สักปีก่อนหน้า ผมได้อ่านบทความที่ทำให้ขนหัวลุก เป็นบทความที่เผยด้านหนึ่งของอินเทอร์เน็ตที่ทั้งคุณและผมเคยเห็น แต่อาจไม่เคยคิดว่ามันส่งผลกระทบกับใครและอย่างไร
บทความนี้สำรวจชีวิตของผู้คนที่ ‘เซนเซอร์’ อินเทอร์เน็ตให้เรา
บนอินเทอร์เน็ต ใครจะอัพอะไรก็ได้—รูปหวานแหวว รูปดอกไม้สวัสดียามเช้า รูปอาหาร หรือถ้ามีจิตฝักใฝ่ทางมืดหน่อย คุณก็อาจอัพรูปศพที่เพิ่งถูกตัดคอ อัพรูปอุบัติเหตุ อัพความคิดเห็นแสดงความเกลียดชัง แน่นอนว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์อื่นๆ ต่างเผชิญปัญหาคนอัพสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่เว้นวัน ซึ่งการกรองสิ่งพวกนี้ออกไปจากไทม์ไลน์ของเราไม่ใช่เรื่องง่าย คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำได้แบบอัตโนมัติ 100% นั่นแปลว่า ต้องมีคนมานั่งทำ
บทความดังกล่าวค้นพบว่าในระยะยาวคนที่มารับหน้าที่นี้จะมีปัญหาทางจิต การได้เห็นสิ่งที่ไม่ควรเห็นนั้นบั่นทอนความเชื่อในมนุษยชาติของพวกเขาทีละน้อย หลายคนทนไม่ไหว จนต้องเลิกทำไป
ปัจจุบันนักวิจัยพยายามพัฒนา ‘ฟิลเตอร์’ ที่ช่วยกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมออกไปแบบอัตโนมัติ ซึ่งเทคนิคการกรองนั้นพัฒนาขึ้นมาก ไม่ใช่แค่กรองคำอย่างแต่ก่อน (หลายคนคงทันยุคที่พันทิปเซนเซอร์คำว่า ‘กูเกิ้ล’ เป็น ‘*เกิ้ล’) แต่กรองไปถึงความหมายอันหลากหลายของคำแต่ละคำ โดยเทคนิคนี้กรองได้มากถึง 90%
แล้ว 10% ที่เหลือล่ะ—ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ มนุษย์เราสามารถประดิษฐ์ข้อความเกลียดชังได้ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ คุณคงเคยเจอคนที่ไม่รู้สึกรู้สากับคอมเมนต์ด่าหรือเหยียด (คือไม่รู้ว่าด่า คิดว่าพูดเฉยๆ) ถ้าคนด้วยกันเองยังไม่รู้ แล้วโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะรู้ได้อย่างไร
Alex Krasodomski นักวิจัยจากศูนย์วิจัยโซเชียลมีเดียในสหราชอาณาจักรบอกว่า “จริงๆ แล้วการตรวจจับความเกลียดชังโดยอัตโนมัตินั้นเป็นเรื่องยากสุดๆ เพราะภาษาเปลี่ยนแปลงตลอด ตรวจจับยาก ถ้าให้คนตัดสินสัก 10 ทวีต ว่าทวีตไหนเหยียดไม่เหยียด คนยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จะให้คอมพิวเตอร์มาตัดสินก็คงยาก” และเขาก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า “เราควรทบทวนว่าจะให้คอมพิวเตอร์แทรกกลางชีวิตส่วนไหนบ้าง” เพราะต่อให้คอมพิวเตอร์สามารถกรองสิ่งไม่เหมาะสมได้ 100% แต่เรื่องแบบนี้มันลื่นไหล ต้องถามว่า 100% นั้นวัดตามมาตรฐานของใคร และดีแล้วหรือที่เราจะควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารแล้วทำให้อินเทอร์เน็ตสะอาดปราศจากเชื้อโรค
คุณอาจบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแค่ภาชนะ ส่วนสิ่งที่อยู่ข้างในคือความเป็นมนุษย์ล้วนๆ แต่อินเทอร์เน็ตก็เป็นภาชนะที่มี ‘แนวโน้ม’ ที่จะทำให้เราเผยด้านมืดที่สุดออกมา เพราะเราแทบไม่ต้องลงทุนลงแรง ดังนั้นมันไม่ใช่ภาชนะสะอาดใส ไร้อคติ การควบคุมจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งเราอาจคุ้นชินกับความเกลียดชังและไม่เห็นว่าชีวิตมนุษย์มีค่าอีกต่อไป
ในบทสัมภาษณ์นั้น ชายหนุ่มคนหนึ่งทำหน้าที่นี้มาได้สักพัก เขารู้สึกเอือมสุดๆ กับงานจึงลาออก ผู้สัมภาษณ์ถามว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจลาออกคืออะไร เขาตอบว่า “ก็เมื่อไอ้เพื่อนข้างโต๊ะของผมหมุนเก้าอี้มา หัวเราะ แล้วบอกว่า ‘เฮ้ย มีภาพคนโดนตัดหัวอีกแล้วว่ะ’ นั่นแหละ ที่ทำให้ผมรู้ว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้อีกต่อไป”
ความเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความชินชาต่อความเกลียดชังต่างหากที่น่ากลัว
จากคอลัมน์ Lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
giraffe magazine issue 45 – Better World