หาก ‘ผู้แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นจึงอยู่รอด‘ แล้วเหตุใดมนุษย์ถึงมีศีลธรรมได้?
ถ้าทุกชีวิตหื่นกระหายความเป็นหนึ่ง ทำไมเราถึงรู้สึกอยากช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความโศกเศร้า?
ที่แน่ๆ ของแบบนี้ ‘ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ’ มีอะไรซ่อนอยู่ในวิวัฒนาการ 6 ล้านปีที่พัฒนามนุษย์สมัยใหม่ให้มีศีลธรรม (morality)
โอเค หากคุณตอบว่า มีไอเดียพื้นฐานว่าทำไมสิ่งมีชีวิตถึงช่วยเหลือผู้อื่น คำตอบแรก สิ่งมีชีวิตพยายามรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเองที่แชร์พันธุกรรมร่วมกันในครอบครัว ดังนั้นการดูแลซึ่งกันและกันก็เท่ากับรักษาเผ่าพันธุ์ตัวเอง (ไม่ผิดนี่) หรือคำตอบที่สอง เมื่อมีคนมาเกาหลังให้คุณ คุณก็ควรเกาหลังคืนให้เขาเช่นกัน นั่นเป็นการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันที่น่าจะมีอะไรดีๆ ต่อไปในภายภาคหน้า (ก็ไม่ผิดอีก)
แต่ ‘ศีลธรรม’ (morality) ไม่ได้มีกรอบเพียงแค่การทำดีกับญาติมิตรหรือแชร์ผลประโยชน์ เพราะบางครั้งคุณต้องเสี่ยงตัวเอง วิ่งเข้าไปในกองไฟ ปกป้องคนไม่มีทางสู้จากความอยุติธรรม และเป็นไปได้เมื่อเขาได้ประโยชน์จากคุณก็กลับบ้านหน้าตาเฉย แล้วลืมคุณไปอย่างถาวร
ศีลธรรมจึงละเอียดอ่อนมากกว่าผลประโยชน์ แต่เป็นการรู้สึก (feel) ถึงการมีตัวตนของผู้อื่น ซึ่งเราล้วนต้องพึ่งพาไปพร้อมๆ กับดูแลผู้อื่นเช่นกัน งานศึกษาใหม่ๆ ใช้เงื่อนไขของวิวัฒนาการและกลุ่มสังคม (social group) เข้ามาตอบคำถามเชิงศีลธรรมที่เราค่อยๆ สร้างขึ้นอย่างมีนัยยะ
แล้วการดิ้นรนในโลกกว้างเป็นแรงผลักดันให้เราต้องมีสมดุลในทางศีลธรรมอย่างไร ขอเชิญเดินทางไปพร้อมๆกัน
6,000,000 ปีก่อน
เรายังทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง (Self-interest)
สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติล้วนทำงานกันแข็งขัน (คุณในปัจจุบันก็ทำงานเก่ง) พวกเรามีการแบ่งหน้าที่กัน แต่เน้นในสายพันธุ์เดียวกันที่อยู่ในฝูงเดียว ซึ่ง 6 ล้านปีก่อน มนุษย์ยังมีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มวานร แม้จะนานเหลือเกิน แต่วานรกลับมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่นสูง และแปรเปลี่ยนตามสิ่งเร้าได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่พวกเราต้องการ มีบ้างที่เราต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ร่วมมือกันบ้าง และจำต้องแข่งขันในฝูงที่อาจมีบรรยากาศตึงเครียดชิงดีชิงเด่น ซึ่งก็ล้วนเกิดมาเป็นล้านๆ ปี
แต่อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษของคุณยังมีเพียง เจตนาเฉพาะปัจเจก (Individual Intentionality) ที่เราสะท้อนได้จากลิงชิมแปนซี (ที่ว่าใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด) คือมีพฤติกรรมเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง และน่าจะสันนิฐานได้ว่าโฮมินิดส์กลุ่มแรกๆ น่าจะมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน
5,000,000 ปีก่อน
เริ่มออกหาของป่า (Collaborative foraging)
บรรพบุรุษของคุณโทรสั่งไก่ทอดมาส่งหน้าต้นไม้ไม่ได้ พวกเราจึงรวมกลุ่มกันเล็กๆ เพื่อออกไปหาของป่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การออกหาของป่าที่ทำงานร่วมกัน (collaborative foraging) เป็นพฤติกรรมแรกๆ ที่มนุษย์เริ่มเห็นผู้อื่นในสายตา เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม
การออกไปหาอาหารเป็นความเสี่ยงภัยอย่างยิ่งยวดที่คุณต้องเผชิญอันตราย โฮมินิดส์กลุ่มแรกๆ จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ออกเดินทางไปพร้อมๆ กัน แม้จะมีสัญญาณของการทำงานร่วมกันที่น่าชื่นชมแล้ว แต่เรายังคงทำแบบตัวใครตัวมัน คือออกไปหาอาหารด้วยกัน แต่ใครเจอก่อนได้ก่อน เก็บผลไม้กันเอง แยกกันกิน ไม่กินด้วยกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม
2,000,000 ปีก่อน
มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะส่งผ่านทักษะ (The new skills in making stone tools)
การเรียนรู้และการเลียนแบบเป็นกระบวนการหนึ่งที่งดงามในวิวัฒนาการของคุณ มนุษย์รุ่นบุกเบิกหาของป่ากันแบบตามมีตามเกิดอยู่หลายล้านปี อาหารเริ่มหายากขึ้น อยู่ในที่มือเปล่าๆ เอื้อมไม่ถึง มีเปลือกแข็ง เพราะอาหารเองก็ไม่ได้อยากถูกคุณกินง่ายๆ
ในช่วงเวลานี้เอง มนุษย์กลุ่ม Homo ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีสมองที่ใหญ่และโดดเด่น บวกกับทักษะที่สามารถใช้มือและนิ้วได้อย่างคล่องแคล้ว สู่การทำเครื่องมือหิน (stone tools) จากที่เมื่อก่อนหากิ่งไม้มาแยงรังปลวกได้เสร็จแล้วก็ทิ้งไม้ไป มนุษย์ Homo เริ่มมีความต้องการใช้ของอำนวยความสะดวกนี้ ‘หลายครั้ง’ อยากพกติดตัวไปด้วย มนุษย์ Homo จึงมองของธรรมดาๆ ในธรรมชาติให้กลายเป็น ‘เครื่องมือ’
การทำเครื่องมือหินสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าจะกะเทาะได้มุมที่คมและทนทานนั้นต้องใช้ความอุตสาหะสูง ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะจดจ่อมีสมาธิในการสร้าง จากนั้นก็ส่งต่อไปให้สมาชิกอื่นๆ ในฝูงเรียนรู้เพื่อจดจำกระบวนการสร้างเครื่องมือ
เมื่อมนุษย์ส่งต่อความรู้ให้แก่กัน ทำให้เราเริ่มเห็นความสำคัญต่อผู้อื่น เพราะเราไม่ได้ดิ้นรนต่อไปอย่างเดียวดาย
400,000 ปีก่อน
การอุบัติของ ‘เจตนาร่วมกัน’ ( Joint intentionality)
ความปราดเปรื่องในหลายล้านปีที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่ามนุษย์ยังไม่เผชิญกับข้อจำกัดที่เป็นทางตัน เมื่อ 400,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของมนุษย์สายพันธุ์ Homo heidelbergensis ต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งการเก็บของป่าไม่ท้าทายพอ เราต้องการโปรตีนเพื่อเสริมสร้างพลังงานสำคัญ ขณะที่จำนวนสมาชิกในฝูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถึงเวลาที่จะต้องล่า (hunting) อย่างมีแบบแผน การล่าสัตว์เป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องทำงานร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยกกันกิน มีลักษณะเป็นกองกลางที่ต้องจัดสรรแบ่งตามลำดับชั้นในฝูง
การล่ายังคงมีความงดงามอย่างยิ่งยวด เพราะทุกคนที่ออกไปล่าต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพียงหนึ่งเดียว มีการแบ่งหน้าที่ตัวล่อ มือสังหาร และมือชำแหละ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับฝูงสัตว์ ซึ่งการทำหน้าที่อย่างเข้มงวดเช่นนี้ไม่พบในชิมแปนซี
200,000 ปีก่อน
เรื่องของ ‘พวกเรา’ มาก่อน ‘ตัวฉัน’ (We before me)
เมื่อนักล่าออกไปเป็นกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่กันเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด ชีวิตของคุณจึงอยู่ในมือผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นครั้งแรกๆ ที่มนุษย์เริ่มมีแนวคิด ‘พวกเรา’ (we) มาก่อนตัว ฉัน” (me) การดำรงอยู่ของเพื่อนๆ ก็เป็นหลักประกันในการมีชีวิตในวันพรุ่งนี้ คุณไม่ได้เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
การแข่งขันระหว่างฝูงของมนุษย์มีความเข้มข้นขึ้น แม้ประชากรจะมีจำนวนมากขึ้น แต่จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ที่พยายามปรับตัวและเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มย่อย(sub group) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกับ ‘วัฒนธรรม’ (culture) ที่มนุษย์ใช้ในการแยกแยะและจำแนกคนจากกลุ่มอื่นๆ หรืออีกนัยหนึ่ง
100,000 ปีก่อน
เพราะเรามีเจตนาร่วมกัน (Collective Intentionality)
แม้คุณจะอยู่เป็นกลุ่มย่อยๆ ที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ในแสนปีที่ผ่านมา ชีวิตจากการอยู่เป็นกลุ่มก้อนทำให้คุณมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มสังคมขยายใหญ่โดยมีวิถีปฏิบัติร่วมกันจนกลายเป็นบรรทัดฐานทางศีลธรรม (moral norm) ที่กำหนดบทบาทแต่ละคนในสังคม ซึ่งภายใต้ศีลธรรมนี้ ทำให้คนในสังคมแยกแยะได้ทันทีว่า สิ่งไหนทำแล้วถูกต้อง สิ่งไหนทำแล้วผิด โดยหลายบรรทัดฐานทางศีลธรรมไม่ได้เป็นเพียงการระบุอัติลักษณ์กลุ่มเท่านั้น แต่ยังแฝงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและความเท่าเทียมเสมอภาคที่ส่งต่อมา สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ สอนให้เราปฏิบัติต่อคนอื่นในทางที่ควร
ศีลธรรมจึงถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่มาพร้อมกับวิวัฒนาการ ซึ่งเราไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่จากเงื่อนไขทางสังคม สิ่งนี้ท้าทายเราอย่างไม่มีวันเสื่อมคลายในฐานะมนุษย์ นั่นคือการมองเห็นคนอื่นในสายตาของคุณเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
A Natural History of Human Morality. Michael Tomasello. Harvard University Press, 2016.
Why We Cooperate