สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบไม่เคยสนใจ ‘รักเดียวใจเดียว’ (Monogamy) มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีเพียง 10% เท่านั้นที่ถือคู่ครองทำนองนี้ ส่วนอีก 90% ล้วนมากผัวมากเมีย (Polygamy) และมันก็เป็นธรรมชาติไปว่ามันไม่ได้
แม้ในบางสังคมมนุษย์ก็มองการมีแฟนหลายๆ คนเป็นเรื่องปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ที่รักเดียวใจเดียวยังเป็นพื้นฐานที่สุด ซึ่งมนุษย์ใช้จัดการกับความสัมพันธ์ในเผ่าพันธุ์ แน่นอนมนุษย์จึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ‘ส่วนน้อย’ ที่ให้ค่าการมีแฟนทีละคน สวนทางกับเพื่อนร่วมสปีชีส์อื่นๆ อีก 90%
เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบนักในบันทึกเล่มโตๆ ของธรรมชาติ เราผูกสัมพันธ์ พัฒนาเป็นความรัก และหย่าร้าง แต่เรายังสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ได้อีก วิทยาศาสตร์พยายามตั้งคำถามถึงจุดกำเนิดว่ามนุษย์รุ่นแรกๆ เริ่มสร้างความสัมพันธ์อย่างไร ขณะที่ไพรเมทกลุ่มอื่นๆ มีผัวมากเมียมากกันหมด
ทำไมพวกเขาถึงประสบความสำเร็จ และมอบ Concept แห่งคู่ครองสู่คุณในปัจจุบัน
หลักฐานจากฟอสซิล
มีทฤษฎีที่ระบุว่า บรรพบุรุษคนแรกๆ ของมนุษย์ก็ ‘รักเดียวใจเดียว’ สายพันธุ์ต้นตำหรับที่มีอายุกว่า 4.4 ล้านปี ที่ชื่อว่า ‘อาร์ดี้’ (Ardi) หล่อนมีชื่อยาวเหยียดว่า ‘อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส’ (Ardiphithecus ramidus) ที่แก่กว่า ‘ป้าลูซี่’ ที่เราคุ้นเคยอยู่หลายช่วงโกฏิปี เธอเป็นหลักฐานชัดเจนระหว่างทางแยกของกลุ่มลิงใหญ่ และมนุษย์เมื่อราว 7 ล้านปีก่อน
อาร์ดี้เป็นสาวรุ่นๆ ที่น่าจะมีพฤติกรรม เดินสองขา ถืออาหารไว้บนมือจำนวนมากๆ อย่างชาญฉลาด ก่อนหน้านี้กรณี ‘ผัวมากเมียมาก’ (Polygamy) เป็นปัจจัยพื้นที่ฐานที่โฮมินิดกลุ่มแรกๆ ใช้ในการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
Polygamy ส่วนใหญ่ในไพรเมทเป็นการแย่งชิงตำแหน่งจ่าฝูงของบรรดาหนุ่มๆ ที่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ต้องอาศัยความสามารถทางร่างกาย หากคุณจะทำให้ใครประทับใจก็ต้องช่วงชิงมาจากคนอื่น คุณต้องฟิตกว่า แข็งแรงกว่า
แต่นักมานุษยวิทยาพบว่า อาร์ดี้และพวกๆ ของเธอ น่าจะมีสติปัญญาที่พัฒนาจนลดทอนการต่อสู้ในฝูงและความขัดแย้งลงจากการสร้างความสัมพันธ์ได้ เพื่อนชายกลุ่มแรกๆ จึงเอาเวลาไปหาอาหารให้สาวๆ ในฝูง เพื่อมัดใจพวกเธอ มากกว่าจะมาช่วงชิงตำแหน่งเจ้าของฮาเร็มรักด้วยกำลัง สาวๆ จึงเลือกหนุ่มที่ทุ่มเทด้านการจัดสรรทรัพยากร (แต่ก็ยังต้องแข็งแรงอยู่ดีและสู้เป็น) จากนั้นก็จับคู่และออกหากินด้วยกัน
หลักฐานเหล่านี้ปรากฏในรูปแบบของฟัน ‘อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส’ ที่แตกต่างจากไพรเมทอื่นๆ จากฟันที่แหลมคมใช้ในการต่อสู่ช่วงชิงการสืบพันธุ์ (อย่างในกอริลล่าและชิมแปนซี) ที่ค่อยๆ ลดบทบาทลง จนกลายเป็นฟันที่เรียบสม่ำเสมอ มนุษย์ทั้งชายหญิงมีขนาดฟันเท่าๆ กัน รวมถึงอาร์ดี้และเพื่อนหนุ่มเธอด้วย
ขนาดร่างกายก็สำคัญ ร่างกายที่ใหญ่โตแตกต่างกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย ทำให้ตัวผู้ต้องต่อสู้กันถึงเลือดตกยางออก เพื่อที่จะเข้าถึงสาวๆ ในฝูง กอริลล่าเป็นตัวอย่างที่ดี ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเกือบเท่าตัว ซึ่งมีความสัมพันธ์ Polygamy เชิง ‘ฮาเร็ม’ ที่ตัวผู้รายล้อมไปด้วยตัวเมียในฝูง
ในขณะที่ชะนี (Gibbon) เป็นสัตว์ที่ถือครองคู่แบบรักเดียวใจเดียว พวกมันมีขนาดตัวพอๆ กันทั้งหญิงชาย ซึ่งในกรณีมนุษย์มีขนาดร่างกายผู้ชายใหญ่ไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับผู้หญิง
การมีเมียมากเป็นภาระ คุณต้องมีร่างกายกำยำ แข็งแรง และต้องมีทรัพยากรเหลือเฝือ เพื่อพร้อมต่อสู่กับตัวผู้อื่นๆ ที่จะมาช่วงชิงแฟนๆ คุณไป
แต่หลักฐานหลายชิ้นปรากฏว่า บรรพบุรุษมนุษย์กลุ่มแรกๆ ไม่ต่อสู้กันแบบเข้มข้นแล้ว แต่ตัวผู้ต้องทำให้ตัวเมียพึงพอใจ และตัวเมียเองจึงตัดสินจากการเอาใจใส่ ที่ไม่ใช้การใช้กำลังเพื่อช่วงชิง
ทฤษฎีที่หนึ่ง ‘เรื่องของพื้นที่’
เรื่องพื้นที่ของผู้หญิงก็น่าพูดถึง (Female-spacing) นักมานุษยวิทยามองว่า หลังจากบรรพบุรุษเพศหญิงเริ่มมีพื้นที่ต้องออกหากินเรื่อยๆ ในขณะที่อาหารมีอยู่อย่างจำกัดและกระจุกตัว การเรียกร้องความช่วยเหลือจากเพศเมียตัวอื่นๆ ก็ทำได้ยากจากพื้นที่อันห่างไกล ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เธอต้องการความช่วยเหลือจากเพศผู้แบบลงหลักปักฐานระยะยาว ทำให้ลดความเสี่ยงจากอันตรายของทั้ง 2 คน การมีอีกแรงคอยช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเลี้ยงทายาทให้เติบโตโดยไม่เสียชีวิตไปก่อน
นักสัตววิทยา Dieter Lukas และ Tim Clutton-Brock จากมหาวิทยาลัย Cambridge ทำการสำรวจหลักฐานทางฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 2,545 สปีชีส์ และพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณมักออกหากินโดยลำพัง แยกตัวออกจากกัน แต่มีไม่กี่สปีชีส์เท่านั้นที่มีพฤติกรรมรักเดียวใจเดียว สลับไปมาถึง 61 ครั้ง ในตลอดเวลาวิวัฒนาการของพวกมัน
Monogamy มักพบในกลุ่มสัตว์กินเนื้อ (Carnivores) และไพรเมท จึงสันนิษฐานได้ว่า พฤติกรรมรักเดียวใจเดียว น่าจะมาจากความต้องการของตัวเมีย ในการหาอาหารในอาณาเขตกว้างใหญ่ แต่แหล่งอาหารมีน้อยนิด
ทฤษฎีที่สอง ‘ปกป้องทายาท’
ลูกอ่อนๆ คือเป้าหมายของความรุนแรง เมื่อตัวผู้พยายามแย่งชิงอำนาจและความสัมพันธ์จากตัวเมีย ส่วนใหญ่พวกมันจะฆ่าลูกที่ติดมาด้วย เพื่อให้ตัวเมียหยุดภาวะให้นม และพร้อมสำหรับสืบพันธุ์ใหม่อีกครั้ง ดังนั้นเพื่อป้องกันการฆ่าทายาท เพศเมียมักเลือกเพศผู้ให้เป็นพันธมิตร เพื่อปกป้องเธอและช่วยเลี้ยงลูก
ในไพรเมทมีหลักฐานการฆ่าลูกเยอะมากนับเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสังหารทายาท มีสถิติว่าไพรเมทกว่า 50 สายพันธุ์ฆ่าลูกในฝูงที่ติดมา ลูกเจริญเติบโตช้า กว่าสมองจะพัฒนา กว่าร่างกายจะแข็งแรง ล้วนทำให้ตกเป็นเหยื่ออำมหิต
ทฤษฎีที่สาม ‘การเลี้ยงลูกมันเหนื่อย’
ทฤษฎีนี้นำเสนอโดย นักมานุษยวิทยา Lee Gettler จาก มหาวิทยาลัย Notre Dame
หากใครกำลังเลี้ยงลูกก็คงต้องตอบตรงกันว่า “เหนื่อย” เด็ก 1 คน กว่าจะโตรู้เรื่องต้องการพลังงาน 13 ล้านแคลอรี่! ทำให้ภารกิจนี้เป็นงานยักษ์ ความเป็นพ่อเป็นแม่ ทำให้มนุษย์เริ่มสานสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว เพราะลูกต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดู กว่าจะเติบโตต้องใช้พลังงานไม่น้อย เพื่อให้แม่เลี้ยงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หน้าที่หาอาหารจึงตกไปอยู่กับผู้พ่อที่ต้อง หาแคลอรี่มาให้เพศเมียที่กำลังตั้งครรภ์
การรักเดียวใจเดียว คือการร่วมมือ
เราให้ความสำคัญของทายาท และผู้หญิงในยุคบุกเบิกก็มีอำนาจแห่งการเลือก เราสานสัมพันธ์ระยะยาวเพื่อจุดมุ่งหมายในการฟันฝ่าอุปสรรค ในสังคมปัจจุบันเรายังให้ค่ากับความรักเดียวใจเดียว แต่มนุษย์เราก็ยังไม่ทิ้ง Polygamy (ซึ่งดั้งเดิมกว่า)
แต่ในปัจจุบัน สังคมมนุษย์มีความหลายหลายที่สุดในกลุ่มไพรเมท พวกเรามีโครงข่ายสายใยอันซับซ้อนและมีความผูกพันทางสังคมที่แน่นแฟ้น ผู้ชายสามารถทำงานร่วมกันได้ดี และผู้หญิงก็ผูกพันกับเพศเดียวกันได้ ความหลากหลายทางความสัมพันธ์ทำให้สังคมมนุษย์เป็นปึกแผ่น (และฉิบหายวุ่นวายในเวลาเดียวกัน)
ดังนั้นการมีคู่เพียงคนเดียว (Monogamy) ผัวเดียวหลายเมีย (Polygamy) หรือเมียเดียวหลายผัว (Polyandry) ก็ล้วนเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Evolution of Social Monogamy in Mammals. D.Lukas and T.H. August 2013