ลองคิดดูกึ่งเล่นกึ่งจริง คุณมีเวลาอยู่กับตัวเองในช่วงไหนบ้าง เมื่อทุกเช้าต้องออกไปเจอกระแสธารมนุษย์ที่ไหลบ่าราวเขื่อนแตก คุณย่างก้าวพร้อมๆ กับคนที่มีชะตากรรมคล้ายๆ กันนับแสน เบียดเสียดบนบาทวิถีที่นิ้วหัวแม่เท้าแทบจะเกี่ยวกัน แย่งที่นั่งกับคนเป็นร้อยทั้งในรถตู้และรถไฟฟ้า แถมตอนเที่ยงก็ต้องชิงเก้าอี้ในร้านอาหารก่อนครัวเขาจะปิด การดิ้นรนในระยะประชิดพร้อมกับคนมหาศาลกลับไม่ได้รู้สึกเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ แต่เหมือนถูกเนรเทศให้เผชิญภาวะแย่งชิงทรัพยากรที่ไม่มีวันจบสิ้น
สัดส่วนประชากรต่อพื้นที่สะท้อนความเป็นอยู่ของพวกเราอย่างอ่อนไหว ว่ากันว่าเมืองที่ปิดล้อมคุณไว้ อาจกระตุ้นให้คุณรู้สึกใกล้ประสบการณ์ ‘เฉียดบ้า’ และหากมองย้อนกลับมา พวกเราก็กระทำความพินาศไว้เยอะเพื่อให้แต่ละวันมันผ่านพ้นไป
ถ้าสาธยายมากกว่านี้ก็คงเหมือนลีลาขายตรง เราไม่ได้ชวนคุณมาร่วมธุรกิจซะหน่อย (แต่หากคุณมีข้อเสนอที่ดี เราก็ยินดีฟังนะเออ) เอาเป็นว่าการดิ้นรนในคนหมู่มาก เป็นที่สนใจในเชิงธรรมชาติวิทยาในยุคหนึ่งที่มีความหวาดกลัว ‘ประชากรล้นโลก’ หรือ ‘การระเบิดของประชากร’ (population bomb) มนุษย์ควรถูกควบคุมจำนวนประชากรหรือไม่
และในช่วงเวลานั้นก็มีการหาคำตอบที่น่าทึ่ง (ปนหวาดเสียว) อยู่ไม่น้อย
สวรรค์เบี่ยงของเหล่าฟันแทะ
กลางศตวรรษที่ 20 นักพฤติกรรมสัตว์ John Calhoun ถือเป็นตัวพ่อของศาสตร์พฤติกรรมวิทยา (Ethology) สาขาวิชาหนึ่งของสัตววิทยา บังเกิดความสงสัยว่า จำนวนประชากรส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอย่างไร โดยเรียกใช้อาสาสมัคร (คงเรียกอาสาไม่ได้ เพราะถูกบังคับมาทั้งหมด) คือ ‘เหล่าหนูทดลอง’ ที่ต้องอาศัยในกล่องไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ที่ John Calhoun ให้ชื่อฟังดูรื่นหูว่า ‘ยูโทเปีย’ (Utopia)
หากแต่ไอ้ยูโทเปียนี้เอง ที่พลิกผันเป็น ‘หายนะ’ และกลายเป็นงานวิจัยชิ้นโบว์แดงอันน่าตื่นตะลึงที่ยังคงถูกหยิบยกมาพูดถึงในปัจจุบัน
John Calhoun สร้างยูโทเปียอย่างเรียบง่ายด้วยประชากรหนูรุ่นบุกเบิกชุดหนึ่ง พวกมันอาศัยในกล่องไม้ขนาดใหญ่ ที่มีชั้นซ้อนกันเป็นคอนโด (เหมือนคอนโดมนุษย์เลย) มีพื้นที่ให้สมาชิกหนูจับจองอย่างสะดวกสบาย โดยทีมวิจัยคอยสังเกตการณ์อยู่รอบๆ กล่อง ทั้งบันทึกการหากินของพวกมัน การจับกลุ่มสร้างสังคม และการผสมพันธุ์
คราวนี้เขาอยากทำให้ทุกอย่าง ‘น่าสนใจ’ ขึ้นอีกหน่อย ทีมงาน John Calhoun จึงค่อยๆ เพิ่มสมาชิกหนูในพื้นที่ปิดแห่งนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวแปรควบคุมนิดหน่อย อย่างแสงสว่าง น้ำ และอาหาร หนูยิ่งมาก อะไรๆ ก็ยิ่งไม่เหมือนเดิม บรรยากาศของยูโทเปียค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างสังเกตได้ชัด แม้คุณไม่ได้มีสายตาของนักธรรมชาติวิทยาเลยก็ตาม
ประชากรหนูเริ่มแออัด สังคมหนูบ่มเพาะความเครียดที่เปลี่ยนยูโทเปียเป็น ‘ดิสโทเปีย’ ราวกับฝันร้ายที่ติดตาทีมงานไปตลอดชีวิต พวกหนูๆ เริ่มสูญเสียการควบคุมตัวเอง พวกมันคลั่งและกระหายที่จะแย่งชิงทรัพยากร จนถึงช่วงที่ประชากรอยู่ในจุดพีคที่สุด คอนโดแต่ละชั้นเต็มไปด้วยหนูที่เบียดเสียดอย่างแออัด พวกมันรอของกินจาก ‘จัตุรัสให้อาหาร’ (Feeding squares) อย่างหิวโหย บางตัวที่ไม่ได้รับอาหาร ลงเขี้ยวใส่หนูข้างเคียง หรือกินเพื่อนๆ มันเป็นอาหารแทน บรรดาแม่ละทิ้งหน้าที่เลี้ยงลูก บ้างเลยเถิดกินลูกตัวเองก็มี บางตัวเลือกที่จะไม่สุงสิงกับสังคมวิปลาสนี้ ปลีกวิเวกรอความตายอย่างเดียวดาย
งานวิจัยนี้จึงเป็นการจำลองฝันร้ายอันน่าหวาดกลัวของสิ่งมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนในสภาพแออัดอย่างเห็นภาพที่สุด
หากคุณไม่ใช่คนขี้วิตกจริตและอยากศึกษาเพิ่มเติม เราขอเชิญให้คุณดูงานวิจัยชิ้นนี้ในรูปแบบวีดิทัศน์
John Calhoun เขียนการค้นพบของเขาเองในนิตยสาร Scientific American และวารสารวิชาการ Journal of Social History เรียกเสียงฮือฮาจากประชาคมโลกอย่างมาก หลายคนช็อกกับเรื่องราวที่ได้อ่าน ได้เห็น และได้ยิน กลายเป็นสร้างภาวะตื่นตระหนกต่อวิกฤตประชากรล้นโลกอย่างย่อมๆ ผู้คนจินตนาการถึงโลกล่มสลายที่เต็มไปด้วยประชากร จนนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์หลายคน นำงานวิจัยยูโทเปียหนูของ John Calhoun ไปเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน Soylent Green และนิยายภาพชุด 2000AD
นักวิชาการจากแวดวงต่างๆ จึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยชิ้นนี้ตามคาดว่า “เฮ้ย! ใจเย็น คุณเอาหนูไปเทียบกับมนุษย์ไม่ได้ หนูก็ส่วนหนู คนก็ส่วนคนสิ เราไม่ได้ตัดสินใจเหมือนหนูซะหน่อย” และนักวิชาการร่วมสมัยอย่าง Inglis-Arkell มีความเห็นว่า ที่หนูแสดงออกอย่างหายนะขนาดนั้น มาจากการที่พวกมันถูกจำกัดบริเวณ ทำให้หนูกลุ่มก้าวร้าวเข้าควบคุมพื้นที่หนูที่อ่อนแอกว่า
ส่วนนักประวัติศาสตร์ Edmund Ramsden มีความเห็นว่า แม้หนูจะทนทุกข์ทรมานต่อจำนวนประชากรก็จริง แต่มนุษย์จะสามารถผ่านพ้นไปได้ เราไม่ได้ก้าวร้าวขึ้นตามความผันแปรของจำนวนประชากร แต่เราอาจก้าวร้าว เพราะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ ‘มากเกินไป’ (excessive social interaction)
ทฤษฎีใหม่ มาตอบของเก่า
แม้งานของ John Calhoun จะน่าตื่นตามากในแง่เรียกความสนใจ แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนนัก ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตถึงคลั่งได้ขนาดนั้นจากปัจจัยความหนาแน่นประชากร ครึ่งศตวรรษผ่านไป ประชากรโลกกำลังจะทะยานสูงถึง 2 เท่า จากการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกปี 2050 พบว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 38% จาก 6.9 พันล้านคน เป็น 9.6 พันล้านคน โดยประชากรจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย 9 ปี ประชากรอายุ 15-64 ปีจะเพิ่มขึ้น 33% ในขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 181% ดังนั้น หากพิจารณาแนวโน้มดังนี้ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย สังคมโลกจะมีหน้าตาเหมือน ‘ยูโทเปียหนู’ หรือเปล่า?
นักวิชาการรุ่นใหม่หยิบทฤษฎี Life History Theory มาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว มีคำกล่าวพอสังเขปว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความหนาแน่นทางประชากรต่ำ มักมีแนวโน้มที่วิถีชีวิตของพวกมันจะใช้ ‘กลยุทธ์เร็ว’ (Fast Strategy) คือ พวกมันจะเน้นการสืบพันธุ์ที่รวดเร็ว เพิ่มจำนวนทายาทให้มากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก เพราะทุกอย่างมีกินมีใช้อย่างเหลือเฝือ ไม่ต้องมาแก่งแย่งกัน อาจจะกล่าวได้ว่า เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ (quantity over quality) จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและการแข่งขันต่ำ สิ่งมีชีวิตจึงเข้าถึงทรัพยากรเต็มที่ ทายาทมีโอกาสรอดสูง
แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เมื่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ คลาคล่ำไปด้วยสมาชิกร้อยพ่อพันแม่ สิ่งมีชีวิตจะแข่งขันสูงเพื่อเข้าถึงทรัพยากรและอาณาเขต ดังนั้นเพื่อที่จะให้ได้มา สิ่งมีชีวิตจึงใช้เวลามากขึ้นและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่รอด โดยส่วนหนึ่งคือ การขยายพันธุ์จะช้าลง ลูกๆ ที่ออกมาต้องเผชิญภาวะแข่งขัน พ่อแม่จึงอุทิศเวลาและพลังงานมากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูลูก วางแผนมากกว่าการทำเพิ่ม ซึ่งเรียกว่า ‘กลยุทธ์ช้า’ (Slow strategy) หรือ คุณภาพมาก่อนปริมาณ (quality over quantity) ภายใต้นิยามของทฤษฎี Life History Theory
นักวิจัย จึงลองทดสอบทฤษฎีนี้ในการวิเคราะห์จำนวนประชากรทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา และพบว่าวิถีชีวิตผู้คนมีแนวโน้มเป็นไปตามเช่นนั้นจริง โดยพื้นที่ประชากรหนาแน่น ผู้คนมักมีลูกช้า (กลยุทธ์ Slow Strategy) โดยวางแผนชีวิตไว้มาก เลือกอยู่ก่อนแต่ง มีลูกคนเดียว หรือไม่มีเลย ให้ความสำคัญกับการศึกษา นักวิจัยกล่าวว่าปัจจัยเรื่องโรคระบาดและการตายที่คาดเดาไม่ได้ก็มีส่วนเช่นกัน
กลับมาที่คำถามว่า สังคมจะบ้าหรือล่มสลายเหมือนงานทดลอง ‘ยูโทเปียหนู’ ของ John Calhoun ที่นำเสนอภาพอันน่ากลัวเช่นนั้นไหม แม้คุณอาจจะยอมรับว่า บ้างครั้งเราก็ออกจะคลั่งอยู่บ้าง แต่อาจไม่นองเลือดเหมือนเหล่าสัตว์ฟันแทะเช่นนั้นหรอก
มนุษย์จะให้เวลากับการพัฒนาศักยภาพในการดิ้นรนที่มากขึ้น โดยไม่ได้ยืนอยู่บนฐานความรุนแรงเสมอไป เราจะเชื่อมั่นในการวางแผน พยายามเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น และรอคอยคู่ครองที่นานกว่าเดิม ซึ่งตามมาด้วยอัตราการอยู่เป็นโสด ทดลองอยู่ก่อนแต่ง มีลูกน้อยคน แต่ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างให้แบบหน้ามืดตามัว เพื่อปลูกฝังให้ทายาทสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
แต่ความเครียดเรื้อรังจะมาเป็นปัจจัยที่บั่นทอนสุขภาวะ แม้เราจะฆ่ากันตายจากอิทธิพลของสงครามชิงทรัพยากรที่น้อยลงมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่อัตราการฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้นสวนทางมากถึง 800,000 คนต่อปี จากการรายงานขององค์กรอนามัยโลก WHO
เมื่อคนกำลังล้นโลก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจผลกระทบทางจิตของผู้คนภายใต้การบีบคั้นจากทุกด้าน
แต่เราเชื่อว่า มนุษย์จะไม่นำตัวเองไปอยู่สุดขอบโลกขนาดนั้น เรายังมีเครื่องมืออย่างเทคโนโลยีและการร่วมมือของผู้คนที่ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นวิกฤตที่ปราศจากทางออก
ถึงคุณจะต้องรอคิวรถตู้หน้าจตุจักรยาวเป็นกิโลๆ แต่ก็ยังไม่มีใครคว้าเอาร่มมาแทงกันเพื่อชิงที่นั่งอยู่ดี (แม้จะมีคนคิด แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทำ)
ถึงเราจะบ้า แต่โชคดีที่เรารู้ ‘ลิมิต’ ของตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
The crowded life is a slow life: Population density and life history strategy