ประสาทวิทยากำลังเข้าใกล้ข้อค้นพบใหม่ว่าทำไมคุณถึงอารมณ์เสียรุนแรงเกินควบคุม จนทำให้ทุกการตัดสินใจและการแสดงออกของคุณพังทลาย เหมือน ‘ล้มโดมิโน่’ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอารมณ์เสียมีความเชื่อมโยงกับ ‘ความทรงจำอันน่าอับอาย’ (shameful memory) ที่ปัดไม่ออก ตามหลอกหลอนจนถึงปัจจุบัน นี่เป็นครั้งแรกที่พบสัญญาณประสาทที่ถูกกระตุ้นในส่วนความทรงจำและส่วนควบคุมอารมณ์ในเวลาเดียวกัน
ไม่นานมานี้นักประสาทวิทยา Vikaas Sohal จากมหาวิทยาลัย University of California ได้ตีพิมพ์ข้อค้นพบในวารสาร Cell เขาพบความเชื่อมโยงของอารมณ์มนุษย์ โดยเฉพาะอารมณ์ฉุนเฉียวที่มีประสาท 2 ส่วน ‘แอคทีฟ’ พร้อมๆ กันในส่วนของความทรงจำและส่วนควบคุมอารมณ์เชิงลบ หากอยากรู้ว่าใครมีแนวโน้มอาการหนักมากกว่ากันก็พอจะวัดได้จากประสาทส่วนนี้ว่าแอคทีฟมากน้อยแค่ไหน
ที่ผ่านมานักประสาทวิทยาพยายามจะศึกษาโลกแห่งอารมณ์อันกว้างใหญ่ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ โดยส่วนใหญ่ใช้ MRI หรือการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อศึกษากิจกรรมสมองที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่เอาเข้าจริงเทคโนโลยีนี้ที่ว่าไวแล้ว ก็ยังไม่ไวพอกับเซลล์ประสาท ‘นิวรอน’ (Neurons) ที่ยิงกระแสประสาทเป็นร้อยๆครั้งภายในหนึ่งวินาที MRI ที่ว่าแน่ก็ยังจับพลาดไปหลายจังหวะ ดังนั้นอีกทางเลือกที่จะจับกิจกรรมประสาทได้อย่างน่าพึงพอใจคือการ ติดตั้งขั้วอิเล็กโทรด (Implant Electrodes) บนหัวอาสาสมัครจนสามารถวัดกิจกรรมของนิวรอนได้ 1,000 เท่าต่อวินาทีหากเทียบกับ MRI
ไอเดียนี้ดูจะเป็นก้าวที่ท้าทายที่ทำให้เราเข้าใกล้อารมณ์ของมนุษย์มากขึ้น
แน่นอนว่าถึง Implant Electrodes จะแม่นยำ แต่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้ทำการทดลอง เพราะไม่วายต้องขึ้นเตียงผ่าตัดติดตั้งขั้วอิเล็กโทรดที่ไม่ค่อยมีใครยอมหรือนิยมทำกัน อย่างไรก็ตาม Vikaas Sohal ได้ติดตั้งกับกลุ่มผู้ป่วยโรคลมชัก (ซึ่งจำเป็นอยู่แล้วที่ต้องติดตั้งเพื่อจับตาและบันทึกการรักษา) เนื่องจากอิเล็กโทรดสามารถดูกิจกรรมสมองได้ว่าส่วนไหนที่ก่อให้เกิดอาการชักได้
อย่างไรก็ตามทีมวิจัยแจ้งถึงวัตถุประสงค์ชัดเจน ว่าทำเพื่อการศึกษาอารมณ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยทีมวิจัยมีความหวังว่าเทคนิคนี้จะทำให้เราเข้าใกล้อารมณ์มากขึ้นในระดับ deep brain ศึกษาในผู้ป่วยโรคลมชักจำนวน 21 ราย บันทึกผลนานถึง 7-10 วัน จับตาดูสมองของพวกเขา อารมณ์ต่างๆ ที่ถูกกระตุ้น ซึ่งถือว่าติดตั้งเป็นเวลาที่นานทีเดียว
กราฟข้อมูลที่ได้เต็มไปด้วยลายเส้นยึกยือซับซ้อน อิเล็กโทรดแต่ละชิ้นจะส่งข้อมูลสมองพร้อมๆ กัน ภาพที่ได้เหมือนหุบเขาน้อยใหญ่ที่ความสูงของแต่ละกราฟคือกิจกรรมของสมอง
มีจุดสังเกตที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อมีรายงานว่าผู้ป่วยที่รู้สึกอารมณ์เสียมากๆ ในระหว่างวัน มีกราฟสมองสอดคล้องกับกราฟอิเล็คโทรด 2 ตัวที่ยืนยันว่า สมอง 2 ส่วนนี้ ‘สื่อสาร’ กันเป็นเครือข่าย
นั่นคือสมองส่วน ‘ฮิปโปแคมปัส’ hippocampus เป็นสมองที่มีอิทธิพลต่อความทรงจำ และสมองส่วน อะมิกดาลา (amygdala) มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ เมื่อ 2 ส่วนนี้แอคทีฟพร้อมๆ กันอย่างมีนัยยะ เมื่อนำมาวิเคราะห์ดูเป็นวินาที จังหวะ ‘ยูเรก้า’ นี่แหละคือสิ่งที่ทีมค้นหามาตลอด ซึ่งจังหวะนี้มีความเชื่อมโยงของอารมณ์และความทรงจำอันเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
สมอง 2 ส่วนถูกระตุ้นกลายเป็นความรู้สึกเชิงลบ จะมีอัตราส่งกระแสประสาท 13-30 ครั้งต่อวินาทีในช่วงที่อารมณ์บูดบึ้ง และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเมื่ออารมณ์ใกล้ถึงจุดเดือด ในทางตรงกันข้ามเมื่อสมองส่วนนี้ไม่ถูกกระตุ้น อาสาสมัครก็ดูมีอารมณ์ดี
กิจกรรมทางสมองก่อให้เกิดอารมณ์ทั้งดีและร้าย งานวิจัยนี้พบต้นกำเนิดของอารมณ์ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “เราสามารถสร้าง (construct) อารมณ์ได้ไหม ในเมื่อเรารู้ว่าจุดไหนสามารถกระตุ้นเพื่อให้เกิดอารมณ์นั้นๆ คำตอบคือ “เป็นไปได้”
Vikaas Sohal เชื่อว่าในอีกไม่นานประสาทวิทยาจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ งานวิจัยชิ้นนี้ถูกมองว่าเป็นงานวิจัยที่เรียบง่ายและล้ำลึก ถ้าสมองสองส่วนสัมพันธ์กันก่อให้เกิดอารมณ์เสีย เขาอยากให้คุณลองย้อนกลับไปดูว่าคุณระเบิดอารมณ์จากอะไร ความรู้สึกย้ำแย่ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเหตุการณ์บางอย่างมากระทบความรู้สึกคุณใช่หรือไม่ จากนั้นคุณย้อนนึกถึงประสบการณ์ ‘แย่ๆ’ ในความทรงจำ อารมณ์ก็ยิ่งเสียมากกว่าเดิม เพราะเราจดจำประสบการณ์เชิงลบได้แม่นยำอย่างน่าประหลาด และสมองคุณมีความไวพอที่จะตอบสนองมันทันที
ในอนาคต แพทย์อาจสามารถบำบัดบุคคลที่มีอารมณ์รุนแรงให้ช่วยทุเลาลง โดยการกระตุ้นประสาทแบบ deep-brain หรือกระตุ้นด้วยไฟฟ้าบำบัดทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะอารมณ์ โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
“ถ้าสมองส่วนนี้ทำให้คุณอารมณ์บูด ทำไมเราไม่ย้อนกลับกระบวนการนี้ล่ะ” ฟังดูเป็นเรื่องง่าย มีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่มันอาจใช้เวลามากกว่านี้ที่จะริเริ่มทดลองกับมนุษย์จริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
An Amygdala-Hippocampus Subnetwork that Encodes Variation in Human Mood
U.S. scientists discover link between brain activity, mood disorders