มีคนตั้งข้อสงสัยอย่างกราดเกรี้ยวขึ้นมาว่า ทำไมมนุษย์เราถึง ‘มีอารมณ์ทางเพศ’ กับพระภิกษุสงฆ์ขึ้นมาได้
สำหรับเขาแล้ว เพียงเห็นผ้าเหลือง ก็น่าจะมากเพียงพอแล้วที่จะระงับยับยั้งความรู้สึกทางเพศได้ ไม่ว่าจะฝ่ายที่เข้าหา หรือฝ่ายที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ก็ตาม
แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นการ ‘แต่งกาย’ ของพระนี่แหละ ที่สร้างปัญหานี้ขึ้นมา
โดยทั่วไป การห่มผ้าเหลืองของพระภิกษุนั้นมีหลายแบบ เช่นการ ‘ห่มคลุม’ ที่มิดชิด โดยแบ่งออกเป็นห่มคลุมแบบมหานิกายหรือธรรมยุตินิกาย กับการ ‘ห่มดอง’ ที่ไม่ค่อยมิดชิดมากนัก เป็นการห่มที่เห็นแขนของพระเปลือยออกมาข้างหนึ่ง ยิ่งหากเป็นการห่มดองแบบล้านนา พระจะพันเฉวียงบ่าโดยพันในระดับรักแร้ ไม่ได้พาดบ่าขึ้นไป สำหรับ ‘นักมอง’ จำนวนหนึ่ง การเปิดเผยเนื้อตัวของพระ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวิถีแบบชายเป็นใหญ่ จึงคือโอกาสในการยลความงามของกล้ามเนื้อต้นแขนอันเปลือยเปล่า—โดยเฉพาะกับพระหนุ่มๆ ที่ต้องทำงานใช้แรงงานในวัดต่างๆ เช่น กวาดลานวัด ช่วยงานก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งมักต้องทำงานกลางแจ้งในอากาศร้อน ดังนั้นจะมามัวห่มคลุมอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ต้องห่มดองเป็นฐาน หรือบางรูปถ้าร้อนมากๆ ก็อาจจะปลดจีวรท่อนบนลงหมด เหลือแต่ท่อนล่างอย่างเดียวก็มี
คำถามก็คือ—ถ้าเรามองว่าการแต่งกายของพระเป็นปัญหา วิธีแก้คืออะไร, คือการ ‘บังคับ’ ให้พระต้อง ‘ห่มคลุม’ ตลอดเวลากระนั้นหรือ?
นี่จะไม่เข้าข่ายเดียวกันกับการ ‘โทษเหยื่อ’ อย่างการโทษผู้หญิงที่แต่งตัวเปิดเผยว่าเป็นต้นเหตุของการข่มขืนหรอกหรือ?
ที่จริงแล้ว ปัญหาเรื่องเพศรสของพระสงฆ์นั้นเป็นเรื่องซับซ้อน มีมิติทางอำนาจเข้าไปกำกับควบคุมอยู่หลายชั้น โดยเฉพาะอำนาจทางเพศ
มนุษย์นั้นหลากหลาย บางคนถูกดึงดูดด้วยความฉลาดเป็นหลัก (แบบ sapiosexual) จึงชอบคนที่มีไหวพริบปฏิภาณดี ซึ่งบ่อยครั้งก็อาจลามเลยไปถึงพระที่เทศน์เก่งๆ ใช้วาทศิลป์ได้ยอดเยี่ยมด้วย บางคนก็ชอบพระที่ดู ‘อิ่มบุญ’ คือดูมีราศีเรืองรอง ผิวเปล่งปลั่งผ่องใส ได้ฟังพระเช่นนี้เทศน์ด้วยเสียงเนิบๆ เบาๆ แล้วเคลิ้ม คิดว่าตัวเองประสบกับวิมุตติสุข หรืออีกบางคนก็หลงใหลพระในแบบเดียวกับหลงใหลนักร้อง นั่นคือรักชอบที่ ‘เสียง’ ของพระ ว่าสวดได้ไพเราะ มีน้ำเสียงก้องกังวาน ทรงอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปล่งเสียงสวดทำนองสรภัญญะหรือทำนองสำหรับสวดฉันท์
ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระและคนอื่นๆ
(ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงสีกา) จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
ในทางพุทธ พระภิกษุต้อง ‘ประพฤติพรหมจรรย์’ ซึ่งที่จริงแล้วคำนี้ไม่ได้แปลว่าให้งดเว้นการเสพเมถุนเพียงอย่างเดียว แต่ตามศัพท์แล้ว ‘พรหม’ แปลว่าประเสริฐ ส่วน ‘จรรย์’ หรือ ‘จรรยา’ ก็คือความประพฤติ ดังนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติอันประเสริฐ หรือมีวิธีดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ จึงกินความกว้างกว่าแค่การไม่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น เช่น การให้ทาน การถือศีล การมีอัธยาศัยที่ดี หรืออะไรเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกัน แต่แน่นอน เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของการประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือเรียกแบบบาลีว่า—เมถุนวิรัติ คือการงดเว้นการเสพกาม
วิธีปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้มีแต่ในศาสนาพุทธ แต่ศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์ทั้งคาทอลิกและออร์โธดอกซ์บางนิกาย, ยิว หรือศาสนาเชน ก็ต้องถือพรหมจรรย์ด้วย เรียกว่ามี clerical celibacy
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ ว่าการถือพรหมจรรย์เป็น ‘เรื่องสากล’ ของทุกศาสนา เพราะเอาเข้าจริง แม้กระทั่งในศาสนาพุทธเอง พระของบางนิกาย โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นสามารถ ‘มีเมีย’ ได้ (เรียกว่ามี clerical marriage หรือการแต่งงานของพระ) ดังนั้น จึงพอพูดโดยภาพรวมได้ว่า ไม่ใช่ทุกศาสนาห้ามพระมีเพศสัมพันธ์เสมอไป
เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า ก็แล้วการมีเพศสัมพันธ์หรือการเสพเมถุน (แหม! สองคำนี้ช่างให้ภาพและอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันเหลือเกิน) มันมีข้อเสียอย่างไร—ถึงต้องห้าม
มีคำอธิบายแบบพุทธศาสนาบอกว่า ในอรรถกถาปฐมปาราชิก บอกเอาไว้ว่าเรื่องของ ‘เมถุน’ หรือ ‘เมถุนธรรม’ นั้น จัดเป็น ‘กรรมชั่วหยาบ’ เริ่มต้นจากการเห็น การจับ การลูบคลำ การถูกต้อง การเบียดหรือสี แต่ที่สำคัญก็คือ มันเป็น ‘กรรมลับ’ คือต้องทำในที่ลับ ทำอย่างปิดบังไม่ให้ผู้อื่นรู้ คำว่าเมถุนนั้นแปลว่า ‘ไม่ประเสริฐ’ หรือเลวทรามชั่วหยาบ ดังนั้นเมถุนจึงตรงข้ามกับการประพฤติพรหมจรรย์พอดี
สำหรับคนทั่วไป การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรมอาจทำให้สภาพจิตเศร้าหมองได้ แต่ถ้าใช้สติปัญญาแล้วไม่ทำให้เกิดผลเสียก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับเพศบรรพชิต โดยเฉพาะภิกษุในฝ่ายเถรวาทนั้น ล้วนมีท่าทีปฏิเสธและไม่ยอมรับถ้าหากพระจะไปเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรม ถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีโทษหนักถึงขั้นต้องขาดจากความเป็นภิกษุไปเลย
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายแค่ว่าเมถุนธรรมเป็นเรื่องไม่ประเสริฐ จึงตรงข้ามกับการประพฤติพรหมจรรย์นั้น—อาจยังเป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอ เพราะเพียงแต่ชี้บอกตามรากศัพท์ แต่ไม่ได้อธิบายให้กระจ่างลงไปถึง ‘เหตุผล’ ของการห้ามเสพเมถุน จึงอยากชวนไปดู ‘คำอธิบาย’ อีกแบบหนึ่งที่อาจพูดได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลและเจาะลึกลงไปถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกซึ้ง
คำอธิบายนี้ก็คือ ถ้าเราดูลัทธิศาสนาที่มีการห้ามเสพเมถุน ไม่ว่าจะเป็นพุทธแบบเถรวาท คริสต์แบบคาทอลิกหรือออร์โธด็อกซ์บางนิกาย ศาสนายิว หรือศาสนาเชน ส่วนใหญ่แล้วจะมีวิถีชีวิตนักบวชแบบที่เรียกกันว่า ‘อารามวาสี’ หรือ monasticism (ต้องเน้นไว้ตรงนี้ว่าส่วนใหญ่นะครับ เพราะบางศาสนาก็ไม่ได้เป็นแบบนี้)
เราอาจไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า ‘อารามวาสี’ มากเท่าคำว่า ‘อรัญวาสี’ ซึ่งคำหลังนั้น หมายถึงการไป ‘อยู่ป่า’ (อรัญแปลว่าป่า) คือเป็นวิธีปฏิบัติที่ยึดตามลัทธิของดาบสหรือฤาษีต่างๆ ที่แพร่หลายในอินเดียสมัยโบราณ ดาบสหรือฤาษีเหล่านี้มักไปปฏิบัติธรรมกันอยู่ในป่า ส่วนใหญ่จะไปลำพัง หรือไม่ก็ไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ
อารามวาสีนั้นเป็นอีกฟากหนึ่งของการปฏิบัติ นั่นคือหากลัทธิความเชื่อไหนมีผู้เลื่อมใสมาก อยากมารวมกลุ่มกันปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น (หรือได้พบพระเจ้าอะไรก็ว่าไปตามความเชื่อ) ก็ย่อมต้องมาอยู่รวมกันใน ‘อาราม’ คำว่าอารามวาสีจึงหมายถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นคณะ เช่น คณะนักพรต
ในศาสนาคริสต์ คำว่า monasticism นั้นสะท้อนถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันใน monastery ได้เป็นอย่างดี พระในศาสนาคริสต์นั้นรับเอา ‘ชีวิตอาราม’ (monastic life) เข้ามา โดยถือว่าเป็น ‘กระแสเรียก’ ของพระเจ้าให้มาอยู่รวมกัน โดยกิจกรรมหลักคือการเผยแผ่ศาสนาหรือพระวจนะของพระเจ้าไปให้สุดขอบฟ้าหล้าโลก เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เตรียมตัวรับการมาถึงของพระเจ้าหรือวันสิ้นโลก
ในพุทธศาสนาก็คล้ายกัน หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว การอยู่ร่วมกันเป็น ‘สังฆะ’ หรือเป็น ‘คณะสงฆ์’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น เชื่อกันว่ามีรากมาจากการที่พระพุทธเจ้ามีบัญญัติให้พระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษาในฤดูฝน จะได้ไม่ไปเหยียบย่ำต้นข้าวของชาวบ้านให้เสียหาย จึงเกิดการอยู่รวมกลุ่มขึ้นมา
การมีชีวิตแบบ ‘อารามวาสี’ ก็เหมือนมีชิวิตแบบนักเรียนประจำ คือต้องอยู่รวมกันในพื้นที่จำกัด อาจใหญ่หรือเล็กก็ได้ นั่นทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมี ‘กฎเกณฑ์’ ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา ในศาสนาคริสต์เกิด ‘วินัยนักบวช’ และในราวปี ค.ศ.318 นักบุญปาโคมิอุส ก็ได้เริ่มตั้งกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า monastic order ขึ้นมาสำหรับกลุ่มผู้ติดตาม ต่อมาก็กลายเป็นอารามที่มักอยู่ในสถานที่สำคัญๆ ติดกับวิหาร เช่น อารามนักบุญแคตเธอรีน (Saint Catherine’s Monastery) บนภูเขาไซนาย อันเป็นที่ที่พระเจ้ามอบบัญญัติสิบประการให้โมเสส
ศาสนาพุทธก็เช่นเดียวกัน เมื่อ ‘มนุษย์’ มาอยู่รวมกันมากเข้า ก็ย่อมเกิดความวุ่นวายสับสนเป็นธรรมดาโลก ดังนั้นจึงต้องการ ‘แกนกลาง’ ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในพุทธศาสนาเรียกว่า ‘พระธรรมวินัย’ โดยทั้งภิกษุและภิกษุณีต้องร่วมกันรักษา และต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่พุทธบริษัทอื่นๆ ด้วย เหล่าฆราวาสทั้งหลายจะได้ ‘ใช้พระ’ ในการ ‘ทำบุญ’ ได้ ไม่ใช่มาทำบุญแล้วได้บาป เพราะกลายเป็นการสนับสนุนคนที่ทำผิดในเรื่องต่างๆ ไป
และเป็นชีวิตแบบ ‘อารามวาสี’ นี้เอง
ที่ทำให้การ ‘ประพฤติพรหมจรรย์’ เป็นเรื่องสำคัญ
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ว่าพรหมจรรย์ไม่ได้มีแค่เรื่องเสพเมถุนเท่านั้น แต่มันคือการใช้ชีวิตอย่างประเสริฐ ซึ่งก็คือหลักการทั่วไปในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความราบรื่นของสังคมนั่นแหละครับ แต่ที่การ ‘เสพเมถุน’ ถูกมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากกว่าเรื่องอื่นๆ ก็เพราะนอกจากจะเป็น ‘กรรมชั่วหยาบ’ แล้ว สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้ ยังต้อง ‘ทำในที่ลับ’ อีกด้วย และการทำในที่ลับหรือปิดบังไม่ให้ผู้อื่นรู้ ก็ย่อม ‘ขัด’ กับการใช้ชีวิตร่วมกันแบบอารามวาสีเป็นอย่างยิ่ง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการปกครององค์กร ผู้มีอำนาจย่อมต้องบริหารการใช้อำนาจต่างๆ ให้ดี แต่หากผู้มีอำนาจขาดข้อมูล (เช่นมีคนลอบเสพเมถุนแล้วไม่รู้) ก็ย่อมวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ไม่ได้ดี ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือต้อง ‘ห้าม’ การทำสิ่งนั้นเสียเลย
แต่การห้ามอย่างเด็ดขาดก็เหมือนการกดน้ำหนักลงบนบ่าของพระด้วย แม้การบวชเข้ามาอยู่ในชีวิตอารามวาสี จะเท่ากับการยอมรับ ‘ข้อตกลง’ ในการปฏิบัติตัวตาม ‘อำนาจ’ ของศาสนาแล้ว ทว่าก็มีพระและนักบวชจำนวนมากที่ ‘เอาไม่อยู่’
เคยมีบทความของนักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อ พอล มิดเดน (Paul Midden) ใน Vox เล่าถึงการรับปรึกษาปัญหาให้กับเหล่าพระต่างๆ ที่ดันไปตกหลุมรักคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และพบว่าพระเหล่านั้นมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มาก หลายคนต้องใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอย่างหนัก จำนวนมากต้องยุติชีวิตนักบวชไป แม้ว่าจะเป็นคนที่ศึกษาเทววิทยาอย่างช่ำชอง เทศน์เก่ง หรือมีความเข้าใจศาสนาอย่างลึกซึ้ง
เราอาจมองว่า อารมณ์ทางเพศเป็น ‘ความอ่อนแอ’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ได้ ดังนั้นถ้าใครเอาชนะความอ่อนแอนนี้ไม่ได้ และมีแนวโน้มจะทำให้ชีวิตแบบ ‘อารามวาสี’ ของทั้งตัวเองและผู้อื่นเกิดพังพินาศไป ก็ต้อง ‘ถูกกำจัด’ ออกไปจากพื้นที่ปฏิบัติ
เราอาจมองว่า อารมณ์ทางเพศเป็น ‘ธรรมชาติ’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ได้ ซึ่งถ้ามองเช่นนี้ เมื่อเห็นพระหรือนักบวชละเมิดวินัยของศาสนาตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องเพศ เราก็อาจเข้าใจได้ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำผิด แต่เข้าใจได้อาจไม่ได้แปลว่ายอมรับให้มีชีวิตแบบอารามวาสีต่อไปได้ เพราะนั่นคือ ‘ข้อตกลง’ หรือเป็น ‘เงื่อนไขเบื้องต้น’ ในการมีชีวิตแบบอารามวาสี เมื่อทำผิดข้อตกลงก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ ‘ดีล’ นั้นจะต้องสิ้นสุดลง
เรื่องเพศของพระจึงเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะนำ ‘ภาพ’ ที่ประทับอยู่ในหัวของเราไปทาบทับลงบนตัวคนอื่นเพื่อตัดสินได้อย่างสำเร็จรูป การย้อนกลับมา ‘ตั้งหลัก’ เสียก่อน เพื่อดูที่มาที่ไป อาจทำให้เราเห็นภาพได้กระจ่างชัดขึ้น
สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่เรื่องพฤติกรรมของ ‘คนอื่น’ มากเท่าความคิดของตัวเราเองก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart