อาจเป็นเก้าอี้เก๋ๆ ที่เรานั่ง บ้านที่เราอยู่อาศัย หน้าปกหนังสือที่เราอ่าน หรือในเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เราอาจไม่ทันฉุกใจคิด หรือไม่ได้สงสัย แต่อย่างน้อยๆ ว่ากันว่า ต้องมีสักครั้งในชีวิต ที่เราเคยได้สัมผัสมรดกตกทอดของแนวคิดทางศิลปะที่ชื่อว่า Bauhaus มาบ้างไม่มากก็น้อย
แล้วไอ้คำว่าBauhaus หรือที่อ่านว่า ‘เบาเฮ้าส์’ ในภาษาไทย ที่ย้ำนักย้ำหนาเหลือเกินมาตั้งแต่ชื่อบทความนี้คืออะไร?
สรุปอย่างรวบรัดให้เข้าใจง่าย มันคือชื่อของโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งที่ถูกก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีเมื่อเกือบ100 ปีก่อน เป็นโรงเรียนศิลปะที่โด่งดังที่สุดในโลก และการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้บ่มเพาะแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ ส่งอิทธิพลต่อหลายสิ่งหลายอย่าง ทุกวันนี้ Bauhaus ไม่ได้เป็นแค่ชื่อของโรงเรียนอีกแล้ว แต่มันคือ ‘ปรัชญา’ ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งต่างๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
เก้าอี้เก๋ๆ ที่เรานั่ง บ้านที่เราอยู่ หน้าปกหนังสือที่เราอ่าน เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ไปจนถึงสนามบิน ‘สุวรรณภูมิ’ หรือจะเป็นของเล่นยอดฮิตอย่าง ‘เลโก้’ ก็ใช่ ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างจะได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบศิลปะที่ชื่อ Bauhaus ทั้งสิ้น พูดให้เวอร์แบบสำนวนดิบๆ ก็ต้องบอกว่า Bauhaus นี่แหละคือ ‘พ่อทุกสถาบัน’ ตัวจริง เพราะแม้กระทั่งเครื่องดื่มซึ่งอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรมอย่าง ‘เบียร์’ แถมยังเป็นเบียร์ระดับพรีเมี่ยมก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Bauhaus ด้วยเช่นกัน และนี่คือ 10 บรีฟสั้นๆ เพื่อรู้จักBauhaus อย่างแท้จริง
1. “เพื่อสร้างกลุ่มก้อนของช่างฝีมือ โดยไร้การแบ่งแยกของชนชั้น ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งขวางกั้นอันเย่อยิ่งระหว่างช่างฝีมือและศิลปิน” นั่นคือคำประกาศของ Walter Gropius สถาปนิกหนุ่มชาวเยอรมันในวัย 36 ปี อดีตทหารผู้เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1—และแล้วภายใต้การดูแลของเขา โรงเรียนสอนศิลปะชื่อ Staatliches Bauhaus หรือที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า Bauhaus จึงกำเนิดขึ้นในปี 1919 ณ เมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมนี โดยมีหลักการสำคัญคือ สอนให้นักศึกษา ‘ทำงานออกแบบควบคู่กับงานช่างฝีมือ และเน้นไปที่ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา’
2. แต่หากพูดถึง Bauhaus แล้ว จุดเริ่มต้นอันแท้จริงของมันอาจต้องย้อนไปในปี 1911ครั้งที่ Walter Gropius และเพื่อนสถาปนิกอีกคนคือ Adolf Meyer ยังเป็นสถาปนิกอยู่ในบริษัทของ Peter Behrens และได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าชื่อ the Fagus Factory ที่เป็นต้นทางของปรัชญาการออกแบบแบบ Bauhaus ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่อง ผนังทุกด้านกรุกระจกขนาดใหญ่ มีขอบกั้นกระจกแค่ด้านบนและล่างเท่านั้น ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ภายในและภายนอกไม่แยกขาดออกจากกัน
3. แม้จะมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมมากมายเหลือเกิน และคำว่า Bauhaus ก็มีคำแปลตรงตัวว่า ‘การสร้างบ้าน’ แต่รู้หรือไม่ว่า ในตอนเริ่มก่อตั้ง โรงเรียนกลับไม่มีแผนกสอนด้านสถาปัตยกรรมในปีแรก ถึงกระนั้นแนวคิดของ Bauhaus ก็คือการ ‘ผสานรวมศิลปะทุกแขนง’ เข้าด้วยกัน ทั้งออกแบบตกแต่ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ โฆษณา เซรามิค textileจิตรกรรม ประติมากรรม การละคร ฯลฯ ซึ่งจะรวมถึงสถาปัตยกรรมเข้ามาในเวลาต่อมา จนกระทั่ง Bauhaus กลายเป็นกระแสที่ทรงอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องของการศึกษา
4. ปี 1926 หลังจากย้ายฐานที่ตั้งจากไวมาร์มาที่เมืองเดสเซา อาคารของ Bauhaus ก็ถูกสร้างเสร็จ (ก่อนจะย้ายอีกครั้งไปยังเมืองเบอร์ลินในปี 1932) และกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และทรงอิทธิพลที่สุดในโลกทันที ด้วยมันเป็นอาคารแห่งแรกๆ ของโลกที่ใช้หลังคาแบน (flat slab) และกรุกระจกขนาดใหญ่ กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการเมือง โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ 1.พื้นที่สำหรับทำ workshop 2.พื้นที่สำนักงานและธุรการ 3. พื้นที่สตูดิโอของนักเรียน 4.ห้องเธียเตอร์ 5. บ้านพักอาจารย์ 6.โรงเรียนเทคนิค
5. “เด็กๆ ไม่ได้มาที่ Bauhaus เพื่อเรียนรู้วิธีออกแบบโคมไฟ พวกเขามาเพื่อเรียนรู้วิธีที่จะกลายเป็นมนุษย์ยุคใหม่ต่างหาก” นั่นคืออีกหนึ่งคำประกาศของ Walter Gropius และนี่เองที่ทำให้การเรียนการสอนใน Bauhaus ส่งผลต่อโลกยุคใหม่อย่างมหาศาล ด้วยการเน้นให้นักเรียนทุกคนรู้ทั้งเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติจริง เป็นโรงเรียนแห่งแรกๆ ของโลกที่พูดถึงเรื่อง ‘การบูรณาการ’ แถมยังเลือกอาจารย์ที่มีความสามารถและผลงานเป็นที่ยอมรับเข้ามาสอน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ นอกจากการให้ความรู้ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ จะส่งผลถึงโลกปัจจุบัน อันจะเห็นได้จากการเฟื่องฟูของบรรดา influencer มากหน้าหลายตาในยุคนี้
6. คำว่า ‘คนยุคใหม่’ ในหัวข้อที่แล้วจากคำพูดของ Walter Gropius นั้น แน่นอนว่าเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับเรื่องเทคโนโลยีหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมันก็ช่วยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ให้ก้าวกระโดด ด้วยความสะดวก ประหยัด และความแข็งแรงทนทานของวัสดุกำเนิดใหม่ —เก้าอี้แบบโชว์โครงสร้างอันโด่งดังที่หลายคนเคยผ่านตาอย่างเก้าอี้ Wassily โดย Marcel Breuer (นักเรียนคนแรกของ Bauhaus) ก็เกิดมาจากแรงบันดาลใจจากด้ามจับจักรยานยุคใหม่ ส่วนในแง่สถาปัตยกรรมก็มีผลงานเด่นๆ อย่าง Villa Savoye โดย Le Corbusier ที่มีลักษณะยกพื้นสูง ลอยตัว เบา มีพื้นที่ใช้สอยอิสระ หลังคาแบนแบบ flat roof เป็นได้ทั้งระเบียง สวน ดาดฟ้า—ชัดอีกนิดก็ ครัวแบบ Built-in ในปัจจุบันนั่นล่ะ ที่เป็นมรดกตกทอดของ Bauhaus อย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนโอบรัดปรัชญาที่ว่า ‘Function over form’
7. พูดให้ชัดและง่ายเป็นการขยายความหัวข้อข้างบน งานออกแบบ Bauhaus นั้นคือ ‘ความเรียบง่าย’ ด้วยการลดทอนรายละเอียด ปราศจากการตกแต่งเกินจำเป็น เพื่อให้เหลือส่วนที่สำคัญของงาน ซึ่งนี่คือ ‘ความเป็นสากล’ ที่ทำให้ Bauhaus เข้าได้กับทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ชัดที่สุดก็อิทธิพลต่องานกราฟฟิกที่มักมีสีสันสดใส (แม่สี) รูปทรงเลขาคณิต ใช้เส้นทแยงแทนเส้นตรงแนวตั้งและแนวนอน และตัวอักษรขนาดใหญ่เพื่อเน้นฟังก์ชั่นในการสื่อสาร ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นโปสเตอร์นิทรรศการของ Bauhaus เองในปี 1923 ที่ได้ขยายพรมแดนของการออกแบบเพื่อการสื่อสารไปอีกระดับ
หรือถ้าจะทำให้ตื่นเต้นอีกสักนิด ก็คงต้องบอกว่า ตัวต่อ ‘เลโก้’ ที่เราเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ นั้น ก็เชื่อมโยงกับศิลปะ Bauhaus อย่างแยกไม่ออก เพราะตัวต่อไม้ของศิลปินสาว Alma Buscher (นักเรียนคนหนึ่งของ Bauhaus) ที่ใช้แม่สีและรูปทรงพื้นฐาน (ไม่เคยพบว่ามีของเล่นชนิดนี้ก่อนโลกจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 20) จะกลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างลับๆ ให้เลโก้ในเวลาต่อมา
8. หลังจาก 14 ปีอันรุ่งโรจน์ ในปี 1933 เมื่อเยอรมนีตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายขวา สถาบันศิลปะที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างมโหฬารนามBauhaus ก็ต้องปิดตัวลง นั่นคือยุครุ่งเรืองของพรรคนาซีโดย Adolf Hitler เป็นยุคที่ Bauhaus ถูกดูแลด้วยอาจารย์ใหญ่มาแล้ว 3 คน มีทั้งเรื่องสุนทรียศาสตร์ นวัตกรรม และการเมืองผสมปนเปกันไปตลอดรายทางประวัติศาสตร์
9. แม้โรงเรียน Bauhaus จะปิดตัวไปแล้ว แต่อิทธิพลของมันก็ยังส่งถึงสิ่งต่างๆ ชนิดเรียกได้ว่า ‘อยู่เหนือกาลเวลา’ แนวคิดและปรัชญาของ Bauhaus ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ทั้ง Function over form, Less is more และ God is in the details มันปรากฏอยู่ในสิ่งต่างๆ ทั่วโลก เช่น เมืองมรดกโลกอย่างกรุงเทล อาวีฟ ประเทศอิสราเอล ที่มีสถาปัตยกรรมแบบBauhausกว่า 4,000จุดทั่วเมือง แถมปรัชญาเหล่านั้นก็ยังถูกหยิบยกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ ใกล้ตัวหน่อยก็อย่าง สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ตัดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็ก กรุกระจกใสขนาดใหญ่ ตามอย่างสถาปัตยกรรมแบบ Bauhaus ทุกประการ นี่คือผลงานการออกแบบของ Helmut Jahn หนึ่งในลูกศิษย์ของ Ludwig Mies Van Der Rohe อาจารย์ใหญ่คนสุดท้ายของ Bauhaus
10. และคงเป็นดังคำกล่าวของ Walter Gropius ผู้ก่อตั้ง Bauhaus ที่ว่า “ทุกวันนี้ ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนๆ ก็ต้องขบคิดเรื่องศิลปะอย่างจริงจัง ผู้ผลิตต้องระวังไม่ให้สินค้าของตัวเองกลายเป็นของโหลๆ”
ทั้งนี้ในปัจจุบันเทรนด์ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มีความต้องการสินค้าประเภท พรีเมี่ยมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการสิ่งที่ดีกว่าและประสบการณ์แปลกใหม่ นี่เองที่ทำให้เบียร์ระดับพรีเมี่ยมสไตล์เยอรมัน ที่มีส่วนผสมหลักสำคัญเป็น ‘เยอรมัน ซิงเกิ้ล มอลต์’ (German Single Malt) มอลต์จากแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวจากประเทศเยอรมนีอย่าง เฟเดอร์บรอย (Federbräu) เล็งเห็นความสำคัญถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ จึงนำเสนอ เฟเดอร์บรอย (Federbräu) โฉมใหม่ ที่พัฒนาทั้งในส่วนของรสชาติและภาพลักษณ์ เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค
และเมื่อต้องการสร้างสรรค์ภาพลักษณ์ใหม่ที่สะท้อนถึงความมีระดับ คุณภาพ ความโดดเด่น ทันสมัย ให้ความรู้สึกก้าวนำผู้อื่นไปก่อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ เฟเดอร์บรอย (Federbräu) สิ่งที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ดังกล่าวก็คือ ศิลปะและปรัชญาสไตล์ Bauhaus นั่นเอง เพราะนอกจาก Bauhaus จะมีที่มาและต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนีเช่นเดียวกับความเป็นเบียร์สไตล์เยอรมันของ เฟเดอร์บรอย (Federbräu) แล้ว แก่นของศิลปะและปรัชญาสไตล์ Bauhaus ยังสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็น เฟเดอร์บรอย (Federbräu) ออกมาได้ชัดเจน ผ่านความคลาสสิค เรียบง่ายแต่สวยโดดเด่น ทรงคุณค่า ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และมีคุณภาพตามแบบฉบับเยอรมัน
โดย เฟเดอร์บรอย (Federbräu) ได้รับเอาแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์ศิลปะแบบ Bauhaus เหล่านี้ ถ่ายทอดเพื่อสร้างอัตลักษณ์ในรูปแบบเฉพาะตัวผ่านงานดีไซน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ ทั้งขวดใหญ่ ขวดเล็ก กระป๋อง Sleek can และกล่องบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงโลโก้และช่องทางการสื่อสารที่ดูทันสมัย ดึงเอาความโดดเด่นในการผสมผสานความแตกต่าง ใช้องค์ประกอบอย่างรูปทรงเลขาคณิต แม่สี การทำมุม 45 องศา ของเส้นสายต่างๆ การลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น จนเกิดเป็นความสวยงามที่ทันสมัย และอยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ ตามอย่างศิลปะแนว Bauhaus
และนอกจากสีหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้ อย่างสีดำ แดง ขาว แล้ว เฟเดอร์บรอย (Federbräu) ยังมาพร้อมสัญลักษณ์ขนนกสีแดงเพื่อสื่อถึงรสชาตินุ่มเบาอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นผลงานศิลปะที่ลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นจนได้งานดีไซน์ที่เรียบง่าย มี ‘ความเป็นสากล’ สมกับแนวคิด Simply German, Passion für Perfektion (Passion for Perfection) ของ เฟเดอร์บรอย (Federbräu) ที่เป็นการนำ Passion ทุ่มเททำสิ่งที่ตนรักและเชื่อมั่น สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด
เช่นเดียวกับปรัชญาแบบ Bauhaus ที่ส่งต่อมาตั้งแต่ปี 1919
Cover Illustration by Namsai Supavong