เพื่อนขอให้ช่วยนั่น เจ้านายบอกให้ทำนี่ คนนั้นคนนี้มาขอให้ทำๆๆๆๆ ให้หน่อย “อ้ะ ก็ได้ๆ” คือคำที่หลุดปากไป ทั้งที่ในใจอยากบอกว่า “ไม่โว้ย!”
คำว่า ‘ไม่!’ กับอะไรสักอย่างที่ไม่สะดวกใจจะทำ สำหรับบางคนนี่มันช่างยากช่างเย็นเหลือเกิน ประโยคปลอบใจที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ ว่า ‘บางครั้งเราต่างก็ต้องยอมทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ หรือไม่สะดวกใจจะทำเพื่อให้อยู่ในสังคมได้’ ไล่เราหลายคนให้จนมุม จนความเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ กำลังคุกคามชีวิต
นักจิตวิทยาเตือนว่า ความที่ต้องการเอาใจทุกคน (People-Pleasing) จนกลายเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ เนี่ย จริงๆ แล้วเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของคนๆ นั้น แน่นอนล่ะว่า ตามทฤษฎีของมาสโลว์แล้ว เราต่างปรารถนาจะเป็นที่รัก ที่ชื่นชม และที่ยอมรับของคนอื่นๆ แต่สำหรับคนที่มีอาการ ‘อะไรก็ได้’ ความปรารถนานั้นจะถูกขับดันด้วยระบบประสาท (Neurotic Desire) จนบั่นทอนสุขภาพ ความคิด บุคลิกภาพ และส่งผลเสียเรื้อรังด้วย
นักจิตวิทยาแจกแจงบุคลิกภาพของคนที่เป็น People-Pleaser ไว้กว้างๆ ดังนี้
- ใช้ความพยายามอย่างมากในการตอบว่า ‘ไม่!’ กับอะไรสักอย่างที่ไม่อยากทำ
- ไม่ค่อยกล้ายืนยันอะไรอย่างมั่นใจ หรือไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะ กลัวการถูกปฏิเสธ
- ทำเป็นเห็นด้วยกับคนอื่นบ่อยๆ (ทั้งที่บางทีในใจก็ไม่)
- ใช้คำขอโทษบ่อยเกินไป เพราะแบกรับเอาความรู้สึกคนอื่นมาไว้ในใจซะหมด
- ไม่ชอบการปะทะ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แม้ในเรื่องที่บางครั้งก็จำเป็น เพราะกลัวภาวะอารมณ์เสีย ทั้งตัวเองและคนอื่น
- เห็นใจคนอื่นมากกว่าตัวเอง จนช่วยเหลือเขาและเราก็มาเป็นทุกข์เอง
- ต้องมีคนชมถึงจะรู้สึกดี และจะนอยแดกไปหลายวัน เวลามีคนมาวิจารณ์สิ่งที่ทำ
- เสพติดความเห็นด้วยจากคนอื่น และส่วนมากจะทำตามในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี
- ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองเจ็บปวด โกรธ เศร้า หรือผิดหวัง เพราะกลัวทำให้คนอื่นรู้สึกแย่
หรือจะลองทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาจาก BBC ดูก็ได้ว่า เราเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ รึเปล่า : http://www.bbc.co.uk/guides/zcvrwxs
นักจิตวิทยาบอกว่า ผลที่ตามมาจากความที่อยากจะเป็นที่รักที่ชื่นชอบของทุกคนตลอดเวลา คือ
- เราจะกลายเป็นโรควิตกกังวลและซึมเศร้าได้ จากการเก็บกดอารมณ์ร้ายๆ ไว้ในใจมากเกินไป เพราะเราไม่สามารถแสดงอารมณ์ออกมา เรากลัวว่าคนอื่นจะรู้สึกแย่กับเรา
- เราจะเป็นโรคเครียดเรื้อรัง จากการต้อง ‘คีพลุค’ อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องการให้คนอื่นเห็นแต่ด้านดีของเรา
- เราจะมีความเคารพในตัวเองต่ำและเปิดโอกาสให้คนอื่นใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งที่บางครั้งก็รู้แหละว่าเขาหลอกใช้ แต่หลายครั้งก็ยอม เพราะต้องการดูเป็นคนเข้ากับคนอื่นง่าย สบายๆ กับทุกๆ เรื่อง และอยากรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการ
- เราจะรู้สึกเหนื่อยล้ากับการรักษาสถานะนี้ไว้ เพราะจริงๆ แล้วคนที่ ‘อะไรก็ได้’ ลึกๆ คือต้องการที่จะควบคุมคนอื่น แต่รู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจและไร้ค่า ก็เลยพยายามที่จะทำเหมือนเป็นคนที่นึกถึงคนอื่น เพื่อให้คนอื่นทอะไรในำแบบที่เราอยากให้ทำบ้าง
- เราจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกไร้ตัวตน เหงา และโดดเดี่ยวในท้ายที่สุด เพราะทั้งหมดที่เราทำเพื่อเอาใจคนอื่น ทำให้ไม่มีใครรู้จักตัวตนของเราจริงๆ จะเห็นก็เฉพาะด้านที่เราเปิดให้เห็นเท่านั้น
ไม่ได้บอกว่าการเป็นที่รัก ด้วยการเป็นคนไนซ์ๆ สบายๆ อะไรก็ได้ และยอมตามใจคนอื่น นั้นเป็นเรื่องไม่ดี แต่ถ้าเราเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ มากจนเกินไป นั่นคือเรากำลังทำร้ายตัวเองอยู่ ลองถามตัวเองละกันว่า การเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ ของเรา ตอนนี้ทำให้เราว้าวุ่นหรือทุกข์ใจจนกลายเป็นรู้สึกว่า ‘อะไรก็กู’ ไหม?
ไม่ได้แนะนำให้ ‘ช่างแม่ง’ กับทุกอย่าง แต่เริ่มจากบางอย่างที่ ‘ช่างมัน’ บ้างก็ได้ ยืนยันในความเชื่อของตัวเอง และเลือกที่จะพูดออกคำว่า ‘ไม่’ ออกไปบ้าง
อ้างอิงจาก
lonerwolf.com
psychologytoday.com