ฟังสิ…ได้ยินเสียงเพลงอันอึกทึกนั้นไหม? เมื่อคุณย่างเท้าเข้าสู่อาณาจักรแห่งดนตรี ร่างกายอันเคยเชื่อว่าเป็นของเราเท่านั้นแล้ว ก็กลับกลายเป็นเบี้ยทาสของ ‘จังหวะ‘ ที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อทุกมัดพลิกผันชุลมุน ราวกับวิญญาณของสรรพสิ่งที่ไม่สามารถเอื้อนเอ่ยนามได้เข้าสิงสู่อย่างสมบูรณ์แบบ
หลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วง ปลายเท้าลอยเหนืออากาศ คุณตกอยู่ในอำนาจของการเต้น แต่ในฐานะมนุษย์แล้ว เรากลับใคร่สงสัยว่า มีเพียงเรา ‘มนุษย์’ เท่านั้นหรือ ที่ตกอยู่ในมนต์สะกดเช่นนี้? ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกไหมที่ตกอยู่ในคาถาแห่งท่วงทำนองและการเต้นรำ เพราะเรายังไม่เชื่อสนิทว่า มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวเท่านั้นที่เข้าใจท่วงทำนอง และวิทยาศาสตร์เองก็มีหลักฐานชัดเจนว่า ในอาณาจักรสิ่งมีชีวิตนี้ ไม่ใช่คุณคนเดียวหรอกที่สนุกกับการเต้นรำ
คุณเต้นครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ผู้เขียนเต้น ‘สวิง’ จนเรียนเป็นเรื่องเป็นราวกับ Bangkok Swing หลายเดือนก่อน แต่หากนึกย้อนไปช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยนู้น ก็เคยทะลึ่งไปลงเรียนวิชาเต้นร่วมสมัย Contemporary Dance ของคณะศิลปะศาสตร์แบบซ่าๆ เอาสนุก ที่เหมือนเปิดหูเปิดตาว่า ไอ้การเต้นอย่างมีหลักมีการนั้น มีรสชาติหวานขมอย่างไร (แต่ก็ได้ A นะเออ)
สวิงแดนซ์ ฮิปฮอบ บัลเลต์ เบรกแดนซ์ และอีกการเต้นรำนับพันท่วงท่า ที่ความยากง่ายถูกนิยามใหม่ทุกๆ ครั้งจากนักเต้นที่พยายามท้าทายอำนาจแรงโน้มถ่วง มอรา กอดอย (Mora Godoy) แดนเซอร์มืออาชีพชาวอาร์เจนติน่าผู้เต้นแทงโก้ (Tango) ราวกับปีศาจ เมื่อคู่เต้นเหวี่ยงเธอไปลอยคว้างกลางอากาศ เธอตีขาท้าทายแรง G ราวกับใบพัดมนุษย์
แต่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นปีศาจอย่าง มอรา กอดอย เพื่อเข้าถึงความสนุกของการเต้น เพราะมันไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ใดๆ เลย เราเห็นได้ว่าทุกอารยธรรมล้วนมีการเต้นรำเป็นของตัวเอง หรือได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมข้างเคียง
แต่อย่างไรก็ตาม การเต้นรำยังพบเห็นได้ยากในอาณาจักรสัตว์ และยิ่งมีน้อยไปอีก เมื่อสัตว์บางชนิดเท่านั้นที่สามารถเต้นตามจังหวะได้ ซึ่งยังไม่มีการพบเห็นพฤติกรรมของสัตว์ที่มีลีลาการเต้นอันซับซ้อนได้เทียบเท่ามนุษย์
ทำไมการเต้นถึงเป็นคุณลักษณะเด่นของมนุษย์ล่ะ?
แล้วทำไมเราทำได้ดีกว่าสัตว์อื่นๆ ?
เร็วๆ นี้ในแวดวงวิทยาศาสตร์ได้พยายามไขปมเหล่านี้ด้วยการทำความเข้าใจกลไกของสมองที่เชื่อมโยงกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งพบว่าทักษะการเต้นของมนุษย์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของ 2 ทักษะใหญ่ๆ คือ การใช้ภาษา (language) และการเดินได้ตรง (upright locomotion) ซึ่งเป็นทักษะที่ส่งเสริมให้เรามีวิวัฒนาการทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอันเป็นรากฐานของอาณาจักรมนุษย์
หรืออาจกล่าวได้ว่า การเต้น (dance) จึงเป็นทักษะที่เกิดขึ้นโดย ‘บังเอิญ’ ในกระบวนวิวัฒนาการของเรา ซึ่งมีส่วนช่วยให้มนุษย์ดิ้นรนอยู่รอดในสังคมที่ผูกพันเหนียวแน่น และการเต้นเป็นทักษะที่ถูกปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพวกเรา
เพราะฉันได้ยินซุ่มเสียงของ ‘จังหวะ’
การเต้นเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการจับจังหวะและการได้ยิน เพื่อให้การเคลื่อนไหวของเราสอดคล้องกับทำนอง เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว นักวิจัยจากแคนนาดา อังกฤษ และอเมริกัน สามารถบ่งชี้ได้ว่า ‘เซลล์ประสาท (nerve cell)’ ในสมองของมนุษย์ สามารถแยกแยะจังหวะ (beat) ออกจากเสียงเร้าภายนอกได้ เราจึงสัมผัสจังหวะของเสียงที่หูไม่จำเป็นต้องได้ยิน โครงข่ายการทำงานนี้เป็นทำให้เราคาดเดาจังหวะครั้งต่อไป (next beat) แม้เราจะไม่ได้ยินเสียงของมันเลยก็ตาม
ดังนั้นเมื่อการเต้นต้องอาศัยเซลล์ประสาทที่จับจังหวะได้ สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว (motor cortex) เริ่มส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ (body muscles) ให้เคลื่อนไหวตามจังหวะที่เซลล์ประสาทกะได้ในเวลาเดียวกัน คุณมักเขย่าขา กระทืบเท้า ดีดนิ้วไปตามจังหวะที่ได้ยิน ยิ่งคุณทำได้ลงจังหวะเนียนเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกพึงพอใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทำนอง นักวิทยาศาสตร์นิยามมันว่าภาวะ Entrainment
การได้ยินเสียงและจับจังหวะของมนุษย์ค่อนข้างยืดหยุ่น นักประสาทวิทยา Aniruddh D. Patel พบว่ามนุษย์สามารถจับจังหวะบีตได้อย่างคงที่ แม้จังหวะจะเร่งให้เร็วขึ้น หรือลดให้ช้าลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ซึ่งทักษะนี้เด็กเพียงอายุ 3 – 5 ขวบก็สามารถทำได้แล้ว
กระนั้นเลยวิทยาศาสตร์เองก็เคยเชื่อว่า มีมนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้เช่นนี้ แต่หลังจากปี 2009 เริ่มมีงานวิจัยที่ข้ามเขตแดนการเต้นไปสู่อาณาจักรอื่นๆ บ้าง พวกเขาพบนกแก้ว (Parrot) นกฮัมมิงเบิร์ด (Hummingbirds) นกเกาะคอนที่มีเสียงไพเราะ (Songbird) และนกกระตั้ว (Cockatoo) สามารถจับจังหวะและเต้นตามเพลงของ Backstreet Boys ได้น่าประทับใจตามสไตล์นก
มันเลยเถิดไปถึงสิงโตทะเลที่มีชื่อว่า Ronan ก็โยกหัวตามเพลงได้อย่างน่ารักน่าชัง สัตว์เหล่านี้สามารถจับจังหวะคล้ายกับภาวะ Entrainment ของมนุษย์ กลายเป็นว่า มนุษย์อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวเสียแล้วที่เต้นตามจังหวะดนตรี?
เกมแห่งการลอกเลียน
เมื่อการเต้นเชื่อมโยงกับการได้ยินเสียงและเคลื่อนไหว Aniruddh D. Patel ตั้งสมมติฐานว่า ในกรณีที่นกเหล่านี้สามารถเต้นตามเพลงได้ พวกมันต้องเป็น ‘นักลอกเลียน’ มือฉมัง ซึ่งทักษะการเลียนเสียง (mimic sound) ของนกที่พูดได้จากการเลียนเสียง ทำให้พวกมันคาดคะเนจังหวะของดนตรีได้ โดยเป็นการเรียนรู้เสียงในธรรมชาติที่เรียกว่า ‘Vocal learning’
สัตว์จำพวกนกจะฟังเสียงที่ได้ยิน จดจำ คาดคะเนเสียงที่จะได้ยินต่อไป และเลียนเสียงโดยการขยับกล้ามเนื้อในกล่องเสียง กล้ามเนื้อลิ้น และปาก เพื่อเปล่งเสียงเลียนแบบออกมาในทำนองที่ใกล้เคียงกับแหล่งเสียงจริงให้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มนกที่ช่างฉอเลาะนี้ใช้การเลียนเสียงเพื่อดึงดูดในการหาคู่เป็นหลัก จนน้ำเสียงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ดังนั้นหากสมมติฐานของ Aniruddh D. Patel เป็นจริงอย่างที่ว่ามา ก็หมายความว่า สัตว์ที่เลียนเสียงได้ เช่น มนุษย์ นกแก้ว ฮัมมิงเบิร์ด วาฬ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทะเลเท้าครีบ อย่าง แมวน้ำ วอลรัส ก็น่าจะจับจังหวะจากดนตรีจนเกิด Entrainment ได้เช่นกัน แต่ทำไมญาติสนิทของมนุษย์อย่าง ชิมแปนซีหรือโบโนโบ กลับไม่สามารถเกิดภาวะ Entrainment กับจังหวะได้ ทั้งๆที่เราแชร์อะไรหลายๆอย่างร่วมกัน ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ชิมแปนซีหรือโบโนโบเต้นได้ แม้จะมีเคยมีรายงานว่า ลิงเหล่านี้สามารถเคาะจังหวะตามเสียงดนตรี แต่พวกมันก็ทำต่อเนื่องได้ไม่นานเมื่อจังหวะมีการเปลี่ยนให้เร็วขึ้นหรือช้าลง โบโนโบตีกลองก็เคยมีอยู่ แต่ดูเหมือนพวกมันจะจดจำลีลาการตีกลองของผู้ฝึกสอนจนเป็นคิว มากกว่าจะเรียนรู้จังหวะจากการได้ยินของตัวเอง
ยังก่อน! สมมติฐานของ Aniruddh D. Patel ที่ว่าด้วยหากจะเต้นต้องมีทักษะเลียนเสียงร่วมด้วย ดันถูกท้าทายจากสิงโตทะเล (sea lion) ที่ชื่อว่า Ronan ซึ่งมันไม่ใช่นักเลียนเสียงแต่ไหนแต่ไร กลับโยกหัวตามจังหวะเพลงได้ ตั้งแต่ระดับง่ายๆ จนซับซ้อนขึ้น เข้ากับจังหวะของดนตรีได้อย่างน่าตื่นใจ แม้จังหวะจะถูกลดให้ช้าลงหรือเพิ่มให้เร็วขึ้นก็ตาม ว่ากันว่าเจ้า Ronan อาจเป็นสิงโตทะเลที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ เหนือกว่าสิงโตทะเลทั่วไป
เอาเป็นว่าสมมติฐานนี้ยังอยู่ในกระบวนการสรุปรวบยอด ซึ่งจำเป็นที่เราต้องศึกษาพฤติกรรมสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติมากกว่าในห้องทดลอง เพื่อหาคำตอบว่า สัตว์พวกนี้เต้นกับจังหวะในธรรมชาติอย่างไร มากกว่าเลียนแบบพฤติกรรมที่มนุษย์เป็นผู้ฝึกสอน
มีขาไว้วิ่ง มีขาไว้เต้น
แม้เหล่าสรรพสัตว์จะโยกหัวไปมาภายใต้นิยามของการเต้น แต่กลับไม่มีสายพันธุ์ใดเลยที่เต้นได้ซับซ้อนและท้าทายได้เท่ากับมนุษย์ เราไปไกลมากกว่าแค่โยกหัว แต่เราใช้ทั้งร่างกายและแขนขาในการออกแบบท่าทางที่ท้าทายอำนาจแรงโน้มถ่วง วิวัฒนาการในการยืนตรง (upright posture) อาจเป็นกุญแจที่ทำให้เราเต้นได้แซ่บกว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ
นักชีววิทยาสายวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัย Harvard นาม Daniel E. Lieberman เคยตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Nature เมื่อปี 2004 เพื่อนำเสนอข้อสันนิฐานว่า มนุษย์ยืนเหยียดตรง เดิน วิ่ง ขุด และขว้าง โดยใช้สองขาทรงตัวบนพื้น ตั้งแต่บรรพบุรุษมนุษย์รุ่นบุกเบิกอย่าง โฮโมอิเร็คตัส Homo erectus ซึ่งการวิ่งได้เร็ว ทำให้เรามีวิวัฒนาการของนิ้วเท้าทั้ง 10 ที่สั้นลง รวมกับเรามี ‘เซมิเซอร์คิวลาร์ แคแนล (Semicircular canals)’ หรือส่วนที่อยู่ในหูชั้นในขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะเป็นท่อครึ่งวงกลม 3 วงโค้งบรรจุของเหลวเพื่อประโยชน์ในการทรงตัว
วิวัฒนาการดังกล่าว ทำให้เราเคลื่อนไหวใน movement ที่ซับซ้อนได้เร็ว แต่ยังสามารถทรงตัวอยู่ได้อย่างแม่นยำ แม้จะหมุนคว้างกี่รอบก็ตาม โดยไม่ล้มตึงเอาซะก่อน
การเต้นจึงบังเกิดขึ้นอย่าง ‘บังเอิญ’ จากปัจจัยร่วมของวิวัฒนาการดังกล่าว และมันดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ มนุษย์ยังคงเป็นนักเต้นที่ยอดเยี่ยมในอาณาจักรสัตว์ทั้งมวล เราถูกออกแบบมาให้เต้นอย่างบ้าคลั่งนั้นเอง
คุณเต้นครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวอยากออกลีลาเมื่อได้ยินเสียงเพลงที่โดนใจหรือเปล่า
เต้นสิ! เพราะมันเป็นเสียงเพรียกแห่งวิวัฒนาการ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Musical Rhythm, Linguistic Rhythm, and Human Evolution
Aniruddh D. Patel Music Perception: An Interdisciplinary Journal Vol. 24, No. 1 (September 2006), pp. 99-104
Rhythmic entrainment: Why humans want to, fireflies can’t help it, pet birds try, and sea lions have to be bribed.