‘ความเหงา’ มีอิทธิพลเหนือพวกเราทุกคน มันแปรเปลี่ยนร่างกายไปพร้อมๆ กับจิตใจ แต่หากเราเข้าใจกลไกที่ความเหงากำลังสื่อสาร มันอาจเยียวยาพวกเราจากความเดียวดายอันเจ็บปวด
ลองจินตนาการว่าคุณมีหน้าที่เป็น ‘Zookeeper’ คนดูแลสัตว์ในสวนสัตว์ที่ออกจะพิกลหน่อยๆ เพราะที่แห่งนี้เลี้ยง ‘มนุษย์’ เอาไว้แทนสัตว์ที่คุณคุ้นชิน ดังนั้นหน้าที่รับผิดชอบของคุณคือการออกแบบสภาพแวดล้อมเบื้องต้นให้เหล่ามนุษย์ที่คุณดูแลมีชีวิตรอดตลอดภารกิจ มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้มนุษย์เหล่านี้มีสุขภาพดี?
คุณให้น้ำพวกเขาหรือเปล่า? อาหารที่ให้กินมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหรือไม่? ที่กำบังแดดและกำบังฝนแข็งแรงทนทานแล้วหรือยัง?
“สิ่งแรกที่คุณควรทำเลยนะ ตอบให้ได้ก่อนว่า คุณออกแบบกรงเพื่อให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นแล้วหรือยัง?”
John Cacioppo นักประสาทวิทยาเคยกล่าวติดตลกเอาไว้
“มนุษย์ไม่สามารถตัดขาดความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกัน แม้ อาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัยจะพร้อมแค่ไหนก็ตาม”
ความเหงา (Loneliness) คือจุดตัดที่ไม่ลงตัวของความคาดหวังต่อสังคมและความเป็นจริง (Social Expectation vs. Reality) แต่อุปสรรคอันใหญ่หลวงคือ เราไม่สามารถสื่อสารความเหงาออกไปได้ตรงๆ เหมือนกับความต้องการพื้นฐานอื่นๆ ความย้อนแย้งในการสื่อสารความเหงา อาจยากกว่าการอยู่กับความเหงาด้วยซ้ำ
แม้คุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงใครไว้ในกรงราวกับสัตว์ (หรือใครทำเช่นกันก็ควรแจ้งตำรวจโดยด่วน) แต่ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เองค่อยๆ ห่างไกลจากปฏิสัมพันธ์ดั้งเดิมทางสังคมจนเกิดช่องว่างคล้ายหุบเหว แม้เราต้องการคนอื่น แต่กลไกทางสังคมก็ไม่ได้เอื้ออำนวยสักเท่าไหร่ สถานที่ทำงานเองอาจไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คุณสานสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ตั้งแต่ต้น ครอบครัวเชิงเดี่ยวที่กระจายตัว หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเองที่เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบหน้าใครๆ
เป็นคนเหงา ไม่ได้ปฏิเสธสังคม
คนที่รู้สึกเหงา ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือเป็นพวกปฏิเสธสังคม เพราะแม้คนที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากๆ เป็นประจำทุกวัน ก็ยังรู้สึกตัวเองเป็น ‘คนนอก’ แม้จะอาศัยในพื้นที่ที่อัตราประชากรหนาแน่นก็ตาม
ระยะหลังๆ หน่วยงานที่ดูแลด้านสุขอนามัยเริ่มเห็นความเหงาเป็นภาวะทางสุขภาพที่เหมือนคลื่นใต้น้ำค่อยๆ ปั่นป่วนผู้คน งานวิจัยหลายชิ้นก็พัฒนาขึ้นเพื่อตอบปัญหาความเหงาที่เชื่อมโยงเข้ากับโรคทางคลินิก
ความเหงาทำให้สุขภาพแย่ลง คนที่อยู่คนเดียวเป็นเวลานานมักเสี่ยงโรคเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับหัวใจ และโรคประสาทถดถอยก่อนวัยอันควร และโรคมะเร็ง ของพวกนี้มักวนเวียนอยู่กับความเหงา เพราะคนที่อยู่อย่างโดดเดียวมักมีวิถีชีวิตที่ Unhealthy เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
การศึกษาแบบ Meta-analysis กว่า 150 ชิ้น เชื่อมโยงปัญหาสุขภาพกับปัญหาความสัมพันธ์ของมนุษย์ ตั้งแต่การดื่มแอลกอฮอล์หนัก สูบบุหรี่จัด ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้อ้วน หรือขี้เกียจไม่ทำอะไรเลย (inactivity) จนอนุมานได้อย่างหยาบๆ ว่า คนเหงาๆ มักเสี่ยงตายกว่าคนที่มีความสัมพันธ์ดีถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนที่อยู่อย่างโดดเดียวมักทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพโดยที่ไม่ได้รับการเตือนหรือได้ฉุกคิดจากคนรอบตัว
ความเหงาเปล่าเปลี่ยว (Loneliness) มักถูกนิยามอย่างคลาดเคลื่อน โดยคนทั่วไปมักพิจารณาเพียงว่า มีเพื่อนน้อย ไม่มีคู่ (ดังนั้นจำนวนเพื่อนใน friend list ก็ไม่ได้ยืนยันว่าคุณจะไม่ใช่คนเหงา) ความเหงามักมาเยือนแบบไม่ได้ตั้งใจ (Unintentional) จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่คลาดเคลื่อนจากความคาดหวังไว้เบื้องต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด ผู้คนจึงค่อยๆ ผละออกจากสังคม ตามกลไกทางธรรมชาติเพื่อแสวงหาความสบายใจ ตั้งแต่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม หรือถอนตัวออกจากสังคมแบบถอนรากฐานโคน ความอ่อนไหวของแต่ละคนต่อปฏิกิริยาทางสังคมนั้นต่างกัน บางคนรับมือกับความผิดหวังได้ดี หรือยอมเป็นผู้แพ้บ้างในสายตาคนอื่น แต่บางคนกลับรู้สึกถูกซ้ำเติมและย่ำแย่กว่า
ดังนั้นหากจะสื่อสารความเหงา อาจเริ่มจากทำความเข้าใจประเภทความเหงาเสียก่อน
เหงาฉับพลัน (Acute) vs. เหงาเรื้อรัง (Chronic)
เราสามารถคาดเดาความเหงาจากช่วงเวลาหนึ่งไปบรรจบอีกช่วงเวลาหนึ่งได้คร่าวๆ โดยเฉพาะในช่วงชีวิตที่เจอเหตุเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ๆ เช่น ต้องย้ายบ้านไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย มีลูกคนแรก หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เหตุการณ์เช่นนี้เป็นความเหงาที่เข้ามาอย่างฉับพลันทันด่วน มันจึงเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนหนึ่งจะขอพักใจ หายหน้าหายตาไปสักระยะหนึ่ง ไม่อยากสื่อสารกับใคร กระบวนการเยียวยามักขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน ซึ่งเป็นภาวะเหงาตามธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตสามารถรู้สึกได้
แต่เมื่อความเหงาเข้ายึดเวลาส่วนใหญ่ไปจากชีวิต มันมีอิทธิพลในการปรับเปลี่ยนทางกายภาพของพวกเรา มันเปลี่ยนวิธีคิดและการแสดงออก ซึ่งมักคาดเดายาก และหาวิธีบำบัดให้ตรงจุดได้ลำบากกว่า เพราะ คนเหงามักปฏิเสธการร่วมมือใดๆ ที่รู้สึกไม่เชื่อมโยง กลไกของสมองจะไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาหาความช่วยเหลือ จนพัฒนาเป็นภาวะเหงาเรื้อรัง (Chronic loneliness) ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาเข้ามาช่วยเหลือด้วย
ความเหงาเรื้อรังมีอิทธิพลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำให้ระบบประสาทเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวเป็นเวลานาน มีแนวโน้มที่โรคที่กำลังเผชิญอยู่หายยากขึ้นหรืออักเสบ
เหงาจากทางสังคม vs. เหงาจากอารมณ์
‘ความโดดเดี่ยวทางสังคม’ อาจนิยามว่า บุคคลพยายามปลีกตัวออกจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูงในระดับปัจเจก โดยมูลนิธิ UK Mental Health Foundation ใช้การประเมินผ่านความถี่ที่พวกเรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทั้งในสังคมโลกเสมือน (ออนไลน์) และโลกกายภาพจริง
แต่ ‘ความเหงาจากอารมณ์’ คือบุคคลที่มักแยกตัวออกมาโดยไม่คำนึงถึงเครือข่ายทางสังคมใดๆ เป็นความเหงาที่เกิดจากอารมณ์เป็นตัวขับดัน แม้พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนหรือครอบครัวแล้วก็ตาม ความเหงาทางอารมณ์มักเป็นอย่างฉับพลันเมื่อพวกเราเผชิญจังหวะชีวิตที่ยากลำบาก แต่ทั้งสองแบบล้วนเป็นความเหงาที่มีผลลบต่อร่างกายและจิตใจ
มาสำรวจความเหงากันเถอะ
เครื่องมือสำรวจความเหงาที่เป็นที่นิยมมักเป็นแบบสำรวจของมหาวิทยาลัย California ในปี 1978 โดย Daniel Russell และทีมงานในชื่อว่า UCLA Loneliness Scale โดยเวอร์ชั่นเต็มๆ มีคำถามราว 20 คำถาม แต่ทีมวิจัยเองก็มีเวอร์ชั่นขนาดสั้น 10 ข้อเพื่อเพิ่มความสบายใจและคุ้นเคยให้กับผู้ตอบ
ลองตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการให้คะแนน 1 ถึง 4
- 1 = ไม่เคย
- 2 = นานๆ ครั้ง
- 3 = บางครั้ง
- 4 = ทุกครั้ง
- คุณรู้สึกไม่มีความสุข เมื่อต้องทำอะไรตัวคนเดียว
- คุณรู้สึกไม่มีใครให้คุยด้วย
- คุณรู้สึกทนไม่ได้ ที่ต้องอยู่กับความเหงา
- คุณรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของคุณ
- คุณรู้สึกต้องรอคอยยาวนาน เพื่อให้ใครสักคนเขียนหรือตอบข้อความ
- คุณรู้สึกเปล่าเปลี่ยวบ่อยครั้ง
- คุณรู้สึกไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ
- คุณรู้สึกโหยหาความสัมพันธ์
- คุณมักเผชิญความยากลำบากในพบเพื่อนใหม่
- คุณรู้สึกถูกปิดกั้นจากคนอื่นๆ
มาคิดคะแนนกันดีกว่า!
หากคุณทำได้ 20 คะแนน ถือว่าเป็นระดับปกติที่คนส่วนใหญ่ล้วนเผชิญความเหงา
หาก 25 คะแนนขึ้นไป มีแนวโน้มที่คุณจะมีอาการเหงาค่อนข้างมาก
และ 30 คะแนนขึ้นไป คุณมีแนวโน้มเหงาเรื้อรัง (Chronic loneliness) ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาวได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการแนะนำหรือบำบัด
การพยายามทำความเข้าใจความเหงาของตัวเองอาจเจ็บปวด เพราะการเปิดใจยอมรับครั้งแรกเป็นเรื่องยาก แต่สถานการณ์ความเหงาอาจผ่อนคลายความเป็นตราบาป (Stigmatize) ที่มักติดตามคุณว่า ชีวิตแย่ๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีความเหงาเป็นเหตุ มันอาจจะแย่เพราะปัจจัยร่วมอื่นๆ ด้วย มิใช่ความเหงาเป็นเหตุ
บางครั้งความเหงาก็จู่โจมเราดั่งสัตว์ป่า มันยากที่จะต่อกรด้วยท่อนไม้หรือลงนอนเพื่อให้ความเหงาผ่านพ้นไป การยอมรับว่าตัวเองเหงา อาจเป็นหนทางที่สื่อสารให้คนรอบข้างเข้าใจมากที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Russell, D , Peplau, L. A.. & Ferguson, M. L. (1978). Developing a measure of loneliness.
- Journal of Personality Assessment, 42, 290-294
- The Age of Loneliness | Mental Health Foundation
- New Scientist: July 2017