การขัดจังหวะระหว่างสนทนา แม้จะดูไร้มารยาทและน่ารังเกียจ แต่มีปัจจัยทางวัฒนธรรมและภาษาร่วมด้วย ถึงคุณจะฉุนคนที่ชอบพูดแทรกขนาดไหน มันก็ยังจำเป็นที่ต้องแยกให้ออกว่าพวกเขาแทรกอย่าง ‘สร้างสรรค์’ หรือ ‘บั่นทอน‘ การรับมือมนุษย์เหล่านี้จะทำให้วงสนทนาของคุณไม่ขาดสะบั้นระหว่างทาง และคุณอาจให้อภัยพวกเขาง่ายขึ้น เพราะหลายครั้งก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายอย่างที่ตั้งแง่ไว้
คุณเคยถูกฆ่าตายกลางที่ประชุมไหม?
เตรียมทำสไลด์มาทั้งคืน ยืนพูดกับตัวเองในกระจกซะดิบดี คิดคำฮุกโดนๆ ที่พูดออกมาต้องเปรี้ยงแน่ๆ ความมั่นใจมีให้เกินร้อย งานนี้คุณจะต้องเกิดในที่ประชุม และเมื่อเวลานั้นมาถึง วินาทีแห่งการสนทนากำลังเข้าได้เข้าเข็ม แสงไฟสปอตไลท์สาดส่องมาจับที่ตัวคุณ…
“ขอคอมเมนต์หน่อยนะ! คืองี้…”
นั่นไง! มันจะต้องมีใครสักคนที่แหลมเข้ามาแย่งซีน ดับแสงด้วยการ ‘ขัดจังหวะ’ จนทำให้คุณเป๋เหมือนโดนหมัดฮุกเข้าที่ทัดดอกไม้ พูดแทรกออกมาทั้งๆ ที่เป็นโอกาสของคุณ บางรายร้ายถึงขั้นสรุปสิ่งที่คุณพูดไปเมื่อสักครู่เหมือนตัวเองเป็นเจ้าของความคิด มนุษย์เหล่านี้มีอาชีพเป็นนักขัดจังหวะมืออาชีพหรืออย่างไร ถึงทำให้การสื่อสาร breakdown กลางทางทุกครั้ง
หลายคนสักแต่ว่าจะแสดงตัวตนกลางวงสนทนา พูดสิ่งไร้ประโยชน์เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกกลืนหายไป หรือพยายามแสดงฤทธิ์เดชให้ผู้อื่นเห็น แม้กระทั่งอยากเอาใจนายว่า “นี่ฉันก็ทำงานนะ” ด้วยความเห็นหลุดประเด็นที่ประชุมไม่ต้องการ
เราทุกคนล้วนเผชิญช่วงเวลาถูกขัดจังหวะมาแล้ว จนคุณเริ่มหมายหัวได้ว่า ใครกันที่ต้องระวังเป็นพิเศษก่อนเริ่มวงสนทนา เมื่อเรื่องใกล้จุดไคลแม็กซ์ ความฮาจะถึงจุดระเบิด จะมีคนพูดแทรกให้คุณกลับไปเล่าทุกอย่างใหม่อีกครั้ง ที่น่าเจ็บปวดคือ การทำซ้ำไม่มีทางสดเหมือนครั้งแรก จุดประสงค์สูญหาย เสียจังหวะก็ยังไม่เลวร้ายเท่าเสียความรู้สึก
การขัดจังหวะ (interruption) หลายครั้งไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา แต่อาจเป็นความต่างทางภาษาและวัฒนธรรม คนบางประเทศพร้อมร่วมวงสนทนากับคนแปลกหน้าและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ทันที จนคุณอาจจะมองเป็นเรื่องเสียมารยาท หรือบ่อยครั้งคนที่เหมือนจะดูเป็นพิษ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีเจตนาบั่นทอนเรื่องราวของคุณเลย แถมยังสนับสนุนสิ่งที่คุณเล่าให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วยซ้ำ
การขัดจังหวะจึงอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายซะทีเดียว อาจเป็นประสบการณ์ที่ช่วยส่งเสริม (หรือไม่ก็บั่นทอน) หากเราทำความเข้าใจธรรมชาติแห่งการขัดจังหวะ คุณอาจจะมองเห็นคุณประโยชน์ของคำพูดของคนช่างขัดจังหวะเหล่านี้ แล้วให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น เพราะลึกๆ แล้วพวกเขาอาจไม่ได้เจตนาร้ายอย่างที่ตั้งแง่ไว้
ใครกันนะชอบขัดจังหวะคุณ
ในยุคแรกๆ ช่วงปี 1970 งานวิจัยด้านพฤติกรรมยังอยู่ในภาวะตั้งไข่ ยากที่จะบอกว่าการสนทนาแบบไหนถึงเรียกว่า ‘ขัดจังหวะ’ อย่างแท้จริง เพราะการสนทนาที่ไม่ราบรื่น บางครั้งอาจจะเป็นการคร่อมจังหวะ (overlap) กันเล็กน้อยระหว่างสนทนา จนเมื่อปี 2016 มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า อิทธิพลทางเพศมีผลต่อการขัดจังหวะด้วยหรือไม่ โดย Tonja Jacobi จากมหาวิทยาลัย Northwestern University ศึกษาการขัดจังหวะที่เกิดขึ้นในระหว่างการไต่สวนของศาลสูงสหรัฐอเมริกา ที่ผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจะต้องหามติร่วมกันในการพิจารณาคดี
ทีมวิจัยพบว่าพฤติกรรมขัดจังหวะแฝงไว้ด้วยอิทธิพลทางเพศ โดยระหว่างการถกถียงนั้น ผู้พิพากษาชายมักจะพูดแทรกขัดจังหวะผู้พิพากษาหญิงมากกว่าถึง 3 เท่า โดยไม่ว่าผู้หญิงจะมีสถานภาพและการศึกษาสูงกว่าก็ตาม จะถูกผู้ชายขัดจังหวะได้เสมอ
นอกเหนือจากความต่างของเพศแล้ว ชาติพันธุ์ก็ยังถูกหยิบยกมาวิเคราะห์อยู่เช่นกัน ชาวยุโรปมักล้อเลียนชาวอิตาเลียนว่า ‘คุยกันเหมือนทะเลาะ’ พูดแทรกกันไปมา น้ำเสียงชวนต่อยตี ในขณะชาวญี่ปุ่นมักดูสงวนคำพูด โดยจะทิ้งช่วงระหว่างสนทนานานๆ เพื่อเปิดคิวให้อีกฝ่ายได้พูดต่อ ในกรณีคนสวีเดนจะยื่นถ้วยน้ำชาให้อีกฝ่ายเพื่อเป็นสัญญาณว่าถึงคิวที่คุณจะต้องพูดบ้างแล้ว
แต่นอกเหนือจากความเชื่อทางเชื้อชาติเช่นนี้ มีอะไรให้เราจับต้องได้กว่านี้ไหม?
หรืออาจจะเป็นโครงสร้างทางไวยากรณ์ภาษาที่เราใช้ล่ะ? Nick Enfield จากมหาวิทยาลัย University of Sydney พบว่าโครงสร้างทางไวยากรณ์ของแต่ละภาษาน่าจะมีส่วนกำหนดจังหวะโต้ตอบ ยกตัวอย่างภาษาอังกฤษที่จะไม่มีจังหวะหยุดเพื่อให้คิว แต่เป็นการใช้แกรมม่าหรือการใช้เสียงสูงต่ำ (intonation) ตอนสิ้นประโยคแทนเพื่อบอกว่า ฉันพูดจบประโยคแล้ว ถึงตาคุณพูดบ้าง โดยมีการหาค่าเฉลี่ยว่า จังหวะหยุดให้พูดในภาษาอังกฤษจะใช้เวลาราว 240 มิลลิวินาที ภาษาญี่ปุ่นอยู่ที่ 520 มิลลิวินาที และภาษาจีนอยู่ที่ 170–200 มิลลิวินาที (น่าเสียดาย ยังไม่มีการสำรวจภาษาไทย หรือใครจะทำก็ลองดู)
หากคุณต้องสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติหลากหลายวัฒนธรรม แต่ละวัฒนธรรมมักจะมี clock time เว้นระยะที่แตกต่างกัน
ไม่แปลกเลยเมื่อต้องพูดกับชาวจีน แล้วพวกเขาชิงโต้ตอบโดยรวดเร็วแบบไม่ให้ตั้งตัว หรือไม่ก็แย่งจังหวะคุณไปพูดเลยด้วยความเคยชิน พวกเขาจะคิดไปว่า ‘คุณหยุดนานเกินไป’ ช่องว่างเล็กๆ นี่เองอาจจะทำให้คุณต้องใจเย็นลง และไม่รีบด่วนตัดสินว่าเสียมารยาท การพูดโต้ตอบเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่มีพื้นฐานทางสังคมอย่างเข้มข้น
แต่เอาเถอะ หากจะมีข้อแม้ว่า วัฒนธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัย แต่ถ้าคนมันจะขัดจังหวะจริงๆ เขาจะขัดด้วยวัตถุประสงค์อะไรได้บ้างล่ะ?
ลองแยกประเภทการขัดจังหวะ
เหตุผลของการขัดจังหวะก็น่าคิด แต่ไม่ใช่ทุกการขัดจังหวะหรอกจะถูกมองในแง่ร้าย ดังนั้นเราลองมาแยกประเภทของมันออกมาเสียหน่อย ลองนึกถึงสถานการณ์ที่คุณต้องนำเสนองานจนเกือบถึงทางตันคิดไม่ออก แต่เพื่อนผู้น่ารักของคุณแทรกมาได้จังหวะช่วยชีวิตคุณไว้พอดี เขาสนับสนุนด้วยการเพิ่มเติมอะไรใหม่ๆ ให้บทสนทนาลื่นไหล หรือหากการพูดคุยเริ่มออกอ่าว น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง เขาก็สามารถประคับประคองให้การประชุมกลับมาเข้ารูปเข้ารอยได้ หรือบางคนเป็นนักสร้างอารมณ์ขัน ใช้มุกถูกจังหวะวาระ เรียกเสียงหัวเราะทำลายบรรยากาศเย็นยะเยือกให้มีรอยยิ้ม คนเหล่านี้หากคุณมีไว้ในที่ประชุม จะทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้เยอะ
การขัดจังหวะเชิงบวกเช่นนี้เรียกว่า Cooperative Interruptions มุ่งเน้นให้ความร่วมมือสนับสนุน
- Agreement (เห็นด้วย) : เพื่อนคนนี้อาจแทรกเข้ามาว่า เขาเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด สนับสนุนแนวคิดที่คุณได้กล่าวไว้แล้ว ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจว่ากำลังมาถูกทาง
- Assistance (ช่วยเหลือ) : จู่ๆ คุณก็นึกคำที่เป็นกุญแจนั้นไม่ออก หรือไม่สามารถนิยามมันออกมาเป็นรูปธรรมได้แจ่มชัด คนที่ขัดจังหวะเพื่อช่วยเหลือจะเสริมคำที่เสมือนกุญแจดอกสำคัญให้คุณได้พูดต่อ ถ้าเป็นวอลเลย์บอลเขาจะเป็นนักเซ็ตให้คุณเตรียมกระโดดตบอย่างสวยงาม
- Clarification (ขอให้อธิบาย) : สิ่งที่คุณพูดอาจไม่ชัดเจนหรือรายละเอียดน้อยไปนิด มันก็โอเคไม่ใช่หรือที่เขาจะขอให้คุณอธิบายให้ชัดเจนขึ้นกว่านี้หน่อย การขอคำอธิบายอย่างมีมารยาทเป็นสิ่งจำเป็น มีส่วนให้คุณทบทวนสิ่งที่คุณพูดและผู้ฟังมีโอกาสรับทราบรายละเอียดยิบย่อยที่อาจตกหล่นไป บางเรื่องไม่สามารถพูดให้ผ่านๆ ไปได้ การที่เขาขอให้คุณอธิบายแสดงว่าพวกเขาใส่ใจในสิ่งที่คุณกำลังสื่อสาร
แต่การขัดจังหวะที่ทำให้คุณอ้าปากหวอกลางที่ประชุม หรือให้ความรู้สึกถูกขโมยความคิดแบบฉับพลัน เป็นการขัดจังหวะที่บั่นทำลาย ไม่ได้ส่งพลังบวกให้ นักพฤติกรรมจัดมันเข้าด้วยกันเป็นการขัดจังหวะที่รุกราน Intrusive Interruptions ที่เกิดกับพวกเราได้เสมอ หากในวงสนทนามีคนที่ไร้มารยาทร่วมวงอยู่ด้วย
- Disagreement (ไม่เห็นด้วย) : เขาอาจขัดจังหวะคุณกลางคันโดยไม่ต้องรอให้คุณพูดจบ อาจไม่เห็นด้วยกับคุณ หรืออยากเสนอความคิดที่ดีกว่า การไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติในทุกการสนทนา แต่การหาจังหวะอย่างให้เกียรติเป็นหนึ่งในมารยาททางสังคมที่ควรฝึกปรือ
- Floor taking (ยึดเวที) : มีคนที่พยายามยึดสปอตไลท์ไปจากคุณ นักขัดจังหวะที่ร้ายกาจจะเอาพื้นที่ของคนอื่นให้เป็นของตัวเองโดยการเบียดให้คุณตกขอบเวที พวกเขาอาจเรียกร้องความสนใจด้วยการใช้น้ำเสียงที่ดังกว่า ตัดจังหวะการพูดของคุณเพื่อให้กลายเป็นจุดสนใจใหม่ในวงสนทนา
- Summarization (สรุปรวบรัด) : การถูกตัดจังหวะแล้วเอาสิ่งที่คุณพูดทั้งหมดมาสรุปด้วยประโยคอันรวบรัดเพียงไม่กี่คำทำร้ายความรู้สึกไม่น้อย เหมือนกับสิ่งที่คุณพูดไปถูกตักตวงเป็นของคนอื่นแล้ว
แม้บางครั้งมันจำเป็นที่ต้องเข้าไปขัดจังหวะ หากการสนทนาพาทีเริ่มออกนอกลู่นอกทาง ทำให้ใครหลายคนเสียเวลา นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ Ann Weatherall จากมหาวิทยาลัย Victoria University เผยเคล็ดลับว่า คุณไม่จำเป็นต้องยกมือขออนุญาตทุกครั้ง เพราะจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นเผยว่า ไม่มีใครใส่ใจสัญญาณมือของคุณหรอก แต่ให้ขัดจังหวะด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น พูดให้เร็วกว่าปกติ และนึกอยู่เสมอว่าคุณจะเพิ่มอะไรให้กับวงสนทนานี้บ้าง แต่หากถูกขัดจังหวะ คุณมีสิทธิที่จะพูดว่า “ขอให้ฉันพูดจบก่อน” ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน จากนั้นพูดเรื่องของคุณต่อไป อย่าหยุด แม้จะรู้สึกมีคนไม่ชอบขี้หน้าแล้วก็ตาม แต่ไม่ว่าคุณจะขัดจังหวะด้วยวิธีไหนก็ตาม ‘อย่าหลงประเด็นเป็นอันขาด’
ไม่จำเป็นว่าการประชุมจะจบลงด้วยความเห็นด้วยยินดีปรีดาเสียทุกครั้ง แต่การขัดจังหวะเป็นเครื่องมือที่แสดงว่า คุณเองมีจุดยืน มีศักยภาพรับรู้และตัดสินใจได้ มิใช่คนที่คอยพยักหน้าตามเห็นดีเห็นงามไปเสียทุกอย่าง ยิ่งในวาระสำคัญที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การขัดจังหวะของคุณอาจทำไปเพื่อคนอื่นที่ไม่ได้มีโอกาสได้พูด หากไม่มีใครคอยขัดจังหวะเรื่องที่ไม่ถูกต้องจะมีคนอีกมากที่เดือดร้อนจากการเสียประโยชน์ที่ไม่มีใครปกป้องเขา
คนพูดน้อยไม่ได้หมายความว่า เชื่องรอให้จูงจมูก คนที่ตอบเร็วก็ไม่ได้กดดัน คนที่ดูเหมือนอยากจะเด่น เขาอาจเพียงแสดงความหลงใหลอย่างออกรสออกชาติ
การทำความเข้าใจสไตล์ขัดจังหวะของตัวคุณเอง ยิ่งช่วยให้การพูดคุยครั้งต่อไป เป็นของคุณโดยแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Sexism in Language and Talk-in-Interaction
- Interrupting in Speech
- RESPONDING IN OVERLAP AGENCY, EPISTEMICITY AND SOCIAL ACTION IN CONVERSATION
- The science behind interrupting: gender, nationality and power, and the roles they play