สำหรับทุกชีวิตที่ดำรงอยู่บนเส้นศูนย์สูตรพอดิบพอดี เหลือบไปเห็นปฏิทินเดือนเมษายนทีไร ใจคอก็ไม่ค่อยจะดี เพราะหน้าร้อนปีนี้ของประเทศไทย อาจเปลี่ยนวันอันสดใสของคุณให้เป็นเตาเผาร้อนๆ ฉบับแม่ลาปลาเผา ด้วยอุณหภูมิสูงสุดซึ่งอาจทะยานไปแตะ 40-44 องศาเซลเซียส ก็แค่เดินไปปากซอยยังหายใจแรงเป็นเรือกลไฟเลย นี่ยังไม่รวมพายุฝนที่จะกระหน่ำตอนไหนก็ได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว สภาพอากาศแบบนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้จริงๆ
ร้อนๆ เหงื่อๆ แบบนี้ใครมาขัดใจ ก็มีแต่จะศพไม่สวยเอาเท่านั้น!
หรืออากาศร้อนจะทำให้คนคลั่ง บ้าเลือด ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม? แต่กำลังโกรธอยู่ดีๆ พายุก็หอบน้ำฝนซัดสาดจนหลังคาบ้านสังกะสีทะลุ พอผิวกายเกลี้ยงๆ ต้องหยาดฝนก็รู้สึกหนาวเหน็บจับขั้วหัวใจ มองไปที่ไหนก็เห็นแต่ละอองฝนเป็นบรรยากาศเก่าๆ ของเราสองที่เคยหลบฝน ณ กระท่อมรักปลายนา
เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวโมโห เดี๋ยวคิดถึง
มนุษย์อย่างพวกเราอ่อนไหวต่ออุณหภูมิรอบๆ ขนาดนั้นเลยหรือ? ใช่แล้ว! อารมณ์และความรู้สึกของพวกเราอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากกว่าที่พวกเราคิด วิทยาศาสตร์ค้นพบความเชื่อมโยงใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเรามีทัศนคติต่อคนรอบข้างจากอิทธิพลของอุณหภูมิเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันสร้างผลกระทบทางอารมณ์ในแง่ลบ หากเราไม่ควบคุมสมดุลอุณหภูมิร่างกาย
มีงานวิจัยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จากการสำรวจความขัดแย้งของมนุษย์ที่มาจากอิทธิพลของสภาพอากาศ โยงเป็นเครือข่ายใยแมงมุมในหลายศาสตร์หลายแขนง ทั้งโบราณคดี อาชญาวิทยา เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และจิตวิทยา ซึ่งรวมๆ แล้วก็มีงานวิจัยมากกว่า 60 ชิ้นขึ้นไป โดยหนึ่งในนั้นเป็นผลงานวิจัยของ Solomon Hsiang พบว่า มนุษย์มักแสดงออกอย่างก้าวร้าวในพื้นที่อุณหภูมิสูง และยิ่งความร้อนทะยานสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ความขัดแย้งในสังคมนั้นๆก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นราว 14% หรืออาจมีการกระทบกระทั้งระหว่างบุคคลโดยเลยเถิดเป็น ‘ความรุนแรง’ ได้ถึง 4%
สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นของ Marie Connolly ในปี 2013 เมื่อเธอและทีมงานได้ออกเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้หญิงในวันอากาศร้อนๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่มีแนวโน้มบอกว่า ตัวเองไม่ค่อยพึงพอใจกับชีวิตมากเท่าไหร่ (หรือรำคาญจะตอบคำถาม)
กระนั้นเลย ข้อมูลส่วนใหญ่เกิดจากการรวบรวมผลทางสถิติ แต่การทำความเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าว เราอาจจะต้องเข้าไปสำรวจลึกถึงกลไกของสมองเสียหน่อย โดยความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านประสาทวิทยาที่ทำให้เราสามารถเห็นกลไกการทำงานของสมองแบบ Real-time โดยไม่ต้องรอคอยผ่าสมองคนตาย ซึ่งประสาทวิทยา (Neuroscience) นี่เองที่เป็นกุญแจสำคัญที่ไขความลับดังกล่าว
เทคโนโลยี MRI หรือ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เราทราบว่า สมองส่วน ‘อินซูลา (Insula)’ ขนาดเล็กทรงพีระมิด ที่อยู่ลึกในชั้น Cerebral Cortex เล่นบทบาทสำคัญในการแสดงออกทางความรู้สึก และมีอิทธิพลที่คุณจะแสดงออกทางอารมณ์ต่อคนอื่นๆ ทั้ง รัก เกลียดชัง เชื่อใจ หรือทรยศหักหลัง จากอุณหภูมิของร่างกาย
จากการศึกษาผู้ป่วยที่สูญเสียสมองส่วนอินซูลา พวกเขาล้วนนิ่งงันและไร้การตอบสนองทางความรู้สึก แม้ว่าอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม
คำถามที่ใหญ่ที่สุดคือ ทำไมอุณหภูมิของร่างกายและอารมณ์ถึงเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้น
มีทฤษฎีใหญ่ๆ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า มันเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อการอยู่รอด เราใช้ความอบอุ่นเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ความสัมพันธ์ในฝูง และสงวนพลังงาน
‘ความอุ่น’ เป็นสัญญาณแห่งชีวิตที่เชื่อมแม่และลูกเข้าด้วยกัน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ ระบบร่างกายอันมหัศจรรย์ออกแบบให้เราในสภาพตัวอ่อนได้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นเมื่อคลอดเป็นทารกสู่โลกภายนอก เราเคลื่อนที่หาแหล่งน้ำนมจากสัญญาณความอุ่นของตัวแม่ ทำให้เราเคลื่อนไปหาน้ำนมได้ถูกทิศถูกทาง
อุณหภูมิจากการสัมผัสจากคนที่เราไว้ใจ ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมน ‘Oxytocin’ หรือฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ที่เปรียบเสมือนสายใยอันละเอียดลออ ทำให้สิ่งมีชีวิตรู้สึกถึงความปลอดภัย อยู่ร่วมเป็นกลุ่มก้อน และก่อให้เกิดโครงสร้างทางสังคม
Price to pay
‘สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals)’ ล้วนมีค่าใช้จ่ายราคาสูง! พวกเรามีความซับซ้อนของร่างกาย ระบบเผาผลาญของร่างกาย (Metabolic) ที่สูบพลังงานค่อนข้างมากเพื่อใช้ในการควบคุมร่างกาย ให้มีอุณหภูมิอยู่ในสมดุล
ดังนั้นการอยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ร่างกายต้องเจียดไป มีราคาถูกขึ้นมาอีกนิด!
สัตว์หลายชนิด (รวมทั้งมนุษย์) จึงมีกลยุทธ์ทดแทนที่เรียกว่า ‘Kleptothermy’ หรือการขโมยความอุ่นจากผู้อื่น อย่างแพนกวินจักรพรรดิ ในทวีปแอนตาร์กติกา พวกมันมีพฤติกรรมเบียดเสียดตัวกันเพื่อแชร์อุณหภูมิจากตัวข้างเคียง เพื่อรักษาอุณหภูมิตัวเองให้คงที่โดยใช้ระบบเผาผลาญร่างกายให้น้อยลง หรือในงานวิจัยปี 2014 ในหนูสายพันธุ์ Chilean พวกมันจะเบียดตัวกันเมื่ออากาศเย็นลง จนสามารถลดระบบเผาผลาญร่างกายให้ช้าลง 40% กว่าหนูที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้คู่
เราลดการใช้พลังงานอันมีค่าลง เมื่อเราดูดอุณหภูมิจากผู้อื่นที่อยู่ใกล้ๆ อาจเป็นเหตุผลที่เรารู้สึกผูกพัน และเชื่ออกเชื่อใจคนใกล้ตัวมากขึ้น อุณหภูมิจึงเป็นมาตรวัดสำคัญทางสังคมที่ผู้คนล้วนใช้สอยร่วมกัน
นักวิจัยจึงเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์ของอุณหภูมิในการบำบัดโรคซึมเศร้า (Depression) ในผู้ป่วย โดยการทำให้พวกเขาอุ่นขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ จากสมมติฐานว่า สมองส่วนอินซูลา หากได้รับสมดุลทางอุณหภูมิอาจปล่อยสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ ที่ส่งสัญญาณความสุขกับร่างกายให้ลดความซึมเศร้าลง
พวกเขาจึงลองให้ผู้ป่วย ‘ฉาบ’ แหล่งแสงเพื่อให้ร่างกายอุ่นขึ้น ด้วยรังสีอินฟราเรด Infrared (IR) แต่ได้ผลที่ไม่น่าพึงพอใจนัก เพราะรังสีอินฟราเรดไม่ทะลุผ่านผิวหนัง อย่างมากก็ทำให้ผิวหนังร้อน แต่ยังไม่อบอุ่นเท่าสัมผัสของสิ่งมีชีวิตด้วยกันได้
ดังนั้นคำตัดพ้อที่คุณเคยถูกต่อว่า “เธอมันช่างเป็นคนเย็นชาอะไรอย่างนี้” ก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากความเป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์นัก เพราะวิวัฒนาการของร่างกายสร้างกลไกให้ความผูกพันมีพื้นที่ร่วมกันกับอุณหภูมิมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ยิ่งใกล้เรายิ่งอุ่น ยิ่งห่างเหินเรายิ่งรู้สึกถึงความเย็นชาที่คืบคลานเกาะขั้วหัวใจ
อย่าปล่อยให้ร่างกายของคุณไม่สมดุล มันโหยหาคนใกล้ตัวมาทำให้เข้าที่เข้าทาง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Hsiang, SM, et al., (2013). Quantifying the influence of climate on human conflict. Science.
Experiencing Physical Warmth Promotes Interpersonal Warmth