หากเรามองสายตาที่เรียบเฉยต่อธรรมชาติ เรามักเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องเอาตัวเองรอดก่อนเสมอ เพื่อให้เรายังดำรงอยู่ และสืบสานเผ่าพันธุ์ต่อไป แต่ในความยอกย้อนอันเป็นปริศนานี้เอง เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ทำไมเรากลับยอมเสียสละเพื่อผู้อื่น และอาจถึงขั้นยอม ‘สละชีวิต’ เพื่อให้ชีวิตอื่นมีโอกาสรอด
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (altruism) เป็นอีกปริศนาสำคัญที่ท้าทายเหล่านักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ให้ค้นหาคำตอบมานานนับศตวรรษ หากเราลองมองด้วยกรอบวิวัฒนาการชีวิตแล้ว (evolutionary theory) การเสียสละเพื่อลูกหลานและเครือญาติก็พอจะสมเหตุสมผลอยู่บ้าง เราอาจทำไปเพื่อให้เชื้อสายของเราเองได้มีโอกาสดำเนินชีวิตต่อ คุณอาจปกป้องลูก ปกป้องพ่อแม่ คู่ครอง หรือคนที่ผูกพันราวเชื้อไข แต่ในช่วงขณะหนึ่งอันเป็นช่วงวินาทีสำคัญ ทำไมเราถึงยอมเสียสละชีวิตเพื่อ ‘คนแปลกหน้า’ ที่ไม่มีความเกี่ยวดองทางสายเลือด ความเห็นแก่ผู้อื่นเช่นนี้ปรากฏในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยหรือไม่ และพฤติกรรมอันซับซ้อนนี้ฝังลึกในตัวเราอย่างไร คำสบประมาทว่า ‘ต้องเห็นแก่ตัว ถึงจะเป็นมนุษย์’ จะทำให้เราอยู่รอดได้แท้จริงหรือ?
หากมองกว้างๆ ในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต การเสียสละเพื่อผู้อื่น (altruism) เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในหลายสปีชีส์ มิใช่เพียงในมนุษย์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มักมีโครงสร้างทางสังคมซับซ้อน เช่น ในกลุ่มค้างคาวดูดเลือด (vampire bats) ที่ในแต่ละคืนจะมีค้าวคาวเพียง 10% เท่านั้นสามารถดูดเลือดสำเร็จ แต่ตัวที่เหลือจำเป็นต้องกลับถ้ำโดยไม่มีอะไรตกถึงท้อง ดังนั้นเองค้าวคาวจะมีพฤติกรรมแบ่งปันอาหาร โดยจะยอม “ขย่อน” เลือดส่วนหนึ่ง เพื่อป้อนให้กับอีกตัว ลดความหิวโหยของฝูง หรือนกหลายชนิดมีการช่วยเหลือข้ามสายพันธุ์ ทำหน้าที่ดูแลเฝ้ายามรังให้ในขณะอีกฝ่ายออกหาอาหาร เป็นพันธมิตรกันโดยกลายๆ เพื่อต่อสู้กับนักล่า มีกรณีน่าสนใจของลิง Vervet monkey ในแอฟริกา ที่เมื่อเจอนักล่าเข้ามาในอาณาเขต พวกมันจะร้องส่งเสียงแผดดังเพื่อดึงดูดให้เป็นเป้า เบี่ยงเบนความสนใจของนักล่าไม่ให้ใกล้เคียงพื้นที่หลบภัยของลูกเล็กๆ ในฝูง
นอกจากนั้นเรายังเห็นได้จากโลกของแมลงเช่น มด ต่อ ผึ้ง ปลวก ที่เหล่าลำดับชั้นแรงงาน (workers) จะทุ่มเทตัวเองเพื่อปกป้องอาณาเขต ป้อนอาหารให้ราชินี ดูแลทายาทในรัง และไม่มีทางที่พวกมันจะยอมให้ทายาทหิวโซอดตายเป็นอันขาด
พฤติกรรมที่ซับซ้อนเช่นนี้ แม้แต่นักธรรมชาติวิทยา ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ก็สนอกสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะพฤติกรรมเตือนภัย (alarm call) ที่พบเห็นบ่อยๆ ในกลุ่มลิง ที่แสดงให้เห็นว่า การส่งเสียงร้องดึงดูดความสนใจมาที่ตัวเอง เพื่อให้สมาชิกในฝูงปลอดภัย อาจมีนัยยะสำคัญบางประการต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งหากพฤติกรรมเตือนภัยนี้ทำให้ตัวที่ส่งเสียงตกเป็นเป้าหมายแล้วตายไป พฤติกรรมนี้ก็ควรหายไปหรือไม่ถูกส่งต่อในรุ่นถัดมาๆ นี่อาจแสดงว่าชีวิตในธรรมชาติไม่เพียงต้องการเอาตัวรอดไปวันๆ เท่านั้น แต่สามารถอุ้มชูชีวิตอื่นๆให้รอดพ้นไปด้วยกันได้
ในปี ค.ศ.2012 ไมเคิล โทเมเซลโล (Michael Tomasello) นักจิตวิทยาพัฒนาการของสถาบันมานุษยวิทยาวิวัฒนาการของ Max Planck มีมุมมองที่น่าสนใจว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โน้มเอียงไปยังพฤติกรรมช่วยเหลือจุนเจือมากกว่าเหล่าญาติของเราในสายวิวัฒนาการเสียอีก เรามักทำสิ่งที่เชื่อว่าดีต่อคนอื่น บางครั้งก็ยอมเสียสละสิ่งของทรัพย์สิน ยอมสละเอาความสุขสบายของตัวเองออก แต่ก็มักถูกตอบโต้ว่าที่เราทำไปเช่นนั้น เพราะเป็น selective advantage ที่ในท้ายสุดการยอมเสียสละต่างๆ จะนำมาเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองในภายหลัง แต่ในขณะเดียวกัน ไมเคิล โทเมเซลโล มองว่าการเสียสละมีความหมายลึกซึ้งมากไปกว่านั้น เพราะเรามีโอกาสรอดมากขึ้นหากทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ หรืออาจมีสถานการณ์บังคับที่ต้องช่วยเหลือกัน เรามักจะมีโอกาสรอดที่สูงกว่า เช่น เมื่อเราออกหาอาหารร่วมกัน กินร่วมกัน เรามักจะดูแลถึงเรื่องสวัสดิภาพ (welfare) ของผู้อื่นร่วมด้วย มิใช่เพียงการกินอิ่มท้องแล้วแยกย้าย แต่เพื่อให้มีการทำลักษณะเช่นนี้ร่วมกัน (อย่างน้อยคือการหาอาหาร) เกิดขึ้นอีกในวันถัดๆ ไป
จากกลุ่มมนุษย์เล็กๆ สู่สังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกมนุษย์จึงเพิ่มมากขึ้นกระทั่งกลายเป็นคนแปลกหน้า ไม่ได้รู้จักมักจี่กันมาก่อน จุดนี้เองที่ ไมเคิล โทเมเซลโล ให้นิยามที่ 2 ว่า สิ่งที่พวกเราพัฒนานั้นก้าวข้ามความใกล้ชิดของฝูงและเลือดเนื้อสู่การมีทักษะ collaborative skills (การทำงานร่วมกัน) ที่อาศัยคนจำนวนมากที่ต้องมีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกัน ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้สมองส่วนที่มีอิทธิพลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ได้รับการพัฒนาที่เรียกกว่าเล่นๆ ว่าสมองส่วนสังคม Social Brain ที่กรุยทางสู่การมีรูปแบบทางวัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคม ความเป็นสถาบันสาธารณะ และกลายเป็นโครงสร้างทางความรู้สึกของความรับผิดชอบต่อสังคม
นักวิทยาศาสตร์สายประสาทวิทยาอีกกลุ่มเชื่อว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (altruism) จึงน่าจะมีหลักฐานอยู่ ณ หนึ่งจุดใดในสมองที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นพฤติกรรม พวกเขาเคยเสนองานวิจัยหลายชิ้นว่า สมองส่วน anterior insular cortex (AIC) บริเวณคอร์เทกซ์รับความรู้สึก เป็นจุดสำคัญในการสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น จากการสังเกตผู้ป่วยที่สมองกระทบกระเทือนหลายรายที่เมื่อสมองส่วนนี้ถูกทำลาย ไม่ว่าด้วยโรคหรือสาเหตุอื่นๆ มักทำให้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง
นักประสาทวิทยา อบิเกล มาร์ช (Abigail Marsh) จากมหาวิทยาลัย Georgetown University สนับสนุนทฤษฎีนี้จากการพบว่า ผู้คนที่อาสาบริจาคไตให้กับผู้อื่น เมื่อสำรวจการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบ (EEG) พบว่า สมอง anterior insular cortex จะถูกกระตุ้นเป็นพิเศษหรือหมายความว่า พวกเขาสามารถสัมผัสถึงความหวาดกลัวของผู้อื่นได้ละเอียดถี่ถ้วน จนอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดความวิตกกังวล
ในกรณีตรงกันข้ามของคนที่มีอาการไซโคพาธ (psychopath) ฆาตกรที่โหดเหี้ยม สมองส่วนนี้มักไม่ทำงาน อาจเป็นปัจจัยทำให้พวกเขามองข้ามความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้อื่น ไม่แยแสความกลัวหรือความเจ็บปวด
อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นบุคลิกภาพติดตัวบุคคล ที่เรียกว่า altruistic personality ที่ก่อตัวขึ้นค่อนข้างถาวร และเติบโตไปพร้อมๆ กับบุคลิกอื่นๆ ตลอดชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นคำถามดั้งเดิมที่เกริ่นกันมายาวนานว่า คนที่กล้าเสี่ยงเพื่อคนอื่นจะมีอุปนิสัย altruistic เป็นพื้นฐานหรือไม่? จริงๆ แล้วอุปนิสัยนี้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนนัก แต่รอการประทุเหมือนดินประสิว รอจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ฉับพลันบางอย่างที่เป็น ‘เชื้อไฟ’ จุดให้คุณลุกพรึบเพื่อลุกขึ้นช่วยเหลือคนอื่นในยามจำเป็น
หลายคนแม้จะไม่ได้เป็นนักต่อสู้ นักผจญภัยในสัญญาตญาณ แต่ก็พร้อมช่วยเหลือโดยมองข้ามลำดับชั้นทางสังคมได้ แม้บุคลิก altruistic จะมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นความเป็นฮีโร่ แต่อาศัยตัวมันเองโดดๆ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่มั่นใจได้นัก เพราะหากลองส่งคนเดิมไปพบสถานการณ์ซ้ำๆ ทุกวัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผู้นั้นจะยอมเสี่ยงชีวิตเสมอไป แต่ต้องมีภาวะทางใจในเงื่อนไขที่เหมาะสมด้วย คุณอาจต้องมีความกล้าได้กล้าเสีย (thrill-seeking) ที่เรียกว่าบุคลิกภาพ Type T ควบคู่กับความเห็นอกเห็นใจด้วย เพราะแม้คุณจะเป็นพวกรักความตื่นเต้นกล้าได้กล้าเสีย แต่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณก็มีแนวโน้มจะปล่อยเหตุการณ์เลวร้ายนั้นผ่านพ้นไป หรือแม้กระทั่งคุณมีเมตตาและเห็นความลำบากของมนุษย์มากล้น แต่ไม่กล้าเสี่ยงหรือลงมืออะไรเกิดผลกระทบต่อตัวเอง คุณก็ไม่ขอไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาในท้ายสุด
ดังนั้นแล้ว มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว และธรรมชาติเองไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ต้องเอาชนะถึงจะอยู่รอด ความเห็นอกเห็นใจต่อสรรพสิ่ง เห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ช่วยกอปรให้สังคมเข้มแข็งขึ้น และวิทยาศาสตร์เองก็ล้วนเห็นความจำเป็นอันละเอียดละอ่อนของสรรพชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่มืดหมนที่สุดของชีวิต มนุษย์พร้อมจะช่วยผู้อื่น เพราะนี่คือวิวัฒนาการแห่งความเห็นอกเห็นใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Altruism can be explained by natural selection
Nowak, M. A., Tarnita, C. E. & Wilson, E. O. Nature
Self‐other resonance, its control and prosocial inclinations: Brain–behavior relationships