พอพูดถึงคำว่า ‘ผู้นำ’ หลายคนอาจมีภาพจำว่าต้องเป็นคนที่มีลักษณะเปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว แฝงความแข็งกร้าวและดุดัน แน่นอนว่าหากย้อนไปประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว หรือนานกว่านั้น นิยาม ‘ผู้นำ’ ของคนส่วนใหญ่อาจเป็นไปในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า Autocratic/Authoritarian Leadership หากแต่ปัจจุบัน โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยียังเดินหน้าพัฒนาเสมอ รูปแบบปัญหาก็ซับซ้อนและต่างไปจากเดิมมากขึ้น ไม่แปลกเลยที่ต้องมองหาทิศทางและการแก้ไขใหม่ๆ นี่เองที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนด้วยว่า ‘ผู้นำ’ ยุคนี้ที่เปรียบเหมือนหัวเรือหลักในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนทุกอย่างนั้น ควรมีลักษณะอย่างไรบ้าง
เพราะปัญหาที่เจอทุกวันนี้อาจไม่ได้ต้องการแค่คนนำที่มาออกคำสั่ง แต่ยังต้องการคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งเตรียมพร้อม ปรับตัว และลงมาทำงานร่วมกับทีมได้ด้วย มาดูกันว่า ภาวะความเป็นผู้นำแบบไหนบ้างที่ควรมี และจะช่วยพาลูกทีมแก้ปัญหาในยามคับขันได้
Charismatic
ว่าด้วยลักษณะผู้นำที่มีแนวคิดบริหารและการจัดการเฉียบคม ซึ่งประกอบด้วยทักษะการสื่อสารอันน่าเชื่อถือ การโน้มน้าวใจที่ดี และเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความเคารพ นอกจากจะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนได้ง่ายแล้ว ภาวะความเป็นผู้นำแบบ Charismatic มีส่วนช่วยในการรับมือกับปัญหาหรือวิกฤติไม่คาดคิดได้อย่างมืออาชีพ
ผู้นำแบบนี้มักมองหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางวิกฤติเสมอ ทำให้ลูกทีมจุดประกายไอเดียหรือมองหาทางทางออกที่เหมาะสม และนำพาทีมฟันฝ่าปัญหาที่พบเจอไปได้ เพราะหัวหน้าทีมปูทางสู่ทางออกที่เอื้อให้ลูกทีมได้ระดมความคิดหลากหลายไว้แล้ว ที่สำคัญ วาทศิลป์ที่ดีเยี่ยมก็ช่วยเสริมสร้างบุคลิกหัวหน้าทีมให้น่าเชื่อถือ ทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในแนวทางการนำทีมของเขาได้ไม่ยาก
วินสตัน เชอร์ชิลล์ คือตัวอย่างผู้นำลักษณะนี้ที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งดูได้จากการกล่าวสปีชของเขาตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง การสื่อสารอันทรงพลังครั้งนั้นได้จุดประกายประชาชนในอังกฤษให้มีความหวังและกล้าที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของเขาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นและยึดถือตามด้วย โดยเขามุ่งต่อสู้กับแนวคิดหรือวิถีแห่งอำนาจเผด็จการอย่างแน่วแน่ และเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายมาเป็นกำลังหลักในนาซีที่กำลังจะรุกรานเข้ามาในอังกฤษตอนนั้น เชอร์ชิลก็คือบุคคลที่คนในชาติต่างเชื่อมั่นมากที่สุดคนหนึ่ง
Democratic
เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ participative leadership หรือ shared leadership ว่าด้วยลักษณะความเป็นผู้นำที่เปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้ลูกทีมได้มีส่วนในการออกความคิดเห็นต่างๆ ร่วมกัน โดยถกเถียงหรือเปรียบเทียบข้อเสนอแนะที่นำมาคุยกันบนหลักการความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อไปสู่เป้าหมายของทีมด้วยวิธีการที่ตกลงและยอมรับร่วมกัน
ภาวะความเป็นผู้นำลักษณะนี้เป็นสิ่งที่หลายองค์กรในโลกยุคใหม่นำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยครอบคลุมทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ที่สำคัญ ยังเหมาะกับการปรับใช้ในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นต้องระดมความคิดจากคนหลายส่วน อันนำไปสู่การหาวิธีการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่นำมาแก้ปัญหาได้ในที่สุด
สตีฟ จ็อบส์ คือตัวอย่างของคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำแบบ Democratic ต้องยอมรับว่าชื่อ Apple คือหนึ่งในแบรนด์ที่ทุกคนต้องครอบครองเป็นเจ้าของสินค้าอย่างน้อยสักหนึ่งอย่าง โดยแบรนด์เริ่มประสบความสำเร็จในช่วง 1976-1985 ก่อนจะเจอช่วงขาลงราวๆ กลางปี 1990 และกลับมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ยอดนิยมแห่งยุคอีกครั้ง นั่นก็เพราะ สตีฟ จ็อบส์ เรียนรู้ที่จะปรับตัว
เขาทำให้เห็นว่าภาวะผู้นำแบบไหนที่จะพาองค์กรไปรอด แรกเริ่มเดิมที สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้นำแบบ Charismatic ส่งผลให้ Apple ก้าวเข้าสู่ยุคทอง แต่เมื่อเขาเริ่มกลายมาเป็นผู้นำแบบจอมออกคำสั่ง (Autocratic Leadership) กลับทำให้บอร์ดบริหารเรียกร้องให้เขาลาออก และเมื่อจะพา Apple กลับเข้าสู่ยุคทองอีกครั้ง เขาก็ต้องปรับตัว โดยผสมผสานลักษณะการนำทีมหลากหลายแบบ หนึ่งในนั้นก็คือการใส่ความเป็น Democratic เข้ามา ทั้งว่าจ้างพนักงานระดับหัวหน้าที่มีประสบการณ์เฉพาะทางมาช่วยระดมความคิดและนำทีมในฝ่ายตัวเอง ผลักดัน โจนาธาน ไอฟ์ หัวหน้าทีมนักออกแบบอย่างเต็มที่ รวมทั้งถ่ายทอดแนวทางบริหารต่างๆ ให้ ทิม คุก CEO ปัจจุบันของ Apple อีกด้วย
Transformational
หัวใจสำคัญของภาวะผู้นำลักษณะนี้จะเน้นสามอย่างด้วยกัน ได้แก่ แรงจูงใจของลูกทีม การสื่อสารชัดเจน และการตั้งเป้าหมายหนึ่งเดียว แน่นอนว่าผลลัพธ์ปลายทางจะมุ่งไปที่ภาพใหญ่ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ได้มองถึงผลประโยชน์หรือการขึ้นตรงกับใครคนใดคนหนึ่ง
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความผู้นำแบบนี้จะไม่สนใจลูกทีม ตรงกันข้าม ผู้นำแบบ Transformational จะฟังทุกเสียงของลูกทีม เพื่อดูว่าแต่ละคนประสบปัญหาอะไร และควรสนับสนุนช่วยเหลืออย่างไรให้เหมาะสม ทำให้ลูกทีมรู้สึกเชื่อใจกันมากขึ้น
รีด ฮาร์สติงส์ นักธุรกิจชาวอเมริกันและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งยุคของ Netflix สะท้อนความเป็นผู้นำแบบ Transformational ตั้งแต่ความตั้งใจในการก่อตั้งองค์กร ตลอดจนการปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงาน โดยเขาเริ่มจากการทำบริการให้เช่าดีวีดีผ่านการสั่งออร์เดอร์ทางอีเมล ก่อนจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นแบบ subscription และขยายตัวจนกลายเป็นสตรีมมิงที่ตอบโจทย์คนเสพภาพยนตร์และซีรีส์ยุคนี้
เมื่อว่าด้วยวัฒนธรรมการทำงานแล้วนั้น Netflix เน้นรูปแบบการทำงานแบบ sport team มองผลลัพธ์เป็นหลัก มากกว่าจะจัดตั้งตำแหน่งแบ่งลำดับขั้นยิบย่อย ทำให้ทุกคนมีพื้นที่และอิสระในการทำงานและแชร์ไอเดีย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ รูปแบบการทำงานและโมเดลธุรกิจนั้นล้วนตั้งอยู่บนฐานคิดที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามยุคสมัย
Visionary
วิสัยทัศน์ที่ดีคือสิ่งทรงคุณค่าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายได้ ถึงอย่างนั้น การสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน ผู้นำจึงต้องวางรากฐานตรงนี้ให้ชัดเจน รวมทั้งกำกับลูกทีมให้เชื่อในวิสัยทัศให้ได้ โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายและคุณค่าในการทำพันธกิจขององค์กรให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าขอบเขตงานหรือหน้าที่ของตัวเองคืออะไร ควรปรับตัวหรือทำส่วนไหนบ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว มักพบความเป็นผู้นำลักษณะนี้ในองค์กรขนาดเล็กที่มีการเติบโตรวดเร็วหรือสตาร์ทอัปที่เน้นการทำงานยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ เพราะวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสะท้อนถึงรายละเอียดของวิธีการทำงานหรือแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่เป้าหมายได้อย่างรอบด้าน ละเอียด ชัดเจน รวมทั้งเน้นผลระยะยาว
เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ยานยนต์ชื่อดังอย่าง Ford Motors เป็นตัวอย่างผู้นำแบบ Visionary ที่ดีคนหนึ่ง เขาเริ่มต้นสายงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการเป็นวิศวกรในใน Edison Illumination บริษัทผลิตไฟฟ้าในนิวยอร์ก ก่อนจะออกมาทำบริษัทของตัวเอง โดยมีลูกทีมที่ช่วยให้ฟอร์ดประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ทำกำไรและหนุนวิสัยทัศน์องค์กร
เฮนรี่ เคยกล่าวไว้ว่า “Coming together is a beginning; keeping together is progress; working together is success.” นี่เองที่มีส่วนช่วยให้องค์กรได้รับการผลักดันและความร่วมมือจากคนในทีมจนสามารถสร้างองค์กรที่เริ่มจากการร่วมกันทำกับเพื่อนๆ ให้ได้รับความนิยมทั่วสหรัฐอเมริกา และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก
Supportive
หากจะอธิบายภาพของผู้นำแบบนี้ให้ชัดเจน อาจต้องเทียบกับ ‘ผู้นำแบบเก่า’ ของคนส่วนใหญ่ เดิมทีเรามักคุ้นเคยและเข้าใจว่าผู้นำหรือหัวหน้าจะมีหน้าที่มอบหมายงานให้ลูกทีมทำตาม จากนั้นค่อยประเมินผลว่าเป็นอย่างไร หากแต่ผู้นำแบบ Supportive จะมีส่วนร่วมกับลูกทีมทุกขั้นตอนการทำงาน โดยคอยสนับสนุนลูกทีมด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกทีมบรรลุเป้าหมายของงานได้สำเร็จ และส่งเสริมทักษะการทำงานด้านอื่นไปในตัว
อาจกล่าวได้ว่า ผู้นำลักษณะนี้ไม่ได้วางตัวเองเป็นหัวหน้าตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง แต่เป็นโค้ชที่คอยมองภาพรวม เสริมจุดเด่น แก้จุดด้อย ไปพร้อมกับลูกทีม เรียกได้ว่าลงมามีส่วนร่วมในการทำงาน มากกว่าจะมองตรงไปยังเป้าหมายเท่านั้น
โจ แพแทร์โน นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการและโค้ชของ Penn State Nittany Lions ซึ่งครองชัยชนะมากถึง 409 ครั้ง เบื้องหลังความสำเร็จของโค้ชที่ได้ชื่อว่ามีชัยชนะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ NCAA FBS มาจากความเป็นผู้นำที่ผลักดันและสนับสนุนลูกทีมอย่างเต็มที่
เขาไม่เพียงเป็นโค้ชที่ให้คำแนะนำด้านการฝึกซ้อมแก่นักกีฬา แต่ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับนักกีฬาทุกคนเกี่ยวกับเรื่องการเรียน เพื่อช่วยให้ลูกทีมของเขานั้นประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนักกีฬาและนักเรียนไปพร้อมกัน นี่เองที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับลูกทีมที่มีมากกว่าบทบาทโค้ชกับนักกีฬา เพราะเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ แนะนำ และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกทีมทั้งในและนอกสนาม
อ้างอิงจาก :