หนุ่มสาวที่ทำงานหนักอย่างแท้จริงมักไม่เคยบ่น แต่อะไรคือสัญญาณจากภายในและรอบข้าง ว่าคุณกำลังเผาไหม้ตัวเองให้เป็นจุณอยู่
5 ทุ่มแล้วไม่ใช่เหรอ? ทำไมยังนั่งทำงานอยู่อีกในขณะที่ใครๆ เขากลับหมดแล้ว ภายในออฟฟิศอันมืดมิด มีเพียงแสงจอมอนิเตอร์ส่องสว่างอยู่มุมเดียว และกาแฟแก้วโตๆ ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคนเดียวที่พยายามถ่างเปลือกตาให้คุณอยู่จนจบค่ำคืน
ไม่แปลกที่เทคโนโลยีทำให้ชีวิตพวกเราง่ายขึ้นราวอีซี่โกยัดไมโครเวฟ คนยุคนี้จึงมีจังหวะเร็วกว่าปกติ คอมพิวเตอร์เครื่องจิ๋วพกไปไหนก็ได้ทำให้เราคิดเร็วกว่าเดิม อีเมล์และข้อความทันใจเชื่อมต่อคนทำงานด้วยกันตลอดเวลา และอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ทุกคำถาม มีคำตอบ
ในมิติหนึ่งมันรีดเค้นประสิทธิภาพคุณออกมาได้อย่างเจิดจ้า แต่การถูกตอกตรึงกับกระแสธารงานร้อนระลอกแล้วระลอกเล่า ทำให้คุณบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจจนส่งผลเสียระยะยาวต่อบริษัท แม้พวกเขาจะปลื้มคุณมากในช่วงนี้ แต่หากคุณไม่ใช่นกฟีนิกซ์ที่เกิดใหม่ทุกครั้งจากเถ้าธุลี เมื่อถึงจุดที่คุณทนไม่ไหว ผลกระทบแบบ Domino Effect จะทำให้ทั้งขบวนเป๋ไปอย่างสิ้นเชิง
องค์การอนามัยโลก WHO คาดการณ์ว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ มีคนในวัยทำงานทั่วโลกกว่าครึ่งมีรูปแบบพฤติกรรมทำงานหนักเกิน และน่าสนใจที่คนเหล่านี้มักไม่บ่นออกมา หรือเล่าปัญหาใดๆ ให้ใครฟัง ทำให้พวกเขาเองไม่รู้ตัวว่า กำลังมีความเสี่ยงต่ออาการป่วยเรื้อรังและคุณภาพชีวิตลดลง
แต่รูปแบบการทำงานเช่นนี้กำลังเป็นบรรทัดฐานของคนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย หลายคนพยายาม Fit in กับระบบโดยทำงานให้เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จากการคาดหวังขององค์กร
เรากำลังถูกกดทับด้วยการติดต่อสื่อสารตลอดเวลา ที่เริ่มนอกเหนือเวลางานจนเป็นปรากฏการณ์ ที่แม้คุณจะไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสำนักงาน แต่ความกดดันและวิตกกังวลก็คืบคลานไปหาได้อยู่ดี
ก่อนที่จะกระโจนลงไปในกองภูเขางานแบบข้ามคืน มาดูว่ามีสัญญาณอะไร 7 อย่างในชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไป
1. ความสัมพันธ์ของเธอกำลังดิ่งเหว
คุณมีเวลาไม่มากนักสำหรับถกเถียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหมือนแต่ก่อน บางครั้งคนรอบๆ ข้างดูเป็นอุปสรรคที่อยากสลัดทิ้ง เพียงคำไม่เข้าหูไม่กี่คำ ก็พร้อมทำให้ความสัมพันธ์พังพาบลงมา ความรักชักเหี่ยวแห้งใช่ไหมล่ะ และเริ่มตั้งคำถามว่า “มันยังสำคัญอยู่ไหมนะ? จำเป็นหรือที่ต้องกลับไป?” คุณมีข้อแม้เพื่ออยู่กับงาน และเตะปัญหาเข้าใต้พรม
ไม่แปลกที่เราเริ่มวิตกกับความสัมพันธ์ กับทั้งครอบครัว เพื่อนสนิท และคนรัก แต่แทนที่จะเดินเข้าหา คุณจำเป็นต้องผลักมันออกไป แล้วเชื่อว่าเวลาจะเยียวยาทุกอย่างได้ คิดว่าหลังเสร็จงานทุกอย่างจะกลับเป็นเหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นหรอก
เพราะท่ามกลางมหาสมุทรทางอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่มีใครมาหยุดรอคุณท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
2. ดื่มเป็นลิตร สูบจัดเป็นซอง
ภายใต้ความกดดัน การหาวิธีผ่อนคลายที่รวดเร็วที่สุดคือการออกไปสูบบุหรี่สักม้วน แต่ในความเป็นจริงมันมักไม่จบแค่มวนเดียว บ่อยครั้งถึงกับหมดซอง จำนวนบุหรี่เริ่มเพิ่มขึ้นผันแปรตามจำนวนไฟแช็คที่คุณวางทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้เอื้อมถึงได้สะดวก ปริมาณบุหรี่คือเครื่องชี้วัดอีกตัวเพื่อบ่งบอกว่าคุณอยู่ในภาวะวิตกกังวล และไม่มีทางเลือกมากนัก
มีความเชื่อมโยงชัดเจนกับพฤติกรรมการดื่มและความเครียด แต่หลายคนมองข้ามปัญหาว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถสร้างภาวะซึมเศร้าได้ จากการไปรบกวนระบบประสาทส่วนกลาง
องค์กร Mental Health Foundation ออกมาเตือนว่าการดื่มจัด รบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง แม้มันจะช่วยลดความเครียดในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวมันนำไปสู่ความวิตกกังวลและซึมเศร้าที่จัดการยากกว่า นักดื่มไร้ความรับผิดชอบมักมีปัญหาสุขภาพจิต
กลุ่มคนที่ทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการใช้แอลกอฮอล์บำบัดเครียดมากที่สุด เฉลี่ยผู้ชาย 21 แก้วต่อสัปดาห์ ในขณะผู้หญิง 14 แก้วต่อสัปดาห์
เอ้า! ชนแก้ว!
3. ป่วยกันยาวๆ
ร่างกายชักไม่ค่อยเป็นมิตรกับคุณแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันง่อยเปลี้ยเหมือนทีมท้ายตารางกำลังตกดิวิชั่น แม้โรคหวัดตามฤดูกาลก็อาจเล่นงานคุณจนเฉียดตายได้ โรคที่คุณไม่คาดคิดว่าจะเป็นอย่างริดสีดวงเริ่มทำให้ชีวิตช่วงเช้ายากขึ้น กล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ จากอิริยาบถและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ ตามอาการสุดฮิตสมัยนิยม ‘ออฟฟิศซินโดรม’
ร่างกายเราเสมือนระบบนิเวศที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น จุลชีพนับล้านทำงานเป็นจังหวะจะโคน แต่เมื่อถึงคราวสะดุดมันก็พร้อมจะพังครืนลงมา จึงไม่แปลกที่คุณจะคิดถึงการประกันสุขภาพที่ต้องยอมลงทุนสูงเสียหน่อย แต่การที่เอาใจร่างกายในขณะที่ยังกลับลำทัน ก็ดูเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่แพ้กัน
4. เธอโกรธง่ายเหลือเกิน
หมู่นี้คุณอ่อนไหวมากขึ้นหรือเปล่า หรือจุดเดือดต่ำกว่าที่เคยเป็น หรือรู้สึกถูกคุกคามทางอารมณ์จากสิ่งเร้าเล็กๆ น้อยๆ มุกตลกคลายเครียดที่เคยเล่นหัวกันกลายเป็นความดูถูกเหยียดหยาม กระแสความคิดคนรอบตัวมีแต่จะทำให้คุณฟิวส์ขาด แต่กระนั้นสิ่งเหล่านั้นดูไม่หนักหนา เมื่อเทียบกับการที่คุณเริ่มมีพฤติกรรม คุกคามตัวเอง (Offence to Self) เมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือทำได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และลงโทษตัวเองจากความผิดพลาด เช่น ไม่นอน ไม่กิน จนกว่างานจะสมบูรณ์ที่สุด
หรือบางคนก็พร้อมถ่ายทอดความเกลียดชังไปสู่คนอื่นราวไฟลามน้ำมัน
5. ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
ใครๆ ก็ทำพลาดกันทั้งนั้น แต่หากมันบ่อยไป แสดงว่าความเหนื่อยล้าทำให้คุณประเมินสภาพแวดล้อมอย่างบิดเบือน หรือไม่สามารถอ่านมันออกอย่างแจ่มชัด เช่น เริ่มรับคำสั่งมาแบบผิดๆ ถูกๆ ไม่กล้าซักถามความเห็น หรือไม่เข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างที่พยายามสื่อสาร (แน่นอนมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า เมื่อคุณเหนื่อยล้าทำให้ทักษะการตีความรู้สึกระหว่างบุคคลเลวลง แม้การยิ้มเฉยๆ ก็อาจทำให้คุณคิดว่ากำลังโก่งคิ้วสงสัย หรือพยายามจับผิดคุณอยู่)
คุณเริ่มหลุดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชิ้นงาน แม้คนรอบๆ ข้างก็สังเกตเห็น
การมองข้ามสัญญาณเล็กๆ ทำให้โครงสร้างใหญ่มีบาดแผล
6. ลืมจุดประสงค์ที่แท้จริง
ท้ายสุดคือลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า กำลังทำงานนี้ไปทำไม อะไรคือจุดประสงค์ที่แท้จริง และลืมไปแล้วว่าต้องแลกอะไรไปบ้าง
มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Illinois พบว่า คนที่ทำงานหักโหมเป็นเวลานาน สูญเสียทักษะการมองเห็นภาพรวม และมีประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง ถูกดูดกลืนไปกับเนื้องานจนมองข้ามปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จอื่นๆ งานที่ออกมามักต่างจากความคาดหวังในจุดเริ่มต้น เพราะเราขาดเวลามานั่งถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่ และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอื่นๆ อีกด้วย
7. จะโทษใครดี บริษัทหรือตัวเอง?
ทำไมคุณถึงยอมเสียสละเวลาดินเนอร์วันหยุดกับคนรัก มีใครสั่งไว้เหรอ? หัวหน้าห้ามไว้หรือเปล่า? หรือคุณทำงานเพื่อให้ได้เงินมากๆ เข้าไว้ก่อน? หรือคุณรู้สึกมีค่ากว่า?
โทษบริษัท
วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ทำให้คุณเชื่อมต่อกับสำนักงานอยู่ตลอดเวลา และเป็นไปได้ที่การลาพักร้อนจะถูกก่อกวนโดยหัวหน้างาน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อสารสนเทศออนไลน์แขนงใหม่ๆ ทั้งในอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น (รวมถึงไทย)
หรือโทษตัวเอง
ไม่มีใครมานั่งว่าตัวเองอยู่แล้ว แต่การทำงานยาวนานพิสูจน์แรงผลักดันบางอย่างในตัวคุณ คุณอาจจะคิดว่าได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากโปรเจกต์เข็นครกขึ้นภูเขา ทนเพื่อปั้มเงินให้ได้มากๆ หรือไม่อยากถูกทิ้งไว้รั้งท้ายในองค์กร แม้แต่ความรู้สึกผิดเล็กๆ เมื่อต้องกลับบ้านก่อนใครๆ ตอน 5 โมงเย็น
งานศึกษาหลายชิ้นวิเคราะห์ว่า งานที่คุณทำบางครั้งก็เปรียบเสมือนหลุมหลบภัยที่คุ้นเคย และคุณจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น หากขลุกอยู่กับงานมากกว่าสภาพแวดล้อมภายนอก
เราอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันที่สูงและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เราก็พร้อมเสียสละอะไรหลายๆอย่างเพื่อจุดหมายได้มากกว่าคนยุคก่อนๆ
คุณกำลังเหนื่อยกับการเดินตามฝัน แต่หากสัญญาณทั้ง 7 ที่กล่าวมา ทำให้ชีวิตเลวร้ายกว่าเดิมอาจถึงเวลาที่ต้องเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก