ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รายงาน IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้เขย่าโลกให้หันมาตกใจกันอีกครั้ง เพราะมันเหมือนเป็นการแจ้งเตือนครั้งสุดท้ายให้มนุษยชาติจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น ก่อนจะหมดโอกาสแก้ตัว
จริงๆ แล้ว หลายๆ วงการก็พยายามขับเคลื่อนและหาทางออกให้กับเรื่องนี้กันมาตลอด แม้แต่วงการเทคโนโลยีเองก็พยายามตั้งคำถามว่า “เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหา Climate Change ได้อย่างไร” และก็มีหลายๆ ทางออกที่ทดลองใช้อยู่ในปัจจุบัน
นักเทคโนโลยีหลายคนเห็นตรงกันว่า แม้เทคโนโลยีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอาไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงที่กว้างกว่า และในเวลาอันรวดเร็วกว่า ลองคิดภาพเราแต่ละคนลดใช้หลอดหรือถุงพลาสติก ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่าการที่ Tesla หันมาเปลี่ยนให้รถยนต์ทั้งหมดใช้ไฟฟ้าแทนการใช้เชื้อเพลิง นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักเทคโนโลยีและผู้ประกอบการควรหันมาช่วยกันเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
Green Technology หรือ ‘เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม’ จึงเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างมาแรงในช่วงปีสองปีมานี้ และน่าจะพุ่งตัวแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะปัญหาเริ่มมีให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนขึ้นในประเทศเมืองหนาว น้ำท่วมใหญ่ในจีน หรือไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ ในช่วงเวลาเพียงแค่เดือนที่ผ่าน
Green Tech เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอาจสามารถแบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ Climate Tech ที่มุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่นเรื่องการปล่อยคาร์บอนหรือการเพิ่มพื้นที่ป่า) และ Cleantech ที่มุ่งไปที่ผลของการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น เรื่องมลพิษ สภาพอากาศ การกำจัดขยะ เป็นต้น)
เพื่อให้เห็นภาพของ Green Tech มากขึ้น ลองดูตัวอย่าง 7 เทรนด์ Green Tech ที่น่าสนใจ จาก Future Today Institute’s 2021 Tech Trend Report และ 2021 World Economic Forum Technology Pioneers
Edible Food Coating
ช่วงล็อกดาวน์อยู่บ้านนี่ หลายๆ คนอาจจะรู้สึกผิดทุกครั้งที่สั่งอาหารเดลิเวอรีมากิน แล้วเห็นขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากมาย เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์กินได้จึงเป็นอีกอย่างที่มาแรงในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น Mori ที่บอสตัน ที่พัฒนาห่ออาหารจากโปรตีนไหม หรือ Ooho บรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายและแคลเซียมคลอไรด์
Lab-grown Fish
การจับสัตว์น้ำที่มากเกินไป ทำให้ประชากรปลาและสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบนิเวศในท้องทะเลด้วย Avant Meats สตาร์ทอัพในฮ่องกงจึงวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงสเต็มเซลล์ในห้องทดลอง เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเลแทนการจับสัตว์น้ำ ซึ่งวิธีนี้ดีกว่าการเลี้ยงปลาในบ่อเพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษอื่นใดในกระบวนการ รวมถึงไม่ต้องกังวลเรื่องโรคใดๆ แถมยังช่วยนำความสมดุลกลับมาสู่หลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศได้
Bioengineered Trees
ปัญหาป่าไม้ที่ลดลง ส่งผลต่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ด้วยความที่รอป่าปลูกใหม่โตไม่ทัน นักวิทยาศาสตร์จาก Columbia University เลยพยายามสร้าง “ต้นไม้ปลอม” ขึ้นมา ซึ่งมีใบที่ทำจากโซเดียมคาร์บอเนต และสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริงพันเท่า แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นพัฒนาต่อไปว่า แล้วคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ จะเอาไปเปลี่ยนรูปต่อหรือกำจัดทิ่งอย่างไรดี
Bacterial Storage for CO2
CO2 Solutions ในควิเบก ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อสร้างแบคทีเรียที่สามารถผลิตเอนไซม์ชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถย่อยคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนให้เป็นไบคาร์บอเนตที่ไม่มีอันตรายแทน
Reflecting Sunlight
นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มกำลังพยายามสร้าง ‘ร่ม’ ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ที่ (ในทางทฤษฎีแล้ว) สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศได้ และช่วยบรรเทาความร้อนในชั้นบรรยากาศโลกลง Keutsch Research Group ที่ Harvard University มองว่าน่าจะทดลองแนวคิดนี้ได้เป็นครั้งแรกภายในปีหน้า (2022) ด้วยการสร้างบอลลูนที่สามารถไปปล่อยละอองสารสะท้อนในชั้นบรรยากาศและวัดผลของการเปลี่ยนแปลงได้
Smart Ocean Filter
ขยะในทะเลและมหาสมุทรกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกมาหลายปีแล้ว จนมีนักพัฒนาหลายคนหันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง (และคงยังต้องทำต่อไป) อย่าง Ocean Cleanup ที่พัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้แนวคิด Great Pacific Garbage Patch ซึ่งอาศัยแรงของกระแสน้ำพัดพาแพขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ที่ดักจับขนาดใหญ่ หรือ Seabin Project ถังขยะที่สามารถเก็บขยะด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติของตัวปั้ม ทำให้เก็บถุงพลาสติก ขวดน้ำ คราบน้ำมันหรือสารตกค้างบนผิวน้ำที่อยู่รอบๆ ลงถังได้
Carbon Offsetting AI
เรื่องของการชดเชยคาร์บอนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำไปใช้ในมาตรฐานของหลายๆ อุตสาหกรรมและองค์กรในช่วงปีสองปีมานี้ แต่การวัดผลที่เป็นรูปธรรมนั้นยังไม่ชัดเจนมาก จึงมีความพยายามในการสร้าง เทคโนโลยี AI หลากหลายรูปแบบที่ช่วยตรวจสอบและวัดผลได้ อย่างเช่น Pachama ใน Silicon Valley ที่ใช้ AI และข้อมูลดาวเทียมเพื่อตรวจสอบผลโครงการต่างขององค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อระบุปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจริง หรือ Globalance World แพลตฟอร์มที่ธนาคารแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์สร้างขึ้นมา เพื่อแสดงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการแต่ละบริษัท เพื่อให้นักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนด้านความยั่งยืนเลือกลงทุนได้ถูก
เราคงจะได้เห็นการคิดค้น Green Tech อีกมากจากหลายประเทศทั่วโลก แต่สุดท้ายแล้ว นักเทคโนโลยีหลายๆ คนก็พูดตรงกันว่า เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่หยั่งรากลึกในสังคมโลก แค่เพียงเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือ แต่ “คน” ต่างหาก ที่เป็นส่วนสำคัญในการเลือกและเอาไปประยุกต์ใช้ เพื่อรักษาโลกของเราไว้ ก่อนจะหมดโอกาสแก้ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก