การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองเป็นความพยายามของแพทย์ทั่วโลกมานับร้อยๆ ปี เทคนิคนี้ค้นพบครั้งแรกในราวปี ค.ศ. 1800
Luigi Galvani แพทย์ชาวอิตาลี เคยใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ Mood disorder แล้วประสบความสำเร็จ แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ องค์ความรู้จึงเลือนหาย และเต็มไปด้วยอันตรายในการทดลอง เพราะการเลือกกระแสไฟฟ้าที่กำลังพอเหมาะ ทิศทางการไหลของไฟฟ้า และตำแหน่งสมองที่ต้องการกระตุ้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด
จนกระทั่ง 12 ปีผ่านไป เทคนิคการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกกลับมาบูมอีกครั้ง เริ่มมีวิจัยอย่างเป็นระบบในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ จนกลายเป็นเทคนิคหนึ่งที่วงการวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันให้ความสำคัญ เพราะเทคโนโลยีอุปกรณ์ปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ใช้มีความแม่นยำ และแพทย์เข้าใจกลไกการทำงานของสมองมากขึ้น เป็นการใช้ไฟฟ้าในการรักษาแบบไม่รุกราน (non-invasive) ที่ดีกว่าการผ่าตัด
‘การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลก’ (Transcranial Direct Current Stimulation หรือ TDCS) จึงเป็นก้าวสำคัญของประสาทวิทยา โดยหลายงานวิจัยค้นพบว่าสามารถเพิ่มศักยภาพความทรงจำ และลดอาการซึมเศร้าบางประเภทได้
แต่ความก้าวร้าวที่อยู่ในตัวของมนุษย์ สามารถรักษาด้วยหลักการเดียวกันนี้ได้ไหม?
คราวนี้เองที่นักประสาทวิทยาจะก้าวไปอีกขั้นกับการทดลองที่สร้างพื้นที่ถกเถียงทั้งด้านเทคนิคและจริยธรรม เมื่อการทดลองกระตุ้นไฟฟ้าในสมองเพื่อลดความก้าวร้าวจะเริ่มทำใน ‘นักโทษ’ ของประเทศสเปนเป็นกลุ่มแรกของโลก
หลักการ TDCS ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง โดยนักวิจัย Andrés Molero-Chamizo จากมหาวิทยาลัย University of Huelva เพื่อศึกษาการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อลดความก้าวร้าวให้ลดลง ซึ่งคาดว่าหากการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลเชิงบวก จะสามารถลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำ สร้างความเรียบร้อยในการบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มทดลองที่เรือนจำ Huelva ซึ่งมักมีเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง
แต่งานวิจัยไม่เพียงหวังผลแค่ความสงบในเรือนจำ แต่ถ้าเทคนิคเดียวกันนี้ สามารถลดความก้าวร้าว ‘นอกคุก’ ได้ล่ะ? ซึ่งการใช้กระแสไฟฟ้า TDCS นั้นมีราคาถูกกว่าหลายเท่าหากเทียบกับการใช้ยา หรือการปรับฮอร์โมน
อาสาสมัครกลุ่มแรก
เบื้องต้นในงานวิจัยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นนักโทษในเรือนจำ ที่ต้องคดีรุนแรงจำนวน 12 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา การทดลองนี้จะติดขั้วอิเล็กโทรด 2 ตัวบริเวณหน้าผาก จากนั้นจะปล่อยกระแสไฟฟ้า TDCS เป็นเวลา 15 นาที ทำติดต่อกัน 3 วัน จากนั้นจะมีการสำรวจอารมณ์ของนักโทษด้วยชุดคำตามต่างๆ เช่น “คุณเคยรู้สึกอยากชกคนโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่” “รู้สึกอยากระเบิดอารมณ์ออกมาบ้างหรือเปล่า”
ทีมวิจัยอ้างว่า นักโทษทั้งหมดเป็น ‘อาสาสมัคร’ โดยเจ้าตัวยินยอมให้มีการทดลอง และได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลสเปน ผ่านข้อบังคับเรือนจำ และผ่านขั้นพิจารณาด้านจริยธรรมในการวิจัยมนุษย์ อย่างไรก็ตามทีมวิจัยของ Andrés Molero-Chamizo จากประวัติแล้วเขาเคยทำทดลองกับนักโทษมาแล้วหลายครั้ง
ซึ่งก่อนหน้านี้เขาใช้เทคนิค ‘Electrical brain stimulation’ หรือ EBS ในการกระตุ้นและลดความรู้สึกก้าวร้าว ในนักโทษ 41 ราย โดย 15 คนต้องคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา จากผลงานวิจัยครั้งนั้นพวกเขาพบว่า สมองคอเท็กส์กลีบหน้า (Prefrontal Cortex) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเข้าสังคม ความก้าวร้าวนั้นลดได้เมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน
ซึ่งในงานวิจัยล่าสุดได้ทำให้แม่นยำขึ้น และระบุพื้นที่สมองได้ชัดเจนกว่า โดยประเมินเรื่องบุคลิกและอุปลักษณะนิสัยร่วมด้วย เพราะมีทั้งการเก็บตัวอย่างน้ำลาย เพื่อตรวจสอบฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หาสัญญาร่วมของความก้าวร้าวในเชิงกายภาพ มากกว่าจะสัมภาษณ์นักโทษอย่างเดียว
TDCS จึงเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจกลไกทำงานประสาทของสมอง เราอาจลดความก้าวร้าว หรือใช้รักษาอาการทางจิตได้หลายชนิด เช่น ออทิสซึม หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งแน่นอนยังไม่มีข้อมูลมากพอในการศึกษาอาการเหล่านี้
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทราบข่าวหลายๆ คนว่า สภาพแวดล้อมในเรือนจำมีการจัดการสิ่งเร้าดีแค่ไหน นักโทษอาจจะบิดเบือนผลเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ในอนาคตหรือไม่ และที่สำคัญอาสาสมัครที่เสนอตัวมามีจุดประสงค์อย่างไรต่องานวิจัยครั้งนี้ และแม้งานวิจัยจะได้รับอนุมัติแล้วก็ตาม ยังมีช่วงเวลาทดลองราว 2 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ
ความก้าวร้าวของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนฝังรากลึกในวิวัฒนาการ ความเข้าใจกระแสไฟฟ้าจะตอบทุกอย่างได้หรือไม่ สังคมที่ไม่ก้าวร้าวเลยจะหน้าตาแบบไหน หากทุกคนว่านอนสอนง่ายกันหมด อนาคตก็คงกำลังจะมีคำตอบให้เราไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Zapping the brain really does seem to improve depression