ภาพถ่ายสามารถแสดงตัวตนหรือใช้บ่งบอกถึงสิ่งที่ช่างภาพเห็น ณ เวลานั้นได้ การถ่ายภาพสตรีทก็เป็นการถ่ายรูปอีกหนึ่งประเภทที่ช่างภาพมักใช้ตัวตนของตัวเองบอกเล่าเรื่องราวจากสิ่งที่เห็น ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยช่างภาพสามารถพลิกมุมทำให้ภาพนั้นแตกต่างออกไปจากเดิมได้ จากภาพที่ดูจริง ก็อาจกลายเป็น ‘เหนือจริง’
หมิง-กันต์รพี โชคไพบูลย์ เป็นอีกหนึ่งช่างภาพที่ใช้ความเป็นตัวเองใส่เข้าไปในรูปภาพของเขา ภาพของเขามีความลึกลับ น่าค้นหา The MATTER จึงชวนเขามาพูดคุยแลกเปลี่ยนว่า แรงบันดาลใจที่ถ่ายทอดมาสู่ภาพถ่ายนั้น เขาได้มันมาจากไหน มีวิธีการถ่ายภาพ และการเลือก scene ในการถ่ายอย่างไร
The MATTER : จุดเริ่มต้นที่หันมาถ่ายภาพสตรีทคืออะไร
กันต์รพี : จุดเริ่มต้นมันมาจากการเบื่อครับ ผมเป็นช่างภาพคนนึงที่เริ่มแรกเราไม่รู้เลยว่าชอบอะไร ชอบถ่ายแบบไหน อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ตอนเรียนอยู่ก็ลองถ่ายหมด ถ่ายภาพทุกชนิดเลย แต่พอย้อนกลับมาดูรูปตัวเองแล้วรู้สึกว่ารูปเรานั้นไม่มีความหมาย ผมไม่ได้บอกว่ารูปภาพชนิดอื่นมันไม่ดีนะครับ มันอยู่ที่ตัวผมเอง หลังจากนั้นมา ผมก็เลยนอยๆ หมดไฟ ค้นหาตัวเองอยู่สักพักก็มาเจอรูปภาพของรุ่นพี่คนนึงใน facebook คือพี่บาส สมาชิกในกลุ่ม street photo thailand มันเป็นภาพที่แปลกมากๆ สำหรับผม หลังจากนั้นผมเลยติดต่อกัน เริ่มศึกษาดูงานของกลุ่ม SPT จนถึงทุกวันนี้ก็ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกในกลุ่มครับ ดีใจมากๆ จนทุกวันนี้ยังไม่ลืมความรู้สึกนั้นเลย
The MATTER : มีวิธีเลือกหา scene อย่างไรก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพ
กันต์รพี : ผมจะเดินและถ่ายทุกอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจ ได้รูปบ้าง ไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับโชคในแต่ละวันเลย บางครั้ง scene ที่ดีมันจะมาหาผมเอง เพราะฉะนั้นผมจะพกกล้องอยู่ตลอด ทุกครั้งที่ผมเดินออกจากบ้าน ไม่ว่าจะออกไปทำอะไรก็ตาม ผมจะมีกล้องติดตัวเสมอ การเตรียมพร้อมคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผม เพราะผมไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเจอ scene อะไรบ้างและผมก็ไม่อยากพลาดมัน
The MATTER : อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายสตรีทกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
กันต์รพี : ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนผมเริ่มถ่ายแรกๆ ผมแยกไม่ค่อยออกนะ ว่าเราจะถ่ายสตรีทในพื้นที่สาธารณะโดยที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ยังไง แต่ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าอยู่ที่เจตนาของตัวช่างภาพเอง ว่ามีเจตตาอย่างไร สำหรับผมถ้าเราทำหน้าที่เป็นนักวาดรูป subject ต่างๆ คือองค์ประกอบหลัก ผมแค่อยากจะวาดรูปของผมเท่านั้นเอง คนทุกคนที่ผมถ่าย รูปภาพดีๆ ที่ผมได้จากพวกเขา คนเหล่านั้นคือ ฮีโร่ สำหรับผมนะครับ ผมจะคิดแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาาจารย์หลายๆ คนบอกผมมา แล้วผมก็รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ด้วยนะ
The MATTER : การถ่ายโดยใช้ flash หรือการเข้าหา subject ในระยะใกล้ คุณมีวิธีจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ยังไง เพื่อไม่ให้เป็นการคุกคาม subject
กันต์รพี : ถ้าเป็นการใช้ flash ผมจะทำทุกอย่างให้รวดเร็วมากๆ ผมจะจินตนาการก่อนว่าถ้าใช้ flash ระยะแบบนี้ผลออกมาจะเป็นยังไง ส่วนการเข้าหา subject ระยะใกล้ ผมจะทำเหมือนไม่ได้ถ่ายเขาอยู่ จะพยายามไม่ไปสบตา ผมคิดว่าถ้าเราเข้าไปใกล้ subject เขามักจะไม่สงสัย เพราะคนปกติคงไม่คิดว่าจะมีใครบ้าถ่ายรูปตัวเองใกล้ขนาดนี้หรอก ถ้าเกิด subject รู้ตัวผมก็จะขอบคุณเขานะหลังถ่ายเสร็จ บางทีก็จะชมเขา เช่น ชอบสีเสื้อ ชอบการแต่งตัวของคุณจัง แต่ถ้าเขาไม่พอใจ ผมก็ยินดีที่จะลบให้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เจอปัญหาอะไรเลย อาจเป็นเพราะผมเลือก subject ที่จะเข้าหาด้วย
The MATTER : ภาพซีรีส์ชุด Acinteyya มีจุดเริ่มต้นคืออะไร
กันต์รพี : อย่างที่บอกว่ารูปของผมนั้นได้รับแรงบรรดาลใจมาจาก sci-fi ยุค 70s ซึ่งยุคนั้นจะเป็นหนังเกี่ยวกับมนุษยต่างดาวหรือหนังอวกาศซะส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวผมเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวมาก ถือว่าเนิร์ดเลยทีเดียว ส่วนชื่อได้มาจากตอนที่เรียนมหาลัย มีรุ่นพี่คนนึงที่ชอบเรื่องมนุษย์ต่างดาวเหมือนกัน แล้วผมชอบไปคุยกับเขามาก จนทำหนังสารคดีส่งอาจารย์เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเลย ชื่อว่า คน จิต อวกาศ ซึ่งย้อนไปตอนนั้นเพี้ยนมากเลย ให้พิธีกรทาตัวสีฟ้าทั้งตัว แล้วมาพูดเรื่องมนุษย์ต่างดาวแบบขำๆ แล้วรุ่นพี่ผมก็บอกว่าพวกเราคิดเรื่องนี้มากๆ มัน ‘อจินไตย’ นะ ซึ่งมันคือหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ คือห้ามคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ถ้าคิดมากจะเป็นบ้า จริงๆ แล้วไม่ได้อะไรกับชื่อเลย เพียงแต่ชื่อนี้มันติดอยู่ในหัวผม
The MATTER : คิดว่าภาพสตรีทที่ดีต้องมีลักษณะอย่างไร
กันต์รพี : ภาพสตรีทที่ดีมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มันคือศิลปะไม่มีผิดถูก แต่ภาพสตรีทที่ดีสำหรับผม มันคือภาพที่สามารถแสดงตัวตนของช่างภาพออกมา และเป็นภาพที่สามารถดูได้นานๆ ไม่ว่าจะย้อนกลับมาดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ