เทศกาลปีใหม่ กลางสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 ผ่านไปด้วยความเงียบเหงา อย่างไรก็ตามความสงบนี้กลับเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก และมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการกระจายของโรคที่กลับมาอีกครั้ง
นับตั้งแต่การระบาดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ยาวนานต่อเนื่องไม่เว้นแม้กระทั่งเทศกาลหยุดยาวในช่วงปลายธันวาคม แนวหน้าผู้เผชิญโรคอย่าง ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ก็ยังคงทำงานอย่างแข็งขัน ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญในการเผชิญหน้าโรคระบาดในช่วงเทศกาลคือ หน่วย EMS (emergency medical services) หรือ หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เราอาจเรียกได้ว่าทีมรถฉุกเฉินประจำโรงพยาบาล
ซึ่งเวลานี้พวกเขาคือแนวหน้าด่านแรกในการพบปะและติดต่อกับผู้ป่วย ในสถานการณ์ที่ระบุไม่ได้ว่าคนไข้รายใดได้รับเชื้อโควิด-19 หรือไม่
พร้อมเผชิญไวรัสโควิด-19
ยุรนันท์ ภูโทถ้า นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (paramedic) โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีมีมาตรการการป้องกันโรคที่เข้มข้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วย IC (infection control) หรือหน่วยควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลมาประชุมร่วมกับทีมรถฉุกเฉิน และทุกๆ หน่วยในโรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนไข้ เพราะบางครั้งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนไข้รายนั้นติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
จึงจำเป็นต้องปรับใช้มาตรการ EID (emerging infectious diseases) หรือมาตรการป้องกันโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมี 2 ระดับ
-
- ระดับ 1 คือจะมีการสวมใส่อุปกรณ์หุ้มหรือคลุมทั้งตัว
- ระดับ 2 คือลดระดับความครบครันลงมา แต่ยังคงปกป้องเจ้าหน้าที่จากความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้
ซึ่งทุกครั้งที่ทีมรถฉุกเฉินออกไปทำงานต้องใช้มาตรการนี้และต้องสวมใส่ชุดป้องกันทุกครั้ง ในกรณีที่เป็นเคสที่อาจต้องสัมผัสสารคัดหลั่งของคนไข้ก็จะใส่เครื่องป้องกันระดับ 1 แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือคนไข้ที่ไม่ต้องสัมผัสสารคัดหลั่งมาก ก็จะใส่ EID ระดับ 2 ขึ้นอยู่กับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ
“แต่ถ้าเราไปเห็นหน้างาน แล้วพบว่าอาจจะต้องเข้มข้นขึ้น เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนใส่หน้างาน เพราะเราจะมีชุดเตรียมไว้บนรถตามจำนวนเจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลอยู่แล้ว” ยุรนันท์อธิบาย
โดยรายละเอียดของชุดป้องกันแบ่งเป็น EID ระดับ 1 ประกอบด้วย มีถุงเท้า ถุงมือ เสื้อคลุมที่มีหมวกแบบฮู้ด หมวกจีบสีเขียวห้องผ่าตัด รองเท้าบูต เฟซชีลด์ และหน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งสามารถป้องกันละอองที่มีขนาดเล็กกว่าเชื้อโควิด-19 ได้
ส่วน EID ระดับ 2 ประกอบด้วย ชุดเอี๊ยมคลุมถึงแขน ถุงมือ หมวกจีบสีเขียวห้องผ่าตัด หน้ากากอนามัยชนิด N95 และเฟซชีลด์แบบแว่นตาสำหรับป้องกันความเสี่ยงจากการไอหรือจามใส่หน้า
ทั้งนี้ในรถพยาบาลหนึ่งคันที่ออกปฏิบัติหน้าที่ จะประกอบด้วยพาราเมดิกสองนาย แพทย์ คนขับรถ ผู้ช่วย รวม 5 คน และทุกคนต้องสวมชุดป้องกัน โดยใน 1 วันจะมีการแบ่งทีมรถฉุกเฉินไว้ เป็นเช้า 6 คน บ่าย 6 คน ช่วงดึก 4 คน รวมเป็น 16 คน
“ในหนึ่งเคสของการออกไปรับคนไข้นั้น เราจะรับเคสจากศูนย์นเรนทรที่จะแจ้งเคสมาหาเราว่าเป็นเคสอะไร เกิดที่ไหน จำนวนเท่าไร ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นโซนของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งชำนาญพื้นที่อยู่แล้ว จากนั้นก็จะแจ้งเตือนทุกคนผ่านวิทยุในเครือข่ายของโรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกคนที่อยู่ในทีมก็จะมารวมตัวกันที่ห้องแต่งตัว ประเมินเคสว่าต้องใส่ชุดระดับ 1 หรือ 2 แล้วก็แต่งตัวด้วยระยะเวลาไม่เกินหนึ่งนาที ก่อนออกเดินทางไปรับคนไข้” ยุรนันท์ลงรายละเอียด
แม้จะเตรียมพร้อมเรื่องการป้องกัน แต่ความกังวลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“ความวิตกกังวลของเพื่อนบุคลากรทางการแพทย์มีเกิดขึ้นอยู่ในช่วงแรกของการระบาด แต่เมื่อเข้าใจเชื้อแล้ว เราเรียนรู้ว่าเชื้อมาอย่างไร แพร่กระจายอย่างไร ความรุนแรงที่ทำกับร่างกายอย่างไร ความวิตกกังวลก็ลดลง ไม่ได้วิตกกังวลมาก แต่กันไว้ดีกว่า”
“ถามว่ากลัวไหม ในการออกทำงานช่วงโควิด-19 คือเรามีการคุยกับหน่วย IC ตลอด ว่าอุปกรณ์ที่มีป้องกันได้ไหม ซึ่งอุปกรณ์ที่เรามี เสื้อคลุม หมวก แว่นตา ถุงเท้า และหน้ากาก N95 ก็กันได้เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ และหากมีเคสที่เรารู้สึกว่าต้องชำระล้างร่างกายหลังทำงาน ก็จะมีจุดชำระร่างกายของโรงพยาบาลเตรียมไว้” ยุรนันท์ กล่าว
ในประเด็นนี้ เพื่อนร่วมทีมของยุรนันท์เองมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือ การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดคือการปฎิบัติตามแนวทางและระเบียบของการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด
“เราอยู่ด่านหน้า สิ่งสำคัญคือเราต้องป้องกันตัวเราให้ดีที่สุด และถูกต้องตามหลักวิชาการให้ได้มากที่สุด ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติหน้าที่ พี่มาทำงานชุดนี้ หลังเสร็จภารกิจพี่ก็จะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าในชุดใหม่ ก่อนกลับบ้าน เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคและนำไปสู่ที่บ้าน พี่คิดถึงลูกก่อน” สุเทพ ใจบุญ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกรายกล่าวเสริม
เพราะเทศกาล ไม่ใช่เวลาพัก
ยุรนันท์เล่าว่าตนทำงานเป็นพาราเมดิก (paramedic) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมา 5 ปีแล้ว และมักทำงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปี เพราะตนเลือกมาช่วยเหลือคนผ่านการทำงานในลักษณะที่ไม่สามารถใช้วันหยุดตามปฏิทินได้ จึงไม่ได้รู้สึกน้อยใจ หรือเสียใจที่ไม่ได้หยุดในช่วงเทศกาล
“เรารู้ตั้งแต่ตอนที่เราเรียนแล้ว การทำงานก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกแย่ หรือผิดปกติ”
ยุรนันท์อธิบายเพิ่มว่าช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะเป็นช่วงเทศกาลที่ทุกคนออกไปสังสรรค์ และออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุภายนอกโรงพยาบาลค่อนข้างสูง
“งานของเราเป็นงานที่ทำงานภายนอกโรงพยาบาล ในชีวิตปกติเราเจอเคสบ่อยอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงเทศกาล เคสจะไม่ค่อยเยอะ แต่หากมี จะเป็นเคสที่หนัก รุนแรง อาจเพราะการสังสรรค์ อย่างช่วงเทศกาลเคสที่เกิดขึ้นมากมักเป็นอุบัติเหตุ”
ซึ่งทางครอบครัวก็เข้าใจ และเคยชินกับการทำงานในลักษณะนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้เวลาด้วยกันในช่วงเทศกาล และถ้าผ่านเวลานี้ไปเขามักหาเวลาว่างไปพบเจอเสมอ
“คือจริงๆ ช่วงเทศกาลก็สามารถลาได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่คนไหนสะดวกหรือสมัครใจจะอยู่ อย่างถ้าผมติดธุระทางบ้าน หรือทางบ้านต้องการเจอ เราก็ลาได้ แต่ต้องมีบุคลากรพาราเมดิกประจำอยู่ที่ศูนย์เพื่อให้บริการคนไข้ตลอดเวลา พวกเราลาได้ปกติ เพียงแต่คนเราห้ามขาด ไม่สามารถลาหยุดพร้อมกันได้ ต้องมีคนประจำตลอด”
“ผมเลือกที่จะอยู่ตรงนี้ทุกปี แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวของผมเข้าใจเสมอ และไม่ได้ต้องการให้เรากลับไปในช่วงวันเทศกาล อีกประเด็นคือเขาก็ห่วงความปลอดภัยในการเดินทางของเราด้วย” ยุรนันท์กล่าว
แต่ในกรณีที่บุคลากรแต่งงานแล้ว มีบุตร ครอบครัวขยายขนาดและมีบทบาทภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับครอบครัว
“ลูกคนโตพี่ ม.3 คนเล็ก ป.5 ลูกจะถามตลอดว่าทำไมเราไม่ได้ไปเที่ยวแบบครอบครัวอื่น เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาว่า หน้าที่ของป๊าคือการช่วยชีวิต และการช่วยชีวิตคนได้ เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับเวลาของเราในการมาอยู่เวร” สุเทพ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์อีกคนกล่าวในประเด็นนี้
สุเทพ ใจบุญ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยฉุกเฉินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จบการศึกษาจากสายผู้ช่วยพยาบาล และศึกษาต่อสาย paramedic จนเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ร่วมโรงพยาบาลกับยุรนันท์
เขายังเล่าอีกว่าสำหรับคนที่มีแต่งงานมีครอบครัวหรือมีลูกนั้น ต้องถ่ายทอดให้ครอบครัวเข้าใจถึง ความรักในอาชีพ
“ถามว่าพี่เคยรู้สึกน้อยใจไหม เคยนะ ทุกครั้งที่ถึงช่วงปีใหม่ พี่จะมายืนดูถนนตลอด รถที่น้อยลง ทำให้คนคิดว่าถนนโล่งขึ้นแล้วจะกินเหล้า ขับรถได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น ท้อไหม ท้อนะ แต่ด้วยภาระหน้าที่และบทบาทของเรา”
เขาอธิบายถึงความรักในอาชีพต่อว่าตนเองเรียนจบ paramedic ในช่วงวัยที่มีอายุแล้ว ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เอง โดยการต่อยอดด้านความชอบนี้เริ่มต้นจากการทำงานตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลในวัยหนุ่ม ที่วันหนึ่งต้องเผชิญกับอุบัติเหตุจนนำไปสู่การตัดสินใจเดินทางสายนี้
“ตอนนั้นพี่เป็นทีมยุคก่อตั้งทีมรถพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี พี่ฝึกกับทีมกู้ชีพนเรนทรครั้งแรก แล้วก็ออกช่วยรถกระบะพลิกคว่ำ มีผู้บาดเจ็บเยอะ ตอนนั้นพี่จบผู้ช่วยพยาบาล ปฐมพยาบาลได้แค่เบื้องต้น เราอยากทำอะไรได้มากกว่านั้น มันเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พี่อยากช่วยคนให้มากขึ้น”
สุเทพลงรายละเอียดต่อ
“วันนั้นมีผู้บาดเจ็บสิบกว่าราย พี่ต้องดูคนไข้เสียชีวิตต่อหน้า คือรถพลิกคว่ำทำให้ขาเขาขาดไปครึ่งหนึ่ง มีไส้ทะลักออกด้านข้าง พี่ก็คิดว่าเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม ถ้ามีโอกาสเราก็จะหาความรู้ต่อ แล้วใช้ความรู้ดูแลรักษาคน”
เมื่อรถเข้าไม่ถึง
ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์พิเศษอย่างเช่นโควิด-19 แต่ในช่วงเวลาปกติเอง ทีมงานรถฉุกเฉินก็ต้องเผชิญกับภารกิจหลากรูปแบบ
พรหมเพชร นวลพรม นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกรายหนึ่ง เล่าเกร็ดในงานให้ฟังว่า บางครั้งงานของนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ก็มีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่รถพยาบาลไม่สามารถเข้าไปถึงบริเวณบ้านหรือใกล้เคียงได้
“บางครั้งมีคนเจ็บในชุมชนรอบๆ ที่รถเข้าได้ยาก ต้องมีการเดินเท้าเข้าไป เพราะพื้นที่หลายจุดในกรุงเทพฯ รถยนต์ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องประสานงานกับญาติคนไข้ หรืออาสาสมัครกู้ภัยให้ออกมารับช่วยนำทางไปหาผู้ป่วย”
และเมื่อไปถึงพื้นที่แล้ว การลำเลียงผู้ป่วยก็ยากไม่แพ้กัน
“ในเคสแบบนี้เขาเรียก scene design เราต้องไปดูจุดเกิดเหตุก่อนว่าเราจะใช้อุปกรณ์อะไรในการขนย้ายคนไข้ เพราะแต่ละอุปกรณ์ก็มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แค่ในกรณีไหนบ้าง บอร์ดขนย้าย หรือเตียง”
พรหมเพชร ยังได้เล่ากรณีศึกษาที่น่าสนใจในการขนย้ายคนไข้
“คือเคยเจอเคสที่เขาเอามาส่ง เป็นคนไข้หัวใจหยุดเต้น อยู่บนชั้นสอง มีพื้นที่ขนย้ายแคบมาก ราวหนึ่งฟุตกว่า เราทำการกู้ชีพกดหน้าอก แต่ไม่สามารถนำคนไข้ลงบันไดผ่านพื้นที่แคบได้ เลยใช้การไต่เชือก โรยตัวจากชั้นสองลงมาชั้นหนึ่ง ซึ่งกรณีแบบนี้ต้องใช้ทีมที่มีความถนัดเฉพาะ อย่างกู้ชีพนเรทร หรือโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีทีมเคลื่อนย้ายแบบพิเศษ”
แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม ช่วงวันหยุดในวันเทศกาลของพวกเขา ล้วนอยู่บนความพร้อมในการปฎิบัติงานและรับมือกับเรื่องราวอันไม่คาดฝัน เพียงแต่ในช่วงเวลานี้พวกเขาต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเกิดเหตุพวกเขาคือแนวหน้า และไม่ว่าใครก็มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งนั้น
“เราไม่รู้ว่าคนไข้มีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เราจึงถือว่าคนไข้ทุกคนมีโอกาสมีเชื้อโควิด-19 เราเสี่ยงอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถลดการกระจายเชื้อและการติดเชื้อได้ นั่นคือการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ ทำอะไรนึกถึงความปลอดภัยเสมอเป็นต้น” พรหมเพชร กล่าวทิ้งท้าย
Content and photo by PLUS SEVEN
Proofread by Pongpiphat Banchanont