แม้ผมจะอยู่กับอินเทอร์เน็ตมาสิบกว่าปีแล้ว แต่หลังๆ ผมไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไร
เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตตรงไปตรงมา บล็อกคือโพสต์ต่างๆ ที่เรียงจากใหม่สุดไปหาเก่า เว็บไซต์ข่าวมีบรรณาธิการเลือกข่าวมาขึ้นหน้าแรก เว็บไซต์สินค้าก็แนะนำสินค้าเด่นๆ ให้เห็นเหมือนกันทุกคน
ทว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถูกปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการเสพ ความชอบ ความต้องการ ของแต่ละคนมากขึ้น ข้อดีคือเราจะได้อ่าน ได้ดูอะไรที่ถูกใจ ไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่ไม่สนใจ แต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่า ทำไม ‘ไอ้สิ่งนั้น’ จึงขึ้นมาบนหน้า Amazon, Facebook หรือ Netflix ของเรา
อินเทอร์เน็ตมีสภาพเป็นกล่องดำมากขึ้นเรื่อยๆ คือเราสามารถรู้ได้ว่าเราใส่อะไรเข้าไป แล้วจะได้ผลประมาณนี้ออกมา แต่เราต้องเดาเองว่า ‘ข้างใน’ กล่องดำนั้นทำงานอย่างไร และหลายครั้งเมื่อมันทำงานไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจเรา เราก็ไม่มีวันรู้ว่า ‘เพราะอะไร’ จึงเป็นอย่างนั้น
แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ไม่นานมานี้ สหภาพยุโรปได้ร่างกฎอภิบาลอินเทอร์เน็ตซึ่งจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2018 สาระสำคัญส่วนหนึ่งคือสิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) นั่นคือ คุณสามารถแจ้งให้บริษัท (เช่น Google) ลบผลการค้นหาชื่อคุณออกได้ หากคุณไม่ถูกใจ อับอาย หรืออยากลบเลือนความผิดพลาด ซึ่งหากบริษัทไหนไม่ทำตามกฎก็อาจถูกปรับมากถึง 20 ล้านยูโร หรือไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั่วโลกของบริษัทนั้น
ในช่วงที่ผ่านมาคนพูดถึงสิทธิที่จะถูกลืมกันมากอยู่แล้ว แต่ภายในกฎฉบับเดียวกันนี้มีสิทธิอีกรูปแบบที่น่าสนใจพอกัน นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับคำอธิบาย (right to explanation) สิทธินี้อนุญาตให้คุณขอคำอธิบายจากบริการออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้ระบบการตัดสินใจอัตโนมัติ (Automated Decision System) ที่เลือกสรรสาระบันเทิงต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมาให้คุณ เช่น หากวันหนึ่ง Facebook แสดงโพสต์ที่คุณไม่พอใจ เพราะมันขัดกับความเชื่อของคุณหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณก็มีสิทธิที่จะขอคำอธิบายจาก Facebook ได้ รวมทั้งขอคำอธิบายจาก Google, Netflix หรือบริการอื่นๆ ที่มีการ ‘เลือกปฏิบัติ’ แบบเดียวกัน
นักวิจัยจาก University of Oxford หนึ่งในผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้บอกว่า จริงๆ แล้วกฎนี้สามารถตีความในชั้นศาลได้อีก แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถใช้กฎนี้กับทุกเรื่องได้ และศาลก็อาจรับพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป โดยเน้นกรณีที่การเลือกปฏิบัติของอัลกอริทึมก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ร้องเรียน
สิ่งที่น่าจับตามองคือกฎหมายนี้จะกระทบวงการการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) อย่างไร เพราะตอนนี้ระบบต่างๆ ซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้สร้างจะอธิบายได้ด้วยซ้ำ คือผู้สร้างอาจเข้าใจโครงสร้าง แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมผลจึงออกมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
การอนุญาตให้ผู้ใช้ร้องขอคำอธิบายจากบริษัทต่างๆ อาจถูกมองว่าไปขัดขวางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพราะผู้พัฒนาต้องมากังวลกับกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐพยายามจะก้าวทันเทคโนโลยีเพื่อปกป้องเราๆ ทั้งหลายจากสิ่งที่เราก็ไม่รู้และไม่เข้าใจการมีอยู่ของมันด้วยซ้ำ
จากคอลัมน์ Lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล จาก giraffe magazine เล่ม 44: Made In China