ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถทำตัวเป็นสื่อได้ อำนาจต่อรองของสื่อแบบเดิมจึงค่อยๆ หมดไป ในขณะที่อำนาจของประชาชน หรือ ‘ใครก็ตาม’ บนอินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเอง แต่มันก็อาจช่วยให้เห็นภาพกว้างว่าเรากำลังเดินสู่เส้นทางแบบไหน
คุณก็รู้ เมื่อโพสต์อะไรบนอินเทอร์เน็ต คุณต้องทำใจว่าใครจะเอาสิ่งที่คุณโพสท์ไปยื้อ ฉีก ทึ้ง รั้ง ด่า อย่างไรก็ได้ ผมก็รู้ แต่หลายครั้งผมก็ทำใจไม่ได้ และการทำใจไม่ได้ครั้งล่าสุดของผมทำให้เกิดปัญหา
สำหรับหลายคน อินเทอร์เน็ตอาจเป็นที่ระบายความเครียด ความกดดัน ความแค้น มีอะไรก็จิ้มคีย์บอร์ดรัวเร็วลงไป ไม่นานก็สบายตัว แต่สำหรับคนที่เหลือ อินเทอร์เน็ตอาจเป็นที่เรียนรู้ความอดทน เพราะเมื่อไรที่คุณอดไม่ไหวเรื่องราวก็จะบานปลาย
ไม่นานมานี้ ผมอัพสเตตัสบทเรียนวัยกลางคนรสชาติขมหวาน ซึ่งเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ แต่เมื่อโพสต์บนอินเทอร์เน็ตก็คงเรียกว่าส่วนตัวไม่ได้ เพราะจากแรงจูงใจ ผมก็พร้อม ‘แชร์’ ให้คนอื่นรับฟัง ซึ่งใครที่พอรู้จักกันก็คงรู้ว่าผมพูดสเตตัสนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน ด้วยสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทำนองไหน เมื่ออ่านสเตตัสนี้อย่างมีบริบทก็จะได้ความหมายที่ครบถ้วน
ดูเหมือนสเตตัสนี้จะกระทบใจใครหลายคนจึงถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว เร็วจนกระทั่งเพจมิตรสหายท่านหนึ่งนำไปลง และตามธรรมชาติของเพจ เมื่อเอาไปลงก็จะปะป้ายคนเขียนไว้เพียงว่า “มิตรสหายท่านหนึ่ง”
ผมเข้าใจจุดยืนของเพจพอสมควร หลายครั้งก็เห็นดีด้วยว่าการทำเช่นนี้ยกสเตตัสของทุกคนให้เท่าเทียมกัน เมื่อคำพูดไม่มีเจ้าของ คุณก็จะตัดสินมันได้ด้วยตรรกะเบื้องหลังเท่านั้น ในมุมหนึ่ง วิธีการนี้สามารถปกป้อง ‘เหยื่อ’ จากอำนาจที่สูงกว่าได้ เพราะเมื่อบอกว่า ‘มิตรสหายท่านหนึ่ง’ เป็นคนพูด ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ไม่อาจจับตัวใครมาลงโทษได้ เพราะคำพูดนั้นเป็นเพียงเสียงกระซิบของหมอกควัน มิตรสหายท่านหนึ่งคือใคร ไม่มีใครรู้
“ถ้ามีเวลาเพ้อ ก็เอาเวลาไป เย- ตัวท็อป เดี๋ยวก็หายเอง” คอมเมนต์หนึ่งในสเตตัสของผมที่มิตรสหายฯ เอาไปลงว่าอย่างนั้น “เพ้อเจ้อ เป็นไรมากปะ” อีกคอมเมนต์ว่า
ผมไม่ควรเจ็บช้ำกับคอมเมนต์พวกนี้เลย แต่ผมก็อยากอธิบายสภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ผมพูด แต่ผมทำได้เพียงตัดพ้อในสเตตัสต่อมาว่ามีวิธีอะไรที่ทำให้เพจอย่างมิตรสหายฯ ไม่เอาสเตตัสของผมไปลงอีก แต่เหมือนผมจะไปเร้าความสนุกของแอดมินมากขึ้น เพราะเขาเอาสเตตัสนี้ไปลงอีก ผู้คนจึงยิ่งมาถ่มถุยผม (ไม่สิ—ถ่มถุยความคิดของผม) ซ้ำอีก ผมคิดว่ามันชักจะไปกันใหญ่ แต่ก็ทำสิ่งโง่ๆ คือการอัพสเตตัสอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น มิตรสหายฯ เห็นโอกาสจึงก๊อปสเตตัสชี้แจงของผมไปให้วิจารณ์กันอีกครั้ง พร้อม แชร์โควตของคนที่ด่า (“เปราะบางจัง” “อีโก้แรงนะมึง”) ไว้บนหน้าเพจอีกหลายโควต
เมื่อมองย้อนหลัง ผมโง่ที่คิดจะต่อกรกับควัน มิตรสหายท่านหนึ่งคือใครผมก็ไม่รู้ เขามีหน้าที่เพียงชูสเตตัสของคนคนหนึ่งมาให้คนอื่นๆ วิจารณ์ ผมไม่ควรรู้สึกเจ็บปวดกับคำวิจารณ์เหล่านี้ เพียงอ่าน ซึมซับ ประเมิน แล้วเดินต่อ ผมหยุดเรื่องนี้ได้ด้วยการไม่สนใจแต่ทีแรก
ประหลาด—เมื่อคุณทะเลาะกับใครในชีวิตจริง สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้คือพยายามทำความเข้าใจเขา และพยายามให้เขาเข้าใจคุณ แต่เมื่อคุณทะเลาะกับใครไม่รู้บนอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้คือเพิกเฉย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะบ่นบ้าใบ้ไปกับควันไฟที่จับต้องไม่ได้ แค่พัดมาให้แสบตาแสบจมูก ยิ่งสูดเข้าไปเท่าไรก็ยิ่งเจ็บแสบ สิ่งที่ทำได้คือกลั้นหายใจ แล้วหวังว่าควันจะจางหายไปเอง
จากคอลัมน์ Lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล : giraffe Magazine 43 — Olympic Issue
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ readgiraffe.com