วันพระใหญ่ที่ผ่านมา มีใครทำบุญด้วยการปล่อยนกปล่อยปลาบ้าง ยกมือขึ้น?!
ความมีเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิตร่วมโลกนั้นถือได้ว่าเป็น ‘ไฮไลต์’ ในคำสั่งสอนของพุทธศาสนาทุกนิกายเลยก็ว่าได้ อานิสงส์ที่ได้จากการหยิบยื่นโอกาสต่อชีวิตให้กับสัตว์ที่กำลังจะตายหรือจะถูกฆ่าจัดว่าได้บุญแรง ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมปล่อยสัตว์ต่างๆ ในวันพระหรือวันสำคัญอื่นๆ
พุทธศาสนากับการปล่อยสัตว์
ความเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนากับการไถ่ชีวิตสัตว์ หรือ ‘ฟ่างเซิง’ ในภาษาจีน สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ‘สุวรรณประภาสสูตร’ หรือ ‘กิมกวงเม้งเก็ง’ พระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเริ่มปรากฏในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์เหลียงฝ่ายเหนือ (ค.ศ. 412-427) ในพระสูตรนั้นได้กล่าวถึงบุตรชายเศรษฐีนามว่า ชลวาหนะ ที่ได้ช่วยปลาหนึ่งหมื่นตัวไว้จากการขาดน้ำตาย ซึ่งชลวาหนะนี้ ในภายหลังได้เกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และมีปลาทั้งหมื่นตัวเกิดเป็นเทพบุตรบริวาร ในเวลาต่อมา นักบวชจื้ออี่ แห่งนิกายเทียนไถ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 538-597) ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดพิธีกรรมที่ซับซ้อนประกอบการปล่อยสัตว์ทีละจำนวนมากๆ
สำหรับในประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เรายังมีเรื่องเล่าถึงบุญจากการให้ชีวิตของ สามเณรติสสะ ศิษย์ของพระสารีบุตร ผู้มีชะตาถึงฆาตภายใน 7 วันแต่ด้วยอานิสงส์จากการช่วยปลาในสระน้ำที่แห้งขอดกับปล่อยเก้งจากแร้วนายพราน เจ้ากรรมนายเวรจึงได้อโหสิกรรมให้รอดไปชิวๆ
แต่ความย้อนแย้งของการปล่อยสัตว์มีมานานยิ่งกว่านั้น ใน ‘คัมภีร์เต๋าของเลี่ยจือ’ เมื่อสองพันกว่าปีก่อนเล่าถึง เจ้าเมืองหานตาน เจ้าเมืองแซ่เฉียนผู้นี้ตบรางวัลให้กับชาวบ้านที่นำนกพิราบมาให้ปล่อยเพื่อเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ แต่มีผู้แย้งว่า “ชาวเมืองรู้ดีว่าท่านชมชอบปล่อยนกพิราบ จึงได้แข่งกันไปจับมาทำให้นกตายไปมากมาย หากท่านประสงค์จะช่วยชีวิตสัตว์ ก็สั่งห้ามชาวเมืองจับนกพิราบเสียเถิด จะเป็นการดีกว่าปล่อยนกหลังจากจับมันมาเพราะสำคัญผิดว่าเป็นความกรุณา” ซึ่งเจ้าเมืองแซ่เฉียนได้ยอมรับว่าท่านผู้นั้นพูดถูกต้อง
การปล่อยสัตว์ในปัจจุบัน
ด้วยรูปแบบชีวิตในปัจจุบันที่ทำให้ชาวพุทธมีเวลาเดินหาสัตว์หน้าเขียงด้วยตัวเองน้อยลง การถวิลหาความสะดวกสบายทำให้เกิดปรากฏการณ์การทำบุญแบบสำเร็จรูป โดยมีสัตว์ชนิดต่างๆ แทนวัตถุมงคลที่มีชีวิต
‘พุทธพาณิชย์’ เป็นการตลาดแบบต้นทุนต่ำที่จะอย่างไรก็กำไรชัวร์
เพราะมูลค่าของสินค้า หรือความหวังว่าชีวิต
ในชาตินี้และชาติหน้าจะต้องเจริญด้วยผลบุญ
ที่ได้กระทำในวันนี้ คิดเป็นจำนวนเงินที่ประเมินค่าไม่ได้
การไถ่ชีวิตสัตว์นั้นเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในเอเชีย โดยเฉพาะในจีน ธิเบต ไทย กัมพูชา และไต้หวัน รวมทั้งมีหลักฐานปรากฏในซีกโลกตะวันตกเช่น แคนาดา และออสเตรเลียเช่นกัน ทำให้เกิด ‘อุปสงค์ (demand)’ สำหรับสัตว์ที่ใช้สำหรับปล่อยจำนวนมหาศาล ก่อรายได้เป็นล่ำเป็นสันจากความเชื่อและความศรัทธาในหมู่ชาวพุทธ ซึ่งนับวันก็ยิ่งห่างไกลจากแก่นคำสอนขึ้นเรื่อยๆ
ทีมนักวิจัยที่ทำการสำรวจความเคลื่อนไหวของนกปล่อยในตลาดบุญกรุงพนมเปญเมื่อปีค.ศ. 2012 ประมาณการณ์ว่า เฉพาะในประเทศกัมพูชาก็มีการหมุนเวียนของนกปล่อยร่วม 700,000 ตัวต่อปี สำรวจพบนกจำนวน 57 ชนิด ซึ่งรวมไปถึงนกที่จัดอยู่ในกลุ่มถูกคุกคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่าง ‘นกกระจาบทอง (Asian golden weaver, Ploceus hypoxanthus)’ และ ‘นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Yellow-breasted bunting, Emberiza aureola)’
ในขณะที่อีกทีมวิจัยประมาณการณ์จำนวนนกที่ถูกปล่อยบนหมู่เกาะฮ่องกงไว้ที่ 580,000 ตัวต่อปี ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจำนวนสัตว์ที่ถูกจับมาเพื่อปล่อยในแต่ละปีทั่วโลกมีจำนวนมากน้อยเท่าใด และคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของกระบวนการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย แต่นักวิจัยคาดว่า แค่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็ปล่อยนกกันปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่าสิบล้านตัว นกบางส่วนที่ถูกปล่อยมาแล้วแต่อ่อนเพลียหรือบาดเจ็บไปไหนไม่รอด ก็จะถูกจับมารีไซเคิลให้คนใจบุญปล่อยใหม่วนเวียนกันเป็นวัฏจักรจนกว่าจะตายจากกันไป
แม่ค้านกปล่อยในพนมเปญระบุว่า
เธอคนเดียวอาจจะขายนกได้มากถึงวันละ 200 ตัว
ถ้าเราลองคิดดูด้วยพื้นฐานราคานกปล่อยในไทยที่ขายนกตัวเล็กๆ ในถุงพลาสติกถุงละ 35 บาทแล้วล่ะก็ แสดงว่าในวันหนึ่งพ่อค้าแม่ค้าขายนกอาจจะได้เงินถึง 7,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว
การปล่อยสัตว์สำเร็จรูปนั้นได้บุญจริงหรือ?
กรงที่ใช้ขังนกสำหรับปล่อยพวกนี้มีนกต่างชนิดกันแออัดอยู่เป็นร้อยๆ ตัว กรงจะถูกวางซ้อนกันทำให้ของเสียและฝุ่นร่วงใส่กรงที่อยู่ล่างลงไป สภาพเช่นนี้ทำให้นกเครียดและเป็นโรคได้ง่าย การวิจัยพบว่า มีนกในกรงเตรียมปล่อยมากกว่า 10% เป็นพาหะของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 นอกจากนี้ยังพบว่านกเตรียมปล่อยเหล่านี้มักไม่ได้รับน้ำ อาหาร หรือแม้แต่ร่มเงา ทั้งยังมักบาดเจ็บจากการถูกซี่กรงบาด
ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ของมณฑลกว่างโจว ประเทศจีน (Institute of Supervising Animal Epidemic Control of Guangzhou) คาดการณ์ว่าในจำนวนนกที่ถูกปล่อยนั้นมีอัตราการตายสูงกว่า 90% และหนังสือพิมพ์ Sing Tao Daily ยังเคยรายงานถึงซากนกตายกว่า 8,000 ตัวในอำเภอไป๋หยุ่นของกว่างโจว หลังการทำบุญในวันหยุดสุดสัปดาห์
อัตราการตายที่สูงมากนี้ยังมีผลเนื่องมาจากเราปล่อยสัตว์
ในสภาพแวดล้อมหรือชีพพิสัย (niche)
ที่ไม่เหมาะสมการต่อดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดนั้นๆ
ตัวอย่างสัตว์ยอดนิยมที่มักจะถูกปล่อยผิดที่ก็เช่น ‘ปลาไหล’ ซึ่งตามธรรมชาติอาศัยอยู่ในน้ำตื้นแฉะ มีดินโคลนให้หลบซ่อนตัว ปลาไหลที่ถูกปล่อยลงแม่น้ำหรือคลองที่มีน้ำไหลเชี่ยวจะพยายามว่ายทวนน้ำเข้าหาฝั่ง ส่วนใหญ่ไม่นานก็จะหมดแรงตายหรือถูกจับมาให้ปล่อยใหม่ ‘หอยขม’ ต้องการน้ำตื้นและโคลนเช่นกัน รวมทั้งคุณภาพน้ำต้องดีและควรค่อยๆ ปล่อยอย่างช้าๆ ริมตลิ่งเพื่อให้หอยสามารถหาที่เกาะได้ ซึ่งหากถูกเทพรวดลงกลางน้ำ หอยขมจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เลย ส่วนนกอันเป็นที่นิยม อย่าง ‘นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted munia, Lonchura punctulata)’ หรือนกขนาดเล็กอื่นๆ ที่กินเมล็ดพืช เมื่อถูกปล่อยในป่าคอนกรีตที่ไม่มีแหล่งอาหาร ไม่ช้าไม่นานก็ไม่รอด
สัตว์ที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดในการปล่อยชนิดหนึ่งน่าจะไม่พ้น ‘เต่า’ สัตว์เลื้อนคลานมีกระดองที่มักถูกปล่อยตามบ่อน้ำในวัดที่แออัด น้ำไม่ถ่ายเท หรือตามท่าน้ำที่ชันและบางครั้งก็เป็นคอนกรีต ผิดกับธรรมชาติของเต่าที่ต้องการชายตลิ่งให้เกาะพักและอาบแดด หรือแม้แต่เต่าบกที่มีผู้ไม่รู้นำไปปล่อยลงน้ำ
อาจจะฟังดูแปลก แต่ไม่ว่าจะเต่าบกหรือเต่าน้ำจืด
ก็สามารถจะจมน้ำตายได้เท่ากันเมื่อถูกปล่อยอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวพุทธเลือกปล่อยเต่าเพราะเป็นสัตว์ที่มีอายุขัยยืนยาว นัยว่าช่วยต่อชะตาชีวิตผู้ปล่อย แต่เหมือนตลกร้ายที่กลายเป็นว่ามีเต่าจำนวนมากในแต่ละปีต้องสังเวยชีวิตให้กับความเชื่อนี้ เพราะถูกนำไปปล่อยในที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตตามชนิดของมัน นอกจากนี้เต่าบกและเต่าน้ำจืดทุกชนิดในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2535 การซื้อ-ขายเต่าจึงผิดกฎหมายด้วยนะจ๊ะ
ด้วยหลักจิตวิทยาแบบ ‘ยิ่งเยอะ ยิ่งแปลก ยิ่งดี’ ทำให้เกิดการแข่งขันกันกลายๆ ในการนำสัตว์มาปล่อย เมื่อต้นปีที่เพิ่งผ่านมา หนังสือพิมพ์ People’s Daily Online ของจีนรายงานข่าวการปล่อยปลาไหลและงูหลามบนหาดทรายเมืองไห่โข่ว และยังมีรายงานการนำเต่าทะเลไปปล่อยในสระน้ำของวัดบนภูเขาเทียนไถซานอีกด้วย
ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
การปล่อยสัตว์หรือพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien species) ที่ปรับตัวได้เก่ง ทนทาน และมีความต้องการทางระบบนิเวศที่ทับซ้อน (Niche overlap) กับสัตว์และพืชพื้นเมือง อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดจนกลายเป็นรุกราน (Invasive alien species) สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและคุกคามสัตว์พื้นเมือง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหอยเชอรี่และผักตบชวาในประเทศไทย
‘ปลาซัคเกอร์หรือปลากดเกราะ (Common pleco, Hypostomus plecostomus)’ หรือชื่อใหม่ในเชิงพุทธพาณิชย์ที่เรียกว่า ‘ปลาราหู’ นั้น นับว่าเป็นฝันร้ายของปลาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว ไล่กินลูกปลา ปลาเล็ก ไข่ปลา หรือแม้แต่ดูดเมือกจากตัวปลาชนิดอื่น แย่งถิ่นอาศัย แย่งอาหาร จนปลาเจ้าถิ่นของไทยหลายชนิดหวิดจะสูญพันธุ์ และหน้าตาที่ห่างไกลจากคำว่าน่ารักของมันทำให้ปราศจากการล่าของมนุษย์อย่างแทบจะสิ้นเชิง (แต่จริงๆ มันกินได้นะ ลองดูเมนูได้ที่นี่)
หรือแม้แต่ปลาดุก ซึ่งตามตลาดทั่วไปหรือที่มาจากฟาร์มในทุกวันนี้ล้วนแต่เป็น ‘ดุกบิ๊กอุย’ ลูกผสมของปลาดุกอุยพันธุ์พื้นเมืองของไทยกับปลาดุกจากแอฟริกา เป็นลูกครึ่งที่โตไวกว่า กินเก่งกว่า และเนื้อเยอะกว่าปลาดุกไทยแท้ นับว่าปลานักล่าที่ทำความเสียหายให้กับระบบนิเวศได้ไม่น้อยอีกชนิด
กรณีพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่โด่งดังคือ กลุ่มปลาน้ําจืดขนาดใหญ่ในวงศ์ปลาตะเพียนที่ประกอบไปด้วย ‘ปลาไนหรือปลาคาร์ป (Common carp, Cyprinus carpio)’ ‘ปลาลิ่น (Silver carp, Hypophthalmichthys molitrix)’ และชนิดพันธุ์อื่นๆ รวม 9 ชนิดด้วยกัน เรียกรวมๆ ว่า ‘Asian carp’
ซึ่งแต่ละชนิดถูกจัดอยู่ในสถานะมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในจีนบ้านเกิด แต่กลับเป็นผู้ร้ายข้ามชาติที่หลายๆ ประเทศต้องกุมขมับ กลุ่มปลาไนถูกนำเข้าไปเลี้ยงในหลายประเทศเพื่อเป็นอาหาร ทำความสะอาดบ่อปลาอื่น หรือเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อดั้งเดิม แต่พอหลุดลงน้ำเท่านั้นล่ะ… ในแม่น้ํามิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกา ปลาเหล่านี้จำนวนมหาศาลที่หากินท้องน้ำ ได้ขุดคุ้ยรากพืชเพื่อดูดเอาสารอาหารจนความขุ่น (Turbidity) เพิ่มมากเกินกว่าที่ปลากินเนื้อท้องถิ่นจะสามารถล่าเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความขุ่นที่เพิ่มขึ้นยังทำให้พืชน้ำเจริญเติบโตได้ช้าเพราะขาดแสงแดด ที่สำคัญคือปลาในกลุ่มนี้แพร่พันธุ์เร็วมาก ตัวเมียเพียงตัวเดียวสามารถวางไข่ได้เป็นล้านฟองภายในรอบปี คุกคามปลากินพืชเจ้าถิ่นจนแทบจะสูญพันธุ์ บางชนิดเช่น ปลาลิ่น ยังมีนิสัยชอบกระโดดสูงเมื่อตื่นตกใจ ทำให้การสัญจรทางน้ำเป็นไปด้วยความลำบากและอันตรายมาก
สรุปแล้ว การปล่อยสัตว์หรือแม้แต่การปลูกป่าที่ไม่ชัวร์เรื่องชนิดพันธุ์นอกจากจะไม่ปังแล้ว อาจจะพังมากกว่าที่คุณคิด
‘Asian Carpocalypse’ ปลาดึ๋ง
น้อยนิด มหาศาล
อีกเรื่องที่น่ากังวลกับการปล่อยสัตว์หรือปลูกพืชก็คือการปะปนของสายพันธุ์ ถึงแม้จะเป็นสิ่งชีวิตที่จัดอยู่ในชนิดเดียวกัน (Species) แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไปบ้าง อาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรเพียงเล็กน้อยที่ยังไม่สามารถแยกออกเป็นชนิดใหม่ได้ การนำสัตว์จำนวนมากจากหลายแหล่งมาปล่อยพร้อมกัน จึงทำให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ท้องถิ่น ‘นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered bulbul, Pycnonotus jocosus)’ เป็นอีกหนึ่งชนิดที่เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (Genetic pollution) เช่นนี้ โดยประชากรนกในภาคเหนือและใต้ของประเทศไทยที่ถูกปล่อยหรือหลุดรอดจากกรงเลี้ยงได้อยู่ปะปนกันในทั้งสองภาค
การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเป็นไปตามข้อมูลทางสัตวภูมิศาสตร์ มิใช่เป็นไปตามเส้นแบ่งเขตแดนประเทศหรือเขตการปกครองที่มนุษย์กำหนดขึ้น ความเข้าใจแต่เพียงว่า “ถ้าเป็นชนิดพันธุ์ที่พบในประเทศไทยแล้วจะนำไปปล่อยที่ไหนในประเทศเดียวกันก็ได้” จึงอันตรายต่อระบบนิเวศท้องถิ่นอย่างมาก ยกตัวอย่าง ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาที่พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง ถ้าหากถูกนำไปปล่อยในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำอื่นๆ ก็จัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของลุ่มแม่น้ำนั้น
ราว 10 กว่าปีก่อน ปลาซิวเขียว (Microdevario kubotai) ที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำกษัตริย์-สุริยะ และลุ่มแม่น้ำตะนาวศรีตอนล่าง ถูกปล่อยในแม่น้ำแควน้อยตอนบนและค่อยๆ กระจายพันธุ์ไปแทบจะทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง ในขณะที่ปลาซิวท้องถิ่นลดจำนวนลงอย่างช้าๆ ปลาซิวเขียวที่ปรับตัวได้ดีมีอาณาเขตกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดตัวที่เล็กของมันทำให้ถูกมองข้ามไป รวมทั้งอาจไม่มีวิธีจับออกให้หมดได้เลย
ให้นกอยู่บนฟ้า ให้ปลาอยู่ในน้ำ
การปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญนั้น นอกจากจะมีจิตกุศลแล้ว ยังควรต้องพิจารณาถึงชนิดพันธุ์และถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสม (อ่าน ‘ปล่อยสัตว์ให้รอดและไม่กระทบต่อระบบนิเวศ’) คุณภาพชีวิตในอนาคตของสัตว์ที่จะปล่อย และสัตว์นั้นควรจะมีสุขภาพที่ดีสมบูรณ์ ไม่เป็นพาหะนำโรค
การปล่อยสัตว์น้ำและสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์เลือดเย็น ยังต้องให้เวลาสัตว์ในการปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อค ‘น็อคน้ำ’ ที่อาจถึงตายได้ การน็อคน้ำเกิดขึ้นจากที่สัตว์ปรับตัวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่ต่างกัน ค่าความเป็นกรดของน้ำ (pH) หรือองค์ประกอบทางเคมีอื่นๆ
ลำพังการซื้อสัตว์มาปล่อยๆ ไปนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ที่จะคาดหวังทั้งให้พวกมันรอด และทั้งไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
ยังอีกทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องคิดเยอะและช่วยระบบนิเวศให้ดีขึ้นได้จริง คือร่วมบริจาคเงินสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์หรือพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในธรรมชาติโดยตรง เช่น
- โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือกกับ Thailand Hornbill Project ช่วยฟื้นฟูป่าแบบธรรมชาติแท้ๆ เพราะนกเงือกเป็นตัวกระจายพันธุ์ไม้ที่เมล็ดใหญ่เกินกว่านกขนาดเล็กจะกลืนได้ลง อย่าง ตาเสือ มะเกิ้ม กำลังเลือดม้า ฯลฯ เรียกว่าทำบุญครั้งเดียวได้ทั้งนกได้ทั้งป่า
- โครงการอุปการะนกล่าเหยื่อเพื่อฟื้นฟูและปล่อยคืนธรรมชาติ ของกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์
- โครงการอนุรักษ์นกชายเลนปากช้อน ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
- กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งช่วยเหลือการศึกษาบุตร-ธิดาและครอบครัวของผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต
สุดท้ายนี้ ก็ขอให้พิจารณาว่าสัตว์ที่เราจะปล่อยนั้นมีอำนาจจะให้บุญหรือโชคลาภต่างๆ แก่เราได้จริงหรือ ในเมื่อชะตาชีวิตของตัวมันเองนั้น ‘จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด’ อยู่ในกำมือของเรา ความเชื่อและธรรมเนียมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ดูอย่างปลาทับทิมที่เพิ่งอีโวมาจากปลานิลเมื่อไม่กี่สิบปีนี้โดยฝีมือการปรับปรุงสายพันธุ์ของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ทั้งปลาทับทิมและปลานิลก็เป็น alien species นะ) ยังถูกนำไปอ้างสรรพคุณรวมเป็นสัตว์น้ำให้คุณต่อผู้ปล่อยได้เลย
ถ้าอ่านมาทั้งหมดนี้ แล้วยังไม่เปลี่ยนใจกับการปล่อยนกปล่อยปลา ก็สาทุบุนด้วยจย้าาา
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Taylor, B. (Ed.). (2008). Encyclopedia of Religion and Nature. 438. doi.
[2] GONGHOOG ก่งฮุก 供佛 – สุวรรณประภาสสูตร คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย.
[3] Shiu, Henry, and Leah Stokes. 2008. “Buddhist Animal Release Practices: Historic, Environmental, Public Health And Economic Concerns.” Contemporary Buddhism 9, no. 2: 181-196. Academic Search Complete, EBSCOhost.
[4] ‘The people know you wish to release them, so they vie with each other to catch them, and many of the doves die. If you wish to keep them alive, it would be better to forbid the people to catch them. When you release doves after catching them, the kindness does not make up for the mistake.
[6] Gilbert, Martin, Chea Sokha, Priscilla H. Joyner, Robert L. Thomson, and Colin Poole. “Characterizing the trade of wild birds for merit release in Phnom Penh, Cambodia and associated risks to health and ecology.” Biological Conservation 153 (2012): 10-16. doi:10.1016/j.biocon.2012.04.024.
[7] “Religious release of birds in Hong Kong.” Chan, Sin-wai. Accessed February 11, 2017.
[10] “Chaotic: Dozens of animals improperly released on beach in southern China, taking firefighters hours to search – People’s Daily Online.” Chaotic: Dozens of animals improperly released on beach in southern China, taking firefighters hours to search – People’s Daily Online. N.p., n.d. Web. 11 Feb. 2017.
[11] http://web3.dnp.go.th/wildlifenew
[13] http://www.prachachat.net
[14] http://pasusat.com
[15] “Asian Box Turtle Care Sheet.” Asian Box Turtle Care Sheet. Accessed February 11, 2017.