พวกเรากำลังเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียง 30,000 ปี
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยลงความเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในกรอบของ ‘การคัดสรรของธรรมชาติ’ อีกแล้ว เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำหน้า จนเราไม่ต้องทนอยู่กับอะไรนานๆ ซึ่งทำให้วิวัฒนาการของมนุษย์ถึงจุดสิ้นสุด
แต่เปล่าเลย! แท้จริงแล้ว มนุษย์กำลังมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในรอบ 30,000 ปีเลยต่างหาก
ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรากฐานสังคมจากการล่าสัตว์และใช้ชีวิตในพงไพร ไปสู่การทำกสิกรรมและจับกลุ่มเพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดใหญ่ ทำให้ยิ่งมีคนมากขึ้นเท่าไหร่ การกลายพันธุ์ที่ได้เปรียบก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น
แน่นอนว่ามนุษย์จะยังมีวิวัฒนาการต่อไป และคนรุ่นหลังก็เปรียบเสมือนภาพตัดแปะคอลลาจผืนใหญ่ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของอดีตอย่างงดงาม แหวกแนว และน่าค้นหาเป็นที่สุด
เราหยุดวิวัฒนาการแล้วหรือ?
มนุษย์แยกสายจากบรรพบุรุษวานร เมื่อ 8 ล้านปีก่อน และเริ่มสังคมกสิกรรมเมื่อ 30,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง หรือหากให้เทียบว่ามนุษย์กำเนิดมาบนพื้นพิภพเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เราเพิ่งเรียนรู้ทักษะการปลูกพืชและสร้างสังคมมาเพียง 6 นาทีเอง
พวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเจตจำนงอันเข้มข้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดบนโลกพยายามควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้มากเท่ามนุษย์ เราสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อสู้กับภัยที่เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต เราเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวจากพลังธรรมชาติและความดิบเถื่อนของพงไพร เราพัฒนายารักษาโรคและกระบวนการรักษาเพื่อต่อต้านโรคระบาด จากกสิกรรมในพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่ สู่ระบบเกษตรกรรมครบวงจรที่สามารถเลี้ยงปากท้องคนทั้งโลก เรื่องยากๆ เราทำมาหมดแล้ว
แต่คำถามคือ “เราหยุดวิวัฒนาการแล้วหรือยัง?” ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ แล้วอะไรบ้างที่มนุษย์เรายังคงวิวัฒนาการอยู่
1. น้ำลายเพื่อย่อยแป้ง
หลังจากมนุษย์เริ่มทำกสิกรรมอย่างเต็มรูปแบบ อาหารการกินของเราก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก สู่การบริโภคพืชที่เพาะปลูกได้เองและได้พลังงานจากแป้งเพิ่มมากกว่าแต่ก่อน จากการศึกษาจีโนมของมนุษย์ พบว่ามนุษย์ปัจจุบันมี ‘อะไมเลส’ (Amylase) เอนไซม์สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตชื่อ AMY1 ทำให้เราสามารถย่อยแป้งเพื่อเป็นพลังงานได้ ซึ่งพบในน้ำลายมนุษย์ปัจจุบันสูงกว่าในมนุษย์ในอดีต
มีการค้นพบว่า ชุมชนมนุษย์โบราณที่รักษาวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์ในประเทศแทนซาเนีย มีเอนไซม์ AMY1 เพื่อย่อยแป้งในน้ำลายน้อยกว่าคนในชุมชนอื่นๆ
นอกจากนั้นลักษณะกรามที่เล็กลง และการมีอยู่ของ ‘ฟันคุด’ ก็เป็นพินัยกรรมโบราณที่เริ่มจางหายไปจากอาหารการกินที่เปลี่ยนแปลง
2. ดื่มนมได้ตลอดชีวิต
มนุษย์ทุกคนบนโลกถูกเลี้ยงมาด้วยน้ำนม แต่หลายคนพอโตขึ้นกลับดื่มนมไม่ได้ ไม่ย่อยและท้องอืด การที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถดื่มนมได้ ล้วนเป็นสัญญาณของอดีตกาลที่ส่งรหัสมอสมาหาคุณ
เด็กส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติของเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ติดตัว ซึ่งทำให้ร่างกายย่อยโมเลกุลน้ำตาลในนมที่ชื่อว่า ‘แลคโตส’ (Lactose) ให้เราได้ใช้ประโยชน์พลังงานในน้ำนมอย่างเต็มที่ เด็กที่มีพละกำลังและสุขภาพดีมักได้เปรียบ แต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คุณสมบัติของเอนไซม์แลคเตสกลับลดลง จนหลายคนเริ่มมีปัญหากับการดื่มนม
แต่มนุษย์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ‘มิวเทชั่น’ (Mutation) อย่างน้อย 5 ครั้งใหญ่ๆ โดย 3 ครั้งแรกเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา ครั้งที่ 4 แถบอาหรับ และครั้งที่ 5 ลากยาวตั้งแต่ไอร์แลนด์จนถึงอินเดีย
พื้นที่ดังกล่าวล้วนเป็นพื้นที่ทำปศุสัตว์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว แพะ แกะ เพื่อการบริโภคนม โดยสามารถย้อนกลับไปได้ถึง 7,500 ปีที่แล้ว นักวิจัยพิสูจน์ DNA จากซากโครงกระดูกชาวไร่อายุ 5,000 ปี พวกเขาพบว่ามนุษย์ในอดีตยังไม่มีการกลายพันธุ์ของแลคเตสเลยด้วยซ้ำ
การดื่มนมได้ เป็นของใหม่สุดที่เราเพิ่งได้รับวิวัฒนาการ เมื่อมนุษย์เริ่มทำปศุสัตว์และมีน้ำนมให้ดื่มกินตลอดชีวิต
3. ขี้หูแห้งๆ และรักแร้ไม่เปียก
วิวัฒนาการไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแบบล้ำหน้าเอาเท่ แค่เพียงคุณมีขี้หูที่ไม่เหนียว และไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาระงับกลิ่นเต่า แสดงว่าคุณเองก็อยู่ในกลุ่มมนุษย์กลายพันธุ์ยุคใหม่
กลิ่นตัวมนุษย์ยุคนี้เบาบางลงกว่าแต่ก่อน ขี้หูแห้งๆ และกลิ่นตัวน้อย เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน ABCC11 ซึ่งเกิดขึ้นราว 30,000 – 20,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งยีนดังกล่าวมีอิทธิพลต่อ ต่อมอะโพไครน์ (Apocrine glands) หรือต่อมเหงื่อชนิดสร้างกลิ่น ที่มีการกลายพันธุ์แรกเริ่มในกลุ่มมนุษย์ในแถบเอเชียตะวันออก จึงเป็นเหตุผลที่คนเอเชียโดยมากมีกลิ่นตัวน้อยกว่า และขี้หูไม่เกรอะกรังมากนัก
4. ตาสีฟ้า ผิวขาว และผมเหยียดตรง
ผิว ผม ตา อยู่ในกระบวนการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 9,000 ปี
มนุษย์ในอดีตมีสีผิวเข้มจากถิ่นกำเนิดในแอฟริกา และการโยกย้ายถิ่นครั้งสำคัญๆ ไปสู่พื้นที่หนาวเหน็บกว่าเดิม และได้รับแสงอาทิตย์น้อยลง ยีน SLC24A5 กลายพันธุ์จนมีอิทธิพลทำให้ผิวมีสีอ่อนลงจากสารเมลานิน (Melanin) ที่ลดลง ซึ่งพบในชาวยุโรปราว 95 เปอร์เซ็นต์ และตาสีฟ้าดุจน้ำทะเลของชาวยุโรปก็เป็นอิทธิพลของยีน HERC2 เช่นกัน
ส่วนผมตรงดกดำและยาวเหยียด สลวยสวยเก๋ของสาวเอเชีย คือ อิทธิพลของยีน EDAR ซึ่งหากเทียบกับชาวยุโรป คนเอเชียมีการกลายพันธุ์ที่เก่าแก่กว่าหน่อยคือไม่น้อยกว่า 30,000 ปี
5. ยีนพิเศษป้องกันไข้มาเลเรีย
แอฟริกาเป็นถิ่นกำเนิดของโรคระบาดสายพันธุ์ต่างๆ พอๆ กับการเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ บรรพบุรุษมนุษย์ต่อกรกับเชื้อโรคเป็นเวลานานโดยเฉพาะปรสิตที่แฝงมากับเลือดผ่านพาหะยุงร้าย คือเชื้อปรสิต Plasmodium vivax ซึ่งยังแผลงฤทธิ์จนถึงปัจจุบัน แต่มนุษย์พยายามต้านทานเชื้อปรสิตในกระแสเลือดโดยการกลายพันธุ์ยีน DARC เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรคไข้มาเลเรียมากขึ้น
การกลายพันธุ์นี้สามารถสืบค้นกลับไปไม่ต่ำกว่า 45,000 ปี โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อาศัยในพื้นที่ต่ำลงไปจากทะเลทรายสะฮารา มีการกลายพันธุ์ต้านทานมาเลเรีย ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์พบได้ในชาวเอเชียและชาวยุโรป
อยู่กับยุงมานาน ก็ควรมีอะไรสู้ซะหน่อย (แต่ก็ยังแพ้อยู่ดี)
6. สมองเล็กลง
จากการที่เรามั่นใจว่า ขนาดสมองทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้นกว่าสัตว์อื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสัญญาณบอกว่า สมองมนุษย์กำลังมีขนาดเล็กลงในรอบ 30,000 ปี หรือลดลงจากปริมาตรเฉลี่ยเดิมที่ 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เหลือเพียง 1,350 ลูกบาศก์เซนติเมตร
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะโง่ลง แต่มันเล็กลงอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นฐานการเอาตัวรอดถูกลดไป แทนที่ด้วยทักษะทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น แม้น้ำหนักสมองจะลดลง แต่นิวรอนที่ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายสายใยประสาทกลับหนาแน่นและซับซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ตามเรามักคิดว่า วิวัฒนาการคือกระบวนการวิเศษ ที่เอา ‘ของดีแทนที่ของเสีย’ แต่แท้จริงแล้วการปรับตัวและวิวัฒนาการอยู่ภายใต้อิทธิพลของการสุ่มเดาตามธรรมชาติ บางทีสิ่งที่เคยเป็นประโยชน์ก็มักไม่ได้อยู่กับเรานาน มันขึ้นอยู่กับจังหวะและลักษณะการเป็นอยู่อันจำเพาะเจาะจง เช่น การกลายพันธุ์ของ ‘ฮีโมโกลบิน เอส’ (Hemoglobin S) ที่เกิดขึ้นราว 3,000 ปีก่อนในแอฟริกาและทวีปร้อนชื้น จนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน และนำมาซึ่งโรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell Anemia) ซึ่งเป็นโรคทางเลือดที่ส่งผ่านทางพันธุกรรม ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงตายและแตกง่าย เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น เช่นอาการปวด มีภาวะติดเชื้อง่าย อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
การเดินไปข้างหน้าก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป แต่การเดินถอยหลังก็ไม่ใช่วิถีของธรรมชาติ
ยิ่งพวกเราในฐานะมนุษย์ผูกพันกันมากเท่าไหร่ คุณลักษณะต่างๆ ก็ย่อมถ่ายทอดได้หลากหลายเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Are Human Beings still evolving? Meredith F. Small, October 21,1999
Our Brains Are Shrinking. Are We Getting Dumber?
African Adaptation to Digesting Milk Is “Strongest Signal of Selection Ever” Scientific American, December 11,2006