ชาวกรุงที่ไม่อยากนั่งรถเมล์ประจำทางที่จอดทุกป้าย หรือปาดเหงื่อจ่ายค่าแท็กซี่มหาโหด
รถตู้จึงเป็นโซลูชั่นที่ปราดเปรียวสำหรับบรรดามนุษย์ออฟฟิศที่ต้องนั่งไปที่ทำงานผ่าน 3 ทางด่วน
แต่ความเร็วก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง อุบัติเหตุจากรถตู้มาเป็นอันดับ 1 แซงหน้าพาหนะโดยสารสาธารณะอื่นๆ
ในปี 2558 มีรถตู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด 98 ครั้ง ตาย 104 คน บาดเจ็บ 847 คน หรือเฉลี่ยแล้วสัปดาห์หนึ่งจะมีคนตาย 2 คน เจ็บอีกเกือบ 10 ราย (ข้อมูลจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน)
The MATTER ขออาสาพาสำรวจรถตู้โดยสารขนาดมาตรฐาน 15 ที่นั่ง (ซึ่งกฎหมายอนุญาต) และ 18 ที่นั่งที่ถูกต่อเติม (ผิดกฎหมาย) โดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพการเดินทางของพวกเรา และเหตุผลที่ว่าทำไมคุณถึงไม่ควรเสี่ยง
Fact 1
ออกแบบมาเพื่อขนของ ไม่ใช่ขน ‘คน’
ตามความเป็นจริงแล้ว รถสำหรับบรรทุกหนัก อย่างรถตู้ดั้งเดิม อยู่ในหมวดรถบรรทุก (Truck) มากกว่ารถยนต์ (Car) แต่มันกลับถูกออกแบบให้มีรูปร่างเล็ก พร้อมพื้นที่ใช้สอยภายในกว้างขวาง ขนาดไล่เลี่ยกับรถมินิแวน แต่ดันใช้ตัวถังแบบรถบรรทุก ช่วงล่างแบบรถบรรทุก แถมยางก็คล้ายรถบรรทุกอีก
รถตู้ 15 ที่นั่ง ต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคลมากในเชิงวิศวกรรม ช่วงล่างถูกยกให้สูงจากพื้น ขนาดยาวกว่า หนักกว่า และเครื่องยนต์กำลังดีกว่ารถยนต์โดยสารทั่วไป ดังนั้นการควบคุมจะไม่เหมือนรถยนต์ส่วนบุคคลเลย
แม้คุณจะขับรถมาแล้วอย่างเชี่ยวชาญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมรถตู้ได้ดี
การมอบหมายหน้าที่คนขับรถตู้ให้กับผู้ไม่มีประสบการณ์ เหมือนมอบปืนให้ลิงชิมแปนซี
Fact 2
ยิ่งนั่งมาก ยิ่งพลิกคว่ำง่าย
มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ของ National Transportation Safety Board ศึกษาอุบัติเหตุที่อาจมาจากการออกแบบรถตู้ พบว่า รถตู้ 15 ที่นั่ง มีความเป็นไปได้ที่จะพลิกคว่ำมากที่สุด คิดเป็น 52% ของบรรดารถโดยสารด้วยกัน
ดังนั้นรถตู้ยิ่งบรรทุกคนมาก ยิ่งมีโอกาสพลิกคว่ำสูง เนื่องจาก จุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) ของรถตู้แม้ตอนที่ไม่มีผู้โดยสารเลยก็มีขนาดใกล้เคียงรถบรรทุก แต่เมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้จุดศูนย์ถ่วงถูกดึงไปอยู่ทางด้านท้าย (ซึ่งมันควรจะอยู่ด้านหน้ามากกว่า) ทำให้ไม่เกิดแรงกดส่วนหน้า ล้อหน้าไม่มีแรงยึดเกาะถนน เกิดความไม่สมดุลขณะเจอแรงต้านบนท้องถนนที่รถกำลังวิ่งด้วยความเร็วสูง
รถตู้ที่มีผู้โดยสาร 15 ที่นั่งเต็มๆ มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุพลิกคว่ำถึง 5 เท่า และหากมีการต่อเติมที่ผิดกฎหมาย เช่นเสริมเป็น 18 ที่นั่ง มีโอกาสพลิกถึง 8 เท่าเลยทีเดียว
หากคุณเห็นรถตู้ที่หวังแต่กำไรเช่นนี้ อย่าใช้บริการเป็นอันขาด มันไม่แคร์คุณหรอก!
Fact 3
80% ของผู้เสียชีวิตในรถตู้ ไม่คาดเข็มขัด
ผู้โดยสารรถตู้ทุกคนแทบจะไม่เคยคาดเข็มขัด และรถตู้เองก็ไม่ได้ให้ความสนใจเลยด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าสิ่งที่สามารถช่วยเหลือชีวิตมากที่สุดถูกมองข้าม โดยเฉพาะรถตู้สาธารณะที่ต้องนั่งสลับที่ทุกๆ ครั้งที่มีคนลง มีโอกาสที่ร่างกายจะกระเด็นออกจากเบาะนั่งไปกระแทกกับของแข็งอย่างอื่นจนคอหัก
ดังนั้น เข็มขัดนิรภัยจึงเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงที่ทำได้ง่ายที่สุด ที่ผ่านมาแทบไม่มีรายงานเลยว่าเบาะกระเด็นออกจากตัวถังรถตู้เมื่อเกิดการปะทะ
คาดเถอะไม่เสียเวลาหรอก
Fact 4
นั่งไหนปลอดภัยสุด
รถตู้ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงมีโอกาสปะทะจากด้านหน้ามากที่สุดราว 35 – 40% ทำให้ที่นั่งเบอร์ 1 และ 2 เป็นฝันร้ายสำหรับคุณเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยสัญชาตญาณเอาตัวรอด คนขับจะเลี่ยงการปะทะโดยเอาที่นั่ง 1 รับแรงกระแทกก่อนเสมอ
บริเวณใกล้ประตูก็เสี่ยงไม่น้อย เบอร์ 3,6 และ 16 (หากมีการต่อเติม) โครงสร้างประตูเป็นจุดบอบบาง อาจเกิดการยุบตัวจนบี้เข้ากับผู้โดยสาร
และที่นั่งด้านท้าย เบอร์ 13 และ 14 ก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะ อาจถูกรถคันหลังพุ่งชนคิดเป็น 10%
ดังนั้น ที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดคือ 7 , 9 และ 10
จับจองกันให้ดีๆ
Fact 5
ใครๆ ก็อยากขับรถตู้ให้คุณ
ผู้ประกอบการรายย่อยเพียบที่มีใบอนุญาตประกอบการ โดยมีรถตู้เพียง 1 – 2 คันก็ตั้งบริษัทได้แล้ว (ในชื่ออะไรก็แล้วแต่)
พวกเขาขอร่วมบริการคุณแบบบริษัทผัวเมียที่ไม่ได้แยแสสวัสดิภาพผู้โดยสาร ทำให้การแก้ปัญหาด้วย GPS ติดตามพฤติกรรมดูเหมือนจะไม่ได้รับความร่วมมือ และการบังคับใช้ใบอนุญาตยังไม่ทั่วถึงตามจำนวนรถตู้ในประเทศที่กำลังล้น ซึ่งอยู่ในระบบกว่า 20,000 คัน และยังมีรถตู้นอกระบบวิ่งอย่างผิดกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน
แถม กรมขนส่งทางบกกลาง เปิดโอกาสให้เจ้าของรถบัส นำทะเบียนรถโดยสารประจำทาง 1 คัน แลกกับรถตู้ได้ 3 คัน
กลายเป็นการเพิ่มจำนวนรถตู้ไร้ประสิทธิภาพเกลื่อนถนน
ใครๆ ก็อยากขับรถให้คุณนั่ง แหม หรูหราจริงๆ
เตรียมตัวให้พร้อม!
แม้รถตู้อันตรายจะมีอยู่เพียบ แต่คุณยังมีโอกาสและทางเลือกอยู่บ้าง (แม้จะทำให้ไม่สะดวกสบายก็ตาม)
- ยังไงขึ้นรถตู้ป้ายเหลืองไว้ก่อน อย่างน้อยมันก็อยู่ในระบบที่พอตรวจสอบได้
- อย่าหลับ! รถตู้ส่วนใหญ่วิ่งที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การที่คุณหลับทำให้ไม่เห็นพฤติกรรมคนขับรถตู้ และสภาพถนนที่กำลังวิ่งอยู่ ยิ่งขึ้นดอยเมื่อไหร่ ถ่างตาลุ้นเอาไว้ให้ดี
- ไม่ควรนั่งรถตู้ที่เดินทางระยะเกิน 300 กิโลเมตร เพราะมีแนวโน้มคนขับจะอ่อนเพลียและควบกะ บริษัทเองก็มีแนวโน้มทำผิดกฎหมายมากขึ้นจากระยะทาง เพราะอยู่นอกสายตาเจ้าหน้าที่
บันทึกหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก
1193 ตำรวจทางหลวง และ 191 สายด่วนตำรวจ
หากคุณกำลังรู้สึกว่า รถตู้กำลังพาคุณไป High way to hell คุณมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความปลอดภัยของตัวคุณเอง
The MATTER ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย สาธุ