ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยตื่นตัวต่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมากขึ้น แต่ยังขาดการติดตามผลลัพธ์อย่างจริงจัง ภาพการจับกุมและตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางนั้นดูดีมีผลงาน แต่ในหลายๆ ครั้งนั้นยังไม่สามารถเอาโทษผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุดได้ หรือเป็นโทษที่เบาบางมาก
และน้อยคนนักที่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับสินค้าสัตว์ป่าที่มีชีวิตเหล่านั้นต่อไป
ยึดแล้วย้าย
ถ้าหากจะพูดกันถึงวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโนหรือวัดเสือ แทบทุกคนคงนึกถึงประเด็นของเสือโคร่งของกลางนับร้อยที่กลับมาเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากเสือโคร่งแล้ว ยังมีสัตว์ป่ามีชีวิตอีกมากที่ถูกตรวจยึดในคดีเดียวกัน ทั้งนกเงือกจำนวนหลายสิบตัว หมีควาย หมีหมา เม่น ฯลฯ[1] [2] [3]
ซึ่งถูกกระจายไปตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุดต่างๆ ของกรมอุทยานฯ รวมทั้งที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง) อันเป็นจุดที่ดูแลเสือโคร่งจากวัดเสือเป็นจำนวนมากที่สุดด้วย
โดยขั้นตอนการจัดการกับสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิตนั้น เมื่อทำการบันทึกข้อมูลและส่งมอบต่อสถานีเพาะเลี้ยงแล้ว สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจะทำการตรวจวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งถ้าหากมีโรคติดตัวมาต้องอยู่ในพื้นที่กักกันโรคจนกว่าจะหาย ก่อนจะนำไปดูแลในพื้นที่สำหรับเลี้ยงดูสัตว์ของกลางต่อไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุดซึ่งอาจใช้เวลานานหลายปี และถ้าหากสัตว์ป่าของกลางล้มตายลงในระหว่างนี้ ต้องมีการทำเอกสารไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับคดีที่สิ้นสุดแล้วหรือหมดอายุความ สัตว์ป่าที่ถูกจับมาจากธรรมชาติจะถูกปล่อยคืนหรือคัดเป็นพ่อแม่พันธุ์ในโครงการเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป แต่ในกรณีที่เป็นสัตว์ที่ไม่มีศักยภาพจะใช้ชีวิตตามธรรมชาติหรือไม่รู้ที่มาชัดเจน ก็จะได้รับการดูแลต่อไปจนหมดอายุขัย[4] เป็นอันจบกระบวนการโดยย่อ
กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าของไทยที่มีการบังคับใช้อยู่ก่อน เช่น พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535[5], พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 [6], พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504[7], ฯลฯ ยังค่อนข้างขาดความละเอียดอ่อนต่อการจัดการของกลางที่เป็นสัตว์ป่ามีชีวิต เพิ่งจะมี พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ป่าของกลางได้มากขึ้น[8] โดยสามารถโอนย้ายให้อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์ หรือสถานพยาบาลสัตว์ และสามารถพิจารณาเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหรือส่งคืนถิ่นกำเนิด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีสิ้นสุดหรือหมดอายุความอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในอีกซีกโลกแอฟริกาที่มีปัญหาเรื่องการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นไม่แพ้โซนเอเชีย บางประเทศก็มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าให้ทันสมัยขึ้นเพื่อรับมือ ในสหสาธารณรัฐแทนซาเนียนั้น เมื่อปีค.ศ. 2016 ที่ผ่านมา ได้มีการผ่านกฎหมายเพื่อรับหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ (electronic evidence) [9] ในคดีเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า และอนุญาตให้ใช้วิดีโอฟุตเทจ, อีเมลโต้ตอบ, หรือแม้แต่หลักฐานการติดต่อทางโทรศัพท์ แทนหลักฐานเป็นสัตว์ป่าตัวเป็นๆ ในการพิจารณาคดี เนื่องจากแทนซาเนียเองก็ประสบปัญหาในการจัดหาสถานที่รองรับและเลี้ยงดูของกลางมีชีวิตเหล่านี้ในสเกลที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน
เกิด ตาย วนเวียน – วงจรชีวิตสัตว์ป่าในการค้าผิดกฎหมาย
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่ความต้องการที่จะเลี้ยงสัตว์ป่ากลับมีมากขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อสู่คน การเลี้ยงที่ถูกต้องตามสุขลักษณะของสัตว์ชนิดนั้น หรือแม้แต่สัญชาตญาณสัตว์ป่าของพวกมันเมื่อโตขึ้นและเริ่มแสดงพฤติกรรมดุร้ายตามธรรมชาติ[10]
ในอดีตนั้น การเลี้ยงสัตว์ป่าอาจเป็นไปเพื่อการสะสมของแปลกสวยงามประดับบารมี แต่ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้ผลักดันให้เกิดความต้องการใหม่ๆ โดยอาศัยหน้าตาที่น่ารักของสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นตัวชูโรง เช่น นากเล็กเล็บสั้น (Asian small-clawed otter, Aonyx cinereus) หรือลิงลม (slow loris) [11][12][13] [14]
“ไปยึดมาทำไม เขาก็เลี้ยงดีอยู่แล้ว” เป็นคอมเมนต์ยอดฮิตที่เรามักจะพบเห็นเมื่อมีข่าวการตรวจยึดจับกุมสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยมองข้ามความเป็นจริงว่า ถ้าหากสัตว์เหล่านี้ไม่ถูกจับออกมาจากธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการผิดๆ ของมนุษย์เสียตั้งแต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นเลยที่พวกมันจะต้องถูกยึดมาจากคนเลี้ยง ซึ่งไม่ว่าจะเลี้ยงอย่างไร หากเราพิจารณาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (five freedoms) ในการเลี้ยงดูและปฏิบัติต่อสัตว์ [15] แล้ว
1. อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)
2. อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)
3. อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain injury and disease)
4. อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)
5. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)
ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทดแทนสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่แท้จริง นากเล็กเล็บสั้นที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ด้วยการให้อาหารแมวตามที่คนขายบอกอาจเป็นอิสระจากความหิวกระหายจริง แต่การไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอ และส่งผลเสียในระยะยาวเป็นที่มาของโรคภัย อีกทั้งธรรมชาติของนากเล็กเล็บสั้นยังเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆ จึงเป็นไปไม่ได้มันจะได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติเมื่อถูกลักลอบเลี้ยงอยู่ลำพัง (และข้อสำคัญ นากเป็นสัตว์ที่มีกลิ่นแรง และจะแสดงความดุร้ายออกมาเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หมดความน่ารักน่าเลี้ยงของวัยเด็ก)
อีกข้ออ้างยอดฮิตของคนที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ป่าก็คือ การบอกว่าท่ีตัวเองนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงนั้นเป็นการช่วยอนุรักษ์พวกมันแบบนอกถิ่นที่อยู่อาศัย (ex situ conservation) โดยไม่ได้ใส่ใจกับความจริงที่ว่า วงจรการค้าสัตว์ป่านี้เองที่เป็นสาเหตุการลดลงอย่างน่าใจหายของประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดและวิธีการจับยังทำลายสิ่งแวดล้อมของพวกมันที่ยังเหลืออยู่อีกด้วย[16][17]
เมื่อสัตว์ถูกจับออกจากป่า จำนวนประชากรที่ลดลงนั้นไม่ได้ถูกทดแทนโดยอัตโนมัติ และการ ‘ทำฟาร์ม’ สัตว์ป่าสวยงามไม่ได้ช่วยลดปริมาณความต้องการของตลาดหรือลดการลักลอบจับสัตว์ป่ามาขายแต่อย่างใด เนื่องจากอย่างหลังมีต้นทุนที่ต่ำกว่ากันมาก[18]
หลักการของชีววิทยาการอนุรักษ์นั้น ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แบบในถิ่นที่อยู่อาศัย (in situ conservation) เป็นที่สุด เนื่องจากเป็นการรักษ์ทั้งพื้นที่และทั้งชนิดของสัตว์ป่าไปพร้อมกัน และให้สัตว์ชนิดนั้นๆ ได้ทำหน้าที่ตามระบบนิเวศ ส่วนการอนุรักษ์แบบนอกถิ่นที่อยู่อาศัย (ex situ conservation) นั้นเป็นเรื่องรองลงมา โดยมีจุดหมายเพื่อการปล่อยสัตว์ชนิดนั้นให้คืนสู่ธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องการแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน มีการวางเป้าหมายและความเสี่ยงที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (genetic contamination) มีการนำความรู้ความชำนาญจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ชำนาญกว่ามาช่วยเหลือ สามารถตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือเป็นการเลี้ยงไม่ให้ใกล้ชิดกับมนุษย์เพื่อให้สัตว์กลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้โดยไม่เชื่องคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วิธีที่ผู้ค้าและผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ปฏิบัติตามแม้จะใช้การอนุรักษ์เป็นข้ออ้างก็ตาม
การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาตินั้นทำได้ยากกว่าการจับพวกมันออกจากป่ามากและใช้งบประมาณมหาศาล อีกทั้งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น สัตว์นั้นถูกจับมาเมื่ออายุเท่าใด หรือเกิดในที่กักขัง ประสบการณ์และโภชนาการในวัยเด็กของมันเป็นอย่างไร ฯลฯและในที่สุดแล้ว ราคาของการนำสัตว์ออกจากป่าคือสัญชาตญาณในการดำรงชีพของมันนั่นเอง สัตว์ประเภทปลา สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาจยังสามารถเอาตัวรอดได้ แต่สัตว์ที่ซับซ้อนกว่าอย่าง ลิงใหญ่, เสือหรือแมวใหญ่, ช้าง, โลมาและวาฬต้องอาศัยการเรียนรู้จากแม่สู่ลูกนานนับปี และ/หรือต้องอาศัยร่วมกับฝูงเพื่อความอยู่รอด แม้แต่สัตว์ประเภทนกก็ต้องเรียนรู้การหาอาหารที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาลและบางชนิดยังมีการอพยพย้ายถิ่นประจำปี จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่มนุษย์เราจะ ‘สอน’ สิ่งเหล่านี้ให้แก่พวกมันได้ [19]
ปัญหาที่ยังห่างไกลทางออก
ปัจจุบัน มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้เมื่อมีใบอนุญาตจากการกรมอุทยานฯ[20] แต่ไม่อาจลดความต้องการของตลาดหรือลดการลักลอบจับสัตว์ป่ามาขายได้ รวมไปถึงปัญหาสัตว์ป่าสัตว์เลี้ยงที่ถูกทิ้งจนบางส่วนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species)
ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย โดยเฉพาะชนิดพันธุ์จากต่างประเทศที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งใน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุดนี้ แม้ว่าจะมีการนิยาม ‘สัตว์ป่าควบคุม’ เพื่อกำหนดมาตรการดูแลสัตว์ป่าที่ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่น แต่ก็ยังต้องรอประกาศของรัฐมนตรีตามมาว่าจะมีชนิดใดบ้าง
เครือข่ายการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังมีเส้นทางการปฏิบัติงานทั่วโลกด้วยทุนที่หนากว่าและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าภาครัฐ และในขณะเดียวกัน ในทางกฎหมายก็ยังมีน้อยมากที่จะพยายามทำนายปัญหาหรือศึกษาถึงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ข้ามประเทศเพื่อจับให้ได้ไล่ให้ทัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้
ปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอาจดูเป็นปัญหาที่ไม่เร่งด่วนเมื่อเทียบกับความจำเป็นด้านเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างสังคมที่ใหญ่กว่า เช่น การบุกรุกพื้นท่ีอุทยานฯ เครือข่ายการค้าสารเสพติด และการจ่ายสินบนเพื่อให้สินค้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้สะดวก กระบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังเป็นช่องทางหลบเลี่ยงภาษีของเงินจำนวนมหาศาล และสัตว์ป่าที่แออัดกันในพาหนะขนส่งที่ไม่สะอาดยังเป็นแหล่งบ่มเพาะโรคระบาดชั้นดี โดยที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบหรือป้องกันได้เลย
พบเห็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1362, เพจสายด่วน 1362 https://web.facebook.com/1362DNP/ และ LINE id @ebu1050a ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณ
โครงการ Asia-Africa Journalists Exchange
USAID Wildlife Asia
USAID Tanzania
RTI International
Thai Society of Environmental Journalists
Journalists’ Environmental Association of Tanzania
Thai PBS
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://news.thaipbs.or.th/content/284207
[2] https://www.nationtv.tv/main/content/378452520/
[3] https://www.thairath.co.th/content/631223
[4] https://web.facebook.com/pg/DNP.Wildlife/photos/?tab=album&album_id=2120840938240535
[5] http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%ca04/%ca04-20-9999-update.pdf
[6] http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%bb27/%bb27-20-9999-update.pdf
[7] http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%cd10/%cd10-20-9999-update.pdf
[8] มาตรา 86, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/071/T_0104.PDF
[9] http://www.ilo.org/dyn/natlex/natlex4.detail?p_lang=en&p_isn=104384
[10] https://web.facebook.com/DNP.Wildlife/posts/2068580450133251?_rdc=1&_rdr
[11]https://www.seub.or.th/bloging/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5/
[12] https://www.traffic.org/publications/reports/asian-otters-at-risk-from-illegal-trade-to-meet-booming-demand-in-japan
[13] https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/otters-are-the-latest-exotic-pet-trend-in-asia-but-their-rising-popularity-may-be
[14] https://news.mongabay.com/2019/05/otter-cafes-and-cute-pets-craze-fuel-illegal-trafficking-in-japan
[15] https://nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/veterinarian/animal-welfare
[16] https://www.rfa.org/english/commentaries/asia-birds-07312018171743.html
[17] https://www.nationalgeographic.com/news/2018/03/wildlife-watch-fish-aquarium-trade/
[18] Salvatore Amato, Law Enforcement Team Lead at USAID Wildlife Asia, 22 May 2019
[19] https://www.bbcearth.com/blog/?article=can-captive-animals-ever-truly-return-to-the-wild
[20] https://web.facebook.com/DNP.Wildlife/posts/2071642339827062?_rdc=1&_rdr