หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ Toy Story 4
หากจะมอง Toy Story 4 (2019) ให้เป็นหนังรักสักเรื่อง (ซึ่งก็มองได้เพราะจุดสนใจของทั้งเรื่องก็คือ Woody กับ Bo Peep) Toy Story 4 คงไม่เข้าสูตรหนังรักปกติที่มักลงเอยด้วยชีวิตสุขสันต์นิรันดรเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ของ Disney อย่าง Beauty and The Beast (2017) ที่จบลงด้วยการที่ Belle ลูกสาวชาวบ้านธรรมดาตกถังข้าวสารได้แต่งงานกับเจ้าชายอสูร หรือ Cinderella (2015) ที่ไม่ต้องใช้ชีวิตภายใต้การกดขี่ของแม่เลี้ยงใจร้ายอีกต่อไปเพราะลงเอยกับเจ้าชายในปราสาทหรู
ในทางกลับกัน Toy Story 4 ชวนให้เรามองความรักในมุมที่แตกต่างออกไป ประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่ ความรักให้อะไรกับเรา แต่เป็น เรายอมเสียอะไรเพราะความรักบ้าง ซึ่งในแง่นี้ Toy Story 4 อาจยิ่งมาช่วยทำให้เราเห็นภาพว่า ความรักรบกวนชีวิตเราอย่างไร
หนังเริ่มด้วยการจากลาของ Woody กับ Bo Peep ท่ามกลางสายฝนเพื่ออยู่กับเพื่อนๆ (ซึ่งหากดูจากความรู้สึกของทั้งสองแล้ว ‘สายฝน’ ในฉากก็อาจเป็นตัวแทนของ ‘น้ำตา’ หรือความเศร้าของการพลัดพรากจากกันก็ได้) การที่ Woody ตัดสินใจแบบนั้นก็เพราะเขาเลือกที่จะไม่ทิ้งหน้าที่การงานของเขา ซึ่งอาจตีความได้ว่า Woody ก็ไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไปในสังคมทุนนิยมที่มักโตขึ้นมาพร้อมกับค่านิยมชุดหนึ่งว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นแบบนี้ด้วยการทำตามที่สังคมบอกต่อๆ กันมา Mari Ruti นักวิชาการสตรีนิยม อธิบายค่านิยมนี้ว่าเป็น แบบแผนชีวิตแห่งความสุข (happiness scripts) ของสังคมทุนนิยมซึ่งคอยบอกเราว่า เราควรใช้ชีวิตแบบไหนจึงจะมีความสุข เช่น ตั้งใจเรียนนะ จะได้สอบได้ที่หนึ่ง โตขึ้นจะได้รวยๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ฯลฯ หรือในกรณีของ Woody คือ การทำหน้าที่เป็น ‘ของเล่นบนชั้นวาง’ ที่ดีเพื่อมอบความสุขให้กับเด็กผู้เป็นเจ้าของและไม่สามารถมีอิสระในการใช้ชีวิตในแบบของตนเองได้
โดย Lauren Berlant ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กลับเห็นว่า ในสังคมทุนนิยม ทั้งหมดนี้เป็นได้แค่ความฝันที่เลื่อนลอย เพราะไม่ว่าเราจะพยายามสักเท่าไร ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยว่าความฝันของเราจะเป็นจริง จนในท้ายที่สุด ความฝันเหล่านั้นกลับย้อนมาทำให้เราผิดหวังและเสียใจ เหมือนกับที่ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างไว้ผ่านระบบการศึกษาที่สร้างมาให้เน้นแต่การแข่งขันกันเป็นที่หนึ่งมากเกินไป เพราะไม่ว่าเราจะพยายามมากเท่าไร สุดท้าย ที่หนึ่งก็มีได้แค่คนเดียว เสมอเสมือนกับโลกนี้ถูกสร้างให้เป็นโลกของผู้ชนะกับพวกที่เหลือ
เรื่องราวของ Woody ก็เหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นของเล่นที่ดีและจงรักภักดีต่อเจ้าของมากแค่ไหน เขาก็ยังคงถูกแทนที่ด้วยของเล่นชิ้นเอกใหม่อย่าง Forky ได้เสมอ แต่ Woody กลับไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขระบบที่ไม่เป็นธรรมนี้เลย แถมยังดูเหมือนจะยินยอมที่จะเป็นตัวสำรองด้วยซ้ำ
จนกระทั่งในตอนที่ Woody กำลังพา Forky กลับไปหาเจ้าของ เขาก็ได้พบร่องรอยของ Bo Peep ในร้าน Second Chance Antiques เลยตัดสินใจเข้าไปตามหา (น่าสนใจคำว่า ‘Second Chance’ ที่หมายถึง ‘โอกาสครั้งที่สอง’ ซึ่งประจวบเหมาะกับการเวียนมาพบกันอีกครั้งของสองตัวเอกจนอาจเข้าใจได้ว่านี่เป็น ‘โอกาสครั้งที่สองของ Woody ที่จะตกหลุมรักอีกครั้ง’) การกลับมาเจอกันอีกครั้งของทั้งสองนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ไม่ได้มีบ่อยนักในชีวิตเรา ดูได้จากการใช้ฉากแบบ slow motion รวมทั้งการทำให้ภาพพื้นหลังเบลอๆ เวลาทั้งสองคนได้เจอกัน ซึ่งอาจสื่อให้เห็นว่า ความรักเป็นพื้นที่ของสองเราและความรักนั้นอยู่เหนือกาลเวลา
แต่การที่ Woody ตัดสินใจเข้าไปตามหา Bo Peep ก็นับเป็นจุดแตกหักครั้งสำคัญในชีวิตของเขา เพราะหลังจากนั้นทุกอย่างก็วุ่นวายไปหมดทั้งเรื่อง เริ่มต้นจากการที่ Forky โดนจับ, การเจรจาต่อรองเรียกค่าไถ่, การรวมพลพรรคมาช่วยเหลือจนทุกคนต้องเสี่ยงอันตรายกันไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างแผนการช่วยเหลือ Forky, Woody และ Bo Peep ยังทะเลาะกันตลอดเวลาจนทำให้เสียแผนอยู่หลายครั้ง ซึ่งฉากทั้งหมดในส่วนนี้ช่วยทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความรักมีแต่เสียกับเสีย
สำหรับ Woody เขาเสียอะไรหลายอย่างเพราะความรัก ไม่ว่าจะเป็นความสงบ เพราะแทนที่จะใช้ชีวิตตามแบบแผนและทำหน้าที่ในฐานะของเล่นบนชั้นวางไปตามปกติ เขากลับต้องมาทำภารกิจเสี่ยงตายช่วยมิตรสหายของเล่น เขาเสียความปลอดภัยในชีวิต เพราะต้องยอมซ้อนท้ายสิงห์นักซิ่ง Duke Caboom ผู้ไม่เคยซิ่งสำเร็จเพื่อฝ่าด่านเจ้าแมวยักษ์ที่คุ้มกันร้านของเก่า หรือแม้แต่ชีวิตของตัวเอง เขาก็ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะระหว่างปฏิบัติภารกิจ Bo Peep สั่งให้เขาทำตามแผนที่เธอวางไว้อย่างเคร่งครัด
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักปรัชญาฝ่ายซ้ายผู้มีชื่อเสียง Slavoj Žižek ถึงบอกว่า “ความรักคือหายนะ” (Love is a catastrophe) เพราะความรักรบกวนชีวิตเราและสร้างความวุ่นวายให้เราตลอดเวลาเนื่องจากมันเป็นการดึงเอาใครที่ไหนไม่รู้เข้ามาในชีวิต การตกหลุมรักจึงเป็นเหตุการณ์ที่ไร้เหตุผลที่สุด นึกง่าย ๆ เรากำลังเดินไปบนท้องถนนและใช้ชีวิตตามปกติของเรา จนกระทั่งวันดีคืนดีมีใครจากไหนไม่รู้มาส่งยิ้มให้แล้วชีวิตเราเปลี่ยนไปตลอดกาล ก็แล้วใครจะคิดล่ะว่ารอยยิ้มเพียงแค่เสี้ยววินาทีจะทำให้คนคนหนึ่งลืมหายใจได้?
หากความรักนำมาซึ่งความวุ่นวายขนาดนี้
คนมีเหตุผลดีๆ อาจไม่เลือกที่จะตกหลุมรักแต่แรก
นอกจากการเสียสมดุลในชีวิตแล้ว ความรักยังทำให้เราเสียคนอีกด้วย ตามแนวคิดของ Alain Badiou นักปรัชญามาร์กซิสต์คนสำคัญนั้นมองว่า ความรักทำให้เราเสียคนเหมือนกับที่โสเครตีสทำให้ยุวชนเสียคน เพราะความรักทำให้เราปฏิเสธที่จะทำตามระเบียบแบบแผนและเลือกที่จะไม่เป็นในสิ่งที่สังคมคาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมทุนนิยม เราต่างถูกคาดหวังให้สนใจแค่ตัวเอง ให้กอบโกยผลประโยชน์ และแข่งขันกันไม่รู้จบ แต่ความรักไม่ใช่แบบนั้น
ความรักไม่เป็นไปตามตรรกะทุนนิยมที่สอนให้เราเห็นแก่ตัว ความรักทำให้เราเห็นแก่คนอื่น…ทำให้เรายอมเสียสละได้เพื่อคนที่เรารัก ความรักจึงเป็นหน่ออ่อนของการปฏิวัติ หรือจะกล่าวโดยใช้ถ้อยคำของ Badiou คือ ‘ระบอบคอมมิวนิสต์ขั้นพื้นฐานที่สุด’ (Minimal Communism)
ประเด็นนี้ชัดเจนที่สุดในตอนท้ายของเรื่องที่ Woody เลือกที่จะไม่เดินตามแบบแผนชีวิตแห่งความสุขของเขาในฐานะของเล่นบนชั้นวาง เขายอมทิ้งเด็กหญิงเจ้าของที่เขารัก ยอมทิ้งเพื่อนๆ ยอมทิ้งหน้าที่ในฐานะ ‘นายอำเภอ’ และเลือกที่จะ ‘กระโดดออกจากชั้นวาง’ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับ Bo Peep
เหมือนที่ได้เกริ่นไปตอนต้น หนังเรื่องนี้ไม่ได้จบลงด้วยความสุขชั่วนิรันดร์ตามสูตรหนังรักทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้จบลงด้วยความไม่แน่นอน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าชีวิตหลังจากการกระโดดออกจากชั้นวางของ Woody และ Bo Peep จะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้น แม้หนังจะจบลง แต่การเดินทางที่แท้จริงของ Woody กลับเพิ่งจะเริ่มขึ้น อย่างที่ได้บอกเอาไว้ผ่านประโยคปิดภาพยนตร์ที่แสนจะคุ้นหูอย่าง “To infinity and beyond” นอกจากนี้ฉากหลังตอนกลางคืนก็ชวนให้นึกถึงความรักว่าเป็นพื้นที่ดำมืด ไม่โปร่งใสและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความรักจึงเป็นอะไรที่คาดเดายากมาก
ใช่แล้ว ความรักเป็นการเดินทางไปสู่ “ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น” ที่ไม่มีใครรู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะจบเมื่อไร จะสุขหรือทุกข์แค่ไหน แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน Woody ก็ยังยอมโอบรับความเสี่ยงเหล่านั้น เพราะลึกๆ แล้วเขาก็คงหวังว่า ทุกๆ อย่างจะออกมาดีได้ ดังนั้น การตกหลุมรักจึงต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก
ในความเข้าใจของใครหลายคน ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ซึ่งก็ไม่ผิด แต่เราต้องไม่ลืมว่านอกจากด้านที่สวยงามแล้ว ความรักก็ยังมีด้านที่สามารถทำให้ชีวิตเรายุ่งเหยิงและอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดได้เหมือนกัน การตกหลุมรักจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องคุ้มหรือไม่คุ้ม อย่างในกรณีของ Woody ก็มีแต่เสียกับเสีย ข้อพิสูจน์ของรักแท้จึงไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง หากแต่อยู่ที่การเพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาระหว่างทางเสียมากกว่า การโหยหาแต่ ‘ความสุข’ จากความรักอย่างเดียวอาจทำให้เราไม่อาจรักใครจริง ๆ ได้เลย
ในท้ายที่สุด จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม หนังเรื่องนี้ออกฉายในยุคที่กระแสการเมืองฝ่ายขวากลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งเนื่องจากเศรษฐกิจโลกย่ำแย่อย่างหนักซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่ไร้เสถียรภาพของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ไหนจะ Donald Trump บ้างล่ะ Xi Jinping บ้างล่ะ ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยหลายคนอาจหมดหวังไปแล้วด้วยซ้ำที่จะได้อยู่ในสังคมไทยที่ดีกว่านี้ นับแต่วันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จนหันหลังกลับไปยอมรับชะตาและทำตามแบบแผนของชีวิตที่ถูกหยิบยื่นให้
การดู Toy Story 4 ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกในปัจจุบันจึงอาจทำให้เรามองเห็นแนวทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ในการใช้ชีวิตของเรา ในสังคมทุนนิยม เราถูกหยิบยื่นแบบแผนชีวิตแห่งความสุขให้เพียงเพื่อที่เราจะได้หลอกตัวเองว่าเราสามารถมีความสุขได้ในสังคมที่มีแต่การขูดรีด เอารัดเอาเปรียบและแก่งแย่งชิงดีเพื่อความโลภ แต่ชีวิตที่แท้จริงไม่จำเป็นจะต้องเป็นชีวิตที่เห็นแก่ตัวเสมอไป เพียงแค่เราต้องกล้าที่จะกระโดดออกนอกกรอบ กล้าที่จะจินตนาการถึงการใช้ชีวิตที่แตกต่าง
หรืออย่างง่ายที่สุด กล้าที่จะตกหลุมรักใครสักคน ความรักในความหมายนี้จึงเป็นเชื้อเพลิงของการปฏิวัติย่อมๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงพิกัดชีวิตของเราไปตลอดกาล