เคยได้ยินคำทำนองนี้ไหมครับ
“เดี๋ยวเอาไปลงพันทิปนะ”
“เดี๋ยวโพสต์ลงอินสตาแกรมเลย”
“เดี๋ยวเจอกันบนเฟซฯ”
ผมรู้ คุณเคย, ผมก็เคย เคยบ่อยด้วยนะครับ บ่อยจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ เวลาเราเห็นใครไม่พอใจอะไร ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างสั่งข้าวร้านตามสั่งแล้วเจ้าของร้านหน้าบูด แท็กซี่ขับชวนหวาดเสียว ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างบริษัทบางแห่งคิดเงินลูกค้าเกินจริง เกินควร โกงเงิน เมื่อเกิดเหตุปะทะเหล่านี้เราก็มักจะเห็นตามมาว่าวิธีต่อสู้ที่ผู้คนในปัจจุบันเลือกใช้ แทนที่จะเป็นการปะทะต่อกรกันในจุดนั้นๆ โดยตรง บางคนก็เลือกที่จะเก็บกักความไม่พอใจไว้ แล้วไประบายบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจปะทะกันแต่ยังไม่สาแก่ใจ หรือยังไม่บรรลุผล จึงต้องขู่ว่าถ้าไม่ยอมแก้ปัญหาให้ หรือถ้ายังจะเอาอย่างนี้กันอยู่ละก็ ‘เจอกันบนเน็ตแน่’
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ การขู่ว่าจะประจาน หรือประจานจริงๆ บนสื่อนั้นมีมานานแล้ว มันก็พัฒนามาจากการไปฟ้องนักหนังสือพิมพ์ ฟ้องข่าวทีวี เอาไปตั้งกระทู้ในพันทิป เรื่อยมาจนเป็นสเตตัสบนเฟซบุ๊กนี่ละครับ แต่ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราเห็นพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติ และการที่เราเห็นพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติมันปกติไหม?
ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราเห็นพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติ
และการที่เราเห็นพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติมันปกติไหม?
Jennifer Jacquet เป็นอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม เธอศึกษาปัญหาอย่างเช่นผลกระทบของการจับปลามากเกินไป หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แล้ววันหนึ่ง เธอก็ค้นพบว่าวิธีหนึ่งในการ ‘ต่อกร’ กับยักษ์ใหญ่ที่ดีที่สุดคือการประจัญบานโดยประจานกัน
หลายต่อหลายครั้งที่ Jacquet พยายามร้องขอ หรือติดต่อบริษัทที่ทำร้ายหรือทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางที่เป็นทางการแล้วพบว่าเรื่องราวดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แต่เมื่อเธอหันมาใช้ ‘เครื่องมือ’ อย่างการประจานในที่สาธารณะแล้ว กลับพบว่าบริษัทนั้นๆ รีบหันมาแก้ไขปัญหาด้วยความเร็วระดับฟ้าแลบยังเรียกพี่ – สำหรับคนสำคัญ หรือบริษัทสำคัญๆ ใหญ่ๆ โตๆ แล้ว ‘ชื่อเสียง’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นทรัพยากรที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้ยากที่สุด และมันก็คือจุดอ่อน
เมื่อเธอหันมาใช้ ‘เครื่องมือ’ อย่างการประจานในที่สาธารณะแล้ว
กลับพบว่าบริษัทนั้นๆ รีบหันมาแก้ไขปัญหาด้วยความเร็วระดับฟ้าแลบยังเรียกพี่
เธอสังเกตเห็นจุดอ่อนนี้ ใช้มันอย่างเข้าใจ ศึกษามัน ผลลัพธ์คือหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Is Shame Necessary? New Uses for an Old Tool (ประจานสำคัญไหม? วิธีใหม่ๆ ในการใช้เครื่องมือเก่า)
Jennifer พูดไว้อย่างน่าสนใจว่าการประจาน (Shaming) นั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก อาจทรงพลังที่สุดเสียด้วยซ้ำ มันได้ผลกว่าการทำให้รู้สึกผิดบาป (Guilt) ในการต่อสู้ระหว่างคนตัวเล็กๆ กับยักษ์ตัวใหญ่ๆ เพราะในความรู้สึกผิดบาปนั้นเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล องค์กรไม่มีความรู้สึกนี้ ฉะนั้น ความผิดบาปจึงไม่ขยายขนาดตามระดับการต่อสู้ ในทางกลับกัน การประจานหรือทำให้อับอายนั้นใช้ได้ตั้งแต่กับบุคคล กับองค์กร หรือกระทั่งกับประเทศประเทศหนึ่งก็ใช้ได้ผลมาแล้วเช่นกัน เธอยกตัวอย่างน่าสนใจหลายชิ้น เช่นรัฐแคลิฟอร์เนียในอเมริกาที่ใช้เว็บไซต์เพื่อประจานคนไม่จ่ายภาษีติดหนี้ต่อรัฐ 500 อันดับแรก โดยให้โอกาสก่อน 6 เดือน ถ้าทวงแล้วทวงอีกไม่จ่ายค่อยเอาขึ้นเว็บ ก็พบว่าเก็บภาษีคงค้างได้มากถึง 395 ล้านเหรียญ
แต่การประจานมันไม่ทำให้มนุษย์ไร้ศีลธรรมไร้มนุษยธรรมกันมากขึ้นหรอกเหรอ? เราไม่ควรจะพูดกันดีๆ หรอกเหรอ? Jennifer ตอบว่าที่การประจานได้ผลทันใจเนี่ย ไม่ได้ทำให้มันเป็นวิธีที่ถูก มันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอันตรายอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ไม่ได้เลย เราควรใช้การประจานในเรื่องที่ส่งผลต่อคนหมู่มากเท่านั้น และควรคำนึงถึง ‘ระดับ’ ของการลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ทำด้วย (proportional) ไม่ใช่ว่าทำผิดสิบ แต่ประจานกันเอาให้ตายไปข้างหนึ่งก็ไม่ถูก
เราควรใช้การประจานในเรื่องที่ส่งผลต่อคนหมู่มากเท่านั้น
และควรคำนึงถึง ‘ระดับ’ ของการลงโทษให้เหมาะสม
กับความผิดที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ทำด้วย
เอ้อ – คำที่ผมตามหามันอยู่ตรงนี้เอง ‘Proportional’ หรือ ‘เหมาะสมกับระดับความผิด’ ใช่แล้วครับ – ทุกอย่างไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องศูนย์หรือหนึ่ง ขาวหรือดำ ตายหรือเป็น เกลียดใครก็ประจานให้สุด เกลียดร้านไหนก็เอาให้มันเจ๊ง เป็นอย่างนั้นไม่ได้อย่างแน่นอน คำคำนี้มาช่วยรองรับการประจานออนไลน์ได้ทันทีเลยว่า หากทำในระดับที่ ‘เหมาะสม’ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ และจะได้ผลดีด้วย
ทีนี้ คำถามที่สำคัญก็คือคำว่า ‘เหมาะสม’ มันอยู่ตรงไหน คำถามนี้ตอบยาก ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่สังคมเราเหมือนละคร มีผู้ดี ผู้ร้าย รักใครรักสุดเกลียดใครเกลียดสุดแล้วด้วยยิ่งตอบยาก
แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าเราไม่เริ่มถามเลยเราก็คงไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะตอบ เมื่อไม่มีความคิดที่จะตอบ ก็คงเหมือนกับการกดคันเร่งไปจนมิด ใครที่เราเห็นว่าผิดต้องฆ่ามัน ต้องไม่ให้มันได้ผุดได้เกิด ทีนี้ ก็ลองคิดกันดูครับว่าสังคมที่มีความคิดแบบนั้นเป็นสังคมแบบไหน
และมันเป็นสังคมที่มีความสุขได้จริงๆ หรือ?
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Giraffe เดือนกันยายน 2015
Illustration by Namsai Supavong