เกลียดวิทย์ฯ ตั้งแต่เด็ก? ไม่ต้องแปลกใจ เพราะวิชาวิทยาศาสตร์มักสอนคุณแบบผิดๆ เสมอ และเป็นไปได้ไหมที่การเรียนวิทยาศาสตร์จะช่วยปลุกหัวใจการเป็นนักทดลองของเด็กๆ โดย ดร.โก้ ‘พงศกร สายเพ็ชร์’
วิทยาศาสตร์ทำให้เด็กหัวเราะได้
และมันจะจุดประกายความอัศจรรย์ใจของพวกเขา
จำบรรยากาศการเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นประถมของคุณได้ไหม แม้คุณจะมีแววตาแห่งความใคร่รู้ในทุกอณูสัมผัส โลกช่างน่าค้นหา ธรรมชาติช่างวิเศษ จักรวาลนู่นล่ะ! มีอะไรอีกที่เรายังไม่รู้ วิทยาศาสตร์จะสามารถหาคำตอบให้กับหัวใจดวงเล็กๆของคุณได้อย่างไร?
แต่หลังจากนั้น คุณก็ถูกกวาดต้อนไปยังห้องเรียนแคบๆ ด้วยตำรา 1 เล่ม กระดานดำและครูวิทยาศาสตร์หน้าชั้นเรียน
“พืชใบเลี้ยงเดี่ยวต่างจากพืชใบเลี้ยงคู่อย่างไร”
อยากรู้ก็เปิดไปหน้าถัดไปสิ หนังสือบอกไว้หมดแล้ว!
กลายเป็นว่า เราเรียนวิทยาศาสตร์ทุกอย่างจากในตำรา หน้าที่ของคุณคือการท่องจำ ใครจำได้มากกว่าก็ตอบข้อสอบได้ โดยเขาอาจจะไม่เคยแยกแยะพืชใบเลี้ยงเดี่ยวหรือพืชใบเลี้ยงคู่ได้เลยด้วยซ้ำทั้งชีวิต นอกจากภาพประกอบในหนังสือเรียน
เด็กๆ ถูกปิดกั้นการเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด 4 – 7 ขวบ ทำไมการเรียนวิทยาศาสตร์ไทยภายใต้ระบบการศึกษาถึงไม่สร้างแรงบันดาลใจเลย? กลายเป็นว่าพวกเราค่อยๆ หันหลังให้กับวิทยาศาสตร์ทีละน้อยในตลอดช่วงอายุขัยของพวกเรา
“มันสอนผิดครับ ถ้าเด็กส่วนใหญ่เรียนวิทยาศาสตร์ดีๆ
ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ถูกหลอกง่ายๆ”
คำพูดของชายที่เป็นมิตร เด็กๆ เรียกเขาว่า พ่อโก้ อย่างสนิทสนม และมักถูกรบเร้าให้หยิบนู้นมาทดลองนี่อย่างไม่มีเบื่อ
The MATTER ร่วมสังเกตการณ์วิชาวิทยาศาสตร์ในแบบฉบับของ ดร.โก้ พงศกร สายเพ็ชร์ กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม ซึ่งเด็กๆ เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยบรรยากาศอันเป็นกันเอง สบายๆ จะนอนหรือนั่งอย่างไรก็ได้ไม่มีใครว่า เสียงหัวเราะดังลั่นห้องจนคุณคิดว่าพวกเขาคงเล่นอะไรสนุกๆ ตามประสาเด็ก
แต่เปล่าเลย! พวกเขากำลังเรียนเรื่อง ‘แรงดันและอุณหภูมิ’ อยู่ต่างหาก ดร.โก้ ทำการทดลองให้เด็กเห็นกับตาตัวเอง โดยปราศจากตำราหรือคู่มือการสอน ดูเหมือนเป็นการ ‘เล่นกล’ มากกว่าการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ที่คุณคุ้นเคย ซึ่งเด็กๆ ก็ดูจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ในสิ่งที่เห็น พวกเขาท้าทายดร.โก้ ตลอดเวลาอย่างสุภาพและใคร่รู้ ซึ่งในฐานะผู้สอนเองก็ไม่ยอมเฉลยอะไรทันที เป็นการชิงไหวชิงพริบเล็กๆ ระหว่างนักเรียนและครู
“ผมจะหลอกเด็กเยอะมาก ใช้พวกกลต่างๆ ภาพลวงตาต่างๆ พยายามหลอกพวกเขา มันคล้ายๆ วัคซีน เมื่อโดนบ่อยๆ เด็กก็จะมองว่า “เอ้อ จริงหรอ?” เพราะสิ่งสำคัญคือ คนส่วนใหญ่พอโตขึ้นจะถูกหลอกง่าย เราเห็นข้อมูลต่างๆ ขายนู่นขายนี่ในอินเทอร์เน็ต ข้อมูลปลอมเยอะแยะไปหมด เราจะรู้อย่างไรว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งตอนจบจะมารอให้ใครมาพิสูจน์มันก็สายไปแล้ว เราต้องพิจารณาเองด้วย มองมันเหมือนกับปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์ แล้วค่อยๆ หาหลักฐานต่างๆมาประกอบ เด็กๆต้องใช้ตรรกะเป็น”
ดร.โก้ ถือว่าเป็นนักฟิสิกส์หัวก้าวหน้า จบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย California Institute of Technology (CalTech) ซึ่งมีศิษย์เก่าระดับรางวัลโนเบลมากมาย อย่าง นักเคมี Edwin McMillan หรือ บิดาแห่งซิลิคอนวัลเลย์ William Shockley ผู้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ หรือนักวิทย์ฯ สายป็อบหน่อย อย่าง Kip Thorne นักฟิสิกส์ทฤษฎี ที่งานวิจัยชุดหลังๆ ถูกพัฒนาเป็นไอเดียตั้งต้นในภาพยนตร์ Interstellar
และจบปริญญาเอก ด้าน Biomedical Physics จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส University of California, Los Angeles (UCLA) เป็นมหาวิทยาลัยระบบไอวีลีคของรัฐบาล UCLA ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เลือกนักศึกษาที่ “เก่งที่สุด” ตามข้อมูลจาก U.S. News & World Report.
“ผมเร่งเรียนจบดร. ตอนอายุ 25 ปี ผมก็เริ่มทำงาน แต่รู้สึกว่างานที่ทำมันก็ไม่ค่อยตรงจริตสักเท่าไหร่ แล้วในที่สุดผมก็ไม่ได้เป็นนักวิจัย เพราะนักวิจัยมันต้องวิ่งหาทุน หาอะไรอีกมากมาย น่าเบื่อมากเลย ผมเลยหันมาทำธุรกิจ
“แต่ทำธุรกิจไปสักพักกลับรู้สึกว่าประโยชน์ที่เราจะได้มากกว่า คือ ‘เล่นกับเด็ก’ ผมเคยสอนระดับเด็กโต แล้วพบว่าเด็กที่มาถึงมหาวิทยาลัยเกินครึ่งนี่เหนื่อยล้าแล้ว ไม่อยากเรียน มีอย่างอื่นต้องทำหมด ความกระตือรือร้นมันหายไป
“เลยคิดว่าลองมากระตุ้นเด็กๆ ระดับประถมดูบ้างดีกว่าไหม ทำทุกอย่างรอบๆ ตัวก่อน เผยแพร่ บอกชาวบ้านว่ามันมีทางเลือกทางอื่นด้วยนะ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น พ่อแม่ คุณครู ต้องกระตือรือร้นเองด้วย แล้วนำไปประยุกต์ใช้” ดร.โก้ เล่าให้เราฟังถึงที่มาของห้องเรียนเล็กๆ นี้
อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ขนมาทำการทดลอง ดูเหมือน ‘กองขยะ’ มากกว่าหลอดทดลองหรือบีกเกอร์ขนาดมาตรฐาน ประเมินด้วยสายตาแล้วสนนราคาไม่น่าจะถึง 200 บาท (ไม่รวมเตาแก๊สและเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดอ่ะนะ) ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมีเนียม อ่างน้ำ ต่างเป็นของเหลือใช้ที่บ้านใครก็มี (ขวดนมถั่วเหลืองยังมีถั่วติดอยู่เลยด้วยซ้ำ) แต่เด็กๆ กลับมองข้ามรูปลักษณ์ขี้เหร่เหล่านี้ เพราะพวกเขากำลังลุ้นว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์อะไรที่ตื่นตามากกว่า
“ใช่ครับ ขยะในบ้านนี่ก็เยอะเลย ผมพยายามทำกิจกรรมพวกนี้ แล้วอัพโหลดให้คนอื่นได้ดูด้วย แบบให้คุณพ่อ คุณแม่ คุณครูช่วยกันดูแล้วนำไปประยุกต์ เพราะฉะนั้นผมก็เลยพยายามหาอุปกรณ์ใกล้ตัว หรือถ้าซื้อได้ก็มีราคาไม่แพง
“การเข้าใจสิ่งรอบตัวมันก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายอะไรหรอก มันอยู่ที่ ‘คนเรียน’ มากกว่าอุปกรณ์ ก็เลยพยายามทำออกมาให้ใครๆ ก็ทำได้”
เสียงตูมตามและไฟวูบวาบเกิดเรียกเสียงโห่ร้องของเด็กๆ เมื่อ ดร.โก้ นำกระป๋องน้ำที่ต้มจนเดือดไปแช่ในน้ำอุณหภูมิที่ต่างกันอย่างกะทันหัน หรือเปลวไฟในขวดพลาสติกที่ชโลมด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล เด็กๆ เริ่มแสดงความคิดเห็นด้วยสมมติฐานต่างๆอย่างออกรส
“หากเราใช้ขวดทรงอื่นล่ะ”
“ถ้าน้ำร้อนกว่านี้จะเป็นอย่างไร”
“ถ้าเราใช้แอลกอฮอล์มากกว่านี้ผลจะต่างกันไหม”
มันคือคำถามแบบ ‘What If’ จากปากของเด็กๆ เอง ซึ่งคุณมักไม่เคยได้ยินในวิชาวิทยาศาสตร์ที่ใช้ตำราเป็นผู้สอน เพราะหนังสือเรียนตอบคำถามเหล่านี้กลับไม่ได้!
“ผมพยายามหาการทดลองที่มันน่าจะตื่นเต้นด้วย เพราะว่าเราชอบความตื่นเต้นกันทุกคน และปรากฏการณ์นี้มันสามารถเอาของมาแสดงได้ มันมีเสียง มีไฟ เป็นเรื่องความดันอากาศ อย่างเมื่อกี้ที่เราลองต้มน้ำ แล้วก็ทำให้ไอน้ำมันเย็นเร็วๆ แล้วกระป๋องมันหด แล้วเด็กๆ เห็นอะไรที่มันเป็นแบบนี้ อย่างระเบิดบ้าง (ระเบิดเล็กๆ) มีไฟ มีเสียง พวกเขาก็จะชอบ”
เด็กๆจดบันทึกการทดลองในสมุดเล็กๆ ด้วยลายมือยุกยิก แต่ก็ละเอียดยิบพอตัว ทำไมเราถึงไม่เห็นแบบนี้ในระบบการศึกษาภาคบังคับอื่นๆบ้าง โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ ดร.โก้ บอกกับเราว่า
“มันจะเรียนรู้ได้ ก็ต่อเมื่อคิดได้เองก่อน ทำอะไรเองได้ แต่สิ่งที่เราเรียนกันที่ประเทศไทย เป็นการทำลายให้คนที่ยังมีศักยภาพในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ให้หายไปเป็นล้านคน ทำลายเด็กๆ เหล่านั้นไปเลย กลายเป็นว่าคนพอโตขึ้นคนในประเทศเกลียดวิทยาศาสตร์ เกลียดคณิตศาสตร์ ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรเกลียด มันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติพัฒนาของเจ๋งๆ ออกมา
“แต่การเรียนวิทยาศาสตร์บ้านเรา คือจำมาแล้วตอบแข่งกัน แล้วก็แก้สมการยากๆ โดยที่พื้นฐานยังไม่ดี คนผ่านมันก็ผ่านได้ คนสอบตกก็เกลียดไปเลย ไม่มีใครซาบซึ้งวิทยาศาสตร์แล้วก็ลืมไปเสียง่าย แทนที่จะเข้าใจอะไรลึกซึ้ง เห็นความคล้องจองและความสวยงามรายรอบตัว ผมว่ามันเสียเวลาในชีวิตของพวกเขาและเสียโอกาสด้วย”
พอเด็กไปเรียนมัธยมปลาย ก็ต้องเลือกว่าจะเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ ทั้งที่บางคนเรียนสายศิลป์ไปแต่ก็อาจจะชอบวิทยาศาสตร์ การที่เราถูกกรอบของการศึกษากำหนด มันทำให้เด็กต้องทุกข์ทรมาน เขาให้ความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“เมื่อก่อนมันอาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่เขาทำแบบนี้ แต่ผลร้ายมันเยอะกว่า ถ้าเปลี่ยนได้ก็ควรจะเปลี่ยน การศึกษาทั้งหมดที่เจ๊ง มันเริ่มจากระดับสูงไล่ลงมา อย่างการคัดเลือกเข้าเรียนต่อ ถ้าข้อสอบมันไม่ได้เรื่อง เด็กมันก็ต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อตอบคำถามที่ยากเกิน มันก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 18 จนตอนนี้อนุบาลก็มีการติวเข้า ป.1 ขนาดนั้นเลย
“มันแย่ไปหมด แต่ว่าการที่ไปเลือกสายศิลป์ สายวิทย์มันไม่ค่อยดีนะ มันอาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่างในอดีต เพราะคนคงไม่ตั้งใจทำอะไรให้มันห่วย แต่ว่าตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว วิธีการสอน หลักสูตรมันล้าหลัง หลักสูตรของเรามันเพิ่มอย่างเดียว ไม่ได้ลด ถ้าผมมีอำนาจ จะลดลงเลยครึ่งหนึ่ง เอาพื้นฐานเยอะๆ แล้วก็ทำซ้ำพื้นฐานจนเข้าใจลึกซึ้ง หวังว่าเด็กจะไม่เกลียดการเรียนแบบนี้ พอเขารู้หลักพื้นฐานเขาก็จะสามารถไปเพิ่มเติมเองได้”
วิชาวิทยาศาสตร์ของ ดร.โก้ ดูจะเลยเวลาทุกครั้งเพราะเด็กรบเร้าให้ทดลองนู้นนี่จนต้อง ‘Improvise’ การสอนอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับความใคร่รู้ของเด็กๆ ยอมรับว่าการเรียนการสอนแบบนี้ครูผู้สอนต้องมีความพร้อมสูงมาก
“วิทยาศาสตร์ในนิยามของผมเป็นกระบวนการในการเข้าใจอะไรก็ตาม โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ พยายามอธิบาย พยายามเดา แล้วทดลองด้วยตัวเอง พอมนุษยชาติเริ่มใช้ปัญญา เริ่มใช้วิทยาศาสตร์ มันจะเติบโตเร็วมาก”
ความน่าสนใจในการสอนวิทยาศาสตร์ของพ่อโก้ถูกถ่ายทอดลงในโลกออนไลน์มากมาย เหมือนเป็นคู่มือสำหรับพ่อแม่หรือครูมือใหม่ ในการพึ่งพาตัวเอง เพราะหัวใจของการเรียนยุคใหม่ ผู้สอนต้องพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าก่อนเสมอ