มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่โลกนี้จะดำเนินไปด้วยความปั่นป่วน ในจักรวาลที่ดูเงียบงันยังเต็มไปด้วยความโกลาหล การระเบิดนับล้านครั้งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันโดยใบหญ้าที่ไม่ไหวติง
แล้วประสาอะไรกับชีวิตของพวกเราในแต่ละวัน ที่ต้องพบผ่านผู้คนมากมาย เราจึงกระทับกระทั่งกันไม่ต่างจากซุปเปอร์โนว่า ที่ความผิดพลาดของอีกคน ส่งพลวัตรต่อไปยังอีกคน และหลายครั้งมันจบลงไม่สวยนัก
เหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว จากการเฉี่ยวชนที่ไม่ตั้งใจ ก่อให้เกิดกระแสเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อรถสีเหลืองราคาแพงของพิธีกรอนาคตไกลเกิดตำหนิบริเวณไฟท้ายที่น่าจะเปลี่ยนได้ไม่ยุ่งยาก เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในถนนอันวุ่นวายในกรุงเทพฯ
แต่มันกลับถูกยกระดับไปอีกขั้น เมื่อพิธีกรหนุ่มปล่อยหมัดลุ่นๆ กระแทกหน้าหนุ่มมอเตอร์ไซค์อย่างจัง จนจมูกหัก และสั่งให้กราบไหว้รถยนต์ราวของศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางสายตาคนนับร้อย (และคนอีกนับล้านในออนไลน์) โอเค! นี่ไม่ธรรมดาแล้วล่ะ
น่าเสียดายที่อนาคตของพิธีกรหนุ่มกำลังสั่นคลอนจากการตัดสินใจที่ไม่ยั้งคิด หากวินาทีนั้นเขา ‘ให้อภัย’ หนุ่มมอเตอร์ไซค์ได้ ภาพยนตร์ชีวิตเรื่องนี้จะจบลงแบบหนังคนละม้วนหรือเปล่า? และทำไมพวกเราถึงควรให้โอกาสคนอื่นๆ แม้พวกเขาจะดูไม่น่ารักต่อคุณก็ตาม
การให้อภัย คือของจำเป็นคู่บ้าน
การให้อภัย (Forgiveness) เป็นของจำเป็นในทุกสังคม ยิ่งผู้คนขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากแค่ไหน คุณก็ควรมีภูมิต้านทานที่เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น สังคมต้องการการให้อภัยซึ่งกันและกันอย่างยิ่งยวด เมื่อเราไม่เห็นหัวใจของผู้อื่น เพียงชั่วพริบตา มันจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง การโต้เถียงด้วยความเกลียดชัง ความรุนแรง การก่ออาชญากรรม สงครามทางความเชื่อหรือเชื้อชาติ บาดแผลน้อยใหญ่ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ และมีคนจำนวนมากที่ต้องเจ็บ
บอกก่อนเลยว่า การให้อภัยไม่ใช่ของที่ทำกันได้ง่ายๆ แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แม้คุณสติคุณกำลังขาดสะบั้นไปแล้วก็ตาม
ให้อภัยเขา เพราะมันดีกับตัวคุณ
เราชอบอนุมานการให้อภัย เปรียบเสมือนการให้ของขวัญใครสักคน ซึ่งในกระบวนทัศน์นี้มันก็ ‘โอเค’ อยู่หรอก หากนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างกรณีที่มีคนมาทะลึ่งถูสีรถคุณจนถลอก หรือเพื่อนสนิททำกาแฟหกใส่หนังสือเล่มโปรด คุณสามารถยกโทษให้เขา เหมือนมอบของขวัญชิ้นน้อยๆ ให้ เพื่อไม่ทำให้เขารู้สึกผิดกับตัวเองไปมากกว่านี้
แต่ในกรณีที่มีอาชญากรยกพวกมาถล่มบ้านคุณจนเละ หรือลงมือฆ่าคนที่คุณรัก ในกรณีเช่นนี้คุณยังอยากมอบของขวัญให้คนเหล่านี้อยู่อีกไหม แน่นอน! ไม่มีใครทำได้หรอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องยอมจมปลักไปกับบ่อแห่งความทุกข์ที่เน่าสนิทจนเป็นน้ำมันหนืดๆ
การให้อภัยในเบื้องต้น มันดีต่อตัวคุณเองอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน
“อย่าให้อภัยใครง่ายๆ หากเขาทำเรื่องเลวร้ายมากๆ แต่คุณควรให้อภัยกับตัวเองเป็นคนแรก คุณต้องทำเพื่อตัวเอง”
ศาสตราจารย์ Frederic Luskin จากมหาวิทยาลัย Stanford ภาคจิตวิทยาอันโด่งดังติดอันดับต้นๆ ของโลก สนใจที่จะศึกษาปรากฏการณ์การให้อภัยในสังคมมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน เมื่อคนต้องจัดการกับความรู้สึกที่ไม่สู้ดีแม้พวกเขาจะถูกบังคับจากอำนาจที่เหนือกว่าก็ตาม เช่น หลังเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เหยื่อและมือสังหารต้องมาเผชิญหน้ากันทางความรู้สึก และหาทางเยียวยาร่วมกัน (และมหาวิทยาลัย Stanford ถือว่ามีผลงานวิชาการระดับเทพๆ ด้านจิตวิทยาอย่างไม่ขาดสาย)
การให้อภัย Forgiveness คือการจัดการความรู้สึกของตัวเอง เมื่อคุณถูกใครสักคนทำให้เจ็บช้ำ แต่คุณเลือกจะไม่ตอบโต้ด้วยความเจ็บปวดในรูปแบบเดิม ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ไม่ใช่กระบวนที่ชาญฉลาด มีงานหลายชิ้นพบว่า การเริ่มต้นด้วยการให้อภัยสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพใจและสุขภาพกายได้เร็วกว่า
มีงานชิ้นหนึ่งของ Frederic Luskin และทีมนักศึกษาที่สัมภาษณ์ ติดตามพฤติกรรม เหล่าแม่ๆ ชาวไอร์แลนด์ตอนเหนือ 5 ราย ที่สูญเสียลูกๆในเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชน (Sectarian Violence) พบว่า แม่ชาวไอร์แลนด์ไม่สามารถทำใจจากเหตุสูญเสียได้หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พวกเธอมีสภาพจิตใจย่ำแย่ และทำคะแนนทดสอบด้านความซึมเศร้า (Depression Test) ลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์
แต่หลังจากนั้น 6 เดือน เมื่อได้รับการช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนทัศนคติโดยทีมงาน Stanford พวกแม่ๆมีภาวะซึมเศร้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับงานศึกษาชิ้นที่ผ่านๆ มากว่า 54 กรณี ที่เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน คือ การให้อภัยช่วยลดภาวะวิตกกังวลและความซึมเศร้าเรื้อรังได้จริง
เห็นอกเห็นใจ บันไดก้าวแรก
ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เป็นบันไดก้าวแรกที่คุณจะสามารถเป็นผู้ให้อภัยที่ดีแบบ Starter Kit ได้ ถ้าคุณไม่เห็นคุณค่าในการเป็นมนุษย์ของคนอื่น คุณจะไม่มีทางยอมลดตัวลง และคุณค่าของมนุษย์ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องจักรและวัตถุสิ่งของใดๆ ได้
ดังนั้นการปรับปรุงแนวคิดเรื่อง Empathy จึงจำเป็นในกระบวนทางจิตวิทยา ในปี 2014 นักจิตวิทยา Everett Worthington จากมหาวิทยาลัย Virginia Commonwealth ตกผลึกเป็นกระบวนปรับปรุงทัศนคติที่มีชื่อว่า REACH
ซึ่งในบทแรก คือการเปลี่ยนให้คุณได้ลองสัมผัสความรู้สึกเจ็บปวดของคนอื่น โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
“เราอยากให้ผู้คนมองปรากฏการณ์ทางอารมณ์จากมุมมองของคนอื่นๆ บ้าง ทั้งจากคนที่ทำร้ายคุณ และจากคนที่ได้รับการให้อภัย หลังจากพวกเขาพบคุณแล้วชีวิตคนเหล่านั้นดำเนินต่อไปอย่างไร”
REACH คือ การทำให้คนเห็นค่าของชีวิตคนอื่นในระยะยาว
หนึ่งในกิจกรรมที่เหล่านักจิตวิทยามักรู้จักกันดีอย่าง ‘การคุยกับเก้าอี้ที่ว่างเปล่า’ (Empty chair dialogue) ซึ่งถูกใช้มานานกว่าสิบๆ ปี ในการบำบัดผู้มีความวิตกกังวล โดยให้คุณจิตนาการว่า กำลังพูดคุยอยู่กับคนที่เคยทำร้ายคุณ บอกความเจ็บปวดที่คุณรู้สึกต่อเขา ที่กำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวที่ว่างเปล่า เปิดโอกาสให้คุณจะโกรธเกลียด ด่าทอ หรือทำอะไรกับมนุษย์ล่องหนอย่างไรก็ได้
แต่หลังจากนั้นจิตแพทย์จะให้คุณไปนั่งบนเก้าอี้ที่ว่างเปล่านั้นแทน เพื่อสวมบทเป็น ‘คนที่เคยทำร้ายคุณ’ และคุณต้องตอบว่าเหตุผลอะไรที่คุณเลือกทำร้ายให้คนอื่นเสียใจ รู้สึกอย่างไรต่อผลของการกระทำ ถ้าเป็นไปได้มีทางออกอื่นไหม บทบาทนี้จะทำสลับกันไปมาเพื่อสร้างภาวะ ‘เข้าใจเขา เข้าใจเรา’ นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจเบื้องต้น
แม้คุณจะไม่มีโอกาสไปพบแพทย์ แต่การลดความขัดแย้งในจิตใจตัวเอง โดยเทคนิคคล้ายๆ ‘เก้าอี้ที่ว่างเปล่า’ อาจทำให้คุณมองปัญหาจากมิติอื่นๆ ได้บ้าง โดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง และการพูดคุยกับคนอื่นๆ เป็นการถ่ายทอดความเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพ
ดับปะทุ เมื่อเลือดกำลังขึ้นหน้า
หากพิธีกรหนุ่มจัดการกับอารมณ์ที่กำลังถาโถมได้ดีกว่านี้ เขาจะเห็นคลื่นความโกรธที่มีระลอกของมัน ตอนแรกมันอาจเหมือนคลื่นยักษ์ซึนามิ แต่คลื่นลูกต่อๆ ไปจะเบาลงเหมือนลมชายฝั่งหน้าร้อน ถ้าเขาใจเย็นลงกว่านี้อีกสักหน่อย
คลื่นลูกแรกมักเจ็บปวดและเกลียดชัง มันทำให้ร่างกายคุณทำเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน มวลกล้ามเนื้อและประสาททำให้คุณเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ สู้หรือถอยหนี (Fight or Flight) เราเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่โกรธ แต่เมื่อโกรธแล้วคุณจัดการมันได้อย่างไร นั้นล่ะน่าสนใจกว่า การรู้จักลิมิตความโกรธของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ (Anger Management) ความรุนแรงไม่มีปุ่มถอยหลังกลับ หากคุณตบภรรยาไม่มีทางที่คุณจะกลายเป็นคนเดิมในสายตาของเธอ
หากครั้งแรกไม่สำเร็จ ยังมีโอกาสครั้งต่อไป
การให้อภัยใช้เวลา มันไม่ได้เห็นผลอย่างทันทีทันใด มันไม่ใช่ยาวิเศษ แม้จะไม่สำเร็จตอนนี้ แต่ครั้งต่อไปก็ไม่สาย
“ไม่แปลกเลยที่คุณไม่สามารถให้อภัยใครได้ในครั้งแรก มันใช้เวลาในการเยียวยาจากอารมณ์ที่เดือดปะทุ” Frederic Luskin ศาสตราจารย์ภาคจิตวิทยากล่าว
แต่เมื่อคุณพร้อมที่จะให้อภัย ครั้งต่อไปมันจะง่ายขึ้น แต่น่าเสียดายที่สังคมก็กำลังกีดกั้นโอกาสครั้งที่ 2 ของผู้คนที่เคยทำผิดอย่างสิ้นเชิง การค่อยๆ มองเห็นคุณค่าของการให้อภัยนั้นใช้เวลาบ่มให้สุกงอม
พวกเราก็มีส่วนในการให้อภัยผู้ที่ผิดพลาด การถล่มพิธีกรหนุ่มและตัดขาดเขาทุกอย่างจากสังคมอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่วิธีที่สังคมจัดการกับปัญหาได้ดี
รถมินิเหลือง เป็นบทเรียนที่ดีที่จะทำความเข้าใจ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ที่เห็นได้น้อยนักในสังคม