ถึงแม้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมจะบีบบังคับให้เด็กๆ ไม่กล้าฝันไกล รู้สึกตัวเองไม่คู่ควรต่อโอกาส แต่งานวิจัยเผยว่า การรู้ภาษาที่ 2 ทำให้เด็กๆ เห็นโอกาสของชีวิตที่กว้างขึ้น พัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง และเสริมความมั่นใจอันแน่วแน่ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะน่าน้อยเนื้อต่ำใจเพียงใดก็ไม่อาจปิดกั้นความสว่างไสวจากหัวใจแห่งการเรียนรู้
มีงานวิจัยเป็นร้อยๆ ชิ้นมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กๆ ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ (low-income) มักทำแบบทดสอบความถนัดทางปัญญา (cognitive aptitude test) ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวฐานะดี นี่ยังไม่รวมไปถึงโอกาสในการประกอบอาชีพที่พวกเขารู้สึกถึง ‘ข้อจำกัด’ เกินกว่าเด็กฐานะอื่นๆ
งานวิจัยอีกส่วนตอบคำถามนี้ในเชิงกายภาพ ศึกษาไปถึงโครงสร้างสมอง เผยความเชื่อมโยงระหว่าง ‘สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม’ (socioeconomic status : SES) กับพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในช่วงวัยพัฒนาการเรียนรู้ เด็กที่เกิดในครอบครัวและสังคมยากจนจะมีความหนาของสมองส่วน cortex ซึ่งรับผิดชอบด้านการเรียนรู้น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กๆ ที่เติบโตในครอบครัวที่ฐานะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ อาหารที่มีโภชนาการสูง และคุณภาพการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ รู้จักตัวเอง
พอปัจจัยทุกอย่างรายล้อมเป็นเหตุเป็นผลกันถึงขนาดนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘น้อยเนื้อต่ำใจ’ ต่อความจน ที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เสียเหลือเกิน แต่อย่าเพิ่งใจร้ายบั่นทอนเด็กๆ เร็วเกินไปนัก เพราะหลักฐานจากงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ ชี้ด้านสดใสให้เห็นว่า แม้ฐานะจะเป็นอุปสรรค แต่การเรียนรู้ภาษาที่ 2 (หรือ 3–4 ยิ่งมากยิ่งดี) สามารถกระตุ้นการเข้าถึงโอกาสที่ดีของชีวิตเด็กๆ และไม่รู้สึกถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่ต้องรีบสอนพวกเขาเร็วหน่อยในขณะที่สมองเด็กโหยหาการเรียนรู้
ในวารสาร January in child development ตีพิมพ์งานวิจัยจากสถาบัน Singapore Management University โดยนักวิจัยลงมือศึกษาเด็กวัยเริ่มเรียนรู้ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ระดับ kindergarten ถึง first grade ที่มีอายุระหว่าง 5-7 ปี (เยาวชนในสหรัฐอเมริกาอายุตั้งแต่ 5 ปีเต็ม จะเริ่มเข้าระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบใด ในโรงเรียนหรือที่บ้าน โดยจะเริ่มต้นที่ชั้น kindergarten เป็นเวลาหนึ่งปีก่อนเริ่มเข้าเรียนชั้นปีแรกในระดับประถมศึกษาหรือ first Grade)
งานวิจัยศึกษาเด็กๆ มากถึง 18,000 ราย พวกเขาพบว่า เยาวชนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม (socioeconomic status : SES) ในระดับต่ำหรือกลุ่มที่ครอบครัวมีรายได้น้อยมักทำแบบทดสอบความถนัดทางปัญญาได้ในเกณฑ์ไล่เลี่ยกัน ไม่หวือหวา เว้นแต่เยาวชนที่มีความถนัดภาษาที่ 2 นอกเหนือจากภาษาแม่ พวกเขาทำคะแนนได้มากกว่าเด็กที่พูดได้เพียงภาษาเดียว
การทำคะแนนทดสอบด้านปัญญาอาจเป็นข้อดีส่วนหนึ่ง แต่ผลที่ตามมาน่าสนใจและดูสดใสกว่า เมื่อเด็กๆ แสดงออกถึงพฤติกรรมในห้องเรียนที่ดีขึ้น มีแนวโน้มร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่นๆ และสามารถเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้รวดเร็วกว่า ซึ่งช่วงตั้งไข่ของเด็กๆ เป็นจังหวะเหมาะสมสำหรับผู้ปกครองและครูที่จะสนับสนุนให้พวกเขาเรียนรู้ภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ แต่ต้องเป็นไปอย่างธรรมชาติ ใกล้เคียงกับการใช้จริงในชีวิตประจำวันของเด็กๆ
พูดไทยคำ อังกฤษคำจะเป็นไรไป! หากพวกเขาสนุกที่จะพูดหลายๆ ภาษา
ความงามของการรู้ภาษาที่ 2
แนวคิดนี้ถูกเรียกขานกันในหมู่นักให้การศึกษาคลื่นลูกใหม่ว่า bilingual advantage หรือคุณประโยชน์จากการรู้ทักษะสื่อสารที่มากกว่า 1 ภาษาขึ้นไป อันสามารถเชื่อมโยงทักษะการเรียนรู้อื่นๆ แบบผสมผสานกัน ทั้งความทรงจำ ควบคุมอารมณ์ การมีสมาธิจดจ่อ และการที่เด็กๆ มีความยืดหยุ่นสูง ปรับเปลี่ยนตัวเองไปทำอะไรหลายๆ อย่างได้
ซึ่งที่ผ่านๆ มา งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งไปที่เด็กๆ ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมระดับปานกลางจนถึงสูง (mid to high SES) ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเด็กในกลุ่มสถานะสังคมระดับล่างสักเท่าไหร่ งานชิ้นนี้จึงค่อนข้างบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ไปสำรวจเด็กในกลุ่มในฐานะต่ำบ้าง ซึ่งพวกเขาก็เจอเรื่องน่าตื่นตาของความสามารถทางด้านภาษาที่ช่วยทำลายกรอบการทางการเรียนรู้ที่เหนือกว่าฐานะ
Andree Hartanto นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Singapore Management University กล่าวว่า เขาเก็บข้อมูลจากเด็กเป็นพันๆ คนในสหรัฐอเมริกาที่มีทักษะพูดแบบ bilingual ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลที่ใหญ่และทันสมัย บวกกับการทดสอบเด็กๆ โดยการประเมินของครูผู้สอนเองด้วย
เมื่อตีพิมพ์ออกไป งานวิจัยได้สร้างหลักฐานอันน่าสนใจเพื่อหว่านล้อมให้สถานศึกษาสร้างบรรยากาศในการเรียนภาษาอื่นๆ มากขึ้น ในช่วงอายุ 5–7 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ มีพัฒนาการทางภาษามากที่สุด
งานวิจัยจากรั้ว Harvard แนะนำว่า วัยที่ควรเรียนภาษาที่ 2 มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 5–7 ขวบ เป็นช่วงที่สมองเปิดรับผัสสะทั้ง 6 อย่างกระตือรือร้น ทั้งการมองเห็น ได้ยินเสียง รู้รสชาติ ผิวสัมผัส กลิ่น และการลงมือทำโดยสัญชาตญาณ
ไม่มีเด็กในวัยนี้แคร์เรื่องการเรียนภาษาเพื่อไปทำอะไร พวกเขามองมันเป็น input ของธรรมชาติ และเด็กๆ มีแนวโน้มจะซึมซับกลไกของภาษาจากการถ่ายทอดของมนุษย์ด้วยกันมากกว่า ‘สิ่งของที่ไร้ชีวิต’
เด็กเพียง 10 เดือน พยายามเรียนรู้ภาษาแรกจากการมองเห็นและการประสานสายตากับผู้พูด การจ้องที่สลับไปมา (gaze shifting) ในเด็กวัยเรียนรู้เชื่อมโยงถึงคลังคำศัพท์ที่มีอยู่ในสมอง ดังนั้น อิทธิพลของพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และครูคนแรกๆ มีความสำคัญในการกระตุ้นภาวะการเรียนภาษาอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะเวลาเล่นสนุก ที่เด็กๆ จะมีการเรียนรู้ได้ดีกว่า
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากในงานวิจัยที่ไม่ควรถูกมองข้ามคือ เด็กส่วนใหญ่ที่พูดภาษาที่ 2 ได้ในสหรัฐอเมริกาอาศัยอยู่ในครอบครัวที่เคยมีสถานะผู้อพยพ (immigrant) ซึ่งครอบครัวจะสอนภาษาอังกฤษร่วมกับภาษาพื้นถิ่นด้วย เช่น สเปน อิตาลี จีน เกาหลี ฯลฯ เด็กๆ เหล่านี้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า มีการปรับตัวสูง (ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวด้วยที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอยู่ตลอดเวลา) ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกว่า healthy immigrant effect เป็นการที่ครอบครัวส่งต่อศักยภาพแห่งการดิ้นรนและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไปสู่ลูกหลานของพวกเขาได้
ภาษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดของมนุษย์ เป็นเครื่องมือที่ทำลายข้อจำกัดทางสังคม ทำให้เด็กๆ เห็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ไปต่อ ที่สำคัญคุณไม่ได้เรียนรู้แค่ภาษา แต่อาจเห็นโครงสร้างทางอารยธรรมที่ถักทอเป็นผืนผ้าขนาดมโหฬารซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการสื่อสารในสังคมนั้นๆ
กำแพงภาษาถูกทำลายลงพร้อมๆ กับกำแพงฐานะ จะช้าอยู่ทำไม หากมันทำให้คุณบินไกลกว่าคนอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
งานวิจัย : Bilingualism narrows socioeconomic disparities in executive functions and self-regulatory behaviors during early childhood: Evidence from the early childhood longitudinal study