ลองให้คุณสำรวจตัวเองว่า คุณได้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบสังคมอะไรบ้าง ตั้งแต่สังคมขนาดใหญ่ที่มีประชากรนับล้าน จนถึงสังคมกลุ่มเล็กๆ ที่มีเพียงไม่กี่คนปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่ว่ารูปแบบสังคมนั้นจะแตกต่างกันเพียงใด แต่ทุกหน่วยมักมี ‘ผู้นำ’ (leader) คอยควบคุมอยู่เสมอ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างยิ่งยวด เราจึงมีโครงสร้างทางความสัมพันธ์สลับซับซ้อน บางครั้งเราก็สามัคคีกันสุดใจ แต่อีกไม่กี่วินาทีเราก็ตีกันเองแทบตาย สังคมมนุษย์ก็ขาดๆ เกินๆ ไม่ต่างจากสังคมสัตว์อื่นสักเท่าไหร่ ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามว่า ‘ภาวะผู้นำ’ เราสามารถมองผ่านแว่นตาของวิวัฒนาการได้ไหม ทำไมพวกเราถึงต้องเผชิญกับผู้นำทั้งดีและเลวร้ายตลอดชีวิต
ผู้นำ 2 สไตล์ในวิวัฒนาการ
ถึงคุณจะรู้อยู่เต็มอกว่าคนแบบไหนที่ไม่เข้าท่า นิสัยใช้ไม่ได้ มองมนุษย์อื่นเป็นเพียงตัวเบี้ยบนกระดาน และคนส่วนใหญ่ก็น่าจะยี้คนประเภทนี้ แต่ผู้นำยอดแย่กลับสามารถก้าวมาเป็นผู้นำระดับสูงในสังคมได้เสมอ พฤติกรรมของพวกเขาส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเรา แม้ส่วนใหญ่ผู้นำเหล่านี้มาพร้อมกับตรรกะแปลกประหลาด และได้ซึ่งผลลัพธ์ที่โง่เง่าจนน่าปวดใจ แต่ทำไมเราถึงมีผู้นำแบบนี้ในทุกช่วงของประวัติศาสตร์อยู่เสมอ หากลองจำแนกผู้นำแบบมุมมองสายธุรกิจ เขาจะแยกผู้นำเป็น 2 สไตล์ ที่เรียกว่า ผู้นำประเภทครอบงำ (dominate) และ ผู้นำประเภทโน้มน้าวจูงใจ (influence) มีตำราเพื่อนักบริหารมากมายที่พยายามให้เห็นถึงข้อดีและข้อด้อยของการเป็นผู้นำทั้ง 2 แบบ ไม่มีผิด หรือถูกเสียทีเดียว บางเล่มยังแนะนำให้เอาทั้ง 2 แบบมาผสมผสานกันด้วยซ้ำเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
คราวนี้หากเรามองผ่านแว่นตาของชีววิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary biology) ดูบ้างล่ะ งานศึกษาระยะหลังๆ พบว่ายิ่งเราเข้าใจเงื่อนไขทางธรรมชาติได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจบทบาทอันหลากหลายของมนุษย์มากยิ่งขึ้น คอนเซ็ปต์ของการเป็นผู้นำจึงถูกมองผ่านกรอบที่ใกล้เคียงการมองธรรมชาติ เราศึกษาสรรพชีวิตเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง และเข้าใจแรงพลังดันของมนุษย์เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน
นักชีววิทยาที่ศึกษาพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตมีการอธิบายความเป็นผู้นำเช่นกัน พวกเขาศึกษาสัตว์หลากหลายชนิด ตั้งแต่ไพรเมทที่ใกล้เคียงมนุษย์มาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ หรือกระทั่งอาณาจักรแมลง นักชีววิทยานิยามผู้นำเป็น 2 ประเภทคือ dominance และ prestige
ผู้นำประเภท prestige นั้นมักถูกศึกษาในสัตว์หลายชนิดที่มีพฤติกรรมแบ่งปันอาหาร (food sharing) และสร้างความสัมพันธ์ในฝูง (social bonding) กรณีที่พูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ ‘ลิงโบโนโบ’ เป็นไพรเมทที่มีรูปแบบสังคมที่มีความแน่นแฟ้นกลมเกลียว มีความขัดแย้งกันเองภายในน้อย ไม่ค่อยมีเหตุให้เปลี่ยนถ่ายอำนาจ เพราะส่วนใหญ่ผู้นำมักเป็นตัวเมียที่สูงอายุที่สุดในกลุ่ม แต่สังคมที่มีผู้นำแบบ prestige นี้มักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk averse) เพื่อลดทอนการสูญเสีย บางครั้งทำให้เสียเปรียบในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
ส่วนผู้นำประเภท dominance มักใช้ความก้าวร้าวอันเข้มข้นในการควบคุมสมาชิก ใช้ความกลัว ความรุนแรง หรือทำให้สมาชิกในฝูงรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและจำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำอยู่เสมอ นักชีววิทยามักศึกษาพฤติกรรมนี้จากสังคมชิมแปนซีและบาบูน พวกมันเป็นสัตว์ที่ซีเรียสในเรื่องลำดับชั้นทางสังคม ผู้นำจึงมักเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดเสมอ แต่อำนาจก็อยู่กับใครได้ไม่นาน เพราะมักมีพลังใหม่ๆ มาโค่นล้มเสมอ มีรายงานบ่อยครั้งที่พบเห็นชิมแปนซีหนุ่มรวมกลุ่มกันชั่วคราวเพื่อลงมือฆ่าหัวหน้าฝูงช่วงชิงความเป็นผู้นำ ส่วนใหญ่สังคมนี้มักมีตัวผู้ (alpha male) ครอบครองอำนาจ ชิมแปนซีหนุ่มจะมีลำดับขั้นที่ควบคุมอำนาจกันเอง มีสมุนภายใต้ปกครอง น่าสนใจที่สังคมประเภทนี้มักกล้าที่จะเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงทรัพยากรหลากหลาย แต่เมื่อได้มาก็มักไม่ได้แบ่งปันทั่วถึง ก็ต้องให้กลุ่มผู้นำได้ใช้ทรัพยากรก่อนแล้วค่อยเหลือลงมาสู่ตัวอื่นๆ ในสังคม
ด้วยรูปแบบเหล่านี้ สังคมมนุษย์จึงไม่ได้แตกต่างมากนัก สำหรับพวกเราผู้นำประเภท prestige ก็เปรียบได้กับผู้นำนักโน้มน้าวที่เชิญชวนผู้คนด้วยความรู้ วิสัยทัศน์ พวกเขาจำต้องมี charismatic ประมาณหนึ่งเพื่อให้คนเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนผู้นำแบบ dominance ก็น่าจะเป็นอีกขั้วที่พยายามโน้มน้าวผู้คนให้อยู่ในโอวาทผ่านความกลัว เรียกร้องให้สนับสนุน และอาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่มั่นคง จนต้องให้มาสิโรราบใต้อำนาจ
ผู้นำทั้ง 2 แบบสามารถประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ในการดำรงชีพและส่งต่อวิวัฒนาการทางสังคมสู่สมาชิกรุ่นต่อๆ ไป นี่จึงทำให้วัฏจักรชีวิตของพวกเราในฐานะมนุษย์ที่มีความยืดหยุ่นกว่า ก็สามารถรับผู้นำได้ทั้ง 2 สไตล์มาอยู่ในวิวัฒนาการและควบคุมชีวิตเรา
แต่ทำไมสังคมสมัยใหม่ถึงให้ผู้นำจอมครอบงำประสบความสำเร็จ?
เมื่อถามว่าคุณอยากได้ผู้นำแบบไหน ทุกคนก็มักตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้ผู้นำสาย prestige ที่น่าจะทำให้ชีวิตสงบสุข มอบความเป็นมนุษย์แก่เราทุกคน แต่มองไปในความเป็นจริง ทำไมผู้นำบ้าอำนาจถึงปรากฏตัวได้อยู่เสมอ
ความเป็นผู้นำนี้จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของ biological evolution เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัจจัยของ cultural evolution ด้วยที่ผลักดันเราให้มีสังคมที่ซับซ้อนกว่าไพรเมทอื่นๆ
ย้อนไปราว 40,000–20,000 ปีก่อน สังคมมนุษย์มีสมาชิกไม่มาก เรามักรู้จักมักจี่ ไปไหนก็จำกันได้ ใครเข้าใครออกหมู่บ้านนับหน้าถือตากันได้ แต่เมื่อโลกเข้าสู่ช่วง 6,000 ปีก่อน มนุษย์สร้างสังคมขนาดใหญ่เป็นสังคมเมืองที่มีคนหมู่มากรวมกัน มันค่อยๆ สร้างลำดับชั้นทางสังคมระหว่างชนชั้นผู้นำและชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เมืองนำพาผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาเรื่อยๆ ความแปลกหน้าทำให้เกิดลำดับขั้น มีการจำแนกกลุ่มคนที่ทวีความซับซ้อน
ผู้นำ dominance จึงพยายามจัดการกับพวกคนต่างทั้งหลาย ต้องระแวดระวังคนนอกที่เข้ามา และให้การปกป้องคนในกลุ่มเดียวกัน สังคมที่เผชิญหน้ากับความต่างที่ท้าทายมักจะสนองรับต่อผู้นำจอมบงการ โดยมองว่าพวกเขาจะปกป้องเราจากภัยได้ ไม่ต่างจากกลุ่มคนคลั่งชาติที่มองทุกอย่างแปลกประหลาดที่เข้ามาว่าเป็น ‘ภัย’ (threats) ที่ทำให้สังคมที่เขาหวงแหนเปราะบาง
เช่น กรณี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่มักมองคนเชื้อสายฮิสแปนิกและเอเชียว่าเป็นภัยคุกคาม แย่งอาชีพคนในชาติ โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ผู้นำฟิลิปปินส์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมองยาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงแต่ไม่นำเสนอแนวทางอื่นนอกเหนือจากความรุนแรง หรือผู้นำบ้านเราที่ใช้ข้ออ้างด้านภัยคุกคามต่างๆเพื่อเบิกใช้งบประมาณชาติโดยไม่แคร์ว่าทุนในชาติจะขัดสนแค่ไหน ใช้ข้ออ้างภัยจากโรคระบาดละเมิดสิทธิการแสดงออกทางประชาธิปไตย และอีกหลายรายการที่คุณอยู่สังคมนี้ก็น่าจะนึกออก
ผู้นำเหล่านี้จะสร้างชุดเรื่องเล่า (narratives) ภัยในรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้สนับสนุนรู้สึกถึงความเปราะบาง ไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนในสังคมที่มีความหวาดกลัวง่าย หรือกลุ่มอภิสิทธิชนจะพยายามปกป้องและให้การสนับสนุนผู้นำสาย dominance อยู่เรื่อยไป แม้ว่าผู้นำเหล่านี้จะมีภาพลักษณ์ยอดแย่แค่ไหนก็ตาม
ส่วนในระดับเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทรัพยากรโลกอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มคนเพียงไม่มีกลุ่ม มีการผูกขาดทางการค้า (monopolization) ทำให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรตลอดเวลา องค์กรที่ดำเนินธุรกิจเช่นนี้มักมีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกสูง ทำให้องค์กรมักยอมรับผู้นำสาย dominance มานำพาองค์กรเพื่อช่วงชิงทรัพยากรจากองค์กรอื่นๆ คนเหล่านี้กล้าเสี่ยงกว่า ถึงลูกถึงคน และไม่ประนีประนอม
ในมุมมองอีกด้าน โลกเราก็เปลี่ยนไปมากแล้ว วิทยาการ องค์ความรู้ และการทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านศาสตร์ต่างๆที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง ทำให้เราตั้งคำถามมากขึ้นและกลัวน้อยลง ความเป็นภัยอันเป็นชุดเรื่องเล่าเดิมๆ ก็ใช้ไม่ได้ผล ความเป็นอื่นของผู้คนก็เป็นเพียงมโนคติ แนวคิดที่จะช่วงชิงทรัพยากรก็ผ่อนปรนลง แต่เป็นการแบ่งปันกันมากขึ้น เราเห็นความเป็นมนุษย์จากความหลากหลายและไม่ได้มองว่าเป็นภัยคุกคามอีกต่อไป หากสังคมดำเนินไปรูปแบบนี้ก็มีแนวโน้มที่เราจะโอบรับผู้นำแบบ prestige
โดยที่ผู้นำเหล่านี้ก็ไม่ได้อ่อนแอ
แต่ทำให้คนในสังคมรวมใจกันได้
เพียงแค่ไม่ได้ใช้ความกลัว
เราจะเห็นได้ว่าองค์กรใหม่ๆ ไม่ได้ถวิลหาการแข่งขันเพื่อกำไร มีแนวโน้มจะโปรโมตผู้นำ prestige มากขึ้น ใช้การปกครองแบบกระจายศูนย์ ที่ทำให้การบริการยืดหยุ่น ไม่ขึ้นตรงกับใครเพียงคนเดียว และหาคนที่ถูกคนถูกงาน
เราจะเห็นได้ว่าองค์กรเช่นนี้จะมีผู้หญิงเข้ามาบริหารมากขึ้น มีสัดส่วนต่างเพศที่ไม่ห่างกันมาก
อย่างไรก็ตามโลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงขาวและดำ ไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่าง dominance และ prestige บางสถานการณ์ที่ท้าทายผู้นำก็อาจจะต้องเปิดรับทั้ง 2 ทาง รับฟังความคิดเห็นของคนในสังคมมากขึ้น มองความหลากหลายด้วยสายตาที่พยายามทำความเข้าใจ ดังนั้นพวกเราในฐานะปัจเจกที่อยู่ภายใต้สังคมขนาดใหญ่ก็ยังมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ เรียกร้อง และต่อสู้ หากเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีผู้นำ dominance มากเกินไป เราสามารถตั้งคำถามต่อความกลัวที่พวกเขาสร้างขึ้น และสนับสนุนผู้นำ prestige เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศทางสังคม นี่เองถึงจะเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นสังคมที่พวกเราสามารถเติบโตได้โดยปราศจากความหวาดกลัวทั้งมวล
อ้างอิงข้อมูลจาก
Inequality rules: Resource distribution and the evolution of dominance- andprestige-based leadership
University of Amsterdam Busines
The Dominance, Prestige, and Leadership Account of Social Power Motives
Insights into the evolution of social systems and species from baboon studies