อุดมเป็นผู้มีความขยั่นหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ ประหยัด เลี้ยงชีพตามกำลังทรัพย์ และคบเพื่อนที่ดี อุดมปฏิบัติตามหลักธรรมข้อใด
-
โลกธรรม
-
โภคอาทิยะ
-
ทิฏฐธัมมิกัตถะ
-
อปริหานิยธรรม
การคอร์รัปชั่นเกิดจากการขาดคุณธรรมประการใดเป็นสำคัญ
- ความสามัคคี
- ความเมตตากรุณา
- ความวิริยอุตสาหะ
- ความซื่อสัตย์สุจริต
— บางตอนจากข้อสอบโอเน็ต วิชาสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2553
สมมุติว่าคุณเป็นคนขับรถรางที่บึ่งมาตามรางด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้างหน้าคุณมองเห็นคนงานห้าคนยืนถืออุปกรณ์ขวางรางอยู่ คุณพยายามหยุดรถแต่ไม่เป็นผล เบรคไม่ทำงาน คุณรู้สึกสิ้นหวังเพราะรู้ดีว่าถ้าหากรถรางชนคนงานกลุ่มนี้ พวกเขาทั้งหมดจะตาย (สมมุติคุณรู้ว่าต้องตายแน่ๆ)
ทันใดนั้นคุณสังเกตเห็นทางเบี่ยงทางขวามือ มีคนงานยืนขวางรางเหมือนกัน แต่มีแค่คนเดียว คุณตระหนักว่าสามารถขับรถรางไปทางเบี่ยง ฆ่าคนงานคนเดียวแต่ทำให้อีกห้าคนรอดชีวิต
คุณควรทำอย่างไร?
— บางตอนจากหนังสือ ‘ความยุติธรรม’ (Justice) โดย ไมเคิล แซนเดล สำนวนแปล สฤณี อาชวานันทกุล
ถามจริงๆ ว่า ถ้าเลือกได้ คุณอยากเรียนวิชาทำนอง ‘ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม’ แบบไหน ระหว่างการท่องจำหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาหรือหลักศีลธรรมข้อต่างๆ กับการหยิบยกเหตุการณ์จำลองที่ต้องตัดสินใจยากๆ มาถกเถียงกันว่า ถ้าเจอเข้ากับตัวเอง เราจะทำอย่างไร เพราะอะไร?
ทุกครั้งที่เราต้องตัดสินใจทางศีลธรรม (ในความหมายบ้านๆ ว่า ภาวะที่เราต้องตัดสินใจว่าอะไร ‘ถูก’ อะไร ‘ผิด’ แล้วพยายามทำในสิ่งที่ ‘ถูก’) ช้อยส์ต่างๆ ไม่ได้ลอยลงมาจากฟากฟ้าให้เราเลือก เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ข้อสอบปรนัย
ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ธรรมชาติของคนเรานั้นยิ่งถูก ‘บังคับ’ ให้ทำอะไรก็ตาม ในใจยิ่งรู้สึกอยากต่อต้าน (จะแสดงออกมาหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง)
โดยเฉพาะถ้าคนบังคับไม่อธิบายเหตุผลให้ถ่องแท้ พูดแต่เพียงว่า ‘นี่คือความดี’ หรือสำทับให้รู้สึกแย่เข้าไปอีกว่า “ถ้าแกไม่ทำแบบฉัน นั่นแปลว่าแกเลว!”
ในยุคที่นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า คนจำนวนมากถูกครอบงำด้วยอาการ ‘สำลักคุณธรรม‘ หรือ ‘คลั่งศีลธรรม’ (แบบพุทธ) หรือที่พุทธทาสภิกขุเคยเรียกว่า อาการ ‘ติดดี’ (ท่านเขียนให้คิดใน ‘คู่มือมนุษย์’ ว่า “แม้ที่สุด ‘ความดี’ ที่ใครๆ บูชากัน ถ้าหากว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับความดีในอาการที่ผิดทาง และยึดถือมากเกินไป ก็จะได้รับความทุกข์จากความดีนั้นๆ เช่นเดียวกัน”)
บรรยากาศแบบนี้ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่รุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยจึงประกาศว่าไม่มีศาสนาหรือไม่สนใจศาสนา หลายคนพานเหมารวมไปปฏิเสธศีลธรรม จริยธรรม และอะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วย ‘-ธรรม’ เพราะรำคาญผู้ใหญ่ใจแคบ
ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่สนใจศาสนา ชอบหรือไม่ชอบคิดเรื่องศีลธรรม การตัดสินใจทางศีลธรรมก็เป็นส่วนสำคัญของชีวิต ชนิดที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
ความยากของเรื่องนี้ก็คือ ต่อให้เราพยายามใช้จินตนาการ สมมุติว่าตัวเองอยู่ในเหตุการณ์จำลอง เช่น เป็น ‘คนขับรถราง’ ในตัวอย่างข้างต้น สิ่งที่เราคิดว่าเราจะทำ (หรือคิดว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย) ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำจริงๆ
เพราะเวลาอ่านหนังสือหรือตำรา เราค่อยๆ คิด ใช้ความคิดชิวๆ ระหว่างจิบกาแฟได้ ไม่เหมือนกับในสถานการณ์จริง
ในแง่นี้ คงมีน้อยเรื่องที่จะช่วยกระตุ้นให้คิดและถกเถียงเกี่ยวกับการตัดสินใจทางศีลธรรม ได้ดีกว่าเกมเจ๋งๆ ที่ไม่ได้มีแต่ทางเลือกแบบ ‘ขาว’ กับ ‘ดำ’ สามารถสะกดให้เรา ‘อิน’ ไปกับโลกในเกม เข้าใจหัวอกของตัวละคร สร้างสถานการณ์บีบคั้นให้เราต้องตัดสินใจยากๆ ในเสี้ยววินาที แล้วเผยให้เห็นว่าผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นๆ คืออะไร แถมยังให้เราย้อนเวลากลับไปใหม่ ลองดูว่าถ้าตัดสินใจอีกแบบ ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนเดิมหรือไม่ เรายังจะตัดสินใจแบบเดิมอยู่ไหมถ้าได้รู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า
ในความเห็นของผู้เขียน เกม The Walking Dead ภาคแรก จากค่าย Telltale Games ทำแบบนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม
แม้มันจะสร้างโลกที่ไม่มีวันเป็นจริง คือโลกที่ผีดิบซอมบี้เดินกันเต็มบ้านเต็มเมือง จากการ์ตูนฝรั่งสุดฮิตชื่อเดียวกัน (ซึ่งเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์โด่งดังกว่าการ์ตูนต้นฉบับหลายเท่า) เรื่องที่เราต้องตัดสินใจใน The Walking Dead ก็ล้วนแต่ทำให้รู้สึกพิพักพิพ่วนกระอักกระอ่วน สมจริงอย่างยิ่งในความ ‘ยาก’ เพราะไม่ชัดว่าเราควรทำอย่างไร ในเมื่อไม่มีตัวเลือกไหน ‘ดี’ เลย
ในเวลาเสี้ยววินาที เราจะช่วยใครดีที่กำลังจะถูกซอมบี้ขย้ำ ชายหนุ่มลูกเจ้าของฟาร์มที่ทำแผลให้เรา หรือเด็กน้อยลูกเพื่อนร่วมชะตากรรมที่อาสาพาเราขับรถออกจากเมืองไปด้วย ?
เราจะเหนี่ยวไกปลิดชีวิตเด็กที่กำลังจะกลายร่างเป็นซอมบี้ เพื่อปกป้องไม่ให้พ่อของเด็กต้องทุกข์ทรมานกับการตัดสินใจ หรือว่าจะปล่อยให้พ่อเขาตัดสินใจ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของเรา หรือเพราะไม่คิดว่าเรามีสิทธิ์จบชีวิตใครโดยเจตนา ?
เราจะพูดความจริงเกี่ยวกับอดีตอันด่างพร้อยของเราหรือไม่ ในเมื่อรู้ว่าพูดไปแล้วจะทำให้คนอื่นคลางแคลงใจหรือหวาดผวา และอาจส่งผลต่อโอกาสในการเอาชีวิตรอด ?
เราจะยอมละทิ้งหลักศีลธรรมที่เคยยึดถือมาตลอดชีวิตมากน้อยเพียงใด ในเมื่อโลกที่เรารู้จักล่มสลายลงไปแล้ว แต่เรายังอยากทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กน้อยที่คอยติดสอยห้อยตามไม่ห่าง ?
The Walking Dead ให้เราเล่นเป็น ลี เอเวอเร็ตต์ (Lee Everett) อดีตอาจารย์หนุ่มผิวดำที่ถูกศาลตัดสินจำคุก หนีรอดจากรถตำรวจระหว่างทางไปเรือนจำโดยบังเอิญในวันที่โลกถูกฝูงซอมบี้บุก และก็บังเอิญอีกเช่นกันที่ได้มาผ่านพบและผูกพันกับ ‘คลีเมนไทน์’ (Clementine) เด็กหญิงผิวขาวที่ถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว
การตัดสินใจส่วนใหญ่ในเกมต้องทำภายในเวลาไม่กี่วินาที การไม่ทำอะไรเลย เช่น เลือกที่จะเงียบต่อคำถาม ก็มีผลเช่นกัน บ่อยครั้งผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้แสดงออกโต้งๆ ให้ดูออกว่าการตัดสินใจของเรา ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ แต่ส่งผลทางอ้อมหรือโดยนัย เช่น ทำให้ตัวละครอื่นๆ ในเกมรู้สึกหวาดระแวงหรือไว้ใจตัวเรามากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลเป็นทอดๆ ไปถึงฉากจบ และเราก็เลือกได้ว่าอยากให้เกมขึ้นข้อความบอกหรือเปล่า เวลาที่คำพูดหรือการกระทำอะไรสักอย่างส่งผลให้ความคิดของตัวละครเกี่ยวกับเราเปลี่ยนแปลงไป เช่น “เขามองออกว่าคุณโกหก” หรือ “คุณแบ่งปันความหวังแด่คลีเมนไทน์”
The Walking Dead เร้าใจไม่ต่างจากเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ตรงที่มีฉากแอ็กชั่นมาให้ระทึกเป็นระยะๆ แต่ฉากเหล่านี้เล่นไม่ยาก อย่างมากเพียงกดปุ่มรัวๆ หรือวิ่งหลบซ้ายขวาให้ทัน และต่อให้เราตาย เกมก็จะย้อนเวลาให้ลองใหม่ไม่กี่วินาทีก่อนที่ฉากนั้นจะเริ่ม
** SPOILER ALERT ** ผู้อ่านที่ไม่เคยเล่นแต่อยากเล่นเกมนี้ กรุณามองข้ามภาพประกอบด้านล่างไป เพราะเปิดเผยเนื้อเรื่องในเกม
การตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของเราในเกมจะถูกบันทึกไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของ Telltale Games และทุกครั้งที่เราเล่นจบตอน ฉากจบจะขึ้นจอให้ดูว่าเราตัดสินใจแต่ละเรื่องเหมือนกับผู้เล่นเกมนี้คนอื่นๆ อีกกี่เปอร์เซ็นต์
ข้อควรระวังของเกมนี้ก็คือ ความที่มันเป็นเกมผีดิบครองเมือง ภาพความสยดสยองและความรุนแรงในหลายฉากทำให้มันอาจไม่เหมาะกับการใช้ประกอบการสอนวิชาศีลธรรมในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมต้น
แต่สำหรับเด็กมัธยมปลายขึ้นไป สำหรับอาจารย์ที่ใจกว้างพอที่จะอยากให้นักเรียนนักศึกษาได้ถกเถียงกันว่า เราจะตัดสินใจในสถานการณ์ที่ ‘อิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม’ อย่างไร ให้แต่ละคนแลกเปลี่ยนเหตุผลโดยไม่ต้องตราหน้าว่า ใครดี ใครชั่ว และสำหรับใครก็ตามที่อยากรู้ว่า เกมที่ไม่เหมารวมการตัดสินใจทางศีลธรรมว่า ไม่ ‘ขาว’ ก็ต้อง ‘ดำ’ นั้นเป็นเช่นไร ผู้เขียนก็นึกเกมอื่นไม่ออกนอกจาก The Walking Dead
Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ: ค่าย Telltale Games สร้างชื่อด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์โทรทัศน์หรือการ์ตูนดังมาทำเป็นเกม เกมอื่นๆ แนวเดียวกันของค่ายนี้ที่ผู้เขียนชื่นชอบนอกจาก The Walking Dead ภาคแรก ได้แก่ The Wolf Among Us, Tales from the Borderlands, Sam & Max: Beyond Time and Space และ Back to the Future
ส่วนภาคสองของ The Walking Dead ให้เราเล่นเป็นคลีเมนไทน์ที่กร้านโลกอย่างรวดเร็วในวัยเยาว์ ผู้เขียนชอบภาคนี้น้อยกว่าภาคแรกมาก ยกเว้นช่วงท้ายๆ เพราะคิดว่าสร้างสถานการณ์บีบน้ำตาคนเล่นแบบ ‘มักง่าย’ เกินไป และผลลัพธ์ของการตัดสินใจใหญ่ๆ ก็ไม่แตกต่างหลากหลาย ไม่จุดประกายให้ครุ่นคิดเท่ากับภาคแรก