ด้วยความพยายามผลักดันของรัฐบาล เราได้ยินได้เห็นคำว่า ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ หรือ ‘Digital Economy’ แถมด้วย ‘Thailand 4.0’ ผ่านหูผ่านตากันมามาก แต่ก็ยังสงสัยว่าจริงๆ แล้วมันมีมาตรการอะไรจากทางรั ฐที่ช่วยสนับสนุน Digital Economy หรือเปล่า ยิ่งพอได้เห็นร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ที่เพิ่งถกเถียงกันไป เราก็ยิ่งรู้สึกว่าหรือว่ าประเทศเราจะไม่สามารถก้าวเข้ าสู่ Digital Economy ได้กันแน่
เราเองก็สงสัย อยากจะรู้ทิศทางที่ควรจะไป เส้นทางแบบไหนที่ควรเดินภายใต้กฎหมายแบบนี้ หรือถ้าเราอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง มันควรจะเปลี่ยนยังไง เลยชวน ‘สฤณี อาชวานันทกุล‘ นักเขียน นักแปล และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (Thai Netizen) มาพูดคุยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางของ Digital Economy นี่กันสักหน่อย
คำว่า ‘Digital Economy’ ที่มันเป็นรูปธรรมของรัฐบาล เขาเซ็ตไว้ยังไง
ต้องยอมรับว่ามันมีหลายคำเท่าที่ได้ยิน คือรัฐบาลเขาจะใช้ ‘Digital Economy’ แล้ววันนี้เราก็ได้ยินคำว่า ‘Thailand 4.0’ ซึ่งเหมือนกับมันเป็นคำที่มาใหม่ แต่ Thailand 4.0 มันเหมือนเป็นเฟรมเวิร์กที่ใหญ่กว่าอีก
พี่ว่า Digital Economy มันมองได้ 2 ระดับ ระดับที่พูดถึงตัว business มันจะมี industry มีตัวธุรกิจอะไรบ้างที่มันจะเป็นหัวจักรตัวใหม่ อันนี้ก็อยู่ในเซ้นส์ที่ว่า มันจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต เกี่ยวข้องกับเน็ตเวิร์กใหม่ๆ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ดิจิทัลเป็นหลัก แต่อีกเซ้นส์หนึ่งในความหมายที่อาจจะกว้างกว่า และเข้าใจว่าเป็นความหมายที่เขาใช้ เวลาที่เขาพูดถึง Thailand 4.0 ก็คือว่า ทั้งสังคมเลย คือวิธีที่เขานิยามนะ เขาบอกว่า 1.0 เป็นเกษตรกรรม ยังไม่ได้ใช้เครื่องจักรอะไรเลย 2.0 เริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับเบาเข้ามา 3.0 เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมหนัก อันนี้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อน ทีนี้ 4.0 เนี่ย เขาก็มองเป็นเรื่องของ Smart Economy พี่มองว่ามันอาจจะเป็นแค่คำที่เป็นแฟชั่น ที่มาแทนคำว่า Knowledge Economy หรือ Creative Economy
พี่เข้าใจว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึง Thailand 4.0 คือมันไม่ใช่แค่ว่าเราอยากจะพัฒนาผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ เราไม่ได้อยากจะมีแค่บริษัทอย่าง Uber หรือ Airbnb หรือ Google ที่เป็นสัญชาติไทย มันไม่ใช่เป็นแค่บริษัทเทคโนโลยี แต่เราอยากทำยังไงก็ได้ให้แม้แต่อุตสาหกรรมดั้งเดิมอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาก ก็ได้ใช้ประโยชน์จากใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วย เช่น สมมติเราพูดถึงเกษตรกรรม ถ้าในกรอบความคิดของ Thailand 4.0 ทำยังไงให้ชาวนาเราได้กลายเป็น Smart farmer สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพิ่มผลผลิต แล้วก็สามารถที่จะทำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม รู้ข้อมูลที่ชัดเจน มันก็คือความหมายที่กินขอบเขตทั้งสังคม ในแง่หนึ่ง ถามว่าอันนี้เป็นทิศทางที่ควรเดินไหม ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินเลย มันก็ควรนะ
คือโลกมันศตวรรษนี้แล้วใช่มั้ยคะ แล้วมันก็มีประสบการณ์ มีรูปธรรมที่ชัดเจนของประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนา Digital Economy รวมไปถึงถ้าคุณจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ มันแปลว่าคุณก็ต้องมีการลงทุนเรื่องความรู้ เรื่องการวิจัย การพัฒนา การคิดเรื่อง innovation อะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราเนี่ย ตั้งแต่ 1.0 มา มันยังขาดมาก ถ้าไปดูเรื่องของการจัดอันดับโลกในการวิจัยและพัฒนา เราจะต่ำเตี้ยมาก ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง 0.5% ของ GDP อะไรพวกเนี้ย เพราะฉะนั้นพี่ก็มองว่ามันเป็นเรื่องดี เพราะถ้าประเทศที่อยากจะเน้นเรื่อง Digital Economy ก็ต้องคิดเรื่อง capacity มันก็กลับมาเรื่องการศึกษา แต่จะทำยังไงให้การศึกษาเราดีขึ้น หรือว่าเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดช่องว่าง ลดโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษา เพราะว่ามันก็มีกรณีศึกษา อย่างเช่น Khan Academy มี MOOC เพราะฉะนั้นจะพูดอีกก็ถูกอีกว่า เราควรจะมีเรื่องนี้มั้ย คือความเป็นจริงถ้าไปดูประสบการณ์จากหลายๆ ประเทศ เช่น รายงานต่างๆ ของ OECD, World Economic Forum คือเขาพยายามจะไฮไลต์ หรือเตือนอยู่เหมือนกันว่า ถ้าคุณจะพัฒนา Digital Economy ให้มันได้ผลดีเนี่ย มันไม่ใช่ว่าคุณจะคิดแบบเดิมๆ ได้
ถ้าประเทศที่อยากจะเน้นเรื่อง Digital Economy
ก็ต้องคิดเรื่อง capacity มันก็กลับมาเรื่องการศึกษา
คิดแบบเดิมคืออะไร
คิดแบบเดิมคือ รัฐอาจจะปักธงไว้เลยว่าเราต้องการให้เศรษฐกิจหรือผู้ประกอบการวิ่งไปทางนี้ รัฐก็อาจจะเลือกมาให้เลยว่าเทคโนโลยีนี้เจ๋ง ให้ทุกคนมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้ หรือว่าเลือก champion มา อาจจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ดูมั่นคงดีและรัฐก็ไว้ใจให้เขาเป็นหัวหอก
แต่ว่าในเวลาที่เราพูดถึง Digital Economy เราก็ต้องพูดถึงโลกที่มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดนิดนึง เพราะว่ามันวิ่งเร็วมาก แล้วคุณก็ไม่สามารถที่จะไปบอกอะไรล่วงหน้าได้ว่าเทคโนโลยีนี้ อีก 2 ปีจะเป็นยังไง อีก 5 ปีจะเป็นยังไง การที่รัฐจะมาบอกว่ารัฐให้การสนับสนุน หรือว่าให้ทุนทำ facebook เวอร์ชั่น 2 มันอาจจะไม่ฉลาดแล้ว เพราะว่ามันอาจจะไม่ใช่ facebook แล้ว ปีหน้ามันอาจจะเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นรัฐก็ควรทำหน้าที่เป็น facilitator เป็นหลัก ต้องการกำกับอะไร ก็ควรจะใช้วิธีแบบ light touch ก็คือทำให้อุตสาหกรรมหรือตลาด เป็นกลไกที่ทำงานด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
แปลว่าต้องเชื่อใจตลาดพอสมควร
ใช่ ต้องเชื่อใจตลาด แต่ก็ต้องวางกลไกควบคุมที่เหมาะสม เพราะมันก็จะมีประเด็นความกังวล ในต่างประเทศเขาก็จะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เรื่องสิทธิผู้บริโภค เพราะว่าเวลาเราอยู่ใน Digital Economy ข้อมูลหรืออะไรก็ตามที่เราทำกิจกรรมบนนั้น 99% เราไม่รู้หรอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้นหลังบ้าน และมันค่อนข้างเป็นนามธรรม สมมติคุณซื้อของในเว็บไซต์ e-commerce คุณอาจจะรู้แค่ว่าคุณซื้ออะไร แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าทางเว็บได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง แล้วมันเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณไปทำอะไรบ้าง มันไปขายต่อหรืออะไรยังไง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีกลไกทางกฎหมายเลย ก็อาจจะมีปัญหาในแง่ที่จะเกิดการละเมิดได้ง่าย
เพียงแต่ว่ารัฐก็ไม่ควรจะไปพยายามพยาการณ์ล่วงหน้าว่ามันต้องเป็นเทคโนโลยีนี้นะ หรือว่าบริษัทนี้มันมาแน่เลย เพราะฉะนั้นฉันจะให้เงินเยอะๆ แต่ในส่วนที่มันช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเนี่ย รัฐก็อาจจะมีกลไกสนับสนุนได้
แต่แน่นอนเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโครงสร้างพื้นฐานอะไรพวกนี้ก็ยังสำคัญ เรื่องจะทำยังไงให้มีคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังสำคัญ มันมี Digital Evolution Index ที่เข้าใจว่าจัดทำโดย Tufts University ล่าสุดน่าจะเมื่อประมาณ 2014 เขาจัดอันดับประเทศต่างๆ ของโลกในแง่ของการพัฒนาดิจิทัล ออกเป็นด้าน Supply ด้าน Demand แล้วก็เป็นเรื่องของ Consumer ว่าตื่นตัวแค่ไหน ถ้าดูเรื่องความตื่นตัวเราก็สูงมากเลย
เวลาเราอยู่ใน Digital Economy
ข้อมูลหรืออะไรก็ตามที่เราทำกิจกรรมบนนั้น
99% เราไม่รู้หรอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เขาใช้หลักอะไรมาวัดบ้าง
เขาจะประมวลออกมาเป็นตัวเลข 4 ด้าน ด้านแรกคือเรื่อง Supply โดยหลักก็จะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แล้วก็เรื่อง Demand เขาก็ไปดูว่าความตื่นตัวของผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงออนไลน์ จำนวนผู้ใช้ หรือว่าการตื่นตัวในเครื่องมือต่างๆ ซึ่งคนไทยก็จะได้อันดับค่อนข้างดี เพราะว่าเราก็ตื่นตัวใช้อะไรกันเยอะแยะ ต่อไปก็ดูในเรื่อง Government Execution เรื่องของโครงสร้างทางสถาบันว่ารัฐบาลสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ตัวสุดท้าย ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นเรื่อง สภาพตลาด
ซึ่งคะแนนของไทย เขาก็จะจัดอยู่ในกลุ่ม breakout country ก็คือจัดอยู่ในประเทศที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งหลักๆ การเติบโตของเรามันก็มาจากตัวโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือการเข้าไปทำโครงการ hi speed internet ต่างๆ ทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการใช้ broadband มันก็ดีขึ้นทุกปี ความเร็วเน็ต bandwidth ต่างๆ แล้วก็ความตื่นตัวของผู้บริโภคก็สูงมาก เพราะวันนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้นในแง่ของ supply และ demand ค่อนข้างดี
ที่นี้จุดที่มันจะเป็นกับดักและก็ไม่แน่ใจว่าเหมือนมันจะทำให้เราสามารถที่จะทะยานเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ high performer อย่างพวกเอสโตเนีย ฟินแลนด์ ได้ไหม คือไอ้ 2 เรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องสภาพตลาดแล้วก็เรื่องรัฐบาล เรื่องนโยบายรัฐ
พี่ว่าสิ่งที่รัฐควรทำ ง่ายๆ มันก็มีอยู่ประมาณ 4-5 เรื่องเท่านั้นเอง
หลักๆ เลยก็คือ
1) รัฐต้องเล่นบทบาทที่บอกเมื่อกี้ ว่าเรื่องนี้มันต้องให้รัฐอยู่หลังฉากคอยสนับสนุน อย่าลงมาแข่งกับเอกชนเอง อย่าพยายามไป lock in เทคโนโลยี ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างเช่นเมื่อหลายปีก่อน ที่กระทรวง ICT เคยจ้างบริษัทหนึ่งให้มาแปลวิกิพีเดียเป็นภาษาไทย ซึ่งมันก็แปลได้แย่มาก มันคงใช้แมชชีนอะไรบางอย่างที่เทคโนโลยีแย่มาก แล้วสุดท้ายเว็ปนั้นก็ไม่มีใครใช้ แล้วมันก็หายไป อันนั้นก็เป็นโครงการที่ใช้เงินไป 10 ล้าน คือทุกครั้งที่พยายามจะทำอะไรแบบนี้เอง มันก็จะมีปัญหาแล้วก็สิ้นเปลือง ฉะนั้นรัฐก็ควรจะเล่นบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนเป็นหลัก
2) ยังไงก็ต้องยอมรับว่าระบบความปลอดภัยของรัฐบาลมันห่วยมาก อย่างช่วง Single Gateway ที่เขารวมตัวกันไปถล่มอย่างงี้ ซึ่งมันก็ไม่ได้เทคนิคการแฮคที่หวือหวาอะไรเลย ก็แค่กด F5 หรือบางทีก็แค่เดาพาสเวิร์ด 0-8 มันก็แฮคได้แล้ว รู้สึกว่าถ้ารัฐบาลอยากจะให้เราเชื่อมั่นใน Thailand 4.0 โดยเฉพาะการที่พูดว่า เดี๋ยวจะมี e-government แล้วนะ บริการสาธารณะอะไรต่างๆ ของรัฐอีกหน่อยมันก็จะสะดวกรวดเร็วแล้ว เฮ้ย มันต้องทำให้ระบบของรัฐมันเชื่อถือได้ก่อนอ่ะ ตั้งแต่ระบบคอมพิวเตอร์พื้นฐานเลย คุณมีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์แค่ไหน เราจะรู้ว่ามันปลอดภัยจริงได้ยังไง
3) เรื่องของความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงด้วยนะ ต้องเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่โลกที่มีแต่ธุรกรรมทางการค้า แต่ทุกคนอยู่ในโลกเดียวกัน บางคนก็ค้าขายกัน บางคนก็พูดคุยแลกเปลี่ยน มันก็กลายเป็นว่าการโพสต์ออนไลน์ หรือ facebook, line หรืออะไรต่างๆ ก็กลายเป็นวิธีปกติที่คนคุยกันแล้ว คล้ายๆ กับการเจอหน้ากัน เพราะงั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องตีความและแยกให้ออกระหว่างปัญหาที่เป็นเรื่องของความมั่นคงจริงๆ ที่เป็นปัญหาต่อระบบ กับปัญหาที่มันอาจจะไม่ใช่ปัญหา ต้องตีกรอบเส้นแบ่งให้ชัดเจน ระหว่างสิ่งที่มันเป็นเรื่องความมั่นคงจริงๆ จะเป็นเรื่องการโจมตีระบบหรือ cyber hack, attack hack อะไรก็ว่าไป กับเรื่องที่มันเป็นการแสดงออกทั่วๆ ไปของคน
ต้องเข้าใจธรรมชาติของมันประมาณหนึ่งว่า มันก็คือสังคมสังคมหนึ่ง บนโลกออฟไลน์เราเคยเป็นห่วงไหมเวลาคนคุยกันแล้วมันพูดอะไรมั่วๆ ออกมา แล้วเราจะพยายามแก้ด้วยการออกกฎหมายให้คนผูกติดเครื่องจับเท็จอะไรไหม มันก็คงไม่ใช่ขนาดนั้นไง พี่ว่าโลกออนไลน์มันก็มีความจริงที่คุณอยากพูดก็พูดไป แต่ถ้าข้ามเส้นผิดกฎหมายก็ดำเนินการ แต่พฤติกรรมของคนบนโลกออฟไลน์ เราก็รู้สึกว่ามันมีวิธีการที่จัดการได้ด้วยมาตรการทางสังคม ก็ควรที่จะใช้วิธีคิดแบบเดียวกับออนไลน์ พี่ว่าพอคำว่า ‘ความมั่นคง’ มันถูกบิดเบือนแล้วก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันก็มีผลต่อเศรษฐกิจดิจิทัลแน่นอน เพราะถ้าไปขยายนิยามความมั่นคงให้มันผิดกฎหมายได้หมด คนก็อาจจะกลัวว่า แล้วเขาจะพูดอะไรได้บ้าง หรือคนบางคนเขาอาจจะไม่กลัว เพียงเพราะเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกันกับคนที่ถืออำนาจ ซึ่งมันก็ไม่ถูกต้อง
4) เชื่อมโยงไปข้อแรก ที่บอกว่ารัฐควรจะส่งเสริมและสนับสนุน คือ รัฐถ้าจะตั้ง มันไม่ควรมีกองทุนหรือโครงสร้างอะไรที่ใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่มีวิธีตรวจสอบ ไม่มีกลไกถ่วงดุล ไม่มีวิธีการอุทธรณ์ แล้วก็ไม่มีวิธีการเยียวยา เรามีบทเรียนมาเยอะแล้วในอดีตจากรัฐบาลก่อนๆ ที่ว่าบางทีก็มีหน่วยงานอะไรสักอย่างขึ้นมาซึ่งมีอำนาจเยอะมาก แล้วก็อาจจะไปหาวิธีใช้เงินโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ นโยบายที่เราใช้คำว่าประชานิยมหลายนโยบายที่ปรากฏว่าเกิดผลเสียทีหลัง ส่วนหนึ่งก็คือมันไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ ทำให้ไม่มีวิธีการติดตามหรือตรวจดูได้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะไปเดินซ้ำรอยวิธีคิดแบบนั้นอีก คือมันไม่ได้อันตรายแค่มันตรวจสอบไม่ได้นะ แต่มันยังจะสุ่มเสี่ยงให้เกิดคอรัปชั่น เกิดการเอื้อประโยชน์พวกพ้องของคนร่างกฎหมาย สุดท้ายรัฐก็อาจจะแข่งกับเอกชนอะไรพวกนี้ มันก็จะขัดแย้งกับที่บอกว่า รัฐควรจะส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องที่สี่ก็เป็นเรื่องของ ทำยังไงไม่ให้มันเกิดปัญหาเดิม
ประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าสำคัญมากก็คือสุดท้ายแล้ว เราอยากให้อินเทอร์เน็ตเป็นแบบไหน ตรงนี้มันก็สัมพันธ์กับว่าเราอยากให้สังคมไทยเป็นแบบไหน เพราะอินเทอร์เน็ตมันก็คือชีวิตประจำวันของคน เราก็อยากจะให้ Thailand 4.0 หรือ Digital Economy เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง มันไม่ควรจะไปสร้างสังคมแห่งการหวาดระแวงให้เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะสร้างสังคมที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องคอยจับผิดคนอื่น เพราะฉะนั้นกฎหมายหรือกลไกอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเขาต้องไม่เปิดใจ ไม่ต้องเปิดรับความคิดเห็น ไม่ต้องหาความรู้ หรือไม่ต้องไปพยายามฟังคนอื่นให้มากขึ้น พี่ว่ามันจะทำให้เราถอยหลังในแง่นี้
รากฐานที่สำคัญมากเลยของ Thailand 4.0 มันอาจจะไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนในบรอดแบนด์ที่ทำให้คนตื่นตัว แต่พี่ว่าจริงๆ มันลึกกว่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝังให้ได้ คือเราจะต้องการให้สังคมดิจิทัลพวกนี้มันมีส่วนกระตุ้นให้คนอดทนอดกลั้นกันมากขึ้น เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พยายามหาข้อมูลหลายๆ แหล่งมาประกอบการตัดสินใจ แล้วก็เราอยากให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทดลองในสิ่งใหม่ๆ เพราะว่าสังคมดิจิทัลเนี่ยมันจะต้องอาศัยนวัตกรรม นวัตกรรมก็ต้องเกิดจากความกล้าก่อน ความกล้าก็จะต้องเกิดการที่คุณมีอิสรภาพในการคิด
บนโลกออฟไลน์เราเคยเป็นห่วงไหม
เวลาคนคุยกันแล้วมันพูดอะไรมั่วๆ ออกมา
แล้วเราพยายามแก้ด้วยการออกกฎหมาย
ให้คนผูกติดเครื่องจับเท็จอะไรไหม
ฟังแล้วมันดูเป็นไปได้ยากมาก Thailand 4.0 มันเป็นกระบวนการที่เรารู้สึกว่ามันเป็นแบบบนลงล่างมากๆ แล้วเราจะมีวิธีให้มันเกิดกระบวนการจากข้างล่างขึ้นไปได้ยังไง
สุดท้ายมันอาจจะเป็นเรื่องของธรรมชาติส่วนหนึ่ง ข้อดีอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็คือ มันก็เป็นเวทีที่ democratize ประมาณหนึ่ง ลำพังการที่คุณได้เข้าถึง มันก็เหมือนได้ empower ประมาณหนึ่ง เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘bottom up’ หรือ ‘ล่างขึ้นบน’ ความพยายามต่างๆ มันมีอยู่แล้วเยอะแยะในสังคมไทย เราเห็นว่ามันมีการเติบโตของ e-commerce หรือแม้แต่พวกโครงการของ citizen journalist หรือ active citizen ต่างๆ มีคนที่ลุกขึ้นมาบอกว่า เขาทนไม่ไหวแล้วว่าป้ายบนรถเมล์มันอ่านไม่รู้เรื่องเลย เขาก็ไปทำแอพฯ ที่ให้เห็นเส้นทางรถเมล์ ต่อไปเราก็น่าจะได้เห็นอะไรๆ มากขึ้น เมื่อเขาได้คุ้นเคยกับพื้นที่ตรงนี้
ในแง่หนึ่ง เอกชนเขาทำอะไรของเขาเองประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เพราะงั้นมันไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรในทิศทางที่ถูกต้องแล้วมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น มันก็ไม่ใช่ขนาดนั้น เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะช่วยมาติดปีกให้ได้มากน้อยขนาดไหน
คิดว่า digital economy มันทำให้คนเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะบางคนก็บอกว่ามันเหลื่อมล้ำมากขึ้น จากการเคลื่อนย้ายจากกำลังทุนไปที่กำลังสมอง หรือว่ามันไปกระจุกตัวอยู่ดี
พี่ว่ามันจะคล้ายๆ เวลาเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดิจิทัล มันอยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสมากน้อยแค่ไหน สมมติเราบอกว่า รัฐการันตีว่าต่อไปนี้คนไทยทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แน่นอน จะด้วยมือถือหรืออะไรก็แล้วแต่ ลำพังแค่นี้แล้วเราจะไปบอกว่า มันจะทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล มันก็อาจจะไม่ใช่ เพราะว่าข้อมูลจำนวนมโหฬารในอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่ภาษาไทย ก็แปลว่ามันก็เหลื่อมล้ำในตัวของมันเองอยู่แล้ว ถ้าคุณเก่งภาษาอังกฤษ คุณก็เข้าถึงมากกว่าคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษถูกมั้ย
มันก็ต้องกลับมา ถ้ารัฐบอกว่าอยากจะ empower ให้คนสามารถเข้าถึงประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ ก็ต้องไปให้ความสำคัญกับการศึกษา ทำยังไงให้เขามีมาตรฐานเรื่องของภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น แต่ว่าเด็กไทยตอนนี้ก็แย่มากในเรื่องของภาษาอังกฤษ พี่ว่ามันเป็นเรื่องของ building block พวกนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นตัว digital economy อาจจะเป็นคำที่ใหญ่เกินกว่าที่จะบอกว่าทำปุ๊บแล้วมันจะเหลื่อมล้ำหรือไม่เหลื่อมล้ำกว่าเดิม แต่ประเด็นคือคุณต้องไปต่อ building block ให้คนทุกคนได้มีโอกาสใกล้เคียงกัน มันถึงจะสามารถทำให้มันไม่เหลื่อมล้ำ อย่างเช่น เรื่องการแข่งขัน ถ้าคุณออกกฎหมายหรืออะไรต่างๆ ที่เพิ่มภาระให้ ISP เพิ่มภาระให้คนทำอินเทอร์เน็ตเยอะแยะมากมาย สมมติว่าเขามีทุนแค่ 5 แสน ปีหนึ่งเขาทำไม่ได้หรอก เพราะรายจ่ายเขาเยอะเกิน อันนี้คุณกำลังสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น เพราะว่าคุณกำลังออกนโยบายที่มีแต่รายใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถสำเร็จใน digital economy ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ยาก ไอ้บริษัทพวก Airbnb ที่เราชื่นชม ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นบริษัทที่คนไม่เท่าไหร่เลย แต่มันสามารถที่จะเป็นกิจการระดับโลก เป็นพันล้านหมื่นล้านได้ มันก็เริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อนทั้งนั้น
ถ้ารัฐบอกว่าอยากจะ empower
ให้คนเข้าถึงประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ
ก็ต้องไปให้ความสำคัญกับการศึกษา
เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตมันเริ่มต้นที่โรงรถได้ แต่ปัจจุบันมันเหมือนว่าอุปสรรคทางเทคโนโลยี หรือทางความรู้มันสูงขึ้น อย่างพวกโค้ดอะไรแบบนั้น จนทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาเล่นได้ด้วย
อันนี้พี่ไม่แน่ใจว่าตอบได้มั้ย อาจจะยากเกินไป แต่รู้สึกว่าหลายๆ อย่างมันอยู่ที่ว่าอยากจะทำอะไร คือการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มันไม่ได้แปลว่าคุณต้องเป็นคนสร้างเทคโนโลยี บางทีมันเป็นแค่การใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ อย่างสมมติในวงการสื่อ มันก็คงไม่ใช่ว่าสื่อต้องส่งนักข่าวทุกคนไปนั่งเขียนโค้ด แต่คุณก็ต้องฉลาดพอที่จะเห็นว่า คุณต้องมีความเชี่ยวชาญด้านไหนบ้าง เรื่องอะไรที่คุณต้องมีแต่ยังไม่มี คืออย่าไปคิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นปัญหาของ Startup บางที่ ที่ว่ามีคนสองคนแล้วรู้สึกว่าฉันทำเองได้ทุกอย่าง ไม่ต้องมีใครมาช่วย เพราะว่าคนมันก็ไม่ได้มีความถนัดในทุกๆ ด้าน พอคุณเริ่มสร้างบริษัทไปถึงจุดหนึ่ง มันก็ต้องมีคนมาเติม
มีคนบอกว่าเหมือนตอนนี้ startup ไทย เขาอยู่ในยุคคล้ายๆ ฟองสบู่เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเติบโตที่แข็งแรงพอหรือเปล่า
บางที่เขาก็อวยกันเอง อันนี้ก็เป็นไปได้ ว่าอีนี่มันน่าจะเป็นยูนิคอร์นซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ มันก็อาจจะเป็นเต่าอยู่เลย อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง startup บางทีมันก็เหมือนอวย พยายามจะคิดเชิงบวกเกินไป คือบางทีมันยังเป็นเต่าอยู่เลย มันอาจจะเป็นยูนิคอร์นก็ได้แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาถึงสิบปี แต่อย่างไรก็ตาม มันคงไม่ใช่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ พี่ว่ามันเป็นประเด็นที่ เรามีระบบหรือมีทัศนคติที่ถูกต้องไหม เรามองโลกตามจริงไหม ว่าจริงๆ แล้ววงการเราต้องการอะไร พี่เข้าใจว่า startup มันก็ไม่ได้ต่างจากวงการทั่วๆ ไป ในแง่ที่ว่าคนสำเร็จมันก็จะเป็นส่วนน้อยอยู่แล้ว พวกที่ล้มมันก็จะมีค่อนข้างเยอะ แต่อาจจะไม่ถึงขนาดล้มไปเลย บางอันก็อยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้รายได้เยอะมาก ทำยังไงให้เขารู้ว่าเขาอยู่ตรงจุดไหน
ในประเทศที่เรารู้สึกว่า คนร่างกฎหมายหรือคนที่มีอำนาจบังคับใช้ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์หรือด้านอินเทอร์เน็ตมาก ในฐานะที่เราอยากให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะมีวิธียังไงได้บ้าง
มีอย่างนึงที่รู้สึกว่าเป็นช่องว่างที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าที่ควรนะ อย่างเมืองไทย เวลาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราก็พูดถึงเศรษฐกิจๆๆ ทุกอย่างมันจะเป็นเรื่องของ GDP เวลาพูดเรื่องสังคม ก็จะพูดเรื่องสังคมๆๆ อย่างเรื่อง พรบ.คอมพิวเตอร์ ก็จะเห็นว่าคนที่ออกมาต่อต้าน เขาก็มองในมุมของสิทธิ เขาก็ไม่ได้สนใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง เพราะว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา ในขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้ประกอบการ ก็อาจจะมองในแง่ภาระที่จะเกิดขึ้น เขาก็จะมองแค่ว่าจะเป็นภาระอะไรต่อเขา เราไม่ได้เอามันมารวมกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเนี่ย พี่ว่า economy ทุกรูปแบบ และ sector ทุก sector มันมีส่วนที่สัมพันธ์กัน มันแยกไม่ออกระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม จริงๆ มันมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ยิ่งเป็น digital economy มันยิ่งกระทบกันไปใหญ่เลย เพราะว่ามันคือ the same platform เรากำลังพูดถึง space หรือ network อย่างที่บอก
อย่าง facebook เราก็คุยกันในนั้นด้วย แล้วเราก็ขายของไปด้วย facebook ก็ทำเงินจากเราด้วย ซึ่งบางทีก็อีรุงตุงนังมากเลย เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่มานั่งแยกออกหรอกว่า คุณออกนโยบายอะไรมาแล้ว อันนี้จะดีกับเศรษฐกิจ โดยที่ไม่กระทบสังคม คือจริงๆ มันเป็นก้อนเดียวกัน เพราะฉะนั้นประเด็นก็กลับไปที่เมื่อกี้ว่า เวลารัฐบาลพูดคำว่า Thailand 4.0 เรื่อง digital economy เนี่ยก็สังเกตเหมือนกันว่าคำที่เขาใช้มันจะมีคำว่า ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างกระทรวงดิจิทัล เขาก็ไม่บอกว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ จบ มันก็จะมีสร้อยห้อยท้ายมาว่า ‘เพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ ซึ่งถ้าคิดในแง่ดี เหมือนเขาก็มีความตระหนักเหมือนกันว่า จริงๆ ดิจิทัลมันเรื่องเศรษฐกิจแล้วก็เรื่องสังคม หรือมันควรจะสามารถช่วยทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลยต้องมองให้ชัดก่อนว่า ต่อให้มองว่าเป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจก็ตามมันก็จะมีผลกระทบเสมอกับด้านสังคม
มันแยกไม่ออกระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม
จริงๆ มันมีผลกระทบซึ่งกันและกัน
ในโลกอินเทอร์เน็ตที่รู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็น network effect เวลาที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างขาติเข้ามา มันก็โถมเข้ามาเลย เรายังเหลือโอกาสอะไรให้กับคนที่ลงทุนในไทยบ้างไหม โดยที่ไม่ได้ไปเป็นเมืองขึ้นของเขา
อันนี้ก็พูดยากนะคะ สุดท้ายแล้วอันนี้มันก็เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง คือเมื่อก่อนคนอาจจะเคยคิดว่า อินเทอร์เน็ตมันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาแบบเท่าเทียมกัน สามารถแข่งได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่หรอก มันก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ แหละ ที่ว่ารายใหญ่สายป่านยาว คนเยอะ เทคโนโลยีเยอะ มันก็ได้เปรียบคนอื่น แต่จะไปพูดว่าการที่มีรายใหญ่จากต่างประเทศถาโถมเข้ามา รวมทั้ง Alibaba หรืออะไรหลังๆ ด้วยเนี่ย มันแปลว่าเราไม่มีโอกาสเลยมันก็ไม่ใช่ เพราะว่าในความเป็นจริงถ้าเราดูในหลายๆ ประเทศ มันก็มีเรื่องราวของคนที่สามารถสร้างแอพฯ หรือว่าอะไรอยู่เรื่อยๆ เขาอาจจะไม่ใช่เศรษฐีหมื่นล้านก็ได้ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จในระดับที่แอพฯ มันก็ได้รับความนิยม มีคนใช้เยอะ แล้วเขาก็มีความสุขอะไรเงี้ย แล้วมันก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ประเทศอเมริกา หรือญี่ปุ่น จริงๆ มันก็มาจากหลายประเทศมากเลย
พี่ว่าเราแค่ต้องรู้ทันก่อน สมมติว่าถ้าคุณอยากจะทำสื่อใหม่ แล้วคุณอยากจะปั้นเป็นอาณาจักรสื่อ หมื่นล้าน แต่ว่าโมเดลของคุณก็คือ เอาคนมาแล้วก็โพสต์คอนเทนต์ใส่ facebook ของคุณไปเรื่อยๆ แบบนี้คุณจะสร้างอาณาจักรจากอะไรในเมื่อคอนเทนต์คุณก็ไปโยนให้เขา และ facebook มันก็ไม่ใช่พื้นที่ของคุณอยู่ดี พี่ว่าแค่มันต้องมีความชัดเจนเท่านั้นเอง ว่าเราจะทำอะไร เราจะวางตัวยังไง position เราคืออะไร
ร่างพ.ร.บ. มันกำลังจะกลายเป็นพ.ร.บ. แล้ว ในฐานะคนที่ตื่นตัวกับมัน ยังเหลือวิธีอะไรที่เราทำได้บ้าง
มันจะมีร่างกฎหมายที่เขียนไว้ 4 ฉบับ ที่เขาจะพยายามผลักดันอย่างรวดเร็ว อันแรกคือ พ.ร.บ.คอม อยากจะเชิญชวนคนเข้าไปลองอ่านกฎหมาย เพราะอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เคยเห็นร่างกฎหมาย ตอนนี้เบื้องต้นเรามีในเครือข่ายพลเมืองเน็ตเขาก็ทำไว้ ใช้ .org ก็อ่านแค่มาตรา 14, 15 ก็ได้ ก็คิดตามว่าฐานความผิดที่เขาพูดเรื่องการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ ลองคิดตามว่ามันจะมีกรณีอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มันจะเป็นปัญหาไหม มันจะสามารถตีความมาครอบคลุมได้ไหม อันนี้ก็เป็นเรื่องของการพยายามคิดเรื่องของผลกระทบ
เรื่องพ.ร.บ.ดิจิทัล ซึ่งก็ไล่เลี่ยกัน อาจจะยากนิดนึงสำหรับ user เพราะว่าดูเผินๆ เหมือนกับว่าจะไม่ได้กระทบมาก เพราะมันเป็นกฎหมายที่จะวางโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัล แต่พี่คิดว่าสุดท้ายมันก็จะกระทบอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น เขาก็จะทำกองทุนพัฒนาดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งเงินจะมาจาก กสทช. กองทุนนี้จะเป็นนิติบุคคล ซึ่งสามารถเอาเงินปล่อยให้ใครกู้ก็ได้ ปล่อยเงินให้ใครก็ได้ แข่งกับเอกชนก็ได้ ซึ่งก็งงว่าเขาสามารถที่จะทำทุกอย่าง มีส่วนในการเขียนแผนให้ดูเป็นเรื่องของนโยบายด้วย แข่งกับเอกชนด้วย และอาจจะมีบทบาทในการกำกับด้วย ทั้งหมดนี้ก็จะใช้เงินนอกงบประมาณทั้งสิ้น มันก็เป็นคำถามว่า เขียนขึ้นมาเพื่ออะไร กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของใคร ทำไมถึงเขียนมาแบบนี้ คือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมันมีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหน ทำไมไม่ให้เข้าระบบงบประมาณที่จะมีฝ่ายค้านดูแล แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่ากองทุนนี้จะไม่ถูกฉวยโอกาสกลายเป็นของเล่นของเพื่อนของคนที่เขียนกฎหมาย หรือว่าผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนี่ก็จะยิ่งมีอำนาจมากขึ้นโดยที่ไม่สมควร คือไม่ได้มาด้วยความเก่ง มันก็คืออยู่ดีๆ ก็จะมาใช้เงินนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งก็อาจจะกระทบกับ user ปลายทาง ในแง่ของการบริการที่อาจจะไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร เป็นเรื่องของนวัตกรรมที่หายไป คือถ้าไม่มีกฎหมายแบบนี้เราก็อาจจะได้เห็นนวัตกรรมมากขึ้น ถ้ารัฐสนับสนุนอย่างเท่าเทียมแล้วก็มาพยายามมาแข่งกับเอกชน ยังไม่นับเรื่องคอรัปชั่นอะไรต่างๆ
พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อันนี้หายไปสักพักแล้ว ซึ่งตอนแรกสุด ความเป็นห่วงที่ใหญ่ที่สุดก็คือ การจะให้อำนาจในการมาสอดแนม สอดส่อง ดักข้อมูล อันนี้ก็ร่างล่าสุดไม่แน่ใจว่ามันจะกลับมาเมื่อไหร่ และมันจะมีตรงนี้อยู่ไหม แต่ร่างเดิมก็จะมีปัญหาการให้อำนาจในสอดแนมแบบเหวี่ยงแห สอดแนมใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ คนที่ไม่ให้ข้อมูลมีความผิด อันนี้ก็เป็นอุปสรรค คือมันไม่มีความชัดเจน สิ่งที่นักธุรกิจทุกคนต้องการเบื้องต้นเลยก็คือความชัดเจนจากรัฐว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง อะไรบ้างที่จะเป็นความผิด อะไรบ้างที่จะไม่เป็นความผิด ภาระเขาจะเพิ่มเมื่อไหร่ตอนไหน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้สุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนได้
สิ่งที่นักธุรกิจทุกคนต้องการเบื้องต้นเลย
ก็คือความชัดเจนจากรัฐว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง
อะไรบ้างที่จะเป็นความผิด อะไรบ้างที่จะไม่เป็นความผิด
แล้วก็ตัวสุดท้ายคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมันก็จะเป็นครั้งแรกที่เรามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันนี้ก็สำคัญมากเหมือนกัน เพราะว่าในหลายๆ เรื่องที่เราเซ็งว่า ธนาคารได้เบอร์ฉันมายังไง อยู่ดีๆ ก็มีคนแปลกหน้าโทรเข้ามาแล้วก็ไม่ยอมบอกว่าได้เบอร์จากไหนเนี่ย มันก็ควรจะมีกฎหมายที่เข้ามาคุ้มครองเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจน สมมติว่าเราทำธุรกรรมกับใครก็ตามแล้วมีคนอื่นได้เบอร์เราไป การที่เขาเอาข้อมูลเราไปบอกโดยที่ไม่ถามเรา จะถือว่าเขามีความผิด จะมีกลไกในการคุ้มครองว่า เขาต้องมาขอความยินยอม ว่าเราจะยอมให้เขาเอาไปทำอย่างอื่น หรือถ้าเขาจะเอาไปทำอะไรบ้าง ก็ต้องมีการอธิบายที่เราเข้าใจ อันนี้เป็นหลักการเบื้องต้นซึ่งมีร่างหนึ่งในเส้นทางในร่างกฎหมาย ซึ่งมันก็ดูเหมือนจะทำตามหลักนี้ แต่ว่าร่างท้ายๆ ก็จะเริ่มมีความกังวลกันว่า เอ๊ะ ไอ้หลักพวกนี้มันจะยังอยู่ไหม คือร่างล่าสุดที่ได้เห็น เข้าใจว่าตั้งแต่เดือนเมษาแล้วเนี่ย ก็คือ ร่างเหล่านี้ หลักการมันไม่ค่อยเคลียร์ว่าจะไปตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งดึงเอาคนที่มาจากการเป็นตัวแทนผู้บริโภคออกไป มันก็จะกลายเป็นว่าคณะกรรมการก็จะไม่ได้มีคนที่เป็นผู้แทนผู้บริโภคได้ ก็แปลกดี แล้วก็คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเนี่ยก็จะไม่ทรัพยากรเป็นของตัวเอง คือไม่มีสำนักงานเลขา สำนักงานเลขาต้องไปเอาทรัพยากรของสำนักงานมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เรื่องความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งมันก็ดูประหลาดมากว่าทำไมไปเอาสำนักงานมั่นคงไซเบอร์มาดูแลเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทั้งๆ ที่มันเป็นคนละเรื่องกัน มันควรจะเป็นคนละ set ที่มีความคิดไม่เหมือนกัน
สุดท้ายเมื่อ ‘Digital Economy’ และ ‘Thailand 4.0’ มันมีความหมายครอบคลุมไปถึงในทุกภาคส่วน อย่างที่เราเห็นกันอยู่แล้วว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมันเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คงไม่แปลกถ้ารัฐจะมีมาตรการหรือนโยบายอะไรบางอย่างเพื่อควบคุมการใช้งานเนอะ เพียงแต่เราเองในฐานะประชาชน ก็ควรที่จะต้องรู้เท่าทันกลไกการใช้นโยบายเหล่านั้น รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของไอ้สิ่งที่เราดูๆ อ่านๆ กันอยู่ทุกวัน เพราะนั่นก็ถือเป็นรายละเอียดสำคัญในชีวิตเหมือนกัน
Cover Illustration by Namsai Supavong