วันที่เริ่มต้นธรรมดาๆ และเกือบจะจบลงอย่างธรรมดาๆ ณ ถนน รัชดาฯที่เต็มไปด้วยการสัญจรหนาแน่น รถ BMW วิ่งทะยานมาด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถที่อยู่ด้านหน้าเข้าอย่างจัง ความรุนแรงเพียงพอจะทำให้ขบวนรถทั้งแถวกลายเป็นโดมิโน่จักรกล ส่งแรงต่อๆ กัน ทำให้รถยนต์ถึง 9 คันสะบักสะบอม
โชคดีที่ไม่มีเหตุเสียชีวิตเกิดขึ้น (มีบางรายอาการสาหัส) เจ้าของ BMW ลากสังขารออกมาจากรถ แม้เธอจะไม่เป็นอะไรมาก แต่อาการแทบไม่สมประดีแล้ว ไม่นานคำว่า ‘เน็ตไอดอลและพริตตี้เงินล้าน’ ปรากฏให้เห็นเพียบในทุกช่องทางสื่อสารออนไลน์ แหล่งข่าวต่างรายงานว่าสาวสวยตั้งใจฆ่าตัวตายหนีจากปัญหาจากความเครียด เมายา มีอาการป่วยทางจิต หรือแม้กระทั่งฤทธิ์ยาลดความอ้วน กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เผ็ดร้อนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา (ล่าสุดโฆษกกรมสุขภาพจิตอธิบายว่า ในกรณีผู้ป่วยมีอาการทางจิตจะสามารถขับรถได้หรือไม่นั้น ต้องมาดูรายละเอียดของอาการผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่หากเข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองได้ ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้เช่นกัน)
แม้เน็ตไอดอลสาวจะยังไม่พร้อมให้ปากคำอะไรตอนนี้ แต่คำถามที่น่าสนใจชวนตั้งคำถาม (และกลับมามองตัวเอง)
ทำไมคนเราถึงจุดสติแตก?
คนที่ปกติสุขมีสามัญสำนึกครบถ้วนจะถึงจุดแตกหักทางอารมณ์ได้ไหม หากเราเผชิญหน้ากับจุดเลวร้ายสุดของชีวิต เราพร้อมจะระเบิดมันออกมาเป็นลาวาเดือดๆ ที่กลืนกินชีวิตอื่นๆ ได้หรือเปล่า?
ภูเขาไฟที่มีชีวิต
ใครๆ ก็โกรธได้ทั้งนั้น บางครั้งชีวิตพวกเราเดินหน้าเพราะมีความโกรธเป็นทุนเดิม เราด่าสาปส่งรถเมล์ที่ชอบเบียด 3 เลนรวดราวเจ้าของถนน หรือกลุ่มเด็กมหาลัยห้องข้างๆ ส่งเสียงอึกทึกยามวิการ เมื่อความรู้สึกไม่พอใจได้คืบคลานเข้ามา ส่วนใหญ่พวกเรารู้เท่าทันมัน (และคุณคงไม่เหยียบมิดไมล์รถจิ๋วๆ ของคุณซัดโครมเข้ากับรถเมล์ หรือเตะประตูห้องข้างๆ ราวหนังบู้จอห์น วู)
จำครั้งสุดท้ายได้ไหม ที่คุณเกือบเลือดขึ้นหน้าทำอะไรแบบไม่ยั้งคิด และยอมรับว่า “กูสติแตกไปแล้วว่ะ”
สติแตก (Snapped) เหมือนกิ่งไม้เปราะๆ แห้งๆ ที่มีแรงดัดเพียงพอ ก็ทำให้มันหักกึ่งกลาง พักหลังๆ คำนี้ค่อนข้าง ‘คลิเช่’ ขึ้นทุกที เพราะเรามักใช้เป็นข้ออ้างเมื่อสติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่การอธิบายปรากฏการณ์ทางอารมณ์ของคุณเพียงวลีสั้นๆ เห็นจะเป็นการมองข้ามภูเขาน้ำแข็งส่วนหนาหนักที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรมืดมิด
Douglas Fields นักประสาทวิทยาเชิงชีวภาพ จากสถาบัน National Institutes of Health เป็นอีกคนที่เชื่อว่า การที่ภูเขาไฟทางอารมณ์จะระเบิดออกมาได้ มันใช้แรงผลักดันมากกว่านั้น แม้คุณจะรู้ตัวเองหรือแทบไม่รู้ตัวเลยก็ตาม
ทฤษฎีชุดหนึ่งที่เขาหยิบมาอธิบายภาวะสติแตกนั้น ถูกศึกษาทั้งในเชิงจิตวิทยาและประสาทวิทยาโดยควบคู่กันและเรียบเรียงในหนังสือที่ค่อนข้างโด่งดังในชื่อ Why We Snap: Understanding the Rage Circuit in Your Brain
โดยกระบวนการทางอารมณ์อันซับซ้อนนี้ มี 9 กระบวนทัศน์ที่เชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลกัน ในชื่อว่า LIFEMORTS หรือในอีกชื่อหนึ่งที่เก๋ไก๋ไม่แพ้กันว่า ‘9 เงื่อนไขที่ทำให้คุณสติแตก’
LIFEMORTS 9 ขั้นสู่การสติแตก
L (Life-or-death situation)
สถานการณ์ความเป็นความตายที่อยู่บนเส้นยาแดงผ่าแปดมันเป็นเรื่องเข้าใจได้ ร่างกายคุณจะตอบสนองกับภัยในมุมมองด้านชีววิทยา ร่างกายจะทำให้คุณต้องตัดสินใจเร็วขึ้น อะดรีนาลีนสูบฉีดไปทั่วร่างพร้อมให้ทุกมัดกล้ามเนื้อระเบิดพลังระยะสั้นๆ ออกมา ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ ล้วนมีกลไกนี้ในการตอบสนองเพื่อการมีชีวิตรอด คุณจะป้องกันตัว ยิ่งคุณรู้ว่าคุณจะต้องตายในอีกไม่กี่อึดใจ การแสดงออกถึงความดิ้นรนยังสร้างโอกาสรอดแม้อาจดูริบหรี่อยู่บ้าง
I (Insult)
ไม่มีใครชอบการถูกกดขี่เหยียดหยาม ผู้ชายมักสติแตกและฆ่ากันให้ตายกันไปข้างหนึ่งเพียงแค่การล้อเลียนจากคนแปลกหน้า การใช้ถ้อยคำดูถูกทำให้มนุษย์รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม เป็นรอง บางครั้งก่อให้เกิดการท้าทายและคานซึ่งกันในเชิงอำนาจ ผู้ชายมักมีแนวโน้มสติแตกจากการใช้ถ้อยคำมากที่สุด (Provocative) และนำไปสู่การต่อสู้ด้วยความโกรธเกรี้ยว
F (Family)
หากครอบครัวอยู่ในอันตราย ใครๆ ก็พร้อมสติแตก จำตัวละคร ‘ลุงเลียม นีสัน’ ในภาพยนตร์เรื่อง Taken ได้ไหม เมื่อลูกสาวถูกลักพาตัว ลุงก็สามารถฆ่าคนเป็น 100 ได้ จริงๆ คุณสามารถสติแตกได้ง่ายกว่าที่คิดหากครอบครัวที่ผูกพันตกอยู่ในสภาพแร้นแค้น มีความเป็นความตายเท่ากัน แม้คุณจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นด้วยก็ตาม
เหมือนคุณเดินป่าแล้วเจอลูกหมีน่ารัก สิ่งที่ควรทำคือถอยห่างจากที่นั่นให้มากที่สุด เพราะแม่หมีพร้อมถล่มคนทั้งกองทัพ หากลูกๆ ของมันเกิดอันตราย มนุษย์ก็พร้อมทำอะไรเพื่อครอบครัวเช่นกัน มันเป็นกลไกหนึ่งแห่งการอยู่รอดที่ถ่ายทอดมาจากสายวัฒนาการอันยาวเหยียด เราส่งต่ออัตลักษณ์ยีนสำคัญให้กับทายาท ยิ่งลูกๆ ที่ใกล้ชิดกับคุณมากที่สุดสืบทอดทางสายเลือดโดยตรง กลไกทางธรรมชาติจะทำให้เราพร้อมระเบิดพลังเพื่อปกป้องทายาทหรือกลุ่มคนในสายเลือดที่เกี่ยวพันกัน
E (Environment)
สภาพแวดล้อมและอาณาเขตเป็นสิ่งที่ได้รับการหวงแหน ในบางประเทศอนุญาตให้คุณยิงผู้บุกรุกได้ถึงชีวิต หากเขาล่วงล้ำพื้นที่มาในบ้าน สัตว์หลากหลายสายพันธุ์ปกป้องถิ่นที่อยู่และอาณาเขตของตัวเอง เพราะพื้นที่เหล่านี้คือหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวัน
M (Mate)
เพื่อการเข้าถึงประโยชน์เชิงสืบพันธุ์ มนุษย์พร้อมสติขาดและทำอะไรต่างๆ นาๆ ได้ เพื่อรักษาและพยายามเอาชนะคนที่เขาหมายปอง ความรุนแรงระหว่างเพศหญิงและชาย มักเกิดขึ้นจากความกดดันทางความสัมพันธ์ พัฒนาเป็นปัญหากระทบกระทั่งกันในครอบครัว ความหึงหวง และลงไม้ลงมือ
ผู้ชายที่ฐานะดี การศึกษาดี และสุขภาพจิตดี ยังเผลอใช้กำลังกับคนในครอบครัวได้เมื่อการล้ำเส้นเกิดขึ้น
S (Social Order)
จำตอนที่รถเมล์ปาดซ้ายเข้ามาทีเดียวกิน 3 เลนได้ไหม และคุณก็อยากเปลี่ยนรถญี่ปุ่นมือสองที่ขับอยู่ให้เป็นรถถังเพื่อสั่งสอนให้มันได้รู้สำนึก ความบ้าคลั่งบนท้องถนนส่วนใหญ่ถูกจุดติดขึ้นเมื่อ กฎระเบียบของสังคมถูกท้าทาย
การประท้วงที่เริ่มต้นด้วยความสงบอาจจบลงด้วยการนองเลือด เมื่อจำนวนผู้ประท้วงเพิ่มมากขึ้น และแกนนำไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ หรืออย่างเหตุล่าแม่มดที่ทุกคนรุมกระทืบคนที่ไม่แสดงออกในความจงรักภักดี เนื่องจากความเมินเฉยของเขาที่ไปขัดต่อครรลองทางสังคมอันดีงาม เมื่อพวกเขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมทางความรู้สึก ต้องมีใครสักคนพร้อมลั่นไกในเร็วๆ นี้อย่างสติแตก
R (Resources)
ถ้าคุณถูกโจรกระจอกจี้ที่ปากซอยหน้าบ้าน คุณก็พร้อมจะสู้เพื่อเงินก้อนสุดท้ายตอนสิ้นเดือน เพื่อทรัพยากรที่หวงแหน บางครั้งคุณก็ต้องยอมแลกด้วยชีวิต ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ในสังคมสัตว์พวกมันต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรทางอาหาร แต่ในสังคมมนุษย์ อสังหาริมทรัพย์มีค่าเทียบเคียง ‘อาหาร’ เพราะทรัพย์สินสามารถเปลี่ยนเป็นของมีค่า อาหาร ที่อยู่อาศัย และอาณาเขตได้
T (Tribe)
ปัญหาปัญญาชนยกพวกตีกันเห็นได้บ่อยๆในสังคม ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด ทำไมถึงยอมลงทุนเจ็บเนื้อเจ็บตัว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ใช้สังคมเป็นฐานที่แน่นแฟ้น หากกลุ่มที่พวกเขาสังกัดถูกท้าทายจากสิ่งเร้าภายนอก พวกเขาก็พร้อมตอบโต้ด้วยความโกรธแค้น ผู้คนสร้างกำแพงเพื่อปกป้องพวก และลับคมอาวุธเพื่อจัดการกับคนที่อยู่นอกกำแพง
สงครามจึงมักเกิดขึ้นจาก กลุ่มอำนาจนิยมที่ปลุกเร้าด้วยเจตจำนงของกลุ่ม
S (Stopped)
สุนัขจิ้งจอกพร้อมจะกัดขาตัวเองให้ขาด หากมันถูกกับดักสัตว์ตรึงไว้อยู่กับที่ มนุษย์ก็ไม่ต่างกันนัก เมื่ออิสรภาพเป็นความต้องการของทุกชีวิต เราพร้อมที่จะเสียสละอะไรหลายๆ อย่าง (หนึ่งในนั้นคือสติ) การถูกพรากอิสรภาพก่อให้เกิดการปฏิวัติในหลายรูปแบบ ทั้งสงคราม หรือแม้กระทั่งการสังหารหมู่โดยไร้ความปราณี
แต่ประเด็นใกล้ตัวอย่าง เน็ตช้าเหลือเกิน ติดอยู่ในรถ 3 ชั่วโมงในถนนวิภาวดีวันศุกร์ ก็เป็นสถานการณ์ที่คุณ ‘ติด’ อยู่กับอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ ความเบื่อหน่ายอย่างร้ายกาจทำให้คุณระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างไร้เหตุผล (ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มีเหตุผลของมันอยู่)
Douglas Fields ยืนยันว่า อาการสติแตกของมนุษย์มักอยู่ในกรอบ 9 เงื่อนไขนี้ และบ่อยครั้งที่มันเข้าข่ายมากกว่า 1 ข้อ และนั่นทำให้คุณมีแนวโน้มจะเข้าสู่ด้านมืดได้ง่ายขึ้น หากเงื่อนไขที่อยู่รอบตัวคุณถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา
มันเลยจำเป็นที่คุณต้องรู้จักแตะเบรกหยุดได้ทันเสียก่อน ให้ความสติแตกถือพวงมาลัยแทน สถานการณ์แบบไหนที่คุณรู้สึกง่อนแง่นที่สุด จุดไหนทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อชีวิตตัวเองและของผู้อื่น การให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตดูเหมือนเป็นหน้าที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ซึ่งปกติเรามักอบรมด้วยการห้ามปราม “อย่าทำแบบนั้น อย่าทำแบบนี้” แต่ปราศจากเหตุผลที่ดีแก่พวกเขา แม้คุณจะคิดว่าสมองส่วนหน้า Prefrontal cortex จะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะแนะนำเรื่องการใช้อารมณ์อย่างมีเหตุมีผลไม่ได้
แม้เรากำลังอยู่ในสังคมที่ใช้อารมณ์ราวกับพายุ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะถูกพัดไปด้วยเสมอ
สัญญาณของความโกรธสังเกตได้ และการเข้าใจขีดจำกัดของตัวเอง อาจทำให้คุณไม่พลั้งมือทำให้ใครเจ็บปวดไปตลอดชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Why We Snap: Understanding the Rage Circuit in Your Brain