ถึงแม้จะตั้งชื่อว่า ‘รายงานการปฏิรูป’ แต่ข้อเสนอของ สปท.สายสื่อมวลชนที่อยากให้มีสารพัดมาตรการควบคุมการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ก็ถูกตั้งข้อสงสัยหลายอย่างว่ากำลังพาสังคมเราไปทางไหน
คำถามคือเพราะอะไร สมาชิก สปท. ถึงเล่นใหญ่ขนาดเสนอให้มีทั้งวิธีสแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือในการลงทะเบียนซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระท่ังเสนอให้ใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนก่อนเล่นโซเชียลมีเดีย ตกลงแล้วโลกออนไลน์ในไทยมันลึกลับ น่ากลัว แสนอันตรายกันขนาดไหนเชียว จนถึงขั้นต้องออกแบบมาตรการกันแบบเต็มสตรีมขนาดนี้
The MATTER พาไปสำรวจเหตุผลที่ สปท. ยกขึ้นมาเพื่อรองรับมาตรการควบคุมโซเชียลมีเดียกัน รับรองว่าฟังแล้วก็ได้แต่ปลาบปลื้มน้ำตาไหลไปกับความหวังดีๆ ที่คุณอาคุณน้านักปฏิรูปมีให้กับพวกเรา
สังคมก้มหน้า คนไม่สนใจโลกรอบข้าง
สปท.ด้านสื่อฯ มองว่า สื่อโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางจนเกิดสภาพ ‘สังคมก้มหน้า’ ในทุกพื้นที่ ทุกเพศ และทุกวัย (พูดไปก็นึกถึงโรคระบาดเลยเนอะ) ที่สำคัญคือ เค้าเห็นว่าเยาวชนไทยได้ใช้สื่อออนไลน์ติดตามกระแสสังคมอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น จนใช้เวลาในการใช้สื่อออนไลน์มากกว่าทำกิจกรรมอื่น จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แถมยังเป็นพื้นที่ระบายความรู้สึกที่ไม่เหมาะสม รุนแรง และไม่สนใจบุคคลอื่นๆ
คนไทยขาดความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล
สปท.เห็นว่า วันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแต่คนใช้ไม่รู้เท่าทัน ขาดการไตร่ตรอง ไม่ได้ตรวจสอบกันว่าข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นมีอันตรายอย่างไรบ้าง ที่เค้าเป็นห่วงแทนเราคือ สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ในแง่ที่เบาลงมาคือมีการแชร์ข้อมูล ภาพ หรือคลิปต่างๆ โดยขาดความเข้าใจ
นอกจากนี้ ผู้คนตกเป็นเครื่องมือของการทำธุรกิจในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง เพราะได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของรัฐ มีโฆษณาที่บรรยายประโยชน์เกินจริงเต็มไปหมด นอกจากนี้ยังมีผู้ไม่หวังดีทำการชักชวนคนในโลกออนไลน์ไปร่วมลงทุนที่หวังผลกำไรสูงๆ จนกลายเป็นคดีฉ้อโกงกันมานักต่อนัก
สื่อลามก ภัยอันตรายต่อคนไทย
ผู้ใหญ่เค้ามีความเป็นห่วงว่า หนังโป๊ และสื่อลามกประเภทต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์จำนวนมาก ทั้งที่ทำไปด้วยความสนุกสนานและคึกคะนอง สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เยาวชนไทยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินชีวิต แค่ลามกไม่พอ สปท. เค้ายังเห็นว่า มันอาจนำไปสู่การแอบแฝงบริการทางเพศในสื่อออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของธุรกิจค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย
สื่อหลักคือปัญหา ส่วนผู้เสพข่าวก็กำกับกันเองไม่ได้
สปท.ยกตัวอย่างว่า สื่อกระแสหลักที่เข้ามาในสนามสื่อออนไลน์เพื่อนำเสนอข่าวคดี ‘เปรี้ยว ฆ่าหั่นศพ’ มาเป็นเหตุผลว่าสื่อกระแสหลักมีส่วนช่วยให้การก่ออาชญกรรมกลายเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี จนทำให้ผู้เสพข่าวหลงใหลไปกับพฤติกรรมของฆาตกร จนสังคมเรียกร้องให้สื่อหลักต้องทบทวนตัวเอง
ประเด็นนี้พีคสุด สปท. วิจารณ์ว่า การกำกับเนื้อหาในกลุ่มผู้ใช้สื่อออนไลน์ด้วยกันเองยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ โดยไร้ขอบเขตการกำกับดูแล มิหนำซ้ำ ยังมีการแสดงความคิดเห็นที่ชักชวนโน้มน้าวให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น สปท. บอกว่าปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมแก้ปัญหา
สปท.เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปด้วยมาตรการเหล่านี้
ระยะเร่งด่วน (เสนอว่าควรทำให้เสร็จภายในปี 2562)
กสทช. ควรจัดระเบียบลงทะเบียนซื้อซิมมือถือทั่วประเทศ ใครจะซื้อซิมมือถือต้องผ่านหลายขั้นตอน เช่นสแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ หรือใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชน สปท. มองว่ามาตรการนี้จะช่วยลดปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างมาก เพราะคนใช้งานจะกลัวการถูกตรวจสอบ
กสทช. กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงมหาดไทย ควรรวมตัวกันไปเจรจากับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียของต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนในการลงทะเบียนเข้าใช้งานโซเชียลมีเดีย สปท.เชื่อว่าจะทำให้คนที่ไม่หวังดีเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมายได้
กสทช. ควรออกหลักเกณฑ์ให้บริษัท Operator หาวิธีการจัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซื้อซิมด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน และต้องจำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมของแต่ละคนให้เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหานักรับจ้างกดไลก์
จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการผู้ใช้มือถือ เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการต่างคนต่างเก็บข้อมูล ไม่เคยมีเจ้าภาพทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่าง นอกจากนี้ ต้องทำงานแบบ ‘ทันสมัย’ อยู่เสมอ พร้อมเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลาและจากทุกพื้นที่ เพื่อดูว่ามีใครทำผิดกฎหมายหรือไม่
ปรับโครงสร้างและบทบาทของ ปอท. (กองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ด้านเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ รวมถึงนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจหาเบาะแส ร่องรอยของคนทำผิดกฎหมาย
ไม่เพียงแค่นั้น เค้ายังเสนอให้กรมสรรพากรเร่งเก่งภาษีกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในต่างประเทศ รวมถึง เก็บ VAT กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์อีกด้วย
ระยะยาว (เสนอตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี)
หน่วยงานรัฐต้องมีกิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังอุดมการณ์ชีวิต เสริมสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ให้คนมีความคิดที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์ให้กับเยาวชน บุคลากรภาครัฐ บริษัทเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจน ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ให้เป็นต้นแบบช่วยเผยแพร่แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ
ตัวอย่างเชิงรูปธรรม (มั้งนะ) ที่ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอ เช่น กรมสรรพากรจัดมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับหน่วยงานเอกชนที่ผลิตกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อ หรือ กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดวิชารู้เท่าทันสื่อเข้าไปในหลักสูตรต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา พร้อมกับการให้มีระบบประเมินผลว่าหน่วยงานภาครัฐมีการส่งเสริมจริยธรรมการใช้สื่อได้ดีพอหรือไม่
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตซอฟต์แวร์ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองอีกด้วย เพราะเค้ากังวลว่า ที่ผ่านมาเราเอาแต่พึ่งพิงโซเชียลมีเดียของต่างประเทศ จนทำให้ประเทศเราไม่สามารถกำกับดูแลเนื้อหาต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม อีกทั้ง ยังจะช่วยให้รัฐไม่สูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีต่างๆ ยังไม่หมดแค่นั้น! เพราะรัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมให้พัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านั้นไปขายได้ในระดับโลกด้วย
ถึงแม้ว่าข้อเสนอเหล่านี้จาก สปท. จะยังไม่มีสถานะผูกมัดให้รัฐบาลต้องทำตาม อย่างไรก็ดี เอกสารฉบับนี้ก็สามารถสะท้อนได้ว่า สปท.ในฐานะ ‘นักขับเคลื่อนการปฏิรูป’ มีมุมมองต่อการใช้และแนวทางควบคุมโซเชียลมีเดียในไทยอย่างไร ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ เพราะมองว่ามันล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในยุค 4.0
คำถามสำคัญมากๆ คือ ความหวังดีเหล่านี้จาก สปท. จะนำไปสู่สังคมออนไลน์ที่ใสสะอาดได้จริงแค่ไหน เพราะต้องยอมรับกันว่า ข้อเสนอหลายอย่างที่ชงให้ กสทช. ทำก็อาจจะเลยขอบเขตที่กฎหมายเอื้อให้ทำได้
ถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีสิ่งใดมาช่วยการันตีว่าการปฏิรูปตามวิถีนี้จะแก้ปัญหาที่ว่ามาได้จริง และจะไม่ได้กลายเป็นปัญหาไปเสียเอง
อ้างอิงจาก
รายงานการปฏิรูปโซเชียมีเดียของกรรมาธิการสื่อฯ สปท.