ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและสับสน การจะหาคำตอบอะไรสักเรื่องหากขาดงานวิจัยที่ดีแล้ว เราคงทำอะไรกันคนละทิศคนละทาง แวดวงงานวิจัยไทยมีอนาคตสดใสและถูกใช้ประโยชน์จริง หาได้นอนนิ่งอยู่บนหิ้งตามที่เราชอบแซวกัน
งานวิจัยยุคนี้ไม่ได้สนอง need หรือ ego ของผู้ทำวิจัยแล้ว แต่เป็นการวิจัยเพื่อผู้อื่นและสังคม ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
เราพบงานวิจัยที่เด่นจนเกิดนโยบายประเทศ วิจัยเด่นด้านพาณิชย์ทำเงินได้ งานวิจัยเด่นด้านชุมชนและพื้นที่ และงานวิจัยด้านวิชาการที่เสริมความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ
The MATTER พามาสำรวจงานวิจัยไทยจาก ผลงานวิจัยเด่น ประจำปี 2018 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เป็นบ้านหลักของงานวิจัยอันมีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทย ลองไปสำรวจกันว่า นักวิจัยเขาคิดและทำอะไรกัน
1. ยุติความเซ็งจาก ‘แมงกะพรุน’ แสนเค็ม
เวลาจะกินสุกี้ ‘แมงกะพรุน’ (jellyfish) เป็นสิ่งกรุบกรอบที่ขาดไม่ได้ เราไปซื้อที่มัดเป็นถุงๆ ในตลาด แต่ทว่าคุณพระ! แมงกะพรุนเค็มมาก เค็มจนไตคุกเข่าอ้อนวอน เพราะแมงกะพรุนที่เรากินกันนั้นต้องดองเกลือนาน 7-10 วัน จนมีความอิ่มของเกลือที่ 25% ไม่งั้นก็จะเน่าเสีย ก่อนจำหน่ายบริษัทต่างๆ จึงต้องเอาแมงกะพรุนมาล้างให้เหลือความอิ่มเกลือที่ 1% ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย คนในแวดวงอาหารเขารู้กันดี
สิ่งที่คุณไม่รู้คือ การล้างนั้นใช้ ‘มือคน’ บีบนวดรีดเค็ม พอเป็นมือคน คุณภาพที่ได้จึงไม่สม่ำเสมอ อัตราการผลิตต่ำ ใช้น้ำมาก บางถุงก็เค็มจัดจนต้องลุ้นเอาราวจับสลากสอยดาว เพราะคนนวดก็เมื่อยเป็นนะ มานวดดูมั้ย!
งานวิจัยจับจุดอุตสาหกรรมได้ถึงแก่น จึงออกแบบและสร้าง ‘เครื่องล้างแมงกะพรุน’ ด้วยกลไกการหมุนเหวี่ยงน้ำที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สลัดน้ำและความเค็มเป็นรอบๆ แมงกะพรุนที่ได้จึงกรุบกรอบ เค็มน้อย แถมได้คุณภาพสม่ำเสมอ เจ้าเครื่องนี้ออกแบบเรียบง่าย (แต่กว่าวิจัยจนลงตัวก็ยากนะ) เอาวัสดุในบ้านเรามาดัดแปลง ให้ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรใดๆ เลย
ผู้ประกอบการนำไปใช้แล้ว ถูกอกถูกใจ ผลิตแมงกะพรุนไปส่งร้านอาหารกว่า 20 ร้านดัง กำไรเพิ่มขึ้นถึง 30% จากการเปลี่ยนแรงงานคนล้างมาเป็นเครื่องจักรที่มาจากมันสมองคนไทย และเราก็ได้แมงกะพรุนกินอร่อย คุณภาพดี พูดแล้วก็เปรี้ยวปาก ไหนๆ ขอน้ำจิ้มหน่อย ถ้ากินแล้วไม่เค็ม แมงกะพรุนของคุณอาจมาจากงานวิจัยนี้ก็ได้!
งานวิจัย : เครื่องล้างเกลือในแมงกะพรุนดอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ สมัคร รักแม่ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
2. แด่ Meat Lover ทำไมเนื้อวัวไทยจะขึ้น premium บ้างไม่ได้
ไปกินชาบู ปิ้งย่าง พวกเราก็ต้องจัด premium ดิ! เพิ่มตังค์จะได้กินเนื้อดีๆ เพราะร้านก็ยั่วเราว่า ‘เนื้อนำเข้าจากออสเตรเลีย’ แต่พอมาคิดๆ ดู ทำไมเนื้อวัวไทยบ้านเรา ไม่มีตราแปะสวยๆ ว่า ‘เนื้อพรีเมียม’ บ้างล่ะ? ทั้งที่เนื้อโคไทยคุณภาพเยี่ยมไม่เป็นรองใคร ไม่ต้องเอาแต่นำเข้าลูกเดียว
งานวิจัยไขอุปสรรคทั้งหมดในธุรกิจเนื้อโคไทยแบบถึงแก่น ตีแผ่นโยบายทางเกษตรของบ้านเราที่ยังมีปัญหา ขาดแรงขับเคลื่อนตั้งแต่โซ่การผลิต โซ่กลางน้ำ และโซ่ปลายน้ำ โดยเฉพาะ ‘โรงฆ่าและกระบวนการฆ่า’ (slaughter house) ที่ต้องมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นจุดบอดที่สุดในระบบ เพราะไม่ค่อยมีใครอยากเห็นหรือข้องแวะกับการฆ่า แต่หากขาดโรงฆ่าที่ดี เกษตรกรก็ไม่รู้จะเปลี่ยนวัวเลี้ยงเป็นเนื้อดีๆ ได้ที่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศจีนซื้อวัวเป็นๆ เราไปแล้วเชือดส่งเนื้อกลับมาขายในไทย ทั้งๆ ที่เป็นวัวบ้านเราเองซะงั้น โรงฆ่าที่ดี สะอาด และเบียดเบียนโคให้น้อยลงสามารถทำได้
วิจัยนี้จึงสังเคราะห์อุตสาหกรรมโคเนื้อไทย เพื่อผลักดันเป็นนโยบายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมโคเนื้อที่เข้ากับเทรนด์โลกอย่างเหมาะสม
จะเรียกตัวเองเป็น Meat Lover ต้องเปิดใจให้เนื้อวัวไทยบ้างแล้ว มีริ้วไขมันปนในเนื้อหน่อยนะ ย่างไฟอย่างหอม! ขออีกถาด
งานวิจัย : การขยายโอกาสธุรกิจเนื้อโคไทย
ผู้ประสานงาน : รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล
3. ฝันร้ายพวกแหกกฎ! เมื่อ ‘จ่าเฉย’ ไม่เฉยอีกต่อไป
เราคุ้นเคย ‘จ่าเฉย’ ดั่งญาติมิตร ยืนยิ้มทื่อน่าแกล้งน่าหยิกหลัง ‘จับกูดิ ท้าทายอ่ะ’ ยังเฉยอยู่อีกเหรอ? ดึงเบรกมือทำโดนัทกลางถนนแล้วเนี่ย จ่าเฉยถูกล้อเลียนประจำเหมือน loser ในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่คุณล้อเขาได้ไม่นานหรอก!
จ่าเฉยถูก upgrade ให้เป็นจ่าเฉยอัจฉริยะ ตรวจจับการกระทำผิดด้วย ระบบ Machine Learning ที่ทำให้จ่าเฉยอ่านป้ายทะเบียนชัดเจน แล้วแปลงเป็นใบสั่งอัตโนมัติถึงบ้านท่านราวเหาะเหิน
ชอบวิ่งทับเส้นทึบก็โดนสิ ไม่สวมหมวกนิรภัยก็โดน (ระบบแยกแยะประเภทหมวกได้ อย่ามาเนียนใส่หมวก) ระบุชนิดรถ สี ยี่ห้อ แม้จะฝนตก หมอกลง กลางค่ำกลางคืน ระบบ Machine Learning จะเรียนรู้ได้เรื่อยๆ จนขณะนี้มีความแม่นยำ อยู่ที่ 80% ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าหรือดีกว่าระบบของต่างชาติที่พยายามมาขายบ้านเรา
ระบบจ่าเฉยอัจฉริยะถูกติดตั้งแล้ว 15 จุด คนไทยทำเองไม่ต้องประมูล software จากเยอรมันหรือแคนาดา ใครผ่านไปแถวสุธิสาร-รัชดาฯ (ออฟฟิศ TheMatter แถวนี้เลย) ก็ขับขี่ด้วยความน่ารักหน่อยนะ เพราะจ่าเฉยนั้นจ้องมองเธออยู่ และเขาไม่ปรานีเธอแล้ว
งานวิจัย : จ่าเฉยอัจฉริยะ พร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ
หัวหน้าโครงการ : รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ และ ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยนเรศวร
4. ภาษีเงินได้หายไปไหน คนนี้จ่าย คนนั้นไม่จ่าย!
จ่ายภาษียัง อย่ามาเนียน! ถึงคุณจะมีเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่ไม่อยากเสียภาษี (เราเข้าใจนะ) แต่มันจำเป็น เพราะคนอื่นก็เสีย แต่ทำไมคนบางกลุ่มถึงมีกลเม็ดเลี่ยงภาษีได้ พอมาดูระบบการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยก็ยังมีความลักลั่น ไม่ครอบคลุม มีคนเสียภาษีจริงๆ เป็นคนส่วนน้อยเพียง 10% เท่านั้นของคนทำงานทั้งหมด แล้วที่เหลือหายไปไหนล่ะ?
แถมเวลามีการลดหย่อนภาษี ก็เอื้อประโยชน์เพียงต่อคนบางกลุ่ม ทำให้จัดเก็บได้ต่ำ เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม คนที่ทำดีมาตลอดก็ไม่มีกะจิตกะใจจ่ายภาษี โอกาสที่ชาติจะนำภาษีไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นก็ลดลงอย่างเป็นพลวัตร
งานวิจัยชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายและระเบียบการจัดเก็บภาษี ซึ่งในต่างประเทศพบว่าประเทศที่จัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูง มักมีระบบภาษีแบบบูรณาการแล้วทั้งนั้น รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี เพราะเห็นประโยชน์จากการจ่ายภาษี และมีศรัทธาที่มั่นคงว่าระบบภาษีในประเทศเขามีความเป็นธรรม พอทุกอย่างโปร่งใสใครๆ ก็ยอมเสีย
ผลงานวิจัยนำเสนอเชิงนโยบายต่อกรมสรรพากรและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่การตัดสินในท้ายสุดอยู่ที่รัฐบาลพิจารณา คนจ่ายภาษีมีสิทธิรู้โดยชอบธรรมว่าเงินเขาไปอยู่ที่ไหน หากรัฐตอบได้ชื่นใจ เราก็จ่ายมิให้ขาดเลย
งานวิจัย : ภาษีเงินได้เป็นธรรมหรือไม่
หัวหน้าโครงการ : ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. จะอนุรักษ์ไปทำไม หากชาวปัตตานียังอดอยาก
นี่เป็นคำถามสำคัญของงานอนุรักษ์ที่มักแยกหัวแยกหางทรัพยากรธรรมชาติออกจากชาวบ้าน รัฐพร่ำบอกให้คนในชุมชนช่วยกันเป็นเรี่ยวแรงอนุรักษ์ แต่ชาวบ้านได้อะไรเป็นรูปธรรมบ้างจากความพยายามที่พวกเขาต้องมีส่วนร่วม
ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี เป็นชุมชนที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาเสื่อมโทรมขั้นหนักจากการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างสูง ความอดอยากแร้นแค้นจึงมาเยือน จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารวมตัวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยพลังของเขาเอง ธรรมชาติค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ปลาก็จับได้มากขึ้น แต่ทำไมรายได้ชาวบ้านกลับไม่เพิ่มขึ้นเลย ก็ทำตามสูตรแล้วนี่? Play by the Book ตลอด แต่ผลตอบแทนที่ลงแรงไปต่ำเสียเหลือเกิน มันน่าถอดใจ
งานวิจัยเผยความจริงว่า ชาวบ้านเข้าไม่ถึงกลไกการตลาดที่เป็นเครือข่ายซับซ้อนถูกควบคุมเพียงคนไม่กี่กลุ่ม จับปลาได้เท่าไหร่ก็ถูกเบียดบังมูลค่าส่วนเกิน ชาวบ้านจึงลงมือทำวิจัยกลับไปสืบเสาะหาต้นทุนทรัพยากรชุมชน คือผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสดและแปรรูปที่ใช้วิธีการจับแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น ปลากุเลาเค็ม เอามาแต่งหล่อเสียหน่อย ใส่ Packing สวยหรู กลายเป็นของฝากที่ห้ามพลาดทั้งปวง อุดมไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของคนในชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40% จากนั้นวิจัยต่อยอดพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจชุมชนประมงพื้นบ้านต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้
งานวิจัยนี้ไม่เพียงสร้างปฏิบัติการธุรกิจชุมชนขนาดเล็กผ่านงานวิจัยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างงานให้กับกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนในพื้นที่ และการลดการใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ เป็นบรรยากาศที่ผู้คนเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน
นี่จึงเป็นความงดงามของการอนุรักษ์ คนต้องอิ่มท้อง ไปพร้อมๆ กับทรัพยากรที่พวกเขาใช้สอยอย่างหวงแหน
งานวิจัย : การพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี
หัวหน้าโครงการ : นางสาวสุวิมล พิริยธนาลัย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอ่าวปัตตานี
6. ใช้โดรนตรวจฝุ่นควันเมืองเหนือ
แอ่วเหนือหวังจะได้สูดอากาศดี สูดไปเต็มปอด เอ้า! ได้ฝุ่นซะงั้น ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็เป็นห่วงสถานการณ์หมอกฝุ่นควันในภาคเหนือที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ทั้งฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในแต่ละวันอัตราของฝุ่นก็ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จุดไหนน่าเป็นห่วงสุด พื้นที่ไหนเพิ่มปริมาณฝุ่น บ้านคุณอยู่ในจุดที่เป็นอันตรายหรือเปล่า?
ทำอย่างไรที่เราจะรับรู้สถานการณ์ฝุ่นแบบ real time ที่จะสามารถเห็นภาพและออกแบบวิธีการรับมือได้ทันท่วงที
งานวิจัยจึงออกแบบเซ็นเซอร์ที่ชาญฉลาด เหมือนมี ‘ดวงตาวิเศษ’ สอดส่องปริมาณฝุ่นในอากาศครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดน่าน (เป็นจังหวัดพื้นที่นำร่อง) โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกระจายไปทุกพื้นที่ของชุมชน นอกจากนี้ยังใช้ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) โดยใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าสำรวจพื้นที่จุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งเป็นต้นเหตุของหมอกฝุ่นควัน
งานวิจัยติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดถึง 95 ตำบล บวกกับ UAV ที่บินสำรวจในอากาศ ทำให้อัพเดทข้อมูลฝุ่นควันได้ทุกๆ 5 นาทีจนเป็นแกนหลักในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกฝุ่นควัน ลดการใช้กำลังคนลงพื้นที่ ข้อมูลที่ได้นำไปต่อยอดเพื่อวิเคราะห์สภาพอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม ซึ่งฝุ่นควันเป็นสัญญาณที่สามารถสืบต่อยอดได้
งานวิจัย : การพัฒนาระบบเครือข่ายเซนเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือของประเทศไทย :การศึกษานำร่องในพื้นที่จังหวัดน่าน
หัวหน้าโครงการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. เมลาโทนินช่วยป้องกันสมองเสื่อม
หมู่นี้มีโอกาสนอนดีๆ บ้างแล้วหรือยัง? หากยัง คุณก็อาจสมองเสื่อมเร็วกว่าที่คิด เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองอยู่ในต่อมไพเนียล (pineal gland) มีบทบาทช่วยควบคุมการนอนหลับ อันเป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนกลางและช่วยในการกระตุ้นการปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาของร่างกาย ที่ช่วยบอกว่า คุณควรนอนได้แล้ว อย่าเอาแต่ตอบแชทถึงเช้า
ผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนมากกำลังเผชิญโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ สถานการณ์นี้หากปล่อยไปจะกลายเป็นวิกฤต นักวิทยาศาสตร์ไทยต้องหากลไกระดับโมเลกุลเพื่อเข้าใจกระบวนการชราของเซลล์ประสาทสมอง เราพบว่าโรคอัลไซเมอร์มีสาเหตุจากสารพิษ ‘เบต้าอะมิลอยด์’ (Aß) ในสมองอันเกิดจากกิจกรรมทางเคมีที่สมองสร้างขึ้นเร่งกระบวนการเสื่อมให้เร็วขึ้น
คณะวิจัยฯ ค้นพบเรื่องน่าทึ่งเป็นครั้งแรกว่า ฮอร์โมนเมลาโทนินสามารถยับยั้งเอ็นไซม์ที่ผลิตสารพิษ ‘เบต้าอะมิลอยด์’ (Aß) ที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และพบปัจจัยลบอื่นๆ เช่น ความเครียด สารเสพติด ภาวะไขมันโคเลสเตอรอล และ โรคเบาหวาน
การให้เมลาโทนินทดแทน ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ตายไประหว่างเป็นโรคได้ เมลาโทนินสามารถลดเอ็นไซม์ที่สร้างสารพิษ สาเหตุสำคัญของโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
งานวิจัยนี้จึงเป็นความก้าวหน้ามากด้านประสาทวิทยาที่ต่อไปเราสามารถช่วยผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุให้สร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ ด้วยวิธีที่ง่ายและปลอดภัย
งานวิจัย : เมลาโทนินและปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อชราภาพของสมอง และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
หัวหน้าโครงการ : ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
8. กระดาษตรวจวัดสุดฉลาด เซ็นเซอร์นาโน
เราใช้ชีวิตร่วมกับสารปนเปื้อนมากมายเต็มไปหมด ทั้งในอาหารที่เรากินจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ถ้าเรามีโอกาสรู้ก่อนว่ามีอะไรแอบแฝงมา ชีวิตก็คงง่ายกว่านี้เยอะ
นักวิทยาศาสตร์พยายามหาระบบการตรวจวิเคราะห์ที่มีความไวสูง แต่ต้องมีราคาถูก ใช้งานง่าย ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสม่ำเสมอเพื่อวัดสารปนเปื้อนในอาหาร เช่น ซัลโฟนาไมด์ พาราเบน สารพิษ โลหะหนัก หรือสารบ่งชี้โรคทางชีวภาพ เช่น สารบ่งชี้โรคมะเร็ง โปรตีน ดีเอ็นเอ โดยปกติที่นิยมใช้กันคือการตรวจวัดเชิงสีและสารเรืองแสงซึ่งค่อนข้าง out แล้วขาดความแม่นยำ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นง่าย
ดังนั้นเราต้องการเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าในการวิเคราะห์สารต่างๆ ที่อยู่รอบตัว นักวิจัยจึงค้นคว้าและพัฒนาวัสดุนาโน ที่มีจุดเด่นคือ มีขนาดเล็กและช่วยเพิ่มสภาพไวทางการตรวจวัดโดยนำมาสร้างเป็นเซ็นเซอร์ทางเคมีไฟฟ้าแบบใหม่สำหรับการตรวจวิเคราะห์บนฐานกระดาษ ใช้งานง่าย มีขนาดเล็ก ใช้สารตัวอย่างน้อย และตรวจวัดได้อย่างรวดเร็ว จนแพทย์สามารถนำมาใช้ตรวจวัดสารนอกห้องปฏิบัติการได้ และสามารถนำมาดัดแปลงให้วัดปริมาณโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
งานวิจัยมีความโดดเด่นมาก จนมีการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดและผลิตเป็นเซ็นเซอร์ที่พร้อมใช้งานสำหรับการตรวจวัดสารบ่งชี้ทางชีวภาพ โรคไวรัสตับบี และโรคฉี่หนู ใช้งานง่าย ขนาดเล็ก และสนนราคาไม่แพงเลย
งานวิจัย : องค์ความรู้ใหม่ทางเคมีวิเคราะห์ เพื่อนวัตกรรมทางการตรวจวัด
หัวหน้าโครงการ : ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. สืบจากซาก
แวดวงโบราณคดีไทยเต็มไปด้วยความแปลกใหม่และตื่นเต้น ยิ่งค้นคว้าเท่าไหร่ก็พบความหมายของการเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัย ในวัฒนธรรมของคนที่อยู่พื้นที่สูง ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ แต่อุดมไปด้วยปริศนาที่น้อยคนจะรู้จัก
ทีมวิจัยพบ ‘วัฒนธรรมโลงไม้’ ในช่วงเวลา 2,300-1,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมเดิมที่พัฒนาต่อเนื่องจากวัฒนธรรม หินกะเทาะ (โหบินเนียน)-หินใหม่-โลหะ หรือเป็นประชากรกลุ่มใหม่ที่เป็นชุมชนเกษตรกรรมเคลื่อนย้ายมาจากจีนที่นำวัฒนธรรมใหม่เกี่ยวกับการทำกสิกรรม-โลหกรรม และรูปแบบพิธีกรรมฝังศพในโลงไม้คล้ายกับที่พบในพื้นที่ยูนนานของจีน
งานวิจัยนี้ขึ้นรูปใบหน้าของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้เห็นรูปร่างหน้าตาของคนโบราณ ด้วยชิ้นส่วนกะโหลกที่ค้นพบในพื้นที่ ทำให้เกิดการตื่นตัวของมนุษย์แรกเริ่มในดินแดนประเทศไทย และเห็นสภาพแวดล้อมการเป็นอยู่ของคนในอดีตอย่างเห็นภาพชัดเจนที่สุด
งานวิจัย : สืบจากซาก
หัวหน้าโครงการ : รองศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
10. สร้าง Role Model ให้คนพิการ
สังคมไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า คนพิการทำอะไรไม่ค่อยได้ จึงแช่แข็งพวกเขาไว้กับบ้าน ยุติพัฒนาการทั้งปวง ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่แพ้คนที่มีร่างกายปกติ แต่อาจจะต้องมี Role Model ที่พวกเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินรอยตามได้
การสนับสนุนที่ผ่านๆ มาเป็นแบบเวทนานิยม คือเน้น ‘ช่วยเพราะสงสาร’ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เห็นถึงสิทธิประโยชน์ การรับรู้ข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวข้องที่พวกเขาควรได้รับ
งานวิจัยเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพหากได้มีโอกาสเรียนรู้ จึงนำ 4 องค์ประกอบหลักคือ 1) คนพิการ 2) ครอบครัว 3) องค์กรคนพิการ 4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันออกแบบงานวิจัย สร้าง mindset ใหม่ทั้งหมด ทำให้คนพิการสามารถมีโอกาสเรียนรู้อาชีพสร้างรายได้ที่พวกเขาอยากทำ โดยจะสนับสนุนให้เกิด Role Model ในกลุ่มคนพิการด้วยกันในแต่ละชุมชน ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นให้เห็นว่า ในแต่ละวันของชีวิตสามารถเปลี่ยนไปเป็นเงินได้หากรับงานที่เหมาะสม แน่นอน คนพิการภูมิใจในศักยภาพตัวเองและมีทัศนคติต่อชีวิตดีขึ้น
คนในชุมชนเริ่มเห็นว่า คนพิการทำงานได้มากและมีคุณภาพ จึงเกิดการยอมรับและจ้างงานเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการศึกษา จนมีองค์กรต่างลงมาดูงานกันคึกคัก
งานวิจัย : การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำจากนโยบาย…สู่…คุณภาพชีวิตคนพิการแนวใหม่
หัวหน้าโครงการ : คุณพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ
ขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)