โอ๊ยยยยยยยยยยยยยย เดินเร็วๆ ได้มั้ยยยยยยยยย ตึ้ก ตึ้ก ตึ้ก ต้ึก (เสียงบีท) อย่าาาาาฟังงงงเพลงงงเสียงดังจนนนนลอดดดหูฟังงงอออกมมาาาา ทำไมมมมมเหม็นนนกลิ่นนนนเต่าาาาขนาาดนี้ อย่าาาากินนนนหมูปิ้งงงงบนนนรถถไฟฟฟ ปิดดเสียงงงไลนนน์ได้มั้ยยยยย มันนนร้องง ไลน์ (เสียงสูง) ไลน์ (เสียงสูง) ไลน์ (เสียงสูง) แต่กกกๆๆๆ (เสียงพิมพ์อยู่นั่นแหละ) อย่ามัววเล่นมือถืออออออออแล้วยืนขวางงงง ช่วยเดินอออกกกกกให้ฉันได้อออกกกกด้วยหน่อยยยยย
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากที่ตื่นเช้าอย่างสดใส อาบน้ำ เดินมาขึ้นรถไฟใต้ดิน เพียงการเอนจอยทริปสั้นๆ บนรถไฟจะทำให้อารมณ์ที่เคยเต็มร้อยดิ่งลงมาเหลือสิบหรือน้อยกว่านั้นได้เร็วขนาดนี้ : เร็วจนเกิดคำถามว่า เราเป็นคนขี้รำคาญเกินไปหรือเปล่า? อะไรที่ทำให้เรารำคาญ ที่สำคัญเราจะมีวิธีการหลีกเลี่ยง ‘ความรำคาญ’ ได้อย่างไร เมื่อเราควบคุมปัจจัยรอบตัวไม่ค่อยได้?
ความรำคาญไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราวที่ไม่มีพิษภัย เมื่อสะสมมากๆ เข้า มันก็เป็นมลพิษต่ออารมณ์ระยะยาวได้เหมือนกัน
ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่คุณก็อาจเคยเจอ : เมื่อความรำคาญถูกสั่งสมมาเรื่อยๆ เช่น วันนี้เจอคนพูดจาไม่ดีด้วยทั้งวัน ข้างบ้านก็เสียงก่อสร้างดังทำให้พักผ่อนไม่ได้ เจอคนบนโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จักด่าเอาเสียหาย เมื่อเจอเหตุการณ์น่ารำคาญเล็กๆ ขึ้นอีก (เช่น เพื่อนพูดกระทบกระเทียบหรือแซวนิดหน่อย) ก็อาจทำให้ใครคนหนึ่งเกิดระเบิดขึ้นมาได้ท่ามกลางความแปลกใจของคนรอบข้างว่า “ทำไมแค่นี้ก็ต้องโกรธ?” ทั้งที่สาเหตุของการโกรธหรือการระเบิดนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งหลังสุดเลย แต่เป็นผลมาจากทุกอย่างที่อัดอั้นและสั่งสมมาก่อนหน้า
อะไรที่ชวนให้คนรำคาญมากที่สุด
Nurofen Express (ยาแก้ปวดศีรษะ) เคยสำรวจชาวอังกฤษไว้ในปี 2014 ว่า อะไรที่ทำให้คุณ ‘ปวดหัว’ มากที่สุด 50 อันดับในชีวิตสมัยใหม่ (The 50 Biggest Headaches of Modern Life) (ช่างเป็นการสำรวจที่เหมาะเหม็งกับผลิตภัณฑ์เหลือเกิน) ผมลองอ่านดูแล้วพบว่าพวกเราก็อาจรำคาญหรือปวดหัวในเรื่องที่ไม่ค่อยต่างกันสักเท่าไร คือเรามักรำคาญกับอะไรที่เราควบคุมไม่ได้หรือเหนือความคาดหมาย
แค่อ่านก็น่ารำคาญแล้ว! (ลองนับไปด้วยก็ได้ว่าเรารำคาญอันไหนบ้าง ถ้าเต็ม 50/50 ก็อาจจะใช้ชีวิตลำบากหน่อย)
อันดับที่ 1-10: คอมแฮงค์, โทรขายประกัน, ไวไฟช้า, รถติด, คนจอดรถห่วยจอดจองไว้สองที่, ขนส่งมวลชนมาช้า, เมลขยะ, โทรไปแล้วต้องรอสาย (โดยเฉพาะโทรไปหาหมอ), คนทิ้งขยะออกจากหน้าต่างรถ, คนไม่เปิดไฟเลี้ยว
อันดับที่ 11-20: หลุมบ่อ, เหยียบขี้หมา, เปิดประตูให้แล้วคนไม่ขอบคุณ, ค่าครองชีพสูงขึ้น, เมื่อเห็นผู้ใหญ่ปล่อยให้ลูกทำตัวไม่เหมาะสม เช่น กรี๊ด วิ่งเล่นฯลฯ ในร้านอาหาร, พนักงานขายหยาบคาย, การซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ที่อาจมีขั้นตอนเยอะเกินไป), คนคุยกันขวางทาง, โดนเท
อันดับที่ 21-30: เพื่อนบ้านเสียงดัง, เรียลลิตี้ทีวี, ซ่อมถนน, คนขับคร่อมเลน, ไปรษณีย์ทำของหาย, ศัพท์คอมพิวเตอร์, ลืมพาสเวิร์ด, ภาษี, คนคุยเสียงดังในขนส่งสาธารณะ, คนขี่จักรยานบนฟุตปาธ (ถ้าบ้านเราก็อาจจะมอเตอร์ไซค์ด้วย)
อันดับที่ 31-40: การหาปลายเทปกาว (นึกออกมั้ย ว่าเวลาหาไม่เจอมันจะงุ่นง่านมาก ต้องหมุนแล้วเอานิ้วลองแงะๆ ออกมา), คนดันตัวขึ้นรถไฟก่อนที่จะให้คนอื่นลง, คนเดินช้า, คนคุยในโรงหนัง, ค่ารถไฟแพง, สั่งของออนไลน์แล้วของเสียหายตอนส่งมา, การต่อคิวยาวๆ รอคิดตังค์, คนเคี้ยวหมากฝรั่งเปิดปาก, โดนชาร์จค่าน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มตอนขึ้นเครื่องบิน, แม่ที่โพสท์รูปลูกเยอะเกินไปบนเฟซบุ๊ก
อันดับที่ 41-50: รถติดหลังรถแทรกเตอร์ (หรือรถใหญ่ รถบรรทุก ขนขยะ ฯลฯ), คนขี่จักรยานบนถนน, การจ่ายบิลค่านั่นค่านี่, กล้องตรวจจับความเร็วบนถนน, คนขี่มอเตอร์ไซค์ฉวัดเฉวียน, ไม่มีเศษเงินไว้หยอดเหรียญมิเตอร์จอดรถ (อันนี้บ้านเราอาจจะไม่มี), พวกเกรียนออนไลน์, แฟนนอนกรน, ดนตรีเสียงดัง, คนถามคุณว่า “รายการจะออกอากาศเมื่อไร” (อันหลังสุดนี่ไม่เข้าใจ!)
นับได้กี่ความรำคาญครับ?
การพยายามศึกษาความน่ารำคาญ
Joe Palca และ Flora Lichtman นักข่าววิทยาศาสตร์จาก NPR สำรวจเรื่องวิทยาศาสตร์ของความรำคาญไว้ในหนังสือ Annoying : The Science of What Bug Us พวกเขาเชื่อว่าความรำคาญนั้นแบ่งได้ออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือความรำคาญแบบเฉพาะบุคคล (คือมีแค่บางคนที่รู้สึกรำคาญกับสิ่งนั้นๆ ถ้าดูตามลิสท์ข้างบน อาจจะเป็นพวกเรียลลิตี้ทีีวี ที่บางคนก็ชอบดู แต่บางคนก็รำคาญมาก หรือแม่ที่โพสท์รูปลูกเยอะๆ ที่บางคนก็ไม่ได้ไมนด์) กับความรำคาญแบบถ้วนทั่ว แทบทุกคนรำคาญเหมือนกันหมด เช่นแมลงวันที่บินวนๆ รอบตัว หรือเสียงเล็บขูดกระดานดำ
โจให้สัมภาษณ์กับ APA ว่าจริงๆ การที่ได้รู้ว่าคุณรำคาญอะไรนั้นเปิดเผยนิสัยของคุณ มากกว่าที่จะทำให้เราสนใจในสิ่งที่คุณรำคาญเสียอีก (What annoys you is more revealing about you than about the thing that’s annoying you.) ในการเขียนหนังสือเล่มนี้เขาพยายามแยกว่า ‘ปัจจัยที่ทำให้เรื่องหนึ่งๆ น่ารำคาญ’ คืออะไร และสรุปออกมาได้เป็นหลักการสามข้อ (ซึ่งแต่ละคนคงมี ‘ความเคยชิน’ หรือ ‘ความทนทาน’ ต่อปัจจัยแต่ละข้อไม่เท่ากัน) คือ
Unpleasant: เรื่องที่ชวนให้รำคาญนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ไม่น่าอภิรมย์’ แต่จุดสำคัญคือ ถึงจะไม่น่าอภิรมย์ ก็ไม่ถึงกับเป็นอันตราย (deadly) โจบอกว่า พวกเรามักคิดว่าความน่ารำคาญเป็นเรื่องผิวเผิน
Unpredictable: ถ้าหนีจากความน่ารำคาญนั้นได้ สิ่งนั้นก็อาจไม่น่ารำคาญนัก ต้องมีความรู้สึกประเภทที่ว่า “ฉันกำลังติดกับและก็หนีออกไปจากตรงนี้ไม่ได้” ผสมด้วย
Uncertain: ไม่แน่นอน ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเองรู้สึกรำคาญมากที่สุด เช่น ถ้าสมมติว่าเครื่องบินบอกว่าจะเลทสักสิบนาที เราจะไม่รู้สึกอะไรมากเพราะว่าการรอนั้นมี ‘จุดจบ’ ที่แน่นอน แต่ถ้าสิบนาทีผ่านไปก็แล้ว สิบห้านาทีก็แล้ว ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน แบบนี้ก็จะเริ่มรำคาญมากๆ เพราะว่ามันไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย (ซึ่งปัจจัยแบบนี้ ก็ทำให้เรารำคาญคนที่มาสายโดยไม่บอกว่าจะมาสายกี่นาที หรือรำคาญรถติด เพราะไม่รู้ว่าจะทำให้เราต้องเสียเวลารอกี่นาทีด้วย)
โจเชื่อว่ามนุษย์นั้นมี ‘ความรำคาญ’ ติดตัวมาด้วย เพราะความรำคาญเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นสัญญาณจากวิวัฒนาการที่ช่วยให้เรารอดตาย เช่น กลิ่นที่่น่ารำคาญจริงๆ แล้วอาจเป็นกลิ่นแก๊ซพิษ เสียงที่น่ารำคาญก็อาจสื่อถึงอันตรายที่มากกว่านั้น เขาพูดถึง ‘เสียงเล็บขูดกระดานดำ’ บ่อยครั้ง เพราะเป็นเสียงที่มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าน่ารำคาญสุดๆ ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะว่าเสียงเล็บขูดกระดานดำกับเสียงกรีดร้อง [เช่นเสียงของลิงที่กรีดร้องเมื่อมีศัตรูมา] อาจมี ‘สัญญะทางเสียง’ เหมือนๆ กัน (similar acoustic nature) ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ‘สิ่งที่น่ารำคาญ’ อาจไม่ได้ส่งสัญญาณถึงอันตรายถึงชีวิตอีกแล้ว เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่เราก็ยังมีลักษณะนิสัยเช่นนี้ตกค้างอยู่ในตัวอยู่
ทำไม ‘การได้ยินคนอื่นคุยโทรศัพท์’ จึงทำให้เรารำคาญ
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ผมรู้สึกสนเท่ห์ที่สุดคือการที่ได้ยินเสียงคนอื่นคุยโทรศัพท์แล้วรู้สึกรำคาญ ซึ่งพอลองหาข้อมูลดูแล้วก็พบว่าไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ก็เป็นกันเยอะมากๆ จนมีศัพท์ว่า Halfalogue คือ ‘การได้ยินบทสนทนาเพียงครึ่งเดียว’
กระทั่งก่อนยุคของโทรศัพท์มือถือ มาร์ก ทเวน ก็เคยเขียนเรียงความชื่อ A Telephonic Conversation เพื่อบ่นถึงความรำคาญของการได้ยินคนคุยโทรศัพท์ไว้ในทำนองเดียวกันเป๊ะว่า “คุณได้ยินแต่คำถาม คุณไม่ได้ยินคำตอบ คุณได้ยินคำเชิญ แต่คุณไม่ได้ยินคำขอบคุณ อยู่ดีๆ คุณก็ได้ยินว่าเขาหยุดพูด แล้วจู่ๆ เขาก็พูดต่อในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประโยคที่แล้ว คุณไม่สามารถรู้หัวรู้ก้อยของบทสนทนาได้เลย”
ทำไม Halfalogue จึงน่ารำคาญ และทำไมเราจึงทำเป็นไม่ได้ยินได้ยากเหลือเกิน? นักวิจัยจากมหาวิทยลัย Cornell พบว่าสาเหตุที่เรารำคาญคนคุยโทรศัพท์และได้ยินบทสนทนาเพียงครึ่งเดียวเพราะว่า “เมื่อเราได้รับข้อมูลน้อยเกินไป สมองเราจะต้องทำงานหนัก เพราะเราจะพยายามใช้ข้อมูล (ที่ไม่พอ) นี้ในการคิดคำนวณว่าผู้สนทนาจะพูดอะไรต่อไป” ข้อมูลที่ไมสมบูรณ์ (Information Gap) นี้เองที่ทำให้ใจเราไปพะว้าพะวังกับบทสนทนาของเขาอย่างช่วยไม่ได้
พวกเขาพบว่าเมื่อทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง การได้ยินเสียงคนคุยโทรศัพท์ (ฝ่ายเดียว) นั้นทำให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบสมาธิได้แย่กว่าการสนทนาแบบเห็นหน้า, การฟังปาฐกถา หรือไม่ได้ยินอะไรเลย
ควรทำยังไงกับความรำคาญ
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความรำคาญอาจเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากวิวัฒนาการ และถึงแม้มันจะไม่ได้อันตรายมากนักในยุคปัจจุบัน แต่มันก็อาจสะสมเเป็นปัญหาใหญ่ได้ และความรำคาญเล็กๆ น้อยๆ ยังอาจสื่อถึงปัญหาที่ซุกซ่อนภายในด้วย เช่น ความรำคาญรถติด หรือรำคาญขนส่งสาธารณะ ก็อาจเป็นอาการที่แสดงออกมาในเมืองที่ไม่มีการจัดการดูแลดีพอ เราจึงไม่ควรจะ ‘ละวาง’ ความรำคาญทุกประเภท แต่ควรพิจารณามันอย่างถี่ถ้วนว่าที่เรารำคาญนั้นเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ เป็นปัญหาที่ตัวเรา ที่ตัวคนอื่นรอบๆ หรือที่ระบบ
Michael R. Cunningham นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์บอกว่า ประโยชน์ของความรำคาญก็คือ “มีอยู่เพื่อให้เราพยายามทำอะไรสักอย่างภายในขอบเขตความสามารถของเรา” (Annoyance is there to activate us to do certain things to the extent that we can.) เขาให้คำแนะนำไว้สามอย่างสั้นๆ ว่า เมื่อเจอกับอะไรที่น่ารำคาญว่า
“คุณจงออกไปจากตรงนั้น หรือไม่ก็ทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่รำคาญ หรือไม่อย่างนั้น, ก็เปลี่ยนตัวเองซะ”
(You can leave the environment, you can change the environment, or you can do something inside yourself to change.)
หมายเหตุ การตัดสินใจว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรกับสิ่งที่ทำให้รำคาญนั้น ทำให้ผมคิดถึงบทความในตอนที่แล้วในส่วนของ ‘พลังในการรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้’ (Locus of Control) ในเรื่องปรัชญาแห่งการช่างแม่ง อย่างช่วยไม่ได้ หากยังไม่ได้อ่าน ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
หนังสือ Annoying: The Science of What Bugs Us
https://www.amazon.com/Annoying-Science-What-Bugs-Us/dp/0470638699
Why Overheard Cell Phone Conversations Annoy
https://www.livescience.com/10102-overheard-cell-phone-conversations-annoy.html