วินาทีที่พบคนถูกใจเปรียบดั่งต้องมนต์สะกด เพียงสบตาครั้งเดียวก็เห็นภาพอนาคตที่คุณกับเขาใช้เวลาร่วมกัน มันอาจจะเป็นความสัมพันธ์ที่คุณตามหาอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้!
แต่ภายในเวลาไม่ช้า กลิ่นอาย ‘โดนเท’ เริ่มเตะจมูก เขากลืนหายไปกับม่านหมอก เหมือนสายลมพัดพาไป คุณถูกทิ้งไว้กับความสงสัยว่า ‘เกิดเรื่องผิดพลาดอะไร’ ทำไมเขาถึงหมดความสนใจคุณเร็วนัก?
ประสบการณ์เช่นนี้ทุกคนล้วนเคยสัมผัสอย่างเท่าเทียม (หรือถ้าคุณไม่เคย ก็ถือว่าโชคดี) เป็นช่วงเวลาสับสนที่เราต้องมานั่งตั้งคำถามวกไปวนมา ซึ่งในเชิงจิตวิทยาความสัมพันธ์ การที่ตัวเรามีมุมมองต่อตัวตน หรือ self-perception อย่างไรก็เป็น ‘ไกด์ไลน์’ หนึ่งที่พอจะช่วยตอบคำถามได้ (หรือสร้างคำถามมากกว่าเดิม)
เรามีมุมมองต่อตัวเองแบบไหน แล้วถ้ามันแย่ เราจะแก้ได้ไหม? เขาคนนั้นคุ้มไหมต่อการที่คุณต้องมานั่งสำรวจตัวเอง
1. มั่นใจตัวเองต่ำเกินไป
อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนส่วนใหญ่หมดความสนใจในตัวคุณมากที่สุด จากการสำรวจที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Social Psychology ความมั่นใจในตัวเองต่ำทำให้ยากที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ เมื่อคุณไม่กล้าลงมือทำอะไรสักอย่าง หรือทำด้วยความลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นตัวเอง และมีแนวโน้มจะไม่เชื่อมั่นในคนอื่นในเวลาต่อมา
ความมั่นใจในตัวเองบ่งบอกได้ชัดเจนว่าคุณมี self-perception ต่อตัวเองอย่างไร แม้คนที่ไม่ได้มีหน้าตาดีเป็นแต้มต่อแต่กลับมั่นใจตัวเองก็ยังมีทางเลือกให้เดทอยู่ถมไป แม้ความรู้สึกไม่คุ้นชินหรือไม่ปลอดภัย (insecurity) จะเกิดขึ้นในการเจอกันครั้งแรกๆ แต่นั่นก็ล้วนเป็นกลไกธรรมชาติ คุณแค่ตั้งการ์ดสูงเพื่อดูว่าอีกฝ่ายมีท่าทีอย่างไร
แต่ความมั่นใจในตัวเองก็ไม่ได้สร้างง่ายๆ มันเริ่มจากการที่คุณมีทัศนคติที่ดีต่อตัวคุณเองทั้งด้านกายภาพและจิตใจที่ให้ความรู้สึกถึงการเป็น ‘เจ้าของตัวเอง’—หาใช่ใครอื่นมีอิทธิพลเหนือกว่า—และทำให้คุณเห็นได้ว่าส่วนไหนของชีวิตที่สามารถพัฒนาต่อได้บ้าง
หากคุณรู้สึกมีทัศนคติแย่ต่อรูปร่างของตัวเองก็ต้องเริ่มดูแลสุขภาพและรูปร่าง ถ้ารู้สึกว่าอาชีพสั่นคลอน ลองหาโอกาสเสริมทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น การสร้าง self-esteem ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันหรือสองวัน มันอาจจะใช้เวลาค่อยๆ กรุยทาง แต่เชื่อเถอะว่าการมี self-perception ที่ดีต่อตัวเอง มันส่งผลดีต่อทุกอย่างที่มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอื่นๆ
2. แคร์เขามากไป
บางคนโสดมานานนนน พอเจอคนที่คลิกด้วยก็ราวกับค้นพบบ่อน้ำโอเอสิสกลางทะเลทราย คุณดื่มกินความสัมพันธ์อย่างหิวกระหาย กลัวจะสูญเสียบ่อน้ำน้อยๆ นี้ไป หลายคนดึงดูดความสัมพันธ์ด้วยอำนาจของความ positive หรือบางคนแย่ไปเลยคือสานสัมพันธ์ด้วยพลังลบ negative แต่เมื่ออะไรมากเกินไปจนสมดุลตราชั่งเอนเอียง อีกฝ่ายจะสัมผัสได้อย่างรวดเร็ว และถ้ามันทำให้อึดอัดใจ เขาก็บายจ้า เพราะความสัมพันธ์ครั้งนี้มีค่าแค่เพียงเติมเต็มคุณเพียงคนเดียว
ทำยังไงดีล่ะ? จริงๆ ก่อนมาเจอกันคุณก็มีชีวิตอยู่ได้ตั้งนาน ความรู้สึกที่สามารถดูแลชีวิตตัวเองได้จะสร้างความมั่นใจ (self-assured) และบอกคุณว่า ถึงผลจะดีหรือแย่ชีวิตนี้ก็สามารถดำเนินไปอยู่ดี สุดท้ายแล้วความมั่นใจจึงเป็นพื้นฐานถึงการแสดงว่าคุณมีความพร้อมจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี คนที่เข้ามาในชีวิตจะช่วยบอกว่าคุณเป็นคนอย่างไรมากกว่ามาเพื่อเติมเต็มคุณ
3. การแสดงออกบอกตัวตนได้มาก
การรับรู้เบื้องต้นที่คนอื่นๆ มีต่อตัวคุณนั้นอิงอยู่บน 2 เงื่อนไขใหญ่ๆ คือ การที่คนอื่นพยายาม ‘อ่าน’ คุณจากอากัปกิริยาที่แสดงออกมา และการสังเกตว่าอากัปกิริยานั้นๆ แสดงออกไปในเชิงบวกหรือลบ เช่น คุณเป็นคนดูฉลาดสุขุม สุภาพอ่อนโยน (เชิงบวก) หรือเป็นคนอารมณ์ร้าย เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (เชิงลบ) การตัดสินจาก output ที่โดดเด่นเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลาเมื่อคุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
พวกเราจึงมักยึดโยงลักษณะนิสัยที่คนอื่นเห็นไม่ต่างจากการส่องกระจกเงา เพราะเราไม่มีทางจะเห็นสีหน้าของตัวเองเวลาออกท่าออกทางหรือภาษากายต่างๆ เช่น คุณไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองจะกระพริบตาบ่อยๆ เมื่อเครียดจัด หรือเขย่าขายิกๆ เวลากระวนกระวายใจจนกระทั่งคนอื่นสังเกตว่าคุณกำลังเครียดอยู่
ดังนั้นแล้วเราจึงอาศัยการสังเกตของคนอื่นในการทำความรู้จักตัวเองอยู่เสมอ ไม่แปลกที่ใครๆ จะตัดสินคุณจากสิ่งที่เขาเห็น ใครๆ ก็บอกว่า ‘จงเป็นตัวของตัวเอง’ ก็นับว่าถูกครึ่งหนึ่ง แต่ลองถามต่อด้วยว่าเราเป็นตัวของตัวเองใน version ไหนกับคนอื่น
4. จังหวะไม่ดี
ในความสัมพันธ์นั้นมี ‘เวลา’ และเวลาของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เวลาบนนาฬิกาข้อมืออาจไม่ตรงกับเวลา ณ หอนาฬิกากลางเมือง ความสัมพันธ์ของคุณจึงห้อยต่องแต่งอยู่กับเงื่อนไขของเวลาเช่นกัน—ซึ่งส่วนใหญ่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำ—คุณอาจเจอคนที่ใช่แต่เขาดันมีคนใกล้ชิดอยู่แล้ว หรือเมื่อจะลงเอยกับใครสักคนกลับเจออุปสรรคขัดขวางร้อยแปดราวกับจังหวะของชีวิตไม่ได้เดินไปพร้อมๆ กับใครเลย
การยอมรับว่าจังหวะชีวิตนั้นเป็นเรื่องเกินคาดเดา ยอมรับว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจไปเสียทุกอย่างช่วยให้คุณยอมรับเงื่อนไขที่คุณควบคุมไม่ได้ ชีวิตยังคงเป็นปริศนาลึกลับ แต่ถึงแม้อะไรจะไม่แน่นอน การมีศรัทธาต่อความสัมพันธ์ยังถือว่าจำเป็นอยู่นะ
คุณไม่ต้องเผื่อเวลาสำหรับทุกอย่าง พยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้โดยเปลี่ยนให้มันเป็น ‘เวลาคุณภาพ’ หาอาหารดีๆ กิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวบ้าง เปิดตัวเองให้กับโลกที่คุณควบคุมไม่ได้ นั่นเองทำให้โลกของเรามีเสน่ห์
5. รู้สึกว่าไม่คู่ควรกับความสัมพันธ์
น่าแปลกที่คนบั่นทอนตัวเองส่วนใหญ่กลับเป็นคน ‘โหยหา’ ความสัมพันธ์ พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ทุ่มเท หวังผลสูง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมกันของสิ่งที่ทุ่มเทไป หรือได้ผลตรงกันข้าม คนเหล่านี้ล้วนเล็งเป้าหมายสูงเหนือหัว แต่กลับยิงถูกเท้าตัวเอง ทำไมเป็นซะอย่างนั้น?
มีแนวคิดหนึ่งที่อธิบายว่าการกระทำนี้คือทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด (cognitive dissonance) เป็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเมื่อคนทั่วไปพยายามอยู่กับความสัมพันธ์ที่คาดหวังไว้แต่กลับรู้สึกขัดแย้งในตัวเองจนเกิดความไม่สบายใจ หรือความเชื่อและค่านิยมที่มีอยู่กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น อยากให้เขาสนใจแต่รู้สึกกลัวที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอจะประสบความสำเร็จโดยที่ยังไม่ลงมือก่อร่างสร้างอะไรไว้เลย เกิดเป็นช่องโหว่ รู้สึกแย่ต่อความล้มเหลว แต่ความจริงที่ร้ายแรงคือการไม่ลงมืออะไรเลยบั่นทอนยิ่งกว่า
ดังนั้นคนส่วนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมขัดขวางความก้าวหน้าของคนอื่น พร่ำบอกใครๆ ว่าเขาไม่คู่ควรต่อความสัมพันธ์ที่กำลังตามหา และเผยความล้มเหลวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
6. อ้างหลักการหรือศีลธรรมบ่อยๆ?
ศีลธรรมหรือหลักการควรยึดเป็นหลักมั่นในใจ แต่อาจไม่จำเป็นต้องหยิบมาอ้างตลอดเวลา บางครั้งเราก็รู้สึกอึดอัดที่ต้องทำความรู้จักคนที่มีหลักการเยอะแยะไปหมด—หรือแท้จริงแล้วเขาอาจไม่มั่นใจตัวเองตั้งแต่ต้น
คนที่ไม่มั่นคงหรือขาดอุปนิสัยเชิงบวกโดยธรรมชาติจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขามีมันอยู่จริง โดยทำอะไรก็ตามที่ย้ำเตือนสิ่งที่ขาดหายไปอยู่เสมอ (self-assurance) คนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนใจกว้างจะพยายามทำบุญทำทานโดยไม่ตรวจทานเหตุผลหรือไม่ไต่ตรองถึงผลเสียที่ตามมา เพราะคิดว่าหากทำด้วยเจตนาดี ‘ก็ถือว่าดีแล้ว’ ตรงกันข้ามกับคนที่ใจกว้างเป็นพื้นฐานที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องหาทางพิสูจน์เลย
การอ้างศีลธรรมในการโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นการย้ำเตือนตนเองในส่วนที่ขาดหาย และยิ่งขับไล่คนอื่นๆ ให้พ้นจากพื้นที่ของคุณ
ความสัมพันธ์ที่ดีมีพื้นฐานมาจากการที่คุณมี self-perception ต่อตัวเองดีเป็นที่ตั้ง การตัดสินใจที่คุณเองเป็นเจ้าของ และยอมรับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตอยู่ตลอดเวลาทำให้คุณน่าสนใจสำหรับคนอื่นๆ ที่ห้อมล้อม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Self-perception of intrinsic and extrinsic motivation.
- The Self-Perception and Relationships Tool (S-PRT): A novel approach to the measurement of subjective health-related quality of life