2021 อาจจะเป็นปีที่เหน็ดเหนื่อย ปวดร้าว ท้อแท้ หรือยิ้มปนเศร้าสำหรับใครหลายๆ คน สัปดาห์สุดท้ายของปี เราเลยขอหยิบเอา ‘10 บทเรียนจากพฤติกรรมศาสตร์ที่จะช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น’ โดย ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี จากในงาน Behavioural Science Festival 2021 มาแบ่งปันและชวนให้ทุกคนทบทวนตัวเองอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นปี 2022 กันอย่างมีความสุขมากขึ้น
บทเรียนที่ 1 : รีบมูฟออนจากสิ่งที่เอากลับคืนมาไม่ได้
เราต่างก็มีบางเรื่องที่ ‘มูฟออน’ กันไม่ได้ง่ายๆ นั่นอธิบายได้ด้วยคำว่า ‘Loss Aversion’ ในพฤติกรรมศาสตร์ คือเรามักมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสีย มากกว่าความพยายามให้ได้มาถึงสองเท่า นั่นก็เพราะ ‘ต้นทุนจม’ หรือ Sunk Cost ที่เราได้ยินกันมานาน แต่ก็ยังยอมแพ้ให้มันทุกที
ต้นทุนที่เราลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือความรู้สึก เราเอามันกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว ในเชิงของพฤติกรรมศาสตร์ เรามักเอาต้นทุนเหล่านี้มาคำนวณ แล้วทำให้มีบทบาทในการตัดสินใจของเรา นั่นทำให้ความรู้สึกเสียดายมันมีเต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นสมาชิกฟิตเนส แล้วไม่เคยได้ไป แต่ก็ยังไม่ยกเลิก หรือการคบแฟนที่ไม่ได้ดีต่อใจเราอีกต่อไป แต่ก็ยังไม่ยอมเลิกรา เพราะความรู้สึกเสียดายวันเวลาที่เราเสียไปแล้วในอดีต
เศรษฐศาสตร์ความสุขสอนเราว่า มันจะดีต่อใจในระยาวมากกว่า ถ้าเราลืมต้นทุนจมไปเสีย เราต้องเข้าใจ Loss Aversion และอย่าปล่อยให้มันมีอำนาจต่อการตัดสินใจของเราในอนาคต ถ้าสิ่งนั้นมันไม่ได้มีความหมายกับเราแล้วในตอนนี้ ก็ทิ้งมันไปซะ แล้วมูฟออนกันเถอะนะ
บทเรียนที่ 2 : คิดถึงในสิ่งที่คุณมักจะไม่คิดถึงบ้าง
แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) นักวิจัยด้านจิตวิทยาบอกว่า “คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่เก่งในการคาดการณ์ความรู้สึกของตัวเองในอนาคต” หรือพูดง่ายๆ คือ หลายครั้งเราคิดว่าเราเลือกสิ่งนี้ไป แล้วมันจะทำให้เรามีความสุขในอนาคต แต่บ่อยครั้งก็ไม่เป็นแบบนั้น
นั่นเป็นเพราะ ‘Focusing Illusion’ หรือการที่เราอาจจะเน้นความสนใจไปยังบางสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากจนเกินไป จนเกิดภาพลวงตาว่ามันจะทำให้เรารู้สึกสุขหรือทุกข์ในอนาคตได้ ทั้งที่เมื่อมันเกิดขึ้นจริงแล้ว มันอาจจะไม่ได้มีผลกระทบระยะยาวต่อเรา หรือมีปัจจัยอื่นๆ อีก ที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสุขหรือทุกข์กับสิ่งนั้นขนาดนั้น เศรษฐศาสตร์ความสุขจึงเตือนเราให้รู้ว่ามีภาพลวงตานั่นอยู่ และเผื่อใจคิดถึงสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงในการคาดการณ์ความรู้สึกของเราบ้างก็ได้
บทเรียนที่ 3 : ความสุขของเราล้ม(แล้ว)ลุกได้เร็วกว่าที่เราคิด
มีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขที่ติดตามความสุขของคนคนหนึ่งติดต่อกันหลายๆ ปี แล้วพบว่าจริงๆ แล้วพวกเราหลายคนมีความสามารถในการล้มแล้วลุก (Resilience) หรือปรับตัวกลับมามีความสุขในชีวิตได้ดีกว่าที่เราคิด แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าโศกเศร้าอย่างการสูญเสียคนรักหรือความพิการก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้หรือวันหนึ่งคุณล้ม เศรษฐศาสตร์ความสุขก็อาจจะโอบไหล่คุณแล้วก็บอกกับคุณว่า เดี๋ยวคุณก็จะลุกเองได้ไหว
บทเรียนที่ 4 : ภูมิคุ้มกันการเสียใจ คือสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ไม่รู้ตัวว่ามี
อาจารย์ณัฐวุฒิชวนพวกเราจินตนาการว่า ถ้าวันแต่งงานของคุณเมื่อ 5 ปีก่อน คุณกำลังรอเจ้าบ่าว/เจ้าสาวของคุณอยู่ แต่เขาเลือกที่จะไม่มาปรากฏตัวในงานแต่งงาน ณ ตอนนี้ คุณจะคิดว่าวันนั้นเป็นวันที่ดีที่สุดหรือเลวร้ายที่สุดในชีวิตของคุณ?
คนส่วนใหญ่ตอบว่านั่นเป็นวันที่ดีที่สุด โดยมองว่า ถ้าเหตุการณ์วันนั้นไม่เกิดขึ้น เราอาจจะต้องทนเสียใจอยู่กับคนๆ นั้นในวันนี้ หรือถ้าวันนั้นเราไม่โดนทิ้ง เราอาจจะไม่ได้เจอคนที่เราเจอในวันนี้ก็ได้ นั่นเป็นเพราะมนุษย์เรามีความสามารถในการ ‘Cooking with Facts’ หรือการหยิบข้อมูลต่างๆ มาปรุงแต่ง หาเหตุผลให้ตัวเองเพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น เราเรียกการทำงานของสมองของเรานี้ว่า ‘ภูมิคุ้มกันการเสียใจ’ (Psychological Immune System) ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้มนุษย์หลุดออกจากความทุกข์และอยู่รอดมาได้
แต่เรามักไม่ค่อยรู้ว่าเรามีสิ่งนี้ ทำให้ในระยะสั้น คนเรามักจะไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวว่าเราจะรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ทำแล้วออกมาไม่ดี มากกว่าสิ่งที่เราไม่ได้ทำ แต่งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขบอกกับเราว่า ในระยะยาว คนเราส่วนใหญ่มักจะเสียใจกับสิ่งที่เราอยากจะทำแต่ไม่ได้ทำมากกว่า เพราะเราแทบจะหาเหตุผลมาอธิบายการไม่ทำของเราไม่ได้เลย
บทเรียนที่ 5 : คิดต่างบ้าง เพื่อบรรเทาความทุกข์ของกันและกัน
Asch Conformity Experiment หรือการทดลองว่าเราซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของตัวเองแค่ไหน พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากแปลกแยกไปจากกลุ่ม และจะคิดตามเห็นตามเพื่อนในกลุ่ม แม้จะรู้แก้ใจว่าสิ่งนั้นจะผิดก็ตาม แต่มีงานวิจัยที่ต่อเนื่องจากนั้น ที่ทดลองให้มีอีกกลุ่มที่แสดงความคิดต่างเห็นต่างออกมา (แต่ก็ยังเป็นคำตอบที่ผิดอยู่ดี) พบว่าคนมีโอกาสจะแสดงความคิดที่ตัวเองเชื่อว่าถูกออกไปมากขึ้น แม้จะแตกต่างกับทั้งสองกลุ่มหลักก็ตาม
นั่นเพราะเรามักจะกลัวความแปลกแยก และการเห็นคนคิดต่างเพิ่มขึ้น มันช่วยบรรเทาทุกข์ของความแตกต่างของเราได้ การส่งเสริมการคิดต่าง จึงช่วยให้คนเรากลัวผลของความคิดต่างน้อยลง
บทเรียนที่ 6 : Midlife Crisis เป็นเรื่องธรรมชาติ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
จากการศึกษาข้อมูลหลายๆ ชุด พบว่าความสุขของมนุษย์เรานั้นเป็น U-Shape หรือพูดง่ายๆ ว่าทุกคนจะเจอช่วงทุกข์ทนในชีวิตในช่วงวัยกลางคน ที่ผ่านมา นักวิชาการมักจะพยายามอธิบาย Midlife Crisis เกิดขึ้นเพราะตอนที่เรายังอายุน้อย เรามักจะคาดหวังว่าอนาคตมันจะต้องดีกว่านี้ (Optimistic) แต่พอผ่านมาถึงวัยกลางคน เมื่อผ่านอะไรมามากขึ้น เราอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่าอนาคตจะดีไปกว่านี้ได้อย่างไร (Less Optimistic)
แต่ทฤษฎีนี้กำลังถูกทบทวนใหม่ เพราะเมื่อนักวิจัยลองไปศึกษาระดับความสุขในชิมแปนซี แล้วก็พบว่ามีลักษณะเป็น U-Shape เหมือนกัน ทั้งที่ชิมแปนซีก็ไม่มีบริบทชีวิตให้ต้องคิดซับซ้อนเท่ามนุษย์ เศรษฐศาสตร์ความสุขจึงมองว่า เป็นไปได้ที่ Midlife crisis อาจจะเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติเท่านั้น ยังไงมันก็จะต้องมา แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
บทเรียนที่ 7 : ค้นหาความหมายของสิ่งที่กำลังทำเพื่อให้เราเจอความสุข
งานวิจัยด้านพฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior) หลายชิ้นบอกเราว่า คนที่มีความสุขในการทำงาน เกิดจากการค้นพบความหมายในสิ่งที่ทำ ซึ่งจะส่งผลต่อไปให้คนคนนั้นประสบความสำเร็จ อาจารย์ณัฐวุฒิยกงานวิจัย Man’s search for meaning: The case of Legos ของ Dan Ariely ขึ้นมาเล่าให้ฟัง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้คนสองกลุ่มที่ต้องทำงานเดียวกัน (ในกรณีนี้คือต่อเลโก้) ได้รายได้ไม่ต่างกัน แต่ฝั่งนึงทำเสร็จแล้วได้ตั้งโชว์ อีกฝั่งนึงทำเสร็จแล้วโดนรื้อทิ้ง กลุ่มที่โดนรื้อทิ้งจะล้มเลิกง่ายกว่า เพราะรู้สึกว่างานที่ทำไปนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย
เศรษฐศาสตร์ความสุขพยายามที่จะบอกเราว่า คนทำงานที่มองไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีความหมายอะไร ย่อมไม่มีทางมีความสุขกับการทำงาน ดังนั้น คนที่เป็นหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน สามารถช่วยด้วยการชื่นชมหรือยกย่องผลงานคนอื่นๆ ได้ ขณะที่ตัวเราเองก็ต้องพยายามค้นหาความหมายให้กับงานของเรา เราอาจจะไม่สามารถทำทุกงานที่มีความหมายได้ แต่เราน่าจะหาความหมายให้ทุกๆ งานได้
บทเรียนที่ 8 : ความสุขในที่ทำงานเกิดจากผู้นำที่มีความสามารถในการทำงาน
อีกหนึ่งงานวิจัยด้านพฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior) คือ เมื่อวัดปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความพึงพอใจของพนักงานในการทำงานแล้ว (job satisfaction) พบว่าความสามารถของผู้นำ/เจ้านาย มีผลต่อความสุขหรือความพึงพอใจมากกว่าปัจจัยอื่นๆ แม้แต่เงินเดือนหรือความก้าวหน้าทางอาชีพด้วยซ้ำ ดังนั้น คนเป็นผู้นำ หรือการเลือกคนมาเป็นผู้นำ จึงเป็นปัจจัยที่มีผลมากๆ กับความสุขของทีม องค์กร สังคม หรือประเทศ
บทเรียนที่ 9 : หา State of Flow ให้เจอ
คุณเจอหรือยัง? อะไรสักอย่างที่คุณทำแล้วมีความรู้สึกว่าลืมโลกภายนอก รู้สึกว่าเวลามันช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน นั่นแหละสิ่งที่ทำให้คุณอยู่ใน ‘State of Flow’ อาจารย์ณัฐวุฒิแนะนำวิธีการหาสิ่งนั้นหรือจุดนั้น (Sweet Spot) โดยการบาลานซ์ระหว่างระดับความสามารถและความยากง่ายของกิจกรรมนั้นๆ ถ้าเราหาจุดนั้นได้ ก็จะเจอสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถปรับใช้ไอเดียนี้กับงาน/ผลิตภัณฑ์/บริการที่เราทำอยู่ได้เหมือนกัน ว่า ‘State of Flow’ ของลูกค้าหรือผู้ชมของเรานั้นอยู่ตรงไหน
บทเรียนที่ 10 : สมองของเราสามารถกำหนดความสุขและอนาคตของเราได้
สังเกตไหมว่า คนรอบๆ ตัวเราก็มีความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) จากความทุกข์ประเภทเดียวกันแตกต่างกัน ตัวเเปรของพฤติกรรมที่ทำให้ใครบางคนมูฟออนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าคนอื่นนั้นมีชื่อว่า ‘Locus of Control’ หรือระดับความเชื่อว่า เราสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนเเปลงอนาคตของตัวเราเเละคนรอบข้างได้มากน้อยแค่ไหน
อาจารย์ณัฐวุฒิได้ยกตัวอย่างผลลัพธ์ของหลักสูตร ‘Lessons on Grit’ ที่ใช้สอนเด็กๆ ในต่างประเทศให้เปลี่ยนหรือสร้างอนาคตของตัวเองได้ บทเรียนสุดท้ายของเศรษฐศาสตร์ความสุขจึงพยายามบอกเราว่า คนเราสามารถฝึกสมองให้เลิกคิดแบบคนหมดหวังได้ ไม่มีนิสัยหรือความคิดอะไรที่เปลี่ยนไม่ได้ และนี่ก็คือหนึ่งในแนวคิดของ Growth Mindset ที่กระทรวงศึกษาธิการ ควรนำมาเป็นหนึ่งในหลักสูตรของการศึกษาไทย