“อย่าบอกว่าเธอเสียใจ คนที่เสียใจวันนี้ต้องเป็นฉัน”
– เพลง อย่าบอก, Atom ชนกันต์
เคยเป็นมั้ย บอกเลิกเอง …เจ็บเอง
ในโลกของการบอกเลิก เรามีทั้งคนที่บอกเลิกและถูกบอกเลิก แต่ในการบอกเลิกอาจจะไม่ได้เรียบง่ายเหมือนกับสมการ ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำ อีกฝ่ายถูกกระทำ มีเพียงฝ่ายเดียวที่จะเสียใจ ในการบอกเลิก เราอาจไม่มีคนชนะหรือคนแพ้ แต่การจบลงของความสัมพันธ์และความเป็นไปได้ที่เคยวาดไว้ ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็รับรอยแผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครไม่เจ็บในการบอกลา
แต่สิ่งที่พี่อะตอมพูดอาจจะมีส่วนถูก คือในการเลิกรานั้น มีงานศึกษาที่บอกว่า การถูกบอกเลิกแบบไหนเจ็บกว่ากัน คำตอบก็เหมือนกับในเพลงและความเข้าใจของพวกเรา คือการถูกบอกเลิกไป ‘มีคนใหม่’ เป็นการถูกบอกเลิกที่เจ็บใจมากกว่าการเลิกไปเฉยๆ
ถ้ามองในแง่ดี การเจ็บมาก เปิดปากแผลให้กว้าง อาจทำให้แผลของเราหายเร็วกว่า ทำใจและออกจากความร้าวรานได้
ทุกความสัมพันธ์ล้วนจบยาก เหตุผลที่เมื่อบอกเลิกจึงร้าวรานทั้งสองฝ่าย
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อน คำว่ารักบางครั้งอาจไม่พอ หลายครั้งด้วยหลายปัจจัยทำให้คนสองคนไม่อาจรักษาใครอีกคนเอาไว้ได้ หลายคนคงเคยผ่านเหตุการณ์ที่ต้องเป็นฝ่ายบอกเลิก ไม่ว่าจะบอกไปทั้งที่ใจยังรัก หรือบอกเลิกเพราะหัวใจเหือดแห้ง แต่สุดท้ายแม้ว่าเราจะเป็นคนบอกเลิกเขาเอง การบอกเลิกเป็นเรื่องยากเสมอ และสุดท้าย ต่างฝ่ายต่างก็รับรอยแผลไปไม่ต่างกัน
ทำไมการบอกเลิกถึงเจ็บนัก ไม่ว่าจะกับฝ่ายไหน ความสัมพันธ์ของคนสองคนเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นความทับซ้อนกันทั้งของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต – ความทรงจำที่คนทั้งสองคนได้สร้างและจดจำมันไว้ด้วยกันในอดีต ก่อนนำไปสู่การคาดการณ์อนาคตที่มีกันและกันไว้ การเลิกราคือการบอกเลิกทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เคยวางไว้ร่วมกัน เป็นการล่มสลายของความคาดหวัง ทั้งความคาดหวังในตัวของกันและกัน และในตัวเอง – ที่ว่าเราจะรู้สึกรักและรักษาอีกฝ่ายไว้ในอนาคตที่เคยวาดฝันว่าจะมีร่วมกัน
ความคาดหวังที่พังทลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์อันร้าวรานของมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเรา
ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นคนใจหินอะไรขนาดนั้น การยุติความสัมพันธ์ย่อมสร้างรอยแผล แม้ว่าจะเป็นฝ่ายที่ขอยุติเองก็ตาม
เลิกไปมีคนใหม่ – การถูกแทนที่เจ็บปวดกว่า
การถูกปฏิเสธเป็นเรื่องเจ็บปวดเสมอ แต่แบบไหนที่ร้าวรานกว่ากัน ระหว่างการถูกปฏิเสธเฉยๆ กับการถูก ‘แทนที่’ และแน่นอนว่า งานศึกษาจาก Cornell University ให้คำตอบสอดรับที่เดาได้ไม่ยาก คือคนทั่วไปจะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าถ้าถูกปฏิเสธแล้วถูกแทนที่ เป็นการย้ำความรู้สึกว่าเขา ‘เลือก’ คนอื่นแทนที่จะเลือกเรา
การเลิกกันมีหลายสาเหตุ เราอาจแบ่งการเลิกราหลักๆ ออกเป็นสองแบบ คือแบบที่ไม่มีคนอื่นหรือมือที่สามมาเกี่ยวข้อง เช่น เราไปกันไม่ได้จริงๆ เราต้องการเวลาเพิ่ม กับการเลิกราแบบคลาสสิก คือเลิกเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเจอ ‘คนที่ใช่’ มากกว่าเรา ในทางความรู้สึก ผลการศึกษาพบว่าแบบหลังสร้างความร้าวรานกับคนที่ถูกทิ้งมากกว่า
โดยการทดลองจะดูในเรื่อง การถูกฏิเสธ (rejection) คือให้กลุ่มตัวอย่างชายทำงานร่วมกับผู้หญิง ในการทำงานแก้ปัญหานั้น นักวิจัยจะให้ฝ่ายหญิงเลือกผู้ชายมาช่วยทำงานร่วมกัน บางครั้งก็ให้ปฏิเสธและทำงานคนเดียว งานศึกษานี้ต้องการดูว่าผู้คนจะมีท่าทีอย่างไรเมื่อถูกอีกฝ่าย – โดยนัยคือเพศตรงข้าม – ปฏิเสธ ผลคือเมื่อฝ่ายหนึ่งถูกปฏิเสธ เรามีแนวโน้มจะไปขุดคุ้ยว่า ทำไมเราถึงไม่ได้ถูกเลือกไป และโดยพื้นฐานทางความคิด เรามักจะคิดว่าที่เขาไม่เลือกเรา – ไม่ว่าจะงานหรือความสัมพันธ์ เรามักคิดว่าเพราะมีการเลือกคนอื่นแทนเราไปแล้ว
ผลการทดลองพบว่า คนที่ไม่ถูกเลือกจะรู้สึกแย่น้อยกว่าเมื่อพบว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีใครแทนที่ใคร แต่จะรู้สึกแย่มากเมื่อรู้ว่ามีคนอื่นถูกเลือกไปแทนที่เรา ความรู้สึกยิ่งทวีความแย่ก็เพราะว่า การเลือกคนหนึ่งและไม่เลือกอีกคน ทำให้ฝ่ายที่ไม่ถูกเลือกยิ่งรู้สึกว่าถูกกีดกันออกไป และยิ่งลดทอนความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันลง
กลับมาที่มิติความสัมพันธ์ ในแง่ของคนถูกบอกเลิก เคยมั้ยที่เราทำทุกอย่างจนรู้ว่า ตกลงแล้วเลิกกับเราเพราะมีคนใหม่ จริงอยู่ที่ตอนเรารู้ว่าอีกฝ่ายมีใครอื่น – คนที่มาแทนที่เรา – มันยิ่งเจ็บเข้าไปใหญ่ แต่ความที่ชัดเจนนั้นกลับทำให้เราตัดใจได้เร็วขึ้น ในทางกลับกันการเลิกรากันด้วยดี บางครั้งความเจ็บที่มันเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครกลับรู้สึกเรื้อรังรักษายากกว่า เป็นการเปิดปากแผลให้กว้างเสียอีก
การเลิกรามันเจ็บ แต่ถ้าเป็นการเลิกราแบบในเพลงของอะตอม หรือแบบในงานวิจัย ที่มีการทดแทนเราด้วยคนอื่น ในเมื่ออีกฝ่ายเลือกคนอื่นไปแล้ว เราก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจ และความเจ็บปวดที่เราเผชิญย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้เราทำใจยอมรับการเลือกของอีกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเลือกคน เวลา หรือความจำเป็นใดๆ เหนือความสัมพันธ์ของเราก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก