ย้อนไปช่วงต้นของยุค 2000 นับว่าต่างกับตอนนี้ ที่กระแส K-Pop เริ่มตีตลาดเอเซียอย่างหนักหน่วง และตลาดเพลงไทยก็เริ่มจะลดขนาดลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ณ เวลานั้นทางค่ายเพลงฝั่งลาดพร้าว อย่าง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ชำนิชำนาญด้านการทำเพลงเจาะกลุ่มวัยรุ่นมาแต่ไหนแต่ไร ก็ได้เปิดค่ายเพลง กามิกาเซ่ (Kamikaze) ขึ้น และสามารถสร้างนักร้องที่ผู้คนจดจำกันได้จำนวนมาก
มาถึง จุดๆ นี้ที่มีข่าวลือว่าทาง กามิกาเซ่ นั้นจะถูกปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทำให้เราอยากจะย้อนภาพไปดูกันค่ายเพลงนี้เดินทางมาจากจุดไหน และพวกเขาเคยมีผลงานอะไรเด่นๆ ให้ผู้คนได้จดและจำกันได้บ้าง
(เราละชื่อวงที่เป็นโครงการพิเศษรวมนักร้องไว้นะจ๊ะ)
ปี 2005
ย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ เจมส์-เรืองศักดิ์ ได้ผันตัวมาเป็นผู้บริหารของค่ายเพลง ไอดี เร็คคอร์ด เขาได้ทาบทามเด็กสาวสองคนที่มีกระแสความนิยมในตอนนั้นอย่าง โฟร์–ศกลรัตน์ วรอุไร กับ มด–ณปภัช วัฒนากมลวุฒิ มาทำเป็นวงดูโอ้ ในสไตล์น่ารักสดใสและออกอัลบั้มแรกที่ใช้ชื่ออัลบั้มว่า Four-Mod ที่มีเพลงที่คนติดหูได้จนถึงวันนี้อย่าง ‘หายใจเป็นเธอ’
ปี 2007
เวลาผ่านไปสองปี ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในย่านลาดพร้าว เพราะ เจมส์-เรืองศักดิ์ ได้ลาออกจาก อาร์เอส โปรโมชั่น ค่ายเพลงเดิมจึงต้องถูกปิดตัวลง ประกอบกับว่า ชมพู ฟรุตตี้ มีความคิดจะเปิดตลาดค่ายเพลงใหม่เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในฝั่งวัยรุ่นในยุคที่กระแสโลกออนไลน์เริ่มรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้ โฟร์-มด จึงได้กลายเป็นนักร้องในสังกัดใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า กามิกาเซ่
นอกจากจะมีขวัญใจวัยมันส์รุ่นใหม่แบบ โฟร์-มด แล้ว ทางค่ายยังเปิดตัวนักร้องคนอื่นๆ หลากสไตล์ในการเปิดตัวค่ายเพลง ประกอบด้วย เฟย์ ฟาง แก้ว, ขนมจีน, มิล่า, K-OTIC, หวาย, ซิสก้า, ชิลลี่ไวท์ช็อค, พายุ และ นิ้ง-ปิ๊ง (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น The PIAMS)
โดยหลักแล้ว แทบทุกคนมีผลงานในวงการมาก่อน (บ้างก็เคยเล่น MV ของ อาร์เอสฯ เอง บ้างก็เคยมีผลงานกับค่ายอื่น) แต่เมื่อเปิดตัวได้ไม่นาน ทาง ปิ๊ง-นิ้ง ก็ได้ถอนตัวจากค่ายไป ก่อนจะมีการโยกเอา เนโกะ จัมพ์ ซึ่งอยู่ในค่ายอาร์เอสฯ ด้วยกันมาสมทบในฝั่ง กามิกาเซ่
นอกจากค่ายเพลงแล้วยังมีการเปิดเว็บไซต์ Zheza ที่เป็นทั้งเว็บสังคมออนไลน์ เว็บเล่นเกมออนไลน์ รวมไปถึงเป็นเว็บรวมข่าวสารของนักร้องในสังกัดของกามิกาเซ่ด้วย
ปี 2008-2009
นับตั้งแต่ช่วงเปิดตัว จนถึงช่วงปี 2009 กามิกาเซ่ เน้นออกเพลงในลักษณะ มินิอัลบั้มหลากแนวเพลงตามสไตล์ของนักร้องแต่ละกลุ่ม สลับกับการออกโครงการพิเศษ (การรวมนักร้อง) มาเป็นระยะๆ จนทำให้หลายๆ เพลงได้รับความนิยม และเป็นที่จดจำจากสังคมอยู่มาก อาทิ เพลง ‘ละลาย’ กับ ‘ใครทิ้ง ใครก่อน’ ของ โฟร์-มด, ‘MSN (^_^ )’ ของ เฟย์ ฟาง แก้ว, ‘ถามไม่ตรงคำตอบ’ ของ หวาย, ‘รักฉันเรียกว่าเธอ’ เพลงร้องรวมจากโปรเจ็กต์พิเศษที่กลายเป็นเพลงประจำค่ายไปในภายหลัง ฯลฯ
นอกจากความนิยมด้านบวกแล้ว ก็ยังมีความนิยมในด้านลบ อย่างการที่ มิล่า ได้รับรางวัล แตงกวาดอง สาขา นักร้องยอดแย่ จากงาน แฮมเบอร์เกอร์อวอร์ดส์ ในปี 2009 โดยมีคอมเมนต์ว่า “เมื่อเปิดเพลงของมิล่า ทำให้เราหลีกเร้นจากสังคมเมือง ไปสู่ดินแดนอันห่างไกลที่เต็มไปด้วยเสียงร้องของเป็ดไล่ทุ่ง”
และในปี 2009 ยังมีความเปลี่ยนแปลงในฝั่งผู้บริหาร เมื่อ ชมพู ฟรุตตี้ ประกาศลาออกจาก อาร์เอส โปรโมชั่น เพื่อไปสานต่องานใหม่ (ที่ตอนหลังเปิดเผยว่าเป็นผู้บริหารของฝั่ง โซนี่ มิวสิค) รวมถึงว่าเริ่มมีสมาชิกที่อยู่ในค่ายขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของค่ายไปบ้าง กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าทางค่ายจะมีแค่ข่าวร้ายเพียวๆ เพราะโครงการพิเศษของค่ายอย่าง เซเว่นเดย์ ก็มีเพลงดังอย่าง ‘ภาวะโลก Luv’ ที่หลายคนจำได้ดี รวมถึงมีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของค่ายที่ได้รับการตอบรับอย่างดี
ปี 2010
ในปี 2010 ทาง กามิกาเซ่ ทำการเปิดตัวนักร้องรุ่นที่สองของค่ายที่ใช้ชื่อเรียกว่า ‘Kamikaze Wave’ ประกอบไปด้วยวง 3.2.1 (ทรีทูวัน) , X-I-S, Fact U, Kat-Pat และ Kiss Me Five ซึ่งถ้านับจำนวนแล้ว นักร้องในสังกัดทั้งหมดก็มีจำนวนรวมไป 41 คนแล้ว (รุ่นแรกที่เหลือ 20 คน กับ รุ่นที่สอง 21 คน) ทิศทางการทำงานของค่ายยังคงเน้นไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ (ณ ตอนนั้นนะ) อยู่เช่นเดิม จึงมีเพลงที่ออกคู่กับเกมและสื่อออนไลน์เยอะขึ้น
ส่วนเพลงของนักร้องยุคแรกของค่ายก็เริ่มจะมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น และมีคุณภาพที่ดีขึ้น (อย่างกรณีของ มิล่า ที่โดนติงมาก่อน ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น) รวมถึงมีความพยายามออก ‘ยูนิตย่อย’ ลักษณะเดียวกันกับวงบอยแบนด์ หรือ เกิร์ลกรุ๊ป ที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เคยทำแต่ในไทยนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก กระนั้นเพลงที่ออกมาในช่วงนี้ก็ได้รับความนิยมสูง รวมถึงมีนักร้องในค่ายอย่าง เนโกะ จัมพ์ ที่ออกไป go inter ถึงประเทศญี่ปุ่นในฐานะเพลงประกอบอนิเมะด้วย
ปี 2011
ข้ามต่อไปในช่วงปี 2011 ก็เริ่มมีนักร้องออกจากค่ายอีกจำนวนหนึ่ง (รวมถึงรุ่นสองที่เพิ่งเข้ามาด้วย) ไม่ว่าจะเป็นออกไปเพื่อศึกษาต่อหรือมีปัญหาแบบอื่นๆ ก็ตามที อาจจะด้วยเหตุผลนี้ทำให้ทางค่ายปรับเปลี่ยนการเปิดตัวกลุ่มนักร้องใหม่จากเดิมที่เคยมากันแบบยกรุ่น กลับมาเป็นการเปิดตัวทีละกลุ่มเหมือนกับค่ายเพลงปกติไปแทน ซึ่งในปีนี้มี ธามไท เข้ามาเป็นศิลปินใหม่ของ กามิกาเซ่
นอกจากคอนเสิร์ตประจำปีที่ยังคงมีการจัดอยู่แล้ว ในปีนี้ก็มีโครงการพิเศษนำยอดการขายเพลงออนไลน์สี่เพลงไปบริจาคให้กับ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วย
ปี 2012
ข่าวใหญ่ของแฟนๆ กามิกาเซ่ ปีนี้คงไม่พ้นการประกาศยุบวง K-OTIC อันเป็นผลมาจากการที่ จงเบ สมาชิกของวงที่เป็นชาวเกาหลีใต้ต้องไปรับราชการทหารตามกฎหมาย กับ ป๊อปปี้ ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่นเดียวกับ มิล่า ที่ไปศึกษาต่อเช่นกัน
ในปีนี้มีก็ยังมีการจัดโครงการพิเศษเหมือนกับทุกๆ ปี ทว่าตัวโครงการพิเศษที่ใช้ชื่อ Demo Project นั้นแตกต่างกับโครงการก่อนหน้าเล็กน้อยตรงที่นักร้องในกลุ่มนี้สุดท้ายได้แยกไปเป็นค่ายเพลง The Demo ในภายหลัง
ส่วนสมาชิกที่เข้ามาเพิ่มเติมในปีนี้มี วง ABQueen, วง Split, ฟ้า, แครอล และ เจฟ
ปี 2013
ช่วงปี 2013 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการจากลาของสมาชิกหลายกลุ่ม รวมถึงมีการพักงานของสมาชิกบางคนที่ติดเรื่องการเรียน คอนเสิร์ตประจำปีนี้จึงมีการปรับรูปแบบด้วยการมีแขกรับเชิญเป็นนักร้องจากค่ายเพลงอื่นเป็นครั้งแรก กระนั้นปีนี้ก็มีเพลงดังเพลงหนึ่งก็เพลง รักต้องเปิด (แน่นอก) ของวง 3.2.1 ที่ได้ ใบเตย อาร์สยาม มาฟีเจอริ่ง สร้างกระแสความมันส์ไปทั่วประเทศ (เออ เราก็หัดเต้นท่าแน่นอกยกมือกระชับเหมือนกัน!)
ส่วนนักร้องที่มาเพิ่มในปี 2013 นี้ก็คือ มิณทร์ อดีตนักร้องเด็กที่ชนะรายการ เดอะ เทรนเนอร์ ปั้นฝันสนั่นเวที ที่ย้ายมาจากฟากค่ายหลัก กับ แต๊งกิ้ว และ เจฟ
ปี 2014
ความพยายามในการคืนเวทีของสมาชิก กามิกาเซ่ ยุคแรก น่าจะเป็นโจทย์หลักในปี 2014 ด้วยการกลับมาออกซิงเกิ้ลของ เฟย์ ฟาง แก้ว และ หวาย ส่วนศิลปินใหม่ที่เข้ามาสมทบในปีนี้เป็นชายหนุ่ม 9 คน ที่ถูกเรียกว่า Kamikaze Newcomer แม้ว่าจะพอมีผลงานเพลงกันบ้าง แต่ก็เริ่มเห็นได้แล้วว่างานสายดังกล่าวของ กามิกาเซ่ ดูดรอปลงไปในปีนี้
ปี 2015
จริงอยู่ว่าศิลปินในค่ายกามิกาเซ่ มักจะได้รับงานแสดงควบกับการร้องเพลงอยู่เรื่อย แต่ในปีนี้มีการผลักดันให้ศิลปินกามิกาเซ่ออกรายการเรียลลิตีของตัวเอง ทว่าตัวรายการก็มีชีวิตอยู่ไม่นาน ในช่วงไล่เรี่ยกันนั้นเอง ผู้บริหาร และกลุ่มทีมงานเบื้องหลังที่ทำเพลงให้ค่ายก็โยกย้ายไปทำงานสังกัดอิสระหรือไม่ก็ไปยังค่ายอื่นๆ แทน ศิลปินส่วนหนึ่งก็ถูกโยกย้ายไปยังสังกัด Yes! Music (ซึ่งเป็นศิลปินรุ่นเก่าๆ ที่ภาพลักษณ์อาจจะไม่ตรงกับความเป็นวัยรุ่น) และยังมีศิลปินที่ไม่ต่อสัญญาอย่าง โฟร์ (จากโฟร์-มด) กับวง 3.2.1 ที่มีปัญหาภายในกันเองด้วย
ไม่ใช่ว่า กามิกาเซ่ จะปล่อยให้เรื่องแย่ลงโดยไม่ทำอะไรเลยเพราะปีนี้ทางค่ายก็ยังเปิดตัวศิลปินกลุ่มใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Kamikaze Next กับทำงานร่วมกับบริการออนไลน์ชื่อดังอย่าง LINE เป็นอาทิ
ปี 2016-2017
2016 : กามิกาเซ่ที่เหลือสมาชิก 17 คน ได้ทำการเปลี่ยนทิศทางของค่าย ไปเป็น ‘Teen Media And Lifestyle Society’ อันหมายถึงว่าจากนี้ค่ายจะทำการป้อนสื่อสำหรับวัยรุ่นโดยที่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพลงเท่านั้น และเริ่มโครงการสร้างซีรีส์ (ตามสมัย) นิยมขึ้นมา แต่ก็ยังมีซิงเกิ้ลจำนวนหนึ่งออกมาให้แฟนเพลงได้ติดตามกัน
2017 : ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีของค่าย แต่ข่าวจากทางค่ายไม่มีอะไรดีๆ มาให้ฟังเท่าไหร่ ความจริงแล้วตัว เฮียฮ้อ–สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ก็ออกปากมาตั้งแต่ช่วงปี 2016 ว่าจะลดละเลิกการผลิตแผ่น CD เพลงลง ก่อนจะออกปากยอมรับว่าทำการปรับโมเดลเพลงให้ศิลปินมีส่วนร่วมในการลงทุนผลิตและวางแผนในเชิงพันธมิตรธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่ทางค่ายจะจัดการทั้งหมดให้ รวมถึงว่าข่าวของกลุ่มศิลปินรุ่นเก่าของกามิกาเซ่ก็ต่อสัญญาอยู่ไม่กี่คน หรือคนที่ต่อสัญญาก็ผันตัวไปทางการแสดงเต็มตัว หรือบางท่านอย่าง กวินท์ ดูวาล อดีตสมาชิกวง 3.2.1 ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้ขับ Grab Car เป็นหลักแล้ว
แม้ว่าในปีนี้ยังมีผลงานอย่างซีรีส์ 21 วัน ฉันรักนาย (ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องจากปีก่อน) แต่จำนวนผลงานอื่นๆ ของกามิกาเซ่ ก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ทาง Facebook Fanpage ทางการของค่ายเพลงวัยรุ่นค่ายนี้ก็หยุดทำการอัปเดตข่าวไปโดยปริยาย ก่อนที่จะมีข่าวใน Fanpage ตำนาน Kamikaze แจ้งว่าตอนนี้ค่ายเพลงได้ปิดตัวลงแล้ว ก่อนจะมีสำนักข่าวบางเจ้าออกข่าวปฏิเสธเรื่องนี้ หรือถ้าพูดอีกแง่ก็คือยังไม่ได้เป็นการปิดตัวอย่างเป็นทางการจากทางค่ายนั่นเอง
เราก็คงต้องรอลุ้นกันว่าจะมีข่าวดีจากค่ายเพลงที่เคยสร้างความสุขให้กับวัยรุ่นไทยในช่วงต้นของยุค 2000 นี้หรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก