“เรายังมีเวลานอนอีกมาก…ในหลุมฝังศพ”
อาจเป็นประโยคคุ้นหูที่ผู้ใหญ่มักเตือนเด็กๆ ที่มัวแต่นอนขี้เกียจสันหลังยาว
แต่ไหนแต่ไรมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ก็ไม่ค่อยให้ราคากับการนอนสักเท่าไหร่ อาณาจักรโรมันไม่ปลื้มการนอนเพราะการนอนเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของจักรวรรดิ ไม่มีแรงงานไปสร้างถนน ไม่มีคนไปทำรางส่งน้ำ และไม่มีไพร่พลจะไปยึดครองอาณาจักรใหม่ๆ พวกเขามักพูดติดปากว่า “Carpe Diem” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Seize the day!” โดยชาวโรมันให้หัวใจแก่การดำรงอยู่กับเวลา ‘กลางวัน’ เมื่อตะวันขึ้นจากขอบฟ้า ทุกคนต้องออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลง
อียิปต์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มองการนอนเหมือนสถานะหนึ่งที่ใกล้เคียงความตาย เป็นการสื่อสารกับวิญญาณหรือภพหน้าผ่านความฝัน และตีความหมายจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในมโนทัศน์ ชาวอียิปต์หวาดกลัวฝันร้าย พวกเขาจึงมักมีสัญลักษณ์เทพ Bes เพื่อต่อกรภูตผีและฝันร้าย การนอนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งมนต์ขลัง
เราจำเป็นต้องนอนด้วยหรือ? จึงเป็นคำถามที่มนุษย์เฝ้าสงสัยมาแต่อดีตกาล ความต้องการนอนมีความสำคัญในระดับเดียวกับการกิน ความกระหายหิว และความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ชีวิตถึง 1 ใน 3 ของพวกเราใช้ไปกับการนอน ในปี 1978 นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกศาสตร์แห่งการนอน Allan Rechtschaffen กล่าวว่า
“หากการนอนไม่ก่ออรรถประโยชน์ใดๆ ต่อสิ่งมีชีวิตแล้ว มันก็คงเป็นวิวัฒนาการอันผิดพลาดที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เคยเกิดขึ้นบนโลก”
จากการค้นพบใหม่ๆ ในช่วง 20 ปีถัดมา (นิทราเวทย์ถือว่าเป็นศาสตร์เกิดใหม่ตีคู่มากับประสาทวิทยา เนื่องจากมันแชร์องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อศึกษาสมองร่วมกัน) พบว่าการนอนเป็นมากกว่าการนอน มันทำงานควบคู่กับร่างกายในหลายปัจจัย ทั้งระบบฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ การเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาท อารมณ์ ความจำ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
แต่ใครเล่าจะมีเวลานอน?
น่าเสียดายที่แม้เราจะมีความรู้เรื่องการนอนเยอะขึ้น แต่เวลาเพื่อการนอนจริงๆ กลับลดลงอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะการถูกกดดันจากความเป็นอยู่ทางสังคม หน้าที่การงาน การนอนให้ได้ 5 -7 ชั่วโมง เป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุ 20 กลางๆ ถึง 30 ย่อมๆ ประสบปัญหาการนอนหลับ พวกเขาพึ่งพา ‘ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant Drugs)’ ร่วมด้วย ความต้องการยาเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากสถิติภายใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากปัญหาการนอน
ล่าสุดจากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Neuroscience นำเสนอความน่าตื่นตาของการนอนอีกครั้ง เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองกัดกินตัวเองเมื่ออยู่ในภาวะอดนอนเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเซลล์ประสาทอย่างถาวร
สมองกินตัวเอง
แน่ล่ะ! คุณมีเหตุผลที่จะนอนมากกว่าเพียงเพื่อพักเอาแรง เพราะสมองใช้การนอนเพื่อปัดกวาดสารพิษที่หลงเหลือจากกิจกรรมทางประสาทที่เกิดขึ้นตลอดวัน หากไม่ได้นอนก็เหมือนคุณโยนไม้กวาดวิเศษทิ้ง หรือไล่แม่บ้านผู้ปรารถนาดีออกไปอย่างน่าเสียดาย ‘ภาวะอดนอน (Sleep deprivation)’ ลดกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘นิวรอน (Neurons)’ และ ‘ไซแนปส์ (Synapse)’ อย่างถาวร แม้คิดจะกลับมานอนเอาภายหลัง ก็ยากจะกู้คืนสภาพให้กลับมาสดใสดั่งเด็กเอ๊าะๆ
นักประสาทวิทยา Michele Bellesi จากมหาวิทยาลัย Marche Polytechnic ในอิตาลี ศึกษาสมองที่ไม่ค่อยได้นอนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะในหนู โดยเซลล์ประสาทก็เหมือนกับเซลล์อื่นๆของร่างกายที่มันจะรีเฟรชตัวเอง ด้วยเซลล์ 2 ประเภท คือ ‘เซลล์เกลีย (Glial cell)’ หรือเซลล์ค้ำจุนระบบประสาท โดยเซลล์พวกนี้จะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อของระบบประสาทส่วนกลาง นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ประสาท ขับถ่ายของเสียออกจากเซลล์ประสาทและเป็นทำนบกั้น (blood brain barrier) ไม่ให้สารเคมีหรือเชื้อโรคบางชนิดเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง
ส่วนอีกเซลล์คือ ‘ไมโครเกลีย เซลล์ (Microglia cell)’ เป็นเซลล์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) ภายในระบบประสาทส่วนกลาง ทุกๆ วันสมองจะทำการกำจัดพิษที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของเรา การนอนจะทำให้กลไกของเซลล์ทำงานต่อครบวงจรต่อเนื่อง แต่เมื่อคุณปฏิเสธที่จะนอนบ่อยครั้ง มันเป็นการขัดขวางกลไกดังกล่าว ทั้งยังจะก่อให้เกิดกระบวนการเชิงลบโดยทำลายเซลล์สมองโดยตรง ไซแนปส์ ถูก ‘เซลล์เกลียล แอสโทรไซติค (Astrocytic glial cell)’ กัดกิน เมื่อสมองไม่ได้รับการพักผ่อน
เปรียบได้ว่าขณะที่คุณหลับใหล แม่บ้านวิเศษจะออกมาปัดกวาดบ้านให้คุณทุกคืน แต่หล่อนขี้อายไม่กล้าเผชิญหน้าจึงทำขณะที่คุณหลับอยู่เท่านั้น ยิ่งคุณไม่หลับ ก็เหมือนเปิดประตูบ้านให้คนแปลกหน้าเข้ามาเปิดตู้เย็นกินอาหารและนอนดูทีวีใช้ไฟบ้านอย่างฉวยโอกาส
เมื่อความก้าวหน้าของประสาทวิทยารุดหน้า ทำให้เรารู้ว่า ‘การนอนเป็นมากกว่าการนอน’ มันเกือบจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งที่ร่างกายคุณต้องการ
อดนอนทำให้คุณเศร้า
อารมณ์ความโศกเศร้าเป็นประสบการณ์พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ใครเล่าที่เศร้าไม่เป็น กระบวนการนอนมีอิทธิพลพื้นฐานควบคุมเกือบทุกผัสสะที่คุณมีต่อโลก รสอาหารในปากเปลี่ยนไป ผิวสัมผัสต่อสิ่งแวดล้อมไม่น่าปรารถนา
ความเชื่อมโยงระหว่างความเศร้ากับอาการนอนไม่หลับซับซ้อนกันจนยุ่งเหยิงไปหมด หลายคนมีปัญหาการนอนหลับเรื้อรังจนสะสมเป็นอาการซึมเศร้า หรือหลายคนมีอาการซึมเศร้ามาก่อนจนรบกวนการนอนหลับ แต่แน่นอนทั้ง 2 กรณีมันเชื่อมโยงกันและส่งอิทธิพลไปมา
‘โรคนอนไม่หลับ หรือหลับยาก (Insomnia)’ พบเห็นได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีหลักฐานว่าคนที่มีอาการ Insomnia เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอาการซึมเศร้าเรื้อรังถึง 10 เท่า มีปัญหาหัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดพลาด ไมเกรน และเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว เพราะความเศร้าและการไม่นอนเป็นมือสังหารที่เก่งกาจพอๆ กัน
สิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ต้องการนอน (แม้แต่ต้นไม้ก็ยังนอน) พวกเรามีนาฬิกาชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาราว 100 ล้านปี ที่รับอิทธิพลจาก ‘ความสว่างและความมืด’ จากดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า Circadian Rhythm โดยเซลล์ประสาทจะทำหน้าที่รับแสงมาสังเคราะห์และกำหนดว่าคุณควรนอนเวลาไหน ซึ่งพบเซลล์นี้ได้ในสมองส่วน Superchiasmatic Nucleus หากสมองส่วนนี้ได้รับการกระทบกระเทือน ถูกทำลาย หรือจากรูปแบบพฤติกรรมที่เราฝืนอยู่บ่อยครั้ง จังหวะนาฬิกาของร่างกายจะสับสนในการตอบสนองต่อเวลา
อย่างที่กล่าวไปด้านบนถึงอิทธิพลที่สมองกัดกินตัวเอง สมองส่วน Superchiasmatic Nucleus มักได้รับความเสียหายเป็นส่วนแรกๆ ส่งอิทธิพลไปยังฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลอารมณ์อีกด้วย
อดนอนทำให้คุณเป็นเป้าหมายของไวรัส
งานวิจัยชิ้นนี้ดูจะทรมานตัวทรมานใจอยู่สักหน่อย ในปี 2003 ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Wisconsin–Madison ทดลองภูมิต้านทานของคนที่นอนปกติและคนที่นอนไม่พอ เพื่อทดสอบว่าร่างกายมนุษย์มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อไวรัสที่คุกคามร่างกายอย่างไร Immune System ยังพร้อมกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่อไปไหม
นักศึกษาที่ร่วมวิจัยได้รับวัคซีน ‘ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus)’ ที่ยังมีไวรัสในสถานะ Inactive ในทุกๆเช้า โดยกลุ่มแรกจะได้รับโอกาสนอนอย่างพอเหมาะ ส่วนอีกกลุ่มจะถูกรบกวนให้ตื่นกลางดึก และจะอนุญาตให้นอนอีกครั้งในคืนถัดไป รูปแบบการนอนของกลุ่มที่ 2 ปั่นป่วนอย่างหนักเป็นเวลาถึง 4 สัปดาห์ (หวังว่าพวกเขาคงได้รับค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อ)
เมื่อสิ้นสุดวิบากกรรมจากการทดลอง นักศึกษาทั้งหมดจะถูกเจาะเลือดเพื่อวิเคราะห์ ‘แอนติบอดี้ (Antibody)’ ในร่างกายว่าตอบสนองต่อไวรัสที่ได้รับทุกวันหรือไม่ พบว่ากลุ่มที่มีความสุขกับการนอนตลอดการทดลอง มีภูมิคุ้มกันร่างกายถึง 97% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อดนอน นอกจากนั้นกลุ่มที่อดนอนยังตกเป็นเป้าโจมตีของไวรัสอื่นๆ นอกจากไวรัสตับอักเสบชนิดเออีกต่างหาก
แม้แต่ในมุมมองวิวัฒนาการเอง สัตว์หลายๆ สปีชีส์ก็เพิ่มทางรอดของตัวเองด้วยการนอน พวกมันหลีกเลี่ยงการถูกกินในช่วงเวลาที่มันตกเป็นเหยื่อมากที่สุด และการนอนเป็นรากฐานของศักยภาพสมองที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในตลอดหลายล้านปี การนอนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง น่าเสียดายที่เรายังไม่สามารถปลดพันธนาการความรู้จากการนอนได้มากนักในช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้
แต่ที่แน่ๆ การนอนไม่เคยทำให้เสียเวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Sleep Loss Promotes Astrocytic Phagocytosis and Microglial Activation in Mouse Cerebral Cortex