‘เหมือนกับออกมาจากหนังไซไฟดิสโทเปีย’ คือความรู้สึกแรกของผมเมื่ออ่านข่าวนี้
รายงานข่าวจาก The Independent หัวข้อ ‘China has gamified obedience to the state.’ (ประเทศจีนทำให้ความภักดีต่อรัฐกลายเป็นเกม) บอกว่าประเทศจีนได้สร้างเครื่องมือวัด ‘คะแนนพลเมืองดี’ ชื่อ Sesame Credit (คะแนนถั่วงา) โดยจะคำนวณคะแนนจากพฤติกรรมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและการซื้อของออนไลน์
คะแนนที่ว่าจะ ‘ขึ้น’ เมื่อเราโพสต์อะไรที่ดีงามต่อรัฐบาล เช่นโพสต์สนับสนุนนโยบายต่างๆ หรือข่าวดีเกี่ยวกับตลาดหุ้น หรือซื้อของที่รัฐบาลเห็นชอบเช่นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ผลิตได้ในประเทศ ในทางกลับกัน คะแนนจะ ‘ลด’ เมื่อเราโพสต์เรื่องที่รัฐอ่อนไหว อย่างเช่นโพสต์รำลึกจัตุรัสเทียนอันเหมิน โพสต์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ โพสต์ข่าวหุ้นตก หรือซื้อของที่รัฐไม่เห็นชอบเช่นการ์ตูนอนิเมะที่มาจากญี่ปุ่น
การคำนวณคะแนนพลเมืองดีที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าคำนวณเฉยๆ ออกมาให้อวดกันเล่นว่าอุ๊ยดูสิแกฉันเป็น ‘คนดี’ กว่า หรือถากถางกันว่าแกเป็นคนชั่วกว่าฉัน คะแนนแกต่ำกว่าฉัน ฯลฯ นะครับ แต่จะยังมีผลในโลกจริงด้วย มีข่าวลือออกมาว่า ถ้าคะแนนของคนไหนต่ำมากๆ รัฐอาจจะลงโทษโดยการลดความเร็วอินเทอร์เน็ต หรือห้ามไม่ให้สมัครงานในบางตำแหน่ง ในขณะที่ถ้าคะแนนของใครสูงมากๆ รัฐก็จะให้รางวัลเช่นเวลาขอเอกสารต่างๆ จากราชการก็ง่ายขึ้น ไปต่างประเทศสะดวกขึ้น กู้เงินง่ายขึ้น เป็นต้น
หลังจากที่ประกาศใช้เครื่องมือนี้ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของจีนอย่าง Weibo ก็มีคนเริ่มออกมา ‘อวด’ คะแนนพลเมืองดีของตัวเองกันแล้วว่าคะแนนของใครเจ๋งกว่าใคร ทั้งๆ ที่ยังไม่บังคับใช้นะครับ
มีข่าวว่ารัฐจะเริ่มบังคับใช้มาตรการในปี 2020 โดยเพิ่มเติมข้อมูลจากเอกสารที่ออกมาจากทางการในเดือนกันยายนว่า ผู้ที่มีคะแนนพลเมืองดีต่ำๆ จะไม่ได้รับสิทธิบางอย่าง และยังจะถูกริดรอนสิทธิส่วนบุคคลด้วยการตรวจเฝ้ารายวัน และอาจถูกสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ (would also be subject to expanded daily supervision and random inspections.)
มีการเปรียบเทียบนโยบายนี้ของจีนกับนโยบายที่เคยใช้ในมณทลเล็กๆ ที่เป็นการนับคะแนนพลเมืองดีเช่นกัน แต่ละคนจะมีคะแนนได้มากที่สุด 1,000 คะแนน การทำผิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฝ่าไฟแดงจะถูกลบ 20 คะแนน แต่ถ้าทำผิดมากเช่นพยายามติดสินบนก็จะติดลบมากตาม เช่นลบห้าสิบคะแนน ในขณะที่การให้ร้ายผู้อื่นในอินเทอร์เน็ตนั้นจะติดลบถึงหนึ่งร้อยคะแนน ในทางกลับกัน หากได้ ‘รับเกียรติแห่งชาติ’ คือทำงานดีจนรัฐพอใจแต่งตั้งให้ ก็จะได้คะแนนบวกเข้าไปหนึ่งร้อยคะแนน
ระบบนี้จะแบ่งคนออกเป็นสี่เกรดตั้งแต่ A ถึง D ประชาชนเกรด A นั้นหากต้องการตั้งธุรกิจอะไรเองรัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่ หรือหากต้องการอาชีพของรัฐก็สามารถทำได้ ในขณะที่ประชาชนเกรด D จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
มีหลายคนบอกกับผมว่าระบบที่จีนกำลังจะใช้นั้น เหมือนกับระบบที่ใช้ในการ์ตูนเรื่อง Psycho-Pass การ์ตูนเรื่องนี้จินตนาการถึงอนาคตอันมืดมนที่รัฐมีอำนาจควบคุมเหนือความคิดความเชื่อของประชาชนในอาณัติของตน โดยผ่านทางเครื่องมือเซนเซอร์ที่จะคอยสแกนสภาพจิต, บุคลิกภาพและโอกาสที่จะก่อเหตุอาชญากรรมของคนในบริเวณนั้น
แน่นอนครับ ผมคิดว่านโยบายนี้เป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นการแสดงความ ‘กลัว’ ของรัฐบาลจีนในแบบที่โงหัวไม่ขึ้น แต่ความพยายามนี้ก็มีความน่ากลัวในตัวของมัน – ผมไม่คิดว่ารัฐจะควบคุมประชากรผ่านทางคะแนนที่เป็นตัวเลขเง่าๆ ตัวหนึ่งนี้ได้ทั้งหมด แต่ไอ้ตัวเลขนี้ก็มีความหมายในตัวของมัน และมันจะทำให้ประชาชนเริ่มสอดส่องควบคุมกันเอง
ลองจินตนาการถึงสังคมที่เราสามารถตรวจสอบได้ว่าใครมีความเชื่อ ‘ตรง’ หรือ ‘ไม่ตรง’ กับเราโดยดูจากแค่ตัวเลขหนึ่งๆ สิครับ ลองคิดว่าหากมีเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งที่มีความเชื่อ ‘ตรง’ กับรัฐบาลและจะรับพนักงานที่มีความเชื่อ ‘ตรง’ กับเขาเท่านั้น เขาก็สามารถตรวจสอบความเชื่อนี้ได้ง่ายๆ ผ่านทางการดูคะแนนถั่วงาเท่านั้น
ลองจินตนาการว่ามีบางหมู่บ้าน บางตำบลที่ออกกฎว่าคุณต้องมีคะแนนถึงเกณฑ์เท่านั้นจึงจะสามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ได้สิครับ – นี่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นเลย – ลองดูอย่างในประเทศไทยที่มีการ ‘ขับไล่’ คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเองออกจากถิ่นอาศัยโดยมาตรการกดดันทางสังคมต่างๆ ดู
ดังนั้นมาตรการคะแนนนี้จึงไม่ใช่แค่ความพยายามของรัฐที่จะควบคุมประชาชน แต่เป็นความพยายามของรัฐที่จะให้ประชาชนควบคุมประชาชน (ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมี ‘คนเข้าข้างรัฐ’ มากพอ ซึ่งจีนมั่นใจอย่างนั้น)
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมอ่านข่าวนี้แล้วผมคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน จีนก็เป็นจีน ต่อให้โลกนี้พัฒนาไปทางเปิดกว้างมากแค่ไหน จีนก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่อย่างนั้น ความเชื่อที่ว่าคนไม่ควรจะ ‘ก่อให้เกิดคลื่น’ คนควรจะ ‘รักษาความสงบของบ้านเมือง’ ไม่ควรมีใคร ‘แหลม’ ขึ้นมา
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงรู้สึกว่าเป็นข่าวที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับประเทศเราตรงๆ
แต่ปัจจุบัน เมื่ออ่านข่าวนี้จบ – ผมกลับรู้สึกกลัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Namsai Supavong
บทความนี้เขียนขึ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2559 เพื่อลงนิตยสาร Giraffe แต่ได้รับการอัพเดทให้มีข้อมูลที่ใหม่ขึ้นในเดือนตุลาคม 2559