนเห็นกระดูกแต่มันก็ยังมีชีวิตอยู่ กระนั้นเรื่องสั้นทั้งสามเรื่องก็ไม่เคยถูกดัดแปลงเป็นสื่อเคลื่อนไหวแบบอื่นในยุคนั้น และตัวของ H.P. Lovecraft ก็ไม่ได้อ้างอิงถึงตำนานท้องถิ่นของไฮติในเรื่องสั้นใดๆ ของเขา คงมีเพียงชาวอเมริกันยุคนั้นที่เริ่มมีภาพลักษณ์ของศพคืนชีพติดอยู่ในหัวบ้างแล้ว
เวลาผ่านไปจนถึงปี 1932 ภาพยนตร์เรื่อง White Zombie ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อ The Magic Island ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1927 ก็ได้ออกฉาย และภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ทำให้ภาพลักษณ์ซอมบี้ที่เกิดจากน้ำมือของซอมบี้วูดูชัดเจนเนื่องจากในเรื่องนี้ ตัวร้ายหลักของเรื่องเป็นพ่อมดวูดูผิวขาว ผู้ต้องการให้นางเอกของเรื่องมาเป็นตุนาหงันของเขา จึงปรุงยาวิเศษให้สาวเจ้าดื่มจนเธออยู่ในสภาพที่ตายไปก่อนหมอผีจะไป ‘ชุบชีวิต’ นางเอกขึ้นมาเป็นคู่ตัวเอง ลำบากถึงพระเอกกับเพื่อนพระเอกที่รู้ความลับของหมอผีต้องฝ่าดงซอมบี้ ซึ่งก็คือศัตรูเก่าของหมอผีที่ถูกจับกรอกยาให้กลายเป็นซอมบี้ และสุดท้ายตัวร้ายก็พ่ายแพ้ นางเอกกลับมาเป็นคนในที่สุด (ทั้งนี้หนังเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับวงดนตรีเมทัล White Zombie ด้วย)
ถึงยุคนี้จะใช้คำว่า ‘ซอมบี้’ แบบเต็มเปี่ยมแล้ว แต่ซอมบี้ยุคแรกเริ่มในภาพยนตร์ยังไม่แตกต่างจากคนทั่วไปนัก เพราะสาเหตุของซอมบี้ก็มาจากยาของหมอผีสะกดจิตเอาไว้เสียมากกว่า สภาพซอมบี้ทั้งหลายเลยเหมือนกับหนุ่มสาวที่ตบแก้มแรงๆ ให้ Cheek Bone ดูเด่น ก่อนจะปาดตาหนักๆ ด้วยอายแชโดว์สีเข้มสุด แล้วทำตาถมึงทึงประมาณนักเขียนที่ปั่นงานไม่เสร็จสามวันติด ทำแขนขาแข็งๆ หน่อยให้เหมือนคนที่ไม่มีจิตใจของตัวเอง ซอมบี้คงอยู่ในสไตล์นี้เกือบ 25 ปี แม้จะมีการปรับแต่งออปชั่นไปบ้าง อย่างปรับเนื้อเรื่องให้เป็นการติดโรคบางอย่างที่เปลี่ยนตัวละครให้ค่อยๆ เป็นซอมบี้บ้าง เอาคนเชื้อสายแอฟริกามาเล่นเป็นชาวไฮติให้สมจริงบ้าง
ข้ามผ่านไปยังปี 1968 ที่ภาพยนตร์เรื่อง Night Of The Living Dead ออกฉาย แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องแรกที่มีซอมบี้ปรากฎตัว แต่ก็เป็นความคิดของ George A. Romero ที่นำเอาไอเดียจากนิยาย I Am Legend มาปรับใช้กับในเรื่อง กล่าวว่ามีรังสีลึกลับทำให้คนตายคืนชีพขึ้นมาเป็นศพกระหายเลือดที่มุ่งหน้ากัดกินมนุษย์ที่มีชีวิต หนำซ้ำคนที่ถูกพวกมันกัดก็จะกลายเป็นพวกมันไปในที่สุด
คอนเซปต์ของซอมบี้จากหนังเรื่องนี้กลายเป็นพื้นฐาน
ของซอมบี้ที่ปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ ในภายหลัง
ส่วนด้านการแต่งตัวของยุคนี้ก็เริ่มเละเทะบ้างละ ยังทาอายแชโดว์แรงก็จริง แต่แผลเผลอก็เริ่มมีแต่งแต้มแล้วล่ะ เป็นศพขึ้นมาจากหลุมฝังนี่จะให้สวยหล่อก็กระไรอยู่ ต้องมีดินเปรอะเสื้อนิด มีรอยขาดตามเนื้อผ้าหน่อย ถ้าเป็นคนที่โดนกัดก็ต้องมีเลือดกระเซ็นใส่บ้าง
นอกจากนั้นแล้ว George A. Romero ยังแฝงความคิดเชิงเหยียดทางด้านชนชั้นเอาไว้ด้วย ซอมบี้และเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นถูกพัฒนาขึ้นในภาพยนตร์ภาคต่อๆ มาของซีรีส์ ‘Of The Dead’ ที่เห็นชัดหนักก็คงจะเป็นในภาพยนตร์ Day of the Dead ที่ฉายในปี 1985 ที่พลอตเรื่องบอกว่าเหล่าซอมบี้เพ่นพ่านไปทั่วโลกแล้วมนุษย์ต้องอาศัยตามฐานทัพที่มีกำแพงหนาแน่นแทน ซึ่งก็ยังคงคอนเซปท์แบ่งแยกชนชั้นของผู้กำกับ George A. Romero ส่วนซอมบี้ที่เราอยากพูดถึงก็คือ ซอมบี้ Bub ที่มีคนเลี้ยงเอาไว้ ถึงจะเป็นซอมบี้ แต่ Bub ก็จำเรื่องราวก่อนตัวเองตายได้ ถือปืนก็ได้ ซ้ำยังจะมีอารมณ์เหมือนมนุษย์อีกด้วย ส่วนซอมบี้ตัวสมทบอื่นๆ ก็ไม่ได้มาเดี่ยวๆ ล่อเป้าแล้ว พวกเขาทำงานกันเป็นทีม ช่วยฉุดกระฉากลากเหยื่อได้ …ฉากในหนังเลยมีการลากศพไส้ไหลชวนให้จดจำกันบ่อยครั้ง
พูดถึงหน้าตา ยุคนี้เอฟเฟกต์ก็ดีขึ้น งบการสร้างเพิ่มทำให้ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ดูเละเทะเน่าเปื่อยมากขึ้น เสื้อผ้าขาดวิ่นยิ่งขึ้น เลือดอาบกรังตามเนื้อผ้ามากขึ้น แต่ก็แอบมีโหมดประหยัดด้วยการเพนต์หน้าเทาแบบเอาฝุ่นมาโปะๆ หน้าได้อยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็ยังเดินต้วมเตี้ยมในโหมดปกติ แต่อาจจะมีจังหวะ ‘โถมตัว’ ให้เร็วขึ้นได้บ้าง ถึงอย่างน้ันถ้าคุณๆ ไม่ใช่ตัวเอกจากฝั่ง Bio Hazard / Resident Evil ก็อย่าแหย่มือหรือเท้าไปลองความเร็วพี่บี้เลย เรื่องกินของพวกพี่เขาเร็วจริงเร็วจังนะ
จากนั้นซอมบี้ก็หยุดพัฒนาไปช่วงหนึ่ง หรือไม่ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนแพตเทิร์นบ้าง อย่างใน หนัง Evil Dead ก็มีซอมบี้ที่เกิดขึ้นจากตำราเวท แล้วก็มี Return of the Living Dead (ออกฉายในปี 1985) ที่เป็นแนวตลกปนสยองขวัญแทน ผลพวงจาก Return Of Living Dead ทำให้ซอมบี้ในยุค 1990 ทำอะไรแปลกๆ ได้อีก อย่างการทำหน้ารีแอคชั่นเกินจริงแบบการ์ตูนๆ ใส่สูทผูกไทไปบอกรักอดีตแฟนบ้าง อ้อ แล้วหนังชุด Return of the Living Dead นี้ ก็ยังให้ซอมบี้มุ่งกินสมองแทนการกินเนื้อคนด้วย จนกลายเป็นมุกของฝั่งฝรั่งไปอีกว่า ถ้าโง่ (ไม่มีสมอง) ก็เป็นซอมบี้ได้โดยไม่ต้องติดไวรัสอะไร
เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน พี่ซอมบี้ก็ขอเปลี่ยน ในยุคหลัง Y2K หรือช่วงปี 2000 นี้ พวกเขากลับมาใหม่อีกครั้งด้วยฟอร์มที่เร้าใจกว่าเดิม กับหนัง 28 Days Later ที่ออกฉายในปี 2002 ถึงหนังจะบอกว่าซอมบี้เกิดขึ้นจากไวรัสเหมือนหลายเรื่องก่อนหน้านี้ แต่นี่คือครั้งแรกที่คุณจะได้เห็นซอมบี้ที่ ‘วิ่ง’ แบบสุดฝีเท้า
อ้าวชิบหองสิพี่น้อง จากที่เคยเดินหลบกันชิลๆ
พี่แกเล่นวิ่งเร็วกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก
ยังไม่พอ ต่อให้ยิงขา ยิงแขน หรือติดไฟ พี่บี้ก็วิ่งเข้าใส่รัวๆ ลูกตาพี่แกก็แดงก่ำบ้าง เลือดไหลมาบ้าง บางเรื่องก็ยัดเอฟเฟกต์ตาเรืองแสงไปเลย ซึ่งซอมบี้โหมดสี่คูณร้อยนี้ก็กลายเป็นรากฐานให้เกมซอมบี้หลายเกมยุคหลัง ไม่ว่าจะ Bio Hazard / Resident Evil หรือ Left 4 Dead นำมาใช้งานเป็นซอมบี้หลักในเกมสร้างความกดดันในคอเกมมากยิ่งขึ้น
พอพัฒนามาสู่ร่างวิ่งแหลกแหกด่านแล้ว หน้าตาก็ต้องแต่งให้ซีดเซียวสมเป็นศพ มาป้ายตาดำๆ แบบยุคเก่าอันนี้ฟาวล์มาก ดวงตาอาจจะต้องหาคอนแทคเลนส์นิดนึง เอาเลือดปลอมมาราดใส่เสื้อผ้าหรือตามตัวหน่อย ยิ่งถ้ามีคนทำเอฟเฟกต์แผลให้จะยิ่งดีงามมาก ส่วนเรื่องเสื้อผ้านั้นฟรีสไตล์ได้เลยไม่ต้องวอรี่ เพราะใครๆ ก็เป็นซอมบี้ได้ไงล่ะ
หลังจากยุค 2002 แล้ว ซอมบี้ก็ยังไม่มีการพัฒนาแบบฉีกแนวไปจากเดิมมากเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าไม่มีวาไรตี้ใหม่ๆ เสียเลย อย่าง Black Sheep ในปี 2006 นี่ ก็มีซอมบี้แกะ หรืออย่าง Warm Bodies ก็จับซอมบี้ให้รู้จักรักที่ค่อยๆ คืนชีวิตให้ศพกลับเป็นคนอีกต่างหาก Walking Dead เองอาจจะไม่เห็นความต่างฉีกแนวจากพี่บี้ยุค 2000 แต่ก็มีพฤติกรรมแยกกันไปเป็นกลุ่ม Roamer, Biter, Lurker งี้ ไม่ก็แอดวานซ์ไปเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่อย่างใน The Girl with All the Gifts หรือถ้าในการ์ตูน ข้าคือฮีโร่ อันนี้ตีความไปเลยว่าซอมบี้ในเรื่องมีความคิดร่วมกันแบบ Hive-Mind อีก
ซึ่งเราก็เชื่อว่า แม้ว่าพี่ซอมบี้ของแฟนคลับคงมีการพัฒนาการกันต่อไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ก็ยังถูกกำราบได้ด้วยการยิงหัวอยู่ดีแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก